วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่ปลูกในเมืองไทย

พันธุ์หญ้า (Grass Species) 

            ประมาณกันว่าในโลกมีพืชตระกูลหญ้าทั้งหมดกว่า 10,000 ชนิด (Species) แต่ที่ใช้ในการปลูกสร้างทุ่งหญ้ามีประมาณ 40 ชนิด (Humphreys, 1993) สำหรับในเขตร้อนอย่างประเทศไทยมีการใช้เพื่อทำทุ่งหญ้าเพียง 15-20 ชนิดเท่านั้น ที่จะนำมากล่าวในที่นี้จะเลือกเฉพาะพันธุ์ที่นิยมใช้กันมากและสามารถหาส่วนขยายพันธุ์ได้เท่านั้น ซึ่งมีพันธุ์หญ้าดังนี้ คือ 

             1. หญ้าขน (Para Grass หรือ Mauritius) Brachiaria mutica 

               2. หญ้ารูซี่ (Ruzi Grass หรือ Congo Grass) Bachiaria ruziziensis 

               3. หญ้าเนเปียร์ (Napier Grass หรือ Elephant Grass) Pennisetum purpureum 

               4. หญ้าสตาร์ (Star Grass หรือ African Star) Cynodon plectostachyus 

               5. หญ้าโร้ด (Rhodes Grass) Chloris gayana 

               6. หญ้าบัฟเฟล (Buffel Grass) Cenchrus ciliaris 

               7. หญ้ากินนี (Guinea Grass) Panicum maximum
 
                      
1. หญ้าขน (Para Grass หรือ Mauritius) Brachiaria mutica 

 

แหล่งดั้งเดิม  อยู่ในเขตร้อนของอาฟริกา นำเข้าประเทศไทยเมื่อปี 2472 จากประเทศมาเลเซีย โดย R.P. Jones 

ลักษณะทั่วไป เป็นหญ้าประเภท Perennial มีการเจริญเติบโตแบบกึ่งเลื้อยกึ่งตั้ง Stolon จะทอดขนานบนพื้นดินและมีรากพร้อมทั้งกิ่งก้านแตกออกมาจากข้อ ข้อและกาบใบมีขนสีขาวปกคลุม

ลักษณะทางการเกษตร เหมาะสมกับบริเวณที่ชื้นแฉะ ที่ราบลุ่ม ขึ้นได้ในดินเกือบทุกประเภท ทนทานต่อน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานๆ

การปลูก ปลูกโดยใช้ส่วนของลำต้นที่แก่แล้ว (สังเกตได้ว่ามีใบตายหุ้มอยู่ที่บริเวณข้อ) โดยการหว่านท่อนพันธุ์ลงบนพื้นที่ที่ได้ไถพรวนแล้ว หลังจากนั้นก็จะพรวนกลบ การปลูกควรทำในช่วงต้นฤดูฝน ถั่วที่ขึ้นร่วมกับหญ้าขนได้ดีคือถั่วเซนโตร (ถั่วลาย, Centrosema pubescens) แต่ต้องในสภาพดินที่มีการระบายน้ำได้ดี

การใช้ประโยชน์ หลังปลูกควรปล่อยให้หญ้าขนตั้งตัวก่อนประมาณ 80-90 วัน จึงใช้ประโยชน์ ในระยะแรกระบบรากยังไม่แข็งแรงพอการปล่อยโคลงแทะเล็มต้องจัดการดูแลให้ดีเพื่อป้องกันการทำลายต้นอ่อน

คุณค่าทางอาหาร   อ่อน 11.8 % CP, แก่ 7.8 % CP, 50 % TDN  (Humphreys, 1993)

 

 2. หญ้ารูซี่ (Ruzi Grass หรือ Congo Grass) Bachiaria ruziziensis

 

แหล่งดั้งเดิม  ประเทศ Congo นำเข้าประเทศไทยเมื่อปี 2511 โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) (ตรีพล, 2527)

ลักษณะทั่วไป  เป็นหญ้าประเภท Perennial การเจริญเติบโตคล้ายหญ้าขน มีใบเล็กกว่าหญ้าขน มีเหง้า (Rhizome) กาบใบจะยาวกว่าปล้องของลำต้น มีขนปกคลุม ใบมีขนยาวปกคลุมหนาแน่น ใบนิ่มกว่าใบหญ้าขน

ลักษณะทางการเกษตร  ขึ้นได้ดีในเขตร้อนชื้น มีฝนตกชุก ดินมีการระบายน้ำได้ดี ขึ้นได้ในดินหลายชนิด มีความทนทานต่อการแทะเล็ม

การปลูก นิยมใช้เมล็ดพันธุ์ อัตราปลูก 1- 2 กก./ไร่  ถั่วที่สามารถขึ้นร่วมได้คือถั่วเซนโตร (Centrosema pubescens) และถั่วฮามาต้า (Stylosanthes hamata)

การใช้ประโยชน์  ในสภาพทุ่งหญ้าผสมระหว่างหญ้ารูซี่กับถั่วฮามาต้า พบว่าหลังจากปลูกประมาณ 55 วัน ก็สามารถปล่อยโคลงแทะเล็มได้ โดยให้ผลผลิต 1.8 ตันน้ำหนักสด/ไร่ (ที่อัตราปลูกหญ้ารูซี่:ถั่วฮามาต้า = 2 : 4 กก./ไร่) แต่ในสภาพทุ่งหญ้าเดี่ยวควรปล่อยให้โคลงแทะเล็มเมื่อหญ้ามีอายุประมาณ 80 วัน หรือสังเกตจากการเจริญเติบโตครอบคลุมพื้นที่

 คุณค่าทางอาหาร   อ่อน 14 % CP,  แก่ 7.8 % CP,  55 % TDN  (Humphreys, 1993)

 

3. หญ้าเนเปียร์ (Napier Grass หรือ Elephant Grass) Pennisetum purpureum
 

แหล่งดั้งเดิม  ในเขตร้อนของอาฟริกา นำเข้าประเทศไทยโดย R.P. Jones (ตรีพล, 2527)

ลักษณะทั่วไป  เป็นหญ้าประเภท Perennial ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า (Rhizome) ลำต้นสูงจากพื้นดิน 180 - 240 ซม. ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ จะแตกเป็นกอใหญ่มาก มีใบยาวเรียวคล้ายอ้อย แต่มีความกว้างของใบน้อยกว่า

ลักษณะทางการเกษตร  มีระบบรากแข็งแรง ให้ผลผลิตสูง ชอบที่ชื้นแฉะโดยเฉพาะข้างคอกและหลังคอกที่มีทางระบายน้ำออกจากคอก

การปลูก  ใช้ส่วนของลำต้นที่มีอายุประมาณ 6 เดือน ตัดเป็นท่อนๆ ให้มีข้อ 2 - 3 ข้อ ฝังลงในดินลึกประมาณ 10 ซม. หรือปลูกเป็นหลุมๆ โดยให้ข้อฝังอยู่ใต้ดิน

การใช้ประโยชน์  ปกตินิยมตัดสดให้โค แต่ก็สามารถปล่อยโคลงแทะเล็มได้เมื่อคอยควบคุมไม่ให้หญ้าขึ้นสูงมากเกินไป หลังจากปล่อยแทะเล็มแล้วควรตัดให้หญ้ามีความสม่ำเสมอกัน

คุณค่าทางอาหาร  อ่อน 9.5 % CP, แก่ 6 % CP,  55 % TDN  (Humphreys, 1993)

 

 4. หญ้าสตาร์ (Star Grass หรือ African Star) Cynodon plectostachyus


แหล่งดั้งเดิม  ในอาฟริกาตะวันออก นำเข้าประเทศไทยโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2504 (ตรีพล, 2527)

ลักษณะทั่วไป  ลำต้นเป็นแบบเถาเลื้อย มีไหล (Stolon) มากมายประสานเป็นร่างแห

ลักษณะทางการเกษตร  ขึ้นได้ดีมากแม้แต่ในพื้นที่ที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลมากๆ ทนทานต่อการแทะเล็มและเหยียบย่ำของโค เจริญเติบโตได้เร็ว

การปลูก  ใช้ส่วนของลำต้นขยายพันธุ์


การใช้ประโยชน์  ปล่อยสัตว์ลงแทะเล็ม

คุณค่าทางอาหาร  7.6 % CP, 48 % TDN (Humphreys, 1993)

 

5. หญ้าโร้ด (Rhodes Grass) Chloris gayana

 

แหล่งดั้งเดิม  ในอาฟริกา นำเข้าประเทศไทยเมื่อปี 2472 โดย R.P. Jones (ตรีพล, 2527)

ลักษณะทั่วไป  ลำต้นเป็นแบบกอตั้ง มีไหล และมีรากอยู่ที่ข้อทุกข้อ

ลักษณะทางการเกษตร  เจริญเติบโตได้เร็ว ปกคลุมพื้นที่ได้หนาแน่น ตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจนได้ดี ทนทานต่อสภาพดินเค็มได้ดีกว่าหญ้าชนิดอื่น ไม่ทนแล้งเท่าใดนักเพราะรากอยู่ในระดับผิวดิน ทนทานต่อการถูกเผาได้ดี

การปลูก  ใช้เมล็ดอัตรา 1 - 2 กก./ไร่ ปลูกผสมกับถั่วเซนโตรและถั่วเซอราโต้ได้ดี

การใช้ประโยชน์  ใช้ตัดสดให้โคกินหรือปล่อยโคลงแทะเล็ม มีความทนทานต่อการแทะเล็มได้ดี นอกจากนี้ยังนิยมปลูกเพื่อทำหญ้าแห้ง (Hay) เพราะมีลำต้นเล็กมาก แห้งได้เร็ว เมื่อทำเป็นหญ้าแห้งจะได้หญ้าแห้งที่มีคุณภาพดี

คุณค่าทางอาหาร   8-9 % CP,  57 % TDN (Humphreys, 1993)

 
6. หญ้าบัฟเฟล (Buffel Grass) Cenchrus ciliaris



แหล่งดั้งเดิม  อยู่ในอาฟริกา อินเดียและอินโดนีเซีย นำเข้าประเทศไทยเมื่อปี 2498 จากประเทศฟิลิปปินส์ โดยกองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ (ตรีพล, 2527)

ลักษณะทั่วไป  จัดเป็นหญ้ากอพุ่มประเภท Perennial ใบมีสีเขียวซีด

ลักษณะทางการเกษตร  มีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี  ฟื้นตัวได้เร็วหลังการแทะเล็ม ชอบขึ้นในพื้นที่ที่มีการระบายน้ำได้ดี

การปลูก  ใช้เมล็ดอัตรา 1 - 2 กก. / ไร่  หรือแยกกอปลูก ปลูกรวมกับถั่วเซนโตร หรือ เซอราโตรได้

การใช้ประโยชน์  เหมาะทั้งตัดสดและปล่อยโคแทะเล็ม สามารถใช้ทำหญ้าแห้งได้ดีอีกด้วย

คุณค่าทางอาหาร 11 % CP,  55 % TDN (Humphreys, 1993)

 

7. หญ้ากินนี (Guinea Grass) Panicum maximum


แหล่งดั้งเดิม  ในอาฟริกา อเมริกากลางและอเมริกาใต้ นำเข้ามาประเทศไทยเมื่อปี 2444 โดยเจ้าพระยาสุรวงศ์ (ตรีพล, 2527)

ลักษณะทั่วไป  เป็นหญ้าประเภท Perennial  มีลำต้นตั้งตรงคล้ายกอตะไคร้  มีเหง้า  ข้อมีสีขาว ใบยาวเรียว

ลักษณะทางการเกษตร  มีระบบรากลึก ทนแล้งได้ดี ขึ้นได้ดีในที่ที่มีการระบายน้ำดี

การปลูก  ใช้ส่วนลำต้นใต้ดินโดยการแยกกอ หรือใช้เมล็ดอัตรา 1 - 2 กก./ไร่ สามารถปลูกใต้ต้นไม้ใหญ่ได้ ทนต่อร่มเงาได้ดี ปลูกร่วมกับถั่วเซนโตร ถั่วเซอราโตรได้

การใช้ประโยชน์  ใช้ได้ทั้งตัดสดและปล่อยโคลงแทะเล็ม ควรให้เหลือตอไว้ประมาณ 15 ซม. ถ้าต่ำมากอาจตายได้

คุณค่าทางอาหาร  อ่อน 14 % CP,  แก่ 8 % CP,  56 % TDN  (Humphreys, 1993)

 
 
พันธุ์ถั่ว (Legume Species)

            พืชตระกูลถั่วมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดประมาณ 16,962 ชนิด แหล่งดั้งเดิมอยู่ในเขตร้อน ร้อนชื้น เมื่อมีการนำพันธุ์ถั่วจากแหล่งดั้งเดิมไปปลูกในท้องถิ่นต่างๆ ทำให้ลักษณะของลำต้นเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมที่ถั่วชนิดนั้นขึ้นอยู่ (Humphreys, 1993) ถั่วที่นิยมปลูกเป็นพืชอาหารสัตว์มีดังนี้ คือ

1. ถั่วฮามาต้า (Hamata หรือ Verano Stylo) Stylosanthes hamata

2. ถั่วเซนโตร (ถั่วลาย, Centro) Centrosema pubescens

3. ถั่วเซอราโตร (Siratro) Macroptillium atropurpureum

 
 
1.  ถั่วฮามาต้า (Hamata หรือ Verano Stylo) Stylosanthes hamata


แหล่งดั้งเดิม  ในหมู่เกาะอินเดียตะวันตก และอเมริกากลาง นำเข้ามาประเทศไทยปี 2514 โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตรีพล, 2527)

ลักษณะทั่วไป  เป็นประเภทกึ่ง Perennial  การเจริญเติบโตในระยะแรกลำต้นจะตั้งตรง เมื่อมีอายุมากขึ้นจะมีกิ่งก้านแผ่ออกทางด้านข้าง  ลำต้นมีขนาดเล็ก  ใบย่อยมีรูปคล้ายหอก  ดอกมีสีเหลือง

ลักษณะทางการเกษตร  ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ดี

การปลูก  ใช้เมล็ด อัตรา 4 - 6 กก./ไร่ แต่เมล็ดมีการพักตัว (Seed Dormancy) สูง ดังนั้นก่อนทำการปลูกควรทำลายการพักตัว (Break Dormancy) ก่อนโดยการนำไปแช่ในน้ำอุณหภูมิ 80° C นานประมาณ 10 นาที แล้วนำมาผึ่งให้แห้งก่อนนำไปปลูก

การใช้ประโยชน์  ปล่อยให้โคลงแทะเล็ม มีความทนทานต่อการแทะเล็มได้ดี ไม่ทนทานต่อสภาพร่มเงา

คุณค่าทางอาหาร  19 % CP,  50 % TDN (FAO, 1988)

 

2. ถั่วเซนโตร (ถั่วลาย, Centro) Centrosema pubescens



แหล่งดั้งเดิม   อเมริกาใต้ ในประเทศไทยปลูกเป็นพืชคลุมดินในสวนยางมานานแล้ว

ลักษณะทั่วไป   เป็นถั่วประเภทเลื้อย และเป็น Perennial มีเถาค่อนข้างเล็ก ใบไม่มีขน ดอกสีม่วงอ่อน ฝักจะแบนและหนา ยาว 7 - 15 ซม.

ลักษณะทางการเกษตร  ทนทานต่อความแห้งแล้งและการแทะเล็มได้ดี สัตว์ชอบกิน

การปลูก  ใช้เมล็ดอัตรา 2 กก./ไร่  นิยมปลูกร่วมกับหญ้าหลายชนิด เช่น หญ้ากินนี หญ้าขน หรือร่วมกับหญ้าพื้นเมือง

การใช้ประโยชน์  ปลูกร่วมกับหญ้า อาจใช้ตัดสดหรือปล่อยโคลงแทะเล็มก็ได้

คุณค่าทางอาหาร  23 % CP,  50 % TDN (FAO, 1988)  

 

3. ถั่วเซอราโตร (Siratro) Macroptillium atropurpureum



แหล่งดั้งเดิม   อเมริกาใต้ นำเข้ามาประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505 โดยองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย จากประเทศออสเตรเลีย (ตรีพล, 2527)

ลักษณะทั่วไป  เป็นถั่วประเภท Perennial ลำต้นมีขนขึ้นอยู่ทั่วไป ใบด้านบนมีขนน้อยกว่าด้านล่าง ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างมีลักษณะคล้ายรูปไข่ ใบมีส่วนเว้าเข้าไป

ลักษณะทางการเกษตร  มีระบบรากแข็งแรง ทนแล้งได้ดี ไม่ชอบพื้นที่ที่มีน้ำขัง

การปลูก   ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดในอัตรา 2 กก./ไร่ นิยมปลูกร่วมกับหญ้ากินนี หญ้าโร้ด หรือหญ้าขน

การใช้ประโยชน์   ใช้ตัดสดหรือปล่อยโคลงแทะเล็ม

คุณค่าทางอาหาร  17 % CP,  50 % TDN (FAO, 1988)
 
 
การใช้ประโยชน์ทุ่งหญ้า (Pasture Utilisation) 
 
 
                หลังจากปลูกสร้างทุ่งหญ้าเสร็จแล้ว และเมื่อทุ่งหญ้ามีอายุพร้อมที่จะใช้ประโยชน์ได้แล้ว วิธีการที่จะใช้ประโยชน์จากผลผลิตทุ่งหญ้าเพื่อเลี้ยงโคนั้นมีด้วยกันหลายวิธีดังนี้ 

1) วิธีการตัดสด (Fresh Cut หรือ Cut and Carry)

                     เป็นวิธีการใช้ประโยชน์จากทุ่งหญ้าโดยการขนย้ายพืชอาหารสัตว์จากแปลงมาให้โคกิน การตัดอาจทำได้โดยการเกี่ยว การใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่นเครื่องตัดหญ้าแบบสพาย หรือในฟาร์มขนาดใหญ่อาจใช้เครื่องมือเก็บเกี่ยว เช่น Forage Harvester, Single Chop Harvester และ Double Chop Harvester วิธีนี้เหมาะกับฟาร์มขนาดใหญ่

ข้อดี      
- ใช้ประโยชน์จากพืชได้เต็มประสิทธิภาพ          

                                  
- พืชมีความสม่ำเสมอในการเจริญเติบโตครั้งต่อไป

                                  
- เหมาะกับพืชที่ให้ผลผลิตสูง

                                 
- สามารถใช้เลี้ยงโคได้จำนวนเพิ่มขึ้น

ข้อเสีย  
- แปลงหญ้าเสื่อมสภาพเร็ว เพราะทุกครั้งที่ตัด จะนำธาตุอาหารในดินไปด้วย

                                  
- ค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยสูง

              
- ต้องใช้แรงงานและเครื่องจักรอุปกรณ์

 

2) วิธีการปล่อยโคลงแทะเล็ม (Grazing)

                     เป็นวิธีการปล่อยให้โคลงแทะเล็มในแปลงหญ้าเอง การปล่อยโคลงแทะเล็มสามารถแบ่งออกเป็น 2 ระบบใหญ่ๆ ดังนี้

 
ระบบปล่อยแปลงเดียว (Continuous Grazing หรือ Set Stocking)

เป็นระบบที่ปล่อยให้โคลงแทะเล็มในแปลงหญ้าขนาดใหญ่แปลงเดียว

 

ระบบปล่อยหมุนเวียน (Rotational Grazing)

เป็นระบบที่มีการแบ่งแปลงหญ้าออกเป็นแปลงย่อยๆ

ข้อดี       
-  โคสามารถเลือกกินหญ้าที่มีคุณภาพดีได้

                            
-  ประหยัดแรงงานและค่าใช้จ่ายในด้านเครื่องจักรอุปกรณ์ในการตัดหญ้า

                             
-  มีการคืนกลับของธาตุอาหารจากปัสสาวะและมูลโค

                            
-  ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ย

              

ข้อเสีย   
-  โคมีการเหยียบย่ำทำลายพืชอาหารสัตว์

                            
-  ต้องลงทุนในระบบรั้ว

                            
-  ถ้าจัดการไม่ดีพอ พืชอาหารสัตว์จะหายไปจากแปลงได้เร็ว

                            
-  พืชอาหารสัตว์จะตั้งตัวได้ช้าหลังแทะเล็ม และจะขึ้นไม่ส่ำเสมอ