วันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2554

กุ้งฝอย สัตว์น้ำเศรษฐกิจ ทางเลือกหนึ่งที่เลี้ยงได้แบบการค้า

กุ้งฝอย เป็นกุ้งน้ำจืดขนาดเล็ก พบได้ทั่วไปในภูมิภาคของประเทศไทย เป็นที่นิยมบริโภคกันทั่วไป เช่น กุ้งเต้น ทอดมันกุ้ง กุ้งฝอยทอด กุ้งฝอยมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้ง โปรตีนและแคลเซียม ปัจจุบันนี้กุ้งฝอยเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากการเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำธรรมชาติ บางครั้งใช้กุ้งฝอยเป็นอาหารเลี้ยงอนุบาลลูกปลาเศรษฐกิจ เช่น ปลาบู่ ปลาช่อน ปลากราย และปลาสวยงาม ทำให้เกิดความไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีแนวโน้มสูงมากขึ้น ขณะนี้ราคากุ้งฝอยในท้องตลาดตั้งแต่กิโลกรัมละ 300-400 บาท มีเกษตรกรบางรายนำมาเพาะเลี้ยงกุ้งฝอย ผลปรากฏว่า อัตราการรอดต่ำ เลี้ยงอย่างหนาแน่นไม่ได้ และอาจจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

ดร.บัญชา ทองมี อาจารย์ประจำคณะประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เล่าว่า ด้วยเหตุผลที่กุ้งฝอยเริ่มมีปริมาณลดน้อยลง มีราคาแพง และยังเป็นทางเลือกหนึ่งที่เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพได้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงได้ทำการศึกษาวิจัยการเลี้ยงกุ้งฝอยในเชิงการค้า โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่ง ชาติ (สวทช.) จนประสบผลสำเร็จ สามารถเผยแพร่แก่เกษตรกรนำไปเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพได้

ข้อมูลทั่วไป

กุ้งฝอย เป็นกุ้งน้ำจืด ชอบซ่อนตัวอยู่ตามใต้ก้อนหินหรือเกาะตามพรรณไม้ ชอบอาศัยอยู่ในน้ำนิ่งหรือไหลเอื่อยๆ น้ำขุ่น ลึกไม่เกิน 1 เมตร มีอินทรียวัตถุทับถมกัน กุ้งฝอยเพศเมียจะเริ่มมีไข่และผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 60 วันขึ้นไป จะสร้างไข่เก็บไว้ในถุงเก็บไข่ กุ้งเพศผู้จะพยายามติดตามกุ้งเพศเมียตลอดเวลา หลังจากกุ้งเพศเมียลอกคราบภายใน 3-6 ชั่วโมง ขณะที่เปลือกของกุ้งเพศเมียยังอ่อนอยู่จะมีการผสมพันธุ์กัน โดยกุ้งเพศผู้จะปล่อยน้ำเชื้อที่อยู่ในถุงเก็บน้ำเชื้อที่อยู่บริเวณโคนขา ช่วงที่ 5 ปล่อยน้ำเชื้อในถุงเก็บน้ำเชื้อเพศเมียเพื่อผสมกับไข่ ไข่ที่ผสมแล้วจะเคลื่อนไปอยู่ในส่วนล่างของท้องบริเวณขาว่ายน้ำ กุ้งเพศเมียจะพัดโบกขาว่ายน้ำตลอดเวลา เพื่อให้ไข่ได้รับออกซิเจน แม่กุ้งฝอยขนาดยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร จะมีไข่ประมาณ 200-250 ฟอง หลังจากผสมพันธุ์แล้ว 3 วัน ไข่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อนและสีเหลือง ต่อมาอีก 7-9 วัน จะมองเห็นตาของตัวอ่อนอย่างชัดเจน หลังจากนั้นไข่ในท้องแม่กุ้งฝอย จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและฟักออกมาเป็นตัวเมื่ออายุ 21-25 วัน

วิธีการเพาะกุ้งฝอย

วิธีการเพาะเลี้ยงกุ้งฝอย สามารถเพาะเลี้ยงได้ 2 วิธี คือ การนำพ่อแม่พันธุ์กุ้ง ประมาณ 50 ตัว ปล่อยลงในบ่อเลี้ยงที่มีกระชังภายในบ่อ เพื่อให้พ่อแม่พันธุ์กุ้งฝอยผสมพันธุ์กันเอง วิธีนี้ใช้เวลา 2-3 เดือน แต่จะมีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 20-30% เนื่องจากกุ้งมีขนาดที่ต่างกัน กุ้งจะกินกันเอง เพราะมีทั้งกุ้งฝอยขนาดใหญ่และขนาดเล็กปะปนกัน อีกวิธีหนึ่งคือ การคัดแม่พันธุ์ที่มีไข่แล้วมาขยายพันธุ์ มีอัตราการรอดชีวิต 80% มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงขอแนะนำเกษตรกรใช้วิธีนี้ เนื่องจากจะได้กุ้งฝอยที่มีขนาดเดียวกัน การปฏิบัติดูแลรักษาง่าย สามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดินและบ่อซีเมนต์ การลงทุนต่ำ สามารถเพาะเลี้ยงได้ตลอดทั้งปี

การเพาะเลี้ยง

เริ่มต้นจากการรวบรวมกุ้งเพศเมียจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวนประมาณ 80-100 ตัว นำมาพักไว้ในกระชังอย่างน้อย 1 คืน คัดเลือกเฉพาะกุ้งเพศเมียที่มีไข่แก่ มองเห็นตาของลูกกุ้งในท้อง เพาะฟักในตะแกรงที่แขวนไว้ในกระชังผ้า ขนาด 1x1x1 เมตร ในบ่อซีเมนต์หรือบ่อดิน ให้อาหารสำเร็จรูปที่มีโปรตีน 33% ให้อาหารประมาณ 5% ของน้ำหนักตัว แบ่งให้ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ประมาณ 3-4 วัน ไข่จะฟักออกมาเป็นตัว แยกแม่กุ้งออกจากกระชัง แล้วคัดลูกกุ้งที่มีขนาดเดียวกัน เพื่อสะดวกในการจัดการเพาะเลี้ยง นำลูกกุ้งที่ได้ไปอนุบาลในกระชังผ้าโอล่อนแก้ว ปริมาณ 50,000 ตัว ในบ่อขนาด 1x1x1 เมตร สัปดาห์แรก ให้ไข่แดงต้มสุกเป็นอาหาร สัปดาห์ที่ 2-4 ใช้ไรน้ำจืดขนาดเล็กเป็นอาหาร จากนั้นจึงให้อาหารสำเร็จรูปชนิดผง เป็นอาหารที่มีโปรตีน 40% ให้อาหารในปริมาณ 10% ของน้ำหนักตัว ระยะนี้ต้องระมัดระวังตาข่ายไม่ให้อุดตัน ควรใช้แปรงขนาดเล็กขนอ่อนทำความสะอาดบ่อยครั้ง ใช้เวลาอนุบาลเป็นเวลา 1 เดือน จึงนำไปเลี้ยงในกระชังในบ่อดินหรือบ่อซีเมนต์ได้

การเตรียมบ่อ

ทำความสะอาดบ่อด้วยปูนขาว ตากทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ กั้นคอกล้อมบ่อด้วยอวนพลาสติคสีฟ้าเพื่อป้องกันศัตรู เติมน้ำในบ่อโดยผ่านการกรองด้วยผ้าตาถี่ เพื่อป้องกันไข่ปลาและลูกปลาขนาดเล็กๆ เล็ดลอดลงในบ่อกุ้ง เติมน้ำสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยขี้ไก่ อัตรา 60-120 กิโลกรัม ต่อไร่ ทิ้งไว้ 3-4 วัน รอจนน้ำเริ่มสีเขียว จึงเติมน้ำจนได้ระดับ 1 เมตร จากนั้นจึงนำลูกกุ้งที่อนุบาลมาแล้วประมาณ 1 เดือน ปล่อยลงในบ่อ อัตรา 30,000-50,000 ตัว เลี้ยงประมาณ 2 เดือน ก็สามารถจับขายได้ มีอัตรารอด 80% ที่สำคัญการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ควรช่วยการหายใจด้วยระบบการเติมออกซิเจนด้วย

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะประมงฯ โทร. (053) 498-178, (053) 873-402 ต่อ 161, (086) 654-2372 หรือ www.fishtech.mju.ac.th

ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1299128990&grpid=no&catid=&subcatid=

วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

การปลูกมะพร้าวน้ำหอม

แหล่งปลูกกระจายทั่วทุกภาค จังหวัดที่ปลูก มะพร้าวมากที่สุด คือจังหวัดชลบุรี คิดเป็นร้อยละ10 ของพื้นที่ทั้งหมด รองลงมาคือ ราชบุรี่ สมุทรสาคร นครปฐม และชุมพร แต่ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมจังหวัดสมุทรสาครมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้วเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ จังหวัดราชบุรี

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
• ควรมีฝนตกกระจายสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี และไม่ควรมีฝนตกน้อยกว่า 50 มิลลิเมตร เกิน 3 เดือน
• อุณหภูมิเฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส จะสูงหรือต่ำกว่านี้ไม่เกิน 7-8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิไม่ควรเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน
• มะพร้าวควรได้รับแสงแดดอย่างน้อย 5 ชั่วโมงต่อวัน แสงแดดต้องสาดส่องอย่างสม่ำเสมอตลอดปี
• ควรมีลมพัดอ่อน ๆ แต่พัดอย่างสม่ำเสมอ
• ดินไม่เปรี้ยวหรือเค็มจัด มีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ และความชื้นพอเหมาะ แต่ถ้าเป็นดินน้ำไหลทรายมูลที่เกิดจากน้ำพัดพามาสะสม เช่น ดินริมแม่น้ำ จะปลูกมะพร้าวได้ดีที่สุด

พันธุ์มะพร้าวน้ำหอม
เชื่อว่ามะพร้าวน้ำหอมกลายพันธุ์มาจากพันธุ์หมูสีเขียว เกิด จากการคัดเลือกพันธุ์โดยธรรมชาติ จุดเด่นคือ น้ำมะพร้าวมีกลิ่นหอมและรสหวานจึงเป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้ามากที่สุด ในบรรดามะพร้าวที่ปลูกเพื่อขายผลอ่อน เป็นมะพร้าวที่ให้ผลเร็วติดผลดกและต้นเตี้ย การบานของดอกตัวผู้และดอกตัวเมียใกล้เคียงกัน จึงผสมตัวเอง แทนที่จะผสมข้ามต้นแบบมะพร้าวต้นสูง ทำให้มะพร้าวน้ำหอมไม่ค่อยกลายพันธุ์

วิธีการปลูก
การเตรียมที่ปลูก
ที่ลุ่ม
พื้นที่ลุ่มน้ำท่วมขังจำเป็นต้องยกร่องให้สูงกว่าระดับน้ำ ไม่น้อยกว่า 50 ซม. คันร่อง กว้าง 5-8 เมตร ร่องลึก 1 เมตร กว้าง1 1/2 - 2 เมตร
ที่ดอน
ถ้าเป็นพื้นที่รกร้าง ต้องถางให้เตียน โค่นต้นไม้และขุดตอออกให้หมด เพื่อสะดวกในการดูแลรักษามะพร้าวต่อไป
ระยะปลูกที่เหมาะสม
คือ ระยะระหว่างต้น x ระยะระหว่างแถว เท่ากับ 6x6 เมตร
การเตรียมหลุมปลูก
การปลูกมะพร้าวบนที่ดอนและดินมีความอุดมสมบูรณ์ เช่น เป็นดินทราย หรือดินลูกรัง ควรขุดหลุมกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร และลึก 1 เมตร ส่วนในที่ลุ่มหรือที่ที่ดินอุดมสมบูรณ์อาจขุดหลุมให้เล็กกว่านี้ได้ การเตรียมหลุมปลูกที่ดีจะช่วยให้หน่อมะพร้าวเจริญเติบโตเร็วการขุดหลุม ให้ขุดเอาดินผิวไว้ด้านหนึ่ง และดินชั้นล่างไว้อีกทางหนึ่ง และควรขุดในฤดูแล้ง หลังจากขุดหลุมแล้ว ให้ตากดินไว้สัก 7 วัน ถ้าสามารถหาไม้มาเผาในก้นหลุมจะช่วยป้องกันปลวกหลังจากขุดหลุมแล้ว เมื่อจะใส่ดินลงในหลุม ถ้าที่ปลูกนั้นเป็นที่ดอน และสามารถหากาบมะพร้าวมารองก้นหลุมได้ ควรรองก้นหลุมด้วยกาบมะพร้าวสัก 2 ชั้น แล้วจึงเอาดินชั้นบนใส่ลงไปประมาณครึ่งหลุม และใช้ดินเคล้ากับปุ๋ยคอกผสมลงไป บางแห่งก็แนะนำให้ใส่ปุ๋ยกับดิน และกาบมะพร้าวสลับกันไปเป็นชั้น ๆ ปุ๋ยคอกที่ใส่ควรใส่หลุมละประมาณ1 ปี หรือ หินฟอสเฟตครึ่งกิโลกรัมต่อหลุม ใส่ดินและปุ๋ยที่ผสมกันแล้วจนเต็มหลุมและทิ้งไว้จนถึฤดูปลูก
การปลูก
หลังจากฝนตกหนัก 2 ครั้ง ในช่วงต้นฝนจึงเริ่มลงมือปลูก โดยขุดดินตรงกลางหลุม ขนาดเท่าผลมะพร้าว เอาหน่อมะพร้าววางลงจัดรากให้แผ่ตามธรรมชาติ เอาดินกลบเหยียบด้านข้างให้แน่น กลบดินให้เสมอผิวของผลมะพร้าว ปักหลักกันลมโยกในระยะแรก ๆ ควรทำร่มบังแดดด้วย

การดูแลรักษา

การให้น้ำ
ในช่วง 1-2 ปีแรก การให้น้ำแก่ต้นมะพร้าวเป็นสิ่งจำเป็นในฤดูแล้ง ควรรดน้ำอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง และใช้เศษหญ้าคลุมโคนมะพร้าวเพื่อรักษาความชื้น

การใส่ปุ๋ย
ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ในช่วงฤดูฝน ปุ๋ยเคมี-อินทรีย์ตราบัวทิพย์ สูตร2 ปริมาณเท่าจำนวนอายุของมะพร้าว แต่ไม่เกิน 4 กิโลกรัม ต่อต้นต่อปี สำหรับปุ๋ยคอกใส่ประมาณ 2 ปีบต่อต้นต่อปี ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยเคมี-อินทรีย์ตราบัวทิพย์ ห่างจากโคนต้นมะพร้าวออกมา 15 เซนติเมตร จนถึงรัศมี 1.5 เมตร รอบต้น

การปลูกพืชแซม
ในปีที่ 1-2 มะพร้าวอ่อนยังมีทรงพุ่มไม่ใหญ่นัก และยังไม่ได้ผลผลิต ช่วงนี้จึงควรปลูกพืชอายุสั้น เช่น พืชผัก พืชตระกูลถั่ว พืชไร่ หรือ พืชสวน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้ปลูกมะพร้าวอ่อน

ศัตรูมะพร้าว

ด้วงแรด
กัดกินยอดมะพร้าวทำให้ใบมะพร้าวขาดเป็นริ้ว ๆ รูปสามเหลี่ยม ต่อมาทางมะพร้าวจะหักพับลงทำให้มะพร้าวโทรม หรือตายได้ แหล่งขยายพันธุ์ในซากลำต้นหรือตอของมะพร้าว หรือมูลสัตว์ที่กองทิ้งไว้นาน ๆ การกำจัดแหล่งขยายพันธุ์เป็นการป้องกันที่ดีที่สุด
การป้องกันกำจัด
ใช้วิธีเขตกรรม
การกำจัดแหล่งขยายพันธุ์เป็นวิธีที่ดีที่สุด และลงทุนน้อย โดยไม่ปล่อยแหล่งขยายพันธุ์ไว้เกิน 2-3 เดือน มีวิธีดำเนินการดังต่อไปนี้
• เผาหรือฝังซากท่อนมะพร้าว ตอมะพร้าว
• นำชิ้นส่วนของพืชและมูลสัตว์ที่กองทิ้งไว้ ควรเกลี่ยกระจายบนพื้นดินไม่ให้หนาเกิน 15 ซม.
• ถ้าจำเป็นต้องกองทิ้งไว้เกิน 2-3 เดือน ควรหมั่นพลิกกลับกอง เพื่อตรวจหาไข่หนอน ดักแด้ และตัวเต็มวัยของด้วงแรด แล้วกำจัดทันที
ใช้วิธีกล
• หมั่นทำความสะอาดบริเวณตอมะพร้าวตามโคน และยอด หากพบให้ใช้เหล็กแหลมแทงด้วงแรดในรู เพื่อกำจัดทันที ก่อนจะทำลายตายอดมะพร้าว พร้อมใส่สารฆ่าแมลงป้องกันไม่ให้ด้วงงวงมะพร้าววางไข่
ใช้สารฆ่าแมลง
• พอสซ์ หรือลอร์สแบบ 40 อีซี ปริมาณ 80 มล./น้ำ 20 ลิตร สำหรับมะพร้าวอายุ 1-5 ปี ราดบริเวณคอมะพร้าวให้เปียกชุ่มโดยใช้น้ำยาผสมประมาณ 1-1.5 ลิตร/ต้น ตามขนาดของคอมะพร้าว ห่างกัน 15-20 วัน ทำติดต่อกัน 1-2 ครั้ง
• เซฟวิน 85 ดับบลิวพี ใช้เซฟวิน 85 ดับบลิวพี 1 ส่วน ผสมขี้เลื่อย 33 ส่วน ใช้ทารอบยอดส่วนของโคน ทางใบมะพร้าว
• ลูกเหม็น ใช้ลูกเหม็น 6-8 ลูก/ต้น ใส่ลูกเหม็นไว้ที่โคนทางมะพร้าวที่อยู่รอบยอดที่ยังไม่คลี่จำนวน 3-4 ทาง ๆ ละ 2 ลูก ลดจำนวนลูกเหม็นลงเป็น 1 ลูก/ทางใบมะพร้าวต้นเล็ก
• ฟูราดาน 3% จี ใช้ฟูราดาน 200 กรัม/ต้น โรยรอบคอมะพร้าวตามโคนกาบใบ

ด้วงงวงชนิดเล็กและชนิดใหญ่
ตัวด้วงกัดกินส่วนอ่อนของมะพร้าว เช่น ยอดอ่อนหรือโคนมะพร้าว ทำให้มะพร้าวแคระแกร็น ใบหดสั้น ใบอ่อนร่วงหล่น คอมะพร้าวเน่า และตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด
ใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว หรือ ชันผสมน้ำมันยาง ทารอบต้นตั้งแต่โคนต้นถึงระดับเหนือพื้นดิน 2 ฟุต ที่พบรอยแผลหรือรอยแตกของเปลือก เพื่อป้องกันการวางไข่ ทำปีละ 2 ครั้ง ใช้สารเคมีลอร์สแบน 40-80 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หยอดตามรอยแผลหรือรูเจาะที่เกิดจากด้วงแรด บริเวณรอบคอมะพร้าว และราดบริเวณบาดแผลที่เป็นเนื้อเยื่ออ่อน พร้อมอุดรูด้วยดินน้ำมัน หรือดินเหนียว
การเก็บเกี่ยว
วิธีการที่สามารถใช้สังเกตอายุการเก็บเกี่ยวมะพร้าวที่เหมาะสมได้ เช่น
• การนับทะลาย นับทะลายที่จะเก็บเกี่ยวเป็นทะลายที่หนึ่ง แล้วนับทะลายที่ออกตามมาเป็นทะลายที่สองและสามไปเรื่อย ๆ เมื่อจั่นที่ 12 แทงออกและกาบหุ้มยังไม่แตกเป็นระยะที่ มะพร้าวทะลายแรกอยู่ในช่วงที่อ่อนกำลังดี
• สังเกตจากหางหนู เก็บเกี่ยวในช่วงที่หางหนูแห้งครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งหนึ่งยังสดอยู่
• สังเกตจากสีผล ให้สังเกตบริเวณรอยต่อของขั้วกับตัวผล ซึ่งจะเห็นเป็นวงสีขาว ๆ รอบขั้วผลอยู่ในระยะที่เพิ่ง เลือนหายไป

วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
• แช่ผลมะพร้าวในสารละลายโซเดียมเมตาซัลไฟท์ ความเข้มข้นประมาณ 3 % นาน 3 นาที จะช่วยรักษาสีผิวของมะพร้าวอ่อนให้เก็บในอุณหภูมิต่ำได้นานเป็นเดือน
• หุ้มผลด้วยฟิล์มพลาสติกเพื่อป้องกันผลเหี่ยว และช่วยลดปัญหาที่เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำระหว่างการเก็บรักษา ซึ่งถ้ามีน้ำสะสมที่ผิวผลมากจะทำให้เกิดเชื้อราขึ้นระหว่างการเก็บรักษาหรือ การวางจำหน่ายได้
• อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษานั้นจะขึ้นอยู่กับรูปแบบ หรือลักษณะของมะพร้าว หากเป็นมะพร้าวที่แต่งเปลือกเขียวออกจนหมดควรเก็บที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสจะเก็บได้นานถึง 4 สัปดาห์ แต่ถ้าปอกเปลือกนอกออกทั้งหมด เหลือเฉพาะส่วนขั้วผลและขัดกะลาจนเรียบ ควรเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-4 องศาเซลเซียส แต่ถ้าแต่งเปลือกสีเขียวออกบางส่วนจะต้องเก็บที่อุณหภูมิสูงขึ้นคือ 10 องศาเซลเซียสเพื่อป้องกันความเสียหาย จากความเย็นที่ส่วนเขียวซึ่งจะเกิดจุดสีน้ำตาล และทำให้เปลือกเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหากเก็บที่อุณหภูมิต่ำนานเกิน

การแปรรูป
• มะพร้าวแก้ว
• วุ้นมะพร้าว
• มะพร้าวสวรรค์
• ข้าวเกรียบมะพร้าว
• เยลลี่มะพร้าว


ที่มา http://www.puibuatip.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538732493&Ntype=18

วิธีเพาะเมล็ดไผ่ (สามารถใช้กับไผ่ได้ทุกชนิด)

http://elearning.chitaree.ac.th/media/digital_library/agri/paitong/pic4_2.jpg
การเพาะเมล็ด
ไผ่เมื่อหมดอายุขัยจะออกดอกและตาย ปกติไผ่จะเริ่มออกดอกในเดือนพฤศจิกายน-มกราคม เมล็ดไผ่จะเริ่มแก่และร่วงหล่นประมาณเดือน มีนาคม-เมษายน เกษตรกรสามารถนำเมล็ดไผ่ที่ได้ไปทำการเพาะต่อไปโดยวิธีการดังนี้

การเก็บเมล็ดพันธุ์
- เมล็ดไผ่เมื่อแก่จัดจะร่วงลงพื้น เกษตรกรควรทำความสะอาดหรือถางโคนต้นให้เตียน เพื่อความสะดวกในการรวบรวมเมล็ดไผ่ หรือใช้วัสดุหรือตาข่ายรองรับเมล็ดพันธุ์ไผ่ กรณีเขย่าต้นให้เมล็ดร่วงจากต้น
- รวบรวม เมล็ดพันธุ์ไผ่ที่ได้ ทำการฝัดด้วยกระด้งก็จะได้เมล็ดที่สมบูรณ์
- นำเมล็ดที่สมบูรณ์มาขัด นวดเอาเปลือกออกโดยใช้พื้นรองเท้าแตะฟองน้ำ ขัดนวดเมล็ดบนกระด้ง และฝัดเอาเปลือกออก
- นำเมล็ดไผ่ที่ได้ไปผึ่งแดด ประมาณ 1 แดด ก็สามารถนำไปเพาะได้ เพื่อป้องกันแมลงและไม่ควรเก็บเมล็ดไว้เกิน 1 เดือน เพราะจะทำให้เปอร์เซ็นต์ความงอกลดลง

วิธีการเพาะกล้าไผ่
- เมล็ดไผ่ที่จะเพาะควรขัดเอาเปลือกนอกออกก่อนถ้าเพาะทั้งเปลือกนอกเมล็ดจะงอกช้าและเติบโตไม่สม่ำเสมอ
- นำเมล็ดไปแช่น้ำ 2 คืน หรือแช่เมล็ดด้วยน้ำอุ่นประมาณ 2 ชั่วโมงแล้วแช่น้ำอีก 1 คืน
- นำเมล็ดขึ้นจากน้ำ แล้วห่อหุ้มเมล็ดด้วยผ้ารดน้ำให้ชื้นอยู่เสมอประมาณ 2 คืน เมล็ดจะเริ่มงอก
- นำเมล็ดที่เริ่มงอกไปลงแปลงเพาะที่มีขี้เถ้าแกลบผสมดินและทรายรองพื้นหนา ประมาณ 4 นิ้ว หว่านเมล็ดแล้วกลบด้วยดินหนาประมาณ 1 ซม. คลุมแปลงด้วยวัดสุคลุมดิน เช่น หญ้าแห้ง และฟางข้าว
- ทำการย้ายกล้า ภายหลังจากการเพาะลงแปลงแล้วประมาณ 15 วัน ซึ่งต้นกล้าไผ่ตงจะมีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว ย้ายกล้าที่แข็งแรงลงถุงเพาะและอนุบาลไว้ในเรือนเพาะชำ หรือในที่ร่มรำไร ประมาณ 6-8 เดือน ก็นำไปปลูกต่อไป

http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/799/6799/images/2004112510174961556155.jpg
ลักษณะของดอกไผ่

http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/799/6799/images/PintailedParrotfinch14.jpg

http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/159/655/original_paif.jpg?1285896009


วิธีการเพาะเมล็ดไผ่บงหวาน

เริ่มจากเก็บเมล็ดไผ่บงหวานที่แก่จัด เพาะในกะบะเพาะ โดยมีวัสดุเล็กละเอียด เก็บความชื้นได้ดี รดน้ำทุกวัน แต่อย่าให้แฉะ ราว 7-10 วัน เมล็ดจะ เริ่มงอก จากนั้น 3-4 สัปดาห์ ย้ายกล้าลงชำในถุงพลาสติกที่เตรียมไว้ รดน้ำ อย่างสม่ำเสมอ เมื่อต้นแข็งแรงและสามารถดูแลทั่วถึงก็นำลงปลูกได้ หรืออาจจะใช้เวลาเตรียมต้น 6-12 เดือน จึงนำออกเผยแพร่ ทั้งนี้ ให้ แน่ใจว่านำไปปลูกลงแปลงแล้ว เปอร์เซ็นต์รอดมีมาก


ที่มา http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?action=printpage;topic=1756.0