วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เชื้อรา บิวเวอร์เรีย ( Beauveria bassiasna )





เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง ซึ่งสามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด ซึ่งได้แก่แมลงจำพวกเพลี้ยต่างๆ หนอนผีเสื้อ ด้วง และแมลงวัน หรือยุง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสามารถกำจัดปลวก และมดคันไฟได้ ทำให้มดและปลวกตายยกรังได้ 
                   กลไกการเข้าทำลายแมลงของเชื้อราบิวเวอร์เรีย คือ เมื่อสปอร์ของเชื้อราสัมผัสกับผิวของแมลง ในสภาพความชื้นที่เหมาะสม (ความชื้นสัมพัทธ์ 50 % ขึ้นไป) จะงอกเส้นใยแทงผ่านผิวหนังเข้าไปในลำตัวแมลง แล้วขยายจำนวนเจริญอยู่ภายในโดยใช้เนื้อเยื่อของแมลงเป็นอาหาร แมลงจะตายในที่สุด ภายในระยะเวลาต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และวัยของแมลง โดยทั่วไปประมาณ 3 - 14 วัน เชื้อราบิวเวอร์เรียสามารถนำมาใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น แมลงศัตรูพืชเป้าหมายในข้าว ได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ บั่ว หนอนห่อใบ ในมะม่วงได้แก่ เพลี้ยจักจั่นที่ทำลายช่อมะม่วง แมลงค่อมทอง ในพืชตระกูลส้มได้แก่ เพลี้ยอ่อนส้ม เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ ไรแดง ในพืชผักได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรขาว แมลงหวี่ขาว หนอนผีเสื้อต่างๆ ในอ้อยได้แก่ แมลงค่อมทอง เป็นต้น 


การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียควบคุมศัตรูพืช 
1. เนื่องจากเชื้อค่อนข้างอ่อนแอต่อแสงแดด และอุณหภูมิสูง จึงควรใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียในช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ 
2. ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีขายตามท้องตลาด ให้ใช้วิธีและอัตราการใช้ที่ระบุไว้ในฉลาก 
3. เชื้อราบิวเวอร์เรียชนิดสด ที่รับจากศูนย์บริหารศัตรูพืช หรือที่เกษตรกรผลิตขยายได้เอง ใช้ในอัตราก้อนเชื้อ 1 กิโลกรัม  ( 2 ถุง) ต่อน้ำ 25 – 50 ลิตร โดยนำก้อนเชื้อใส่ลงในตาข่ายเขียว แล้วนำไปยี หรือขยี้ในน้ำให้สปอร์เชื้อราหลุดจากเมล็ดข้าวโพดลงไปในน้ำ นำเมล็ดข้าวโพดออกทิ้งไป แล้วนำน้ำที่ได้ไปฉีดพ่น 
4. ระหว่างที่ฉีด ให้กวนน้ำเป็นระยะ และควรปรับหัวฉีดให้พ่นฝอยละเอียด จะฉีดได้ผลดีและได้พื้นที่เพิ่มขึ้น 
5. เชื้อราบิวเวอร์เรียสามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด รวมถึงแมลงศัตรูธรรมชาติบางชนิดด้วย ดังนั้นถ้าหากพบว่ามีศัตรูธรรมชาติอยู่มาก ก็ควรงด หรือชะลอการฉีดออกไป 
6. เชื้อราจะเข้าทำลายแมลงได้ในสภาพที่มีความชื้นสูง ดังนั้น การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียในช่วงฤดูแล้ง หรืออากาศแห้งแล้ง อาจจำเป็นต้องเพิ่มความชื้นโดยการให้น้ำ หรือพ่นละอองน้ำ ก่อนและหลังการใช้ 


การผลิตเชื้อราบิวเวอร์เรีย 
เกษตรกรสามรถผลิตเชื้อราบิวเวอร์เรียใช้ได้เอง โดยขอรับหัวเชื้อจากศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำมาต่อเชื้อลงในเมล็ดข้าวโพด ซึ่งมีขั้นตอนลัวิธีการดังนี้ 


1. เตรียมวัสดุเลี้ยงเชื้อ เชื้อราบิวเวอร์เรียสามารถเจริญเติบโตได้ดีบนเมล็ดธัญพืชทุกชนิด แต่เมล็ดธัญพืชที่ เหมาะสมที่สุดคือ เมล็ดข้าวโพด เพราะมีขนาดใหญ่ ทำให้มีช่องว่างมาก เมล็ดข้าวโพดที่จะนำมาใช้ต้องไม่เป็นเมล็ดที่คลุกสารเคมี หรือสารกำจัดเชื้อรา การเตรียมเมล็ดข้าวโพดสำหรับเลี้ยงเชื้อราบิวเวอร์เรียทำได้โดย นำเมล็ดข้าวโพดมาล้างให้สะอาด แล้ว 
•  ทำให้เมล็ดอุ้มน้ำด้วยการแช่เมล็ดไว้ 1 คืน (หรือใช้วิธีต้มประมาณ 30 นาที) 
•  นำมาพึ่งให้หมาดน้ำ 
•  นำมากรอกใส่ถุง (ถุงเพาะเห็ด : ถุงทนความร้อนชนิดขยายข้าง ขนาด 6 * 12 นิ้ว) ถุงละประมาณ  5 ขีด (หรือสูงประมาณ 4 นิ้ว ) สวมปากถุงด้วยคอขวด ลึกประมาณ 3 นิ้ว แล้วพับปากถุงลง อุดด้วยสำลี หรือขี้ฝ้าย แล้วหุ้มปากถุงด้วยกระดาษ รัดด้วยยางวง 
2. นึ่งฆ่าเชื้อ เมื่อเตรียมถุงเมล็ดข้าวโพดเสร็จแล้วให้นำไปนึ่ง เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในถุง 
•  กรณีใช้หม้อนึ่งลูกทุ่ง (ทำจากถัง๒๐๐ ลิตร) ใช้เวลานึ่งอย่างน้อย 3 ชั่วโมง นับ จากน้ำเดือด หลังจากนึ่งเสร็จแล้วนำมาวางทิ้งไว้รอให้เย็น แล้วแกะกระดาษที่หุ้มปากถุงออก                            


3. การเขี่ยเชื้อ อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเขี่ย เชื้อราบิวเวอร์เรีย ประกอยด้วย ตู้เขี่ยเชื้อ ตะเกียง แอลกอฮอล์ (และแอลกอฮอล์ 95 % สำหรับเติมตะเกียง)
เข็มเขี่ยเชื้อ และแอลกอฮอล์ 70 % สำหรับฆ่าเชื้อ 
- เตรียมอุปกรณ์ ด้วยการทำความสะอาดตู้ แล้วเช็ดฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ 70 % (นำแอลกอฮอล์ใส่ฟ๊อกกี้ ฉีดภายในตู้ให้ทั่วแล้วเช็ดด้วยสำลี) 
- นำอุปกรณ์ใส่เข้าไปในตู้ ได้แก่ ตะเกียงแอลกอฮอล์ แก้วน้ำที่แช่เข็มเขี่ยเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ 70 % หัวเชื้อ โดยเช็ดผิวด้วยแอลกอฮอล์ 70 % ก่อนนำเข้าตู้ 
- นำถุงเมล็ดข้าวโพดที่นึ่งแล้วใส่เข้าไปในตู้ ด้านซ้ายมือ แล้วปิดตู้ 
- เริ่มทำการเขี่ยเชื้อโดยสอดมือเข้าไปภายในตู้ (ก่อนสอดมือเข้าไปต้องเช็ดมือและแขนด้วยแอลกอฮอล์ 70 % ทุกครั้ง) จุดตะเกียง ใช้มือขวาจับเข็มเขี่ยด้วยสามนิ้ว (โป้ง ชี้ กลาง) นำมาลนไฟที่ปลายให้แดง แล้วลนมาทางด้ามจับ 2 – 3 ครั้ง 


 A- ใช้มือซ้ายจับขวดหัวเชื้อ แล้วเปิดจุกสำลีโดยใช้นิ้วก้อยของมือขวา ลนไฟที่ปากขวด 2 – 3 ครั้ง 
 B– สอดเข็มเขี่ยเชื้อเข้าไปตัดวุ้นในขวด ชิ้นละประมาณ ? ตารางเซนติเมตร แล้วจิ้มออกมาจากขวด 
 C– ลนปากขวดอีก 2 – 3 ครั้งก่อนปิดสำลีเข้าที่เดิม 
 D– มือซ้ายวางขวดหัวเชื้อแล้วหยิบถุงเมล็ดข้าวโพกมาเปิดจุกสำลีด้วยนิ้วก้อยของมือขวา ลนปากถุงเล็กน้อย แล้วใส่หัวเชื้อที่ติดปลายเข็มเข้าไปในถุง 
 E– ลนปากถุงเล็กน้อยก่อนปิดปากถุง แล้วเขย่าถุงเบาๆ นำถุงที่ใส่เชื้อแล้วมาวางด้านขวามือ 
- ถุงต่อไป ลนเข็มเขี่ย 2 – 3 ครั้ง แล้วทำตามขั้นตอน A – E จนกระทั่งใส่หัวเชื้อหมดทุกถุงในตู้ แล้วนำเข็มแช่ในแก้วแอลกอฮอล์ ดับตะเกียง แล้วนำถุงเมล็ดข้าวโพดที่ใส่หัวเชื้อแล้วออกจากตู้ 
4. การบ่มเชื้อ นำถุงเมล็ดข้าวโพดที่ใส่เชื้อแล้ว ไปวางไว้ในสภาพอากาศปกติ อากาศถ่ายเทได้ มีแสงสว่างปกติ แต่ไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง เชื้อจะเจริญเติบโตจนเต็มเมล็ดข้าวโพด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ เมื่อเชื้อเดินเต็มแล้วก็นำไปใช้ได้ การเก็บรักษาเมื่อเชื้อเดินเต็มแล้ว ควรเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น จะทำให้เก็บไว้ได้นานขึ้น


เชื้อรา บูเวเรีย บัสเซียน่า จัดการกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวได้


       เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงจำพวกปากดูด  ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว และชนิดปีกสั้น ชนิดมีปีกยาวสามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกล โดยอาศัยกระแสลมช่วย เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำ เลี้ยงจากเซลส์ท่อน้ำท่ออาหารบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก แห้งตายเป็นหย่อมๆเรียก “อาการไหม้ ”


     โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวง ซึ่งตรงกับช่วงอายุขัยที่ 2-3  ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว นาข้าวที่ขาดน้ำตัวอ่อนจะลงมาอยู่ที่บริเวณโคนกอข้าวหรือบนพื้นดินที่แฉะมีความชื้น


     ผลิตภัณฑ์มีองค์ประกอบคือ "เชื้อรา บูวาเรีย บาสเซียน่า" เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์ไทย ที่นำมาใช้ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช อาทิ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ ไรแดง แมลงหวี่ขาว เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น หนอนกอ หนอนห่อใบ แมลงสิง แมลงหล่า ด้วงหมัดผัก ทั้งช่วงวัยอ่อนและวัยแก่


     ขั้นตอนการเข้าทำลายของหัวเชื้อราบูเวเรีย บัสเซีนน่า (ใน องคต) นั้น จะแทรกเข้าไปตามเนื้อเยื่อที่อ่อนๆ หรือตามของเหลวในตัวเพลี้ยหรือหนอนต่างๆ และเจริญเติบโตออกมาข้างนอกเมื่อพร้อมที่จะแพร่สปอร์ สปอร์จะมีสีขาวขุ่น เมื่อแมลงสัมผัสเชื้อ หลังจากสัมผัสเชื้อ 3 วันแมลงจะเริ่มป่วยและหยุดทำลายพืช และจะตายภายในระยะเวลา 5-14 วัน


      วิธีการใช้


      ใช้องคต 1 ซอง (500 กรัม) ต่อน้ำ 1 ถัง 200 ลิตร ผสมน้ำยาจับใบ แล้วฉีดพ่น 3 วันครั้ง (ช่วงที่ยังระบาดไม่มาก)


       หลังจากฉีดแล้ววันแรกจะพบว่าเพลี้ยกระโดดจะยังไม่ตาย แต่ไม่ต้องตกใจพอเข้าวันที่ 2 จะเริ่มเห็นเพลี้ยกระโดดแห้งหาย พอวันที่ 3 จะไม่พบเพลี้ยกระโดดเกาะที่ต้นข้าวแล้วเพลี้ยกระโดดที่ตายจะร่วงหล่นลงในน้ำ              


       วิธีใช้


1. เชื้อบูเวเรีย 50 กรัม / น้ำ 20 ลิตร โดยแบ่งน้ำออกเป็น 2 ส่วน


ส่วนที่ 1 จำนวน 5 ลิตร ผสมกับเชื้อบุเวเรีย (ในองคต) จำนวน 50 กรัม ปิดฝาทิ้งไว้ 2-3 ชั่วโมง
ส่วนที่ 2 จำนวน 15 ลิตร ผสมกับสารจับใบ (ซันไลน์) คนให้เข้ากัน
     --> นำน้ำที่ได้จากส่วนที่ 1 และ 2 มาผสมกันและคนให้เข้ากัน


2. นำไปฉีดพ่นในแปลงที่พบแมลง โดยให้ฉีดพ่นในช่วงที่มีความชื้นสูง (ช่วงเวลาเย็นที่มีแสงแดดอ่อน ๆ หรือตอนเช้าตรู่)


ควรเริ่มฉีดพ่นตอนที่แมลงยังมีปริมาณน้อย และ ฉีดพ่นซ้ำทุก 5-7 วัน จนกว่าแมลงจะหยุดระบาด
3. ควรปรับหัวฉีดให้พ่นฝอยละเอียด จะฉีดได้ผลดีและได้พื้นที่เพิ่มขึ้น
4. สามารถตรวจสอบผลการควบคุมศัตรูพืชได้หลังจากใช้ 1–3 วัน          


ข้อควรระวัง     


ไม่ควรใช้ เชื้อรา บูเวเรีย บัสเซียน่า ร่วมกับสารปราบศัตรูพืช
หลังฉีดควรงดใช้สารปราบศัตรูพืชทุกชนิด
ควรฉีดช่วงเย็นป้องกันเชื้อถูกทำลาย


ที่มา 
http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=8778.0
http://www.kasetchonnabot.com/node/363
http://www.clinictech.most.go.th/techlist/0214/agriculture/00000-983.html

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันหนึ่งที่พ่อต้องปล่อยหนูไป




หนูสอนให้พ่อรู้ว่าถ้าหนูก้มเอาหน้าผากแตะพื้น
แปลว่าช้อนเมื้อกี้เป็นช้อนสุดท้าย แล้วหนูจะไม่หม่ำอีกเด็ดขาด ไม่ว่าพ่อจะมาไม้ไหนก็ตาม

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า ตอนนี้พจนานุกรมหนูมี 3 คำนี้
มี้อาว แปลว่า ไม่เอา ...
มะ แปลว่า แม่ ...
จิ แปลว่า ฉี่ (ซึ่งบางครั้งพ่อก็ต้องเดาเอาว่า จะฉี่ หรือ ฉี่ไปแล้วจงไปตามเช็ดด้วย)

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า เย็นวันที่พ่อกลับเร็วนั้นมีความหมายกับหนูแค่ไหน

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า หนูกินไม่เลือกเหมือนพ่อนั่นแหละ

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า อย่ารัดจุกหนูกลางหัว
เพราะเวลาหนูคันหัวหนูจะเกาจนมันหลุด ให้รัดค่อนมาทางหน้าผาก

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า ถ้าหนูมาเกาะขาแล้วชี้ไปที่ไหน แปลว่า
สิ่งนั้นมันทำให้หนูเจ็บหรือไม่ชอบใจ (ซึ่งบางทีหนูก็เกาะขาแม่แล้วชี้มาที่พ่อ)

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า ถ้าหนูยังไม่หลับ อย่าหวังว่าใครในบ้านจะได้หลับ (อย่างเป็นสุข)

หนูสอนให้พ่อรู้ว่าการจัดบ้านให้เป็นระเบียบนั้นเป็นการเสียเวลาและพลังงานโดยเปล่าประโยชน์

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า เมื่อหนูตื่นมากลางดึกถ้าพ่อตบก้นหนูเบา ๆ แล้วหนูยังไม่หลับต่อ
แปลว่าหนูหิวน้ำจงเอาขวดน้ำมาใส่ปากหนูซะดีๆ ไม่งั้นพ่อไม่ได้หลับต่อแน่ ๆ

หนูสอนให้พ่อรู้ว่าราคาของผ้าอ้อมสำเร็จรูปไม่มีความสัมพันธ์ต่อจำนวนครั้งที่หนู
จะตื่นมากลางดึก

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า อย่าลืมปล่อยหนูเล่นน้ำนานเกิน 10 นาที
เพราะหนูจะเป็นหวัด แล้วคนที่เดือดร้อนก็พ่อนั้นแหละ

หนูสอนให้พ่อรู้ว่าถ้าหนูนอนไม่หลับให้เอามือหนูมาแปะไว้ที่หน้าพ่อแล้วหนู
จะหลับได้ง่ายขึ้น (แต่ตอนตื่นมักจะกลายเป็นเท้าหนูเวียนมาอยู่บนหน้าพ่อแทนอยู่ร่ำไป)
หนูสอนให้พ่อรู้ว่า ....
แล้ววันหนึ่งที่ ....
ความรักของพ่อ ... ถูกมองว่าน้อยกว่าความรักผู้ชายอีกคนหนึ่ง
คำพร่ำเตือนสอนสั่งของพ่อ ...เสียงดังน้อยกว่าคำออดอ้อนของผู้ชายคนนั้น
ความห่วงใยของพ่อ ...มีค่าน้อยกว่าที่จะปฏิเสธคำขอผู้ชายคนนั้น
อ้อมกอดของพ่อ ...ดูเหมือนจะอบอุ่นน้อยไปกว่าอ้อมกอดของผู้ชายคนนั้น
พ่อหวังแค่เพียงว่า....ผู้ชายคนนั้นจะรักและทนุถนอมหนูได้เพียงครึ่งที่พ่อรักหนู..


ที่มา http://www.pattanakit.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=538652312&Ntype=128



วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปลูกข้าวลอยน้ำ แนวคิดปรับตัวของเกษตรกรในช่วงน้ำท่วม



       ถึงเวลาที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ความแปรปรวนของดินฟ้า อากาศ รวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ แน่นอนเกษตรกรย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะไม่มีพื้นที่ในการเพาะปลูก เมื่อไม่มีที่เพาะปลูก สิ่งที่ตามมา คือรายได้ในการดำรงชีพก็ขาดหายไปด้วย
       
       สิ่งที่ทำได้คือการที่เกษตรต้องปรับตัว และหาวิธีการเพื่อให้สามารถเพาะปลูกได้ และการปลูกข้าวลอยน้ำ เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ดำรงชีวิตอยู่กับน้ำ และสามารถทำการเกษตรและมีรายได้เลี้ยงชีพได้ แนวคิดในการปลูกข้าวลอยน้ำ เกิดขึ้นมาจาก นายสุพรรณ เมธสาร เกษตรกร แห่งบ้านสามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
       
       นายสุพรรณ เป็นเกษตรกรตัวอย่างอีกคนหนึ่ง เพราะเขาเป็นเกษตรกรที่ไม่หยุดนิ่งในการที่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ส่งผลให้เขามีความรู้หลายด้าน ปัจจุบัน ยังเป็นวิทยากร อบรมแก่ผู้ที่สนใจเรื่องการปลูกไผ่ การขยายพันธุ์ รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่าย
       
       ดังนั้น นายสุพรรณ จึงเป็นที่เชื่อถือของเหล่าเกษตรกรในอีกหลายด้าน และด้วยความที่เป็นเกษตรกรนักคิดนี่เอง ทำให้ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา นายสุพรรณมีแนวคิดที่จะนำข้าวไปปลูกบนน้ำ เนื่องจากเห็นว่า ในแม่น้ำลำคลองมักจะมีผักตบชวา ซึ่งผักตบชวาในแม่น้ำนั้นมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะในแม่น้ำมีธาตุอาหาร แพลงตอน ตลอดจนจุลินทรีย์ต่างๆที่เป็นอาหารของพืช จึงทดลองปลูกข้าวในน้ำ ผลผลิตที่ได้เป็นที่น่าพอใจเลยทีเดียว
       
       นายสุพรรณ เล่าว่า ทดลองปลูกข้าวลอยน้ำ ซึ่งปรากฏว่าได้ผลผลิตจริง และประหยัดต้นทุน วิธีการปลูกข้าวแบบลอยน้ำ ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนเรื่องการเตรียมดิน น้ำมันเชื้อเพลิงและตัดปัญหาการดูแลเรื่องน้ำไปเลย จากการคำนวณพบว่า หากทำแพปลูกข้าวในพื้นที่ 1 ไร่ ผลผลิตที่ได้รับ เฉลี่ย 70 ถัง /ไร่ ซึ่งวิธีนี้จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จากการเผาและลดการใช้สารเคมีต่าง ๆ ทำให้ลดต้นทุนได้มากวัสดุอุปกรณ์ยังสามารถนำมาใช้ครั้งต่อไปได้
       
       ทั้งนี้ นายสุพรรณยังได้เตรียมการขยายผล เรื่องการปลูกข้าวลอยน้ำ โดยจะใช้ผักตบชวาเป็นฐานซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการทดลองว่าจะได้ผลอย่างไร สำหรับ วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้สำหรับการปลูกข้าวลอยน้ำ ในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ฝากล่องโฟมเก่า ( กล่องโฟมใส่ผลไม้) กระถางพลาสติกสำหรับปลูก ดินเลนสำหรับปลูก เมล็ดพันธุ์ข้าว ลำไม้ไผ่สำหรับทำแพ เชือกฟาง
       
       โดยวิธีการปลูกข้าวลอยน้ำ 1.นำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปเพาะในแปลงเพาะ เหมือนกับการเตรียมกล้าพันธุ์สำหรับดำนาทั่วไป 2.นำลำไม้ไผ่มาทำเป็นกรอบ 4 เหลี่ยม เพื่อทำเป็นแพ ในพื้นที่ๆจะปลูกข้าวลอยน้ำ 3.นำฝากล่องผลไม้( ฝากล่องโฟม ) มาเจาะรูให้มีขนาดเท่ากระถางพลาสติก แต่ให้อุ้มตัวกระถางไว้ได้ 4.นำกระถางปลูกใส่ดินเลนให้เต็ม 5.เมื่อต้นกล้ามีอายุ 10 - 15 วันจึงแยกกล้ามาปลูกในกระถางที่เตรียมไว้ ประมาณ 4-5 กอต่อกระถาง 6.นำกระถางเพาะกล้าใส่ในฝากล่องโฟม แล้วจึงนำไปลอยน้ำ ในกรอบไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ 7.ใช้เชือกผูกกล่องโฟมกับแพไม้ไผ่ เพื่อป้องกันการพัดพาของน้ำ ไม่ให้ไหลไปที่อื่น
       
       ด้านการดูแลและการใส่ปุ๋ย นายสุพรรณเน้นให้เกษตรกรที่ ทำแบบเกษตรอินทรีย์และอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพบำรุงข้าว ช่วงที่ข้าวมีอายุ 30และ 55 วัน หลังการปลูก ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 1 กำมือ/กระถาง / ครั้ง หากมีแมลงศัตรูพืช ก็ใช้น้ำหมักสมุนไพรฉีดพ่น วิธีนี้เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาดูแลเรื่องน้ำเลย เพราะข้าวจะได้รับน้ำตลอดในช่วง ระยะเวลาการปลูก
       



ที่มา : ศูนย์ทางด่วนข้อมูลการเกษตร