วันพุธที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เมื่อ ลิโพ,กระทิงแดง "โด๊ป" ต้นไม้..ได้ผล


เรื่องนี้เป็นความลับ ใช่ครับการใช้เครื่องดื่มชูกำลัง อย่างลิโพ กระทิงแดง มาใช้กับต้นไม้ ถือเป็นความลับ ของเหล่าเกษตรกรหลายท่าน เนื่องจาก สิ่งนี้ไม่ได้เป็นที่ยอมรับจากกรมวิชาการเกษตร แต่ก็มีเกษตรกรหลายท่านใช้มัน และได้ผล จึงไม่มีการบอกต่อ เพราะมันเป็น "สูตรลับ"  ดังนั้นผู้ที่จะรู้เรื่องนี้มักจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดของผู้ที่เคยใช้เท่านั้น 
แต่ การที่มันใช้ได้กับพืช มันจะไม่มีผลข้างเคียง
ไม่มีผลรับรองจากกรมวิชาการเกษตร แต่สำหรับผู้ที่พยายามค้นหาสารเคมีที่จะใช้กับพืช และกลุ่มเกษตรกร ที่มีความรู้ด้านการใช้สารเคมีกับพืช  ได้ตรวจสอบ ได้ทดลอง และหาข้อเท็จจริง กับเรื่องนี้ ทั้งยังถกปัญหากัน จนได้คำตอบเดียวกันว่า
"ทำไม เครื่องดื่มชูกำลัง จึงใช้กับต้นไม้ ได้" 
 มันเป็นอย่างนี้ครับ
ในเครื่องดี่มชูกำลังเกือบทุกยี่ห้อจะมีส่วนผสมของสารที่ทำให้ร่างกายของสิ่งมีชีวิต รู้สึกกระชุ่มกระชวย สดชื่นขึ้นมาในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนใหญ่ก็ประกอบไปด้วย 
น้ำตาล,ทอรีน รวมถึง คาเฟอีน 
สารพวกนี้เมื่อร่างกายของสิ่งมีชีวิตได้รับเข้าไป จะไปกระตุ้นระบบ ให้มีการทำงานเพิ่มขึ้น หากในอดีตเครื่องดื่มชูกำลัง จะอาศัยสารจำพวกนี้ร่วมด้วยการแต่งกลิ่น-รส กับการอื่นๆ อีกเล็กน้อย ก็นำมาขายได้
แต่ในปัจจุบัน เจ้าของผลิตภัณฑ์มีชื่อหลายราย ได้เพิ่ม "วิตามิน" เข้าไปเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดต่อผู้บริโภค หากจะดูส่วนผสมข้างขวดของผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่าง เครื่องดื่มกระทิงแดง ขนาด 100 ลบ.ซม. จะมีส่วนผสมดังนี้
น้ำตาลซูโครส                                    16.0 ก.
ทอรีน                                              800 มก.
แคฟเฟอีน                                         0.5  ก.
อินโนซิทอล                     20 มก.
วิตามินบี 3                                          20 มก.
เด็กซ์เพนธินอล                                      5 มก.
วิตามินบี 6                                            3 มก.
ซิตริก แอซิด                                      0.66 ก.
เจ้าส่วนผสมเหล่านี้ กลับมีบางตัวที่มีผลกับพืช เช่นกัน 
เมื่อดูจากส่วนผสม สิ่งแรกที่เหล่าเกษตรกรจะรู้ว่ามีผลกับพืช ก็คือ น้ำตาล
การใช้ น้ำตาลกับพืช นั้นเพื่อทำให้มีการดูดซึมทางใบได้เร็วขี้น แต่มันก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้พืชมีการเจริญเติบโตที่ดีเป็นพิเศษได้
ใช่แล้วครับ ในส่วนผสมข้างบนนี้ มีสารประกอบชนิดหนึ่งร่วมอยู่ ไทอามีน ท่านที่ไม่รู้อาจงง ว่ามันอยู่ตรงไหน ไม่เห็นมีในรายการเลย ไทอามีน คือ ชือทางวิทยาศาสตร์ ของ วิตามินบี ครับ
วิตามินบี นั้นมีความสำคัญต่อสัตว์ ต่อคนอย่างมาก เป็นที่รู้กันว่า การขาดวิตามินบี จะทำให้คนเรามีอาการของโรคเหน็บชาได้
แต่สำหรับพึชแล้ว ไทอามีน หรือ วิตามินบี หากพืชได้รับเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้พืชนั้น เจริญงอกงาม ใบเขียวใหญ่ ลูกโต ได้
ทำไม ถึงเป็นแบบนั้นได้ เพราะเมื่อพืชได้รับ ไทอามีนแล้ว มันจะไปกระตุ้นในขบวนการสร้างรากให้มากขึ้น และเมื่อพืชมีรากเพิ่มมากขึ้น การดูด การหาอาหาร หาปุ๋ย ก็ยิ่งดี ยิ่งมีประสิทธิภาพขึ้น อาหารที่ได้มากขึ้นก็จะไปเลี้ยง ไปสร้าง ใบ ให้งอกงาม ให้ใหญ่ขึ้น สำหรับพืชแล้วการมีใบมาก ใบสวย จะทำให้สร้างอาหารได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อผลที่กำลังเจริญ ให้มีขนาดและความสวยงามเพิ่มขึ้น มื่อได้รับในช่วงเวลาที่เหมาะสม
แต่หากเกษตรกรไม่เข้าใจ ไม่รู้ถึงเรื่องนี้ นำไปใช้จะเกิดผลเสียอย่างไรขึ้น แน่นอนการที่พืชสร้างราก สร้างใบได้ดี มันไม่ทำให้พืชนั้น ตาย ได้แน่
เพียงแต่ว่า หากนำเจ้าสารชนิดนี้ไปฉีดพ่น ในช่วงเวลาที่ต้องการให้พืช ออกดอก เพื่อให้มีการติดผล มันจะกลับทำให้พืชต้นนั้น สร้างแต่ใบ ไม่สร้างดอก หรือที่เรียกว่าอาการ "เฟื้อใบ" นั่นเอง
 ดังนั้น เกษตรกรที่นำสูตรลับนี้ไปใช้ได้ดี ก็คือ กลุ่มของเกษตรกรที่ปลูกผัก ที่สามารถนำไปใช้ทดแทนฮอร์โมน หรือสารเร่งใบ ได้เป็นอย่างดี
แล้วก็มีกลุ่มเกษตรกรไม้ผล ไม้ดอก นำไปใช้ และได้ผลดี เนื่องจากใช้ถูกเวลา แต่ก็มีจำนวนมากที่ไม่รู้นำไปใช้ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม ทำให้ไม่ได้ผลอย่างที่ตั้งใจ
จึงไม่เป็นผลดีเท่าไร หากเกษตรกรใช้เครื่องดื่มชูกำลังกับพืชในอัตราส่วนที่เข้มข้น หรือ ใช้ติดต่อกัน ยิ่งไปกว่านั้น น้ำตาลที่ผสมในเครื่องดื่มชูกำลัง อาจตกค้าง กับต้น กับใบของพืช ทำให้เกิดโรคพืช หรือเป็นตัวล่อให้แมลงศัตรูพืชเข้ามาก็ได้
เอ็นทรี่นี้ จึงทำขึ้นมาเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่ไม่รู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ สามารถทดแทน สารกระตุ้นต่อพืชที่มีราคาสูงๆได้ และได้รับทราบถึงเหตุและผล รวมทั้งการจัดการ ให้สามารถใช้ได้ถูกวิธี และเพื่อให้มีการเผยแพร่ต่อไป 
สำหรับ จขบ.เอง มีัความเห็นว่า หากต้องการใช้วิตามินบี เพื่อกระตุ้นราก กระตุ้นใบจริง ขอแนะนำว่าไปซื้อ วิตามินบีที่ร้านขายยา เม็ดนึงราคาไม่เท่าไร แล้วแต่ความเข้มข้นที่ร้านขายอยู่ น่าจะลดต้นทุน และได้รับประโยชน์เต็มที่กว่า 
อันนี้ก็แล้วแต่ความคิด ความรู้สึกของแต่ละท่าน ก็แล้วกัน... จบแล้ว..สวัสดี

วันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วิธีการเลี้ยงแมงดานา


เลี้ยงแมงดานาทำอย่างไร

การเตรียมสถานที่


บ่อสำหรับเลี้ยงแมงดา
สถานที่ที่เหมาะสมในการทำบ่อเพาะเลี้ยงแมงดานา ควรเป็นที่โล่งเเจ้งใกล้แหล่งน้ำแต่น้ำท่วมไม่ถึง และต้องไม่พลุกพล่านซึ่งบ่อเลี้ยงแมงดาไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก และขนาดของบ่อที่นิยมคือให้มีความยาวเป็นบวกหนึ่งของด้านกว้าง และขนาดที่เหมาะสมที่สุดควรมีพื้นที่บ่อประมาณ 20 ตารางเมตร โดยด้านข้างทั้งสี่ด้านควรลาดเททำมุม 45 องศา และตรงกลางบ่อทำเป็นหลุมลึกสักจุดหนึ่งเพื่อใช้รวบรวมของเสียและง่ายต่อการกำจัด และที่ขาดไม่ได้คือชานบ่อโดยรอบให้กว้างประมาณ 1 เมตร ส่วนนี้ไม่ต้องเทซีเมนต์แต่ปล่อยทิ้งไว้เป็นดิน เพื่อที่เราจะปลูกต้นไม้ใช้เป็นที่พักอาศัยของแมงดา อาจปลูกต้นกก ผักบุ้งหรือเลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุด นอกจากนี้บ่อเลี้ยงต้องขึงตาข่ายตาไม่ใหญ่กว่า 1 ซม. ป้องกันไม่ให้แมงดาบินหนี หรือมีนก หนูเข้าไปลักกินแมงดานา ส่วนหลังคาต้องกันแดดกันฝนได้ดี

วิธีการเลี้ยงแมงดานา



หลังจากทำบ่อและบ่มจนน้ำหมดกลิ่นปูนเรียบร้อยแล้วก็จัดการปล่อยพ่อแม่พันธุ์แมงดานาลงไปได้เลย โดยน้ำที่ใส่ต้องเป็นน้ำสะอาดจากน้ำคลองที่สูบขึ้นมาพักจนตกตะกอนดีแล้วจะดีที่สุด ใส่น้ำให้ได้ระดับความลึกประมาณ 70-80 ซม.แล้วปล่อยพ่อแม่พันธุ์ลงไปในอัตรา 50 ตัวต่อ 1 ตารางเมตร สัดส่วนของตัวผู้กับตัวเมีย 1 ต่อ 1 ดีที่สุด แต่สัดส่วน 1 ต่อ 5 ก็ได้ผลดีพอสมควร การรวบรวมพ่อแม่พันธุ์แมงดานาช่วงที่ดีที่สุด ควรเป็นช่วงตั้งแต่เดือนกันยายน-ตุลาคม เนื่องจากเป็นแมงดาวัยรุ่นยังไม่มีไข่ ( เขาว่าแมงดานาที่มีไข่ติดท้อง หากตกใจจะกลั้นไข่จนตายในที่สุด) แต่เราสามารถแยกเพศได้แล้ว โดยดูที่อวัยวะสืบพันธุ์ ตรงก้นที่เห็นเป็นระยางค์แฉกๆลองแง้มดูภายในหากเห็นเป็นอวัยวะคล้ายเม็ดข้าวสารแแสดงว่าเป็นตัวเมียแน่นอน ขั้นตอนการเตรียมบ่อเพื่อให้แมงดานาผสมพันธุ์เริ่มจากลดระดับน้ำลงจากเดิมประมาณครึ่งหนึ่ง พร้อมกับจัดการเก็บไม้น้ำ โพรงไม้ ขอนไม้ หรืออะไรที่ลอยน้ำเป็นที่ยึดเกาะของแมงดานาออกจากบ่อให้หมดโดยนำไม่ไผ่หรือกิ่งไม้แห้งๆใส่ลงไปแแทนที่ทิ้งไว้แบบนี้ 3-4 วัน ก่อนเปลี่ยนน้ำเข้าไปใหม่ในระดับเดิมคือ ประมาณ 80 ซม.หรือเกือบเต็มบ่อก็ได้ จากนั้นเก็บกิ่งไม้ไผ่ กิ่งไม้ออก ใส่ลูกบวบลงไปแทน โดยลูกบวบนี้ทำจากท่อนกล้วยยาวท่อนละ 1 เมตร ที่ถ่วงน้ำหนักให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อนกล้วยจมน้ำด้านนี้เสมอ ส่วนด้านบนที่ไม่จมน้ำ ปักด้วยซี่ไม้ไผ่หรือไม้เสียบลูกชิ้นยาวคืบกว่าๆเป็นแถว กะว่าแต่ละอันห่างกันประมาณ 10 ซม. แมงดานาจะขึ้นมาวางไข่ตามไม้ที่ปักไว้นี้ หลังจากนี้ประมาณ 3-4 วันไปแล้ว ซึ่งเมื่อเห็นว่าแมงดานาวางไข่แล้วเต็มที่ก็ให้จับพ่อแม่พันธุ์ออกไปเลี้ยงในบ่ออื่นให้หมด นอกจากนี้แล้วแมงดานาตัวเมียจะวางไข่ได้อีก 2-3 ครั้ง ในแต่ละช่วงปีห่างกันครั้งละประมาณ 1 เดือน ดังนั้นหากต้องการมีแมงดานาขายอย่างต่อเนื่องแล้วอาจจะต้องลงทุนทำบ่อไว้หลายบ่อโดยวิธีเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หลังจากวางไข่ผสมพันธุ์แล้วจะดีกว่า เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้จะเร่งให้มันผสมพันธุ์วางไข่เร็วขึ้น โดยพ่อแม่พันธุ์แต่ละรุ่น มักนิยมใช้กันแค่ปีเดียวคือวางไข่ได้ 2-3 ครั้งก็จับขายแล้วคัดเอาบรรดาลูกๆรุ่นใหม่เป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป
ไข่แมงดา

หรือการเลี้ยงอีกวิธีหนึ่งก็คือโดยการมัดกลุ่มไข่หรือเสียบกับลวดเพื่อวางยืนในกล่อง ใส่น้ำและวางกล่องในถาดหล่อน้ำ กันมด ไข่ที่ใกล้ฟักจะมีสีเข้มชัดเจน พองผิวเต่งตึง แมงดามักจะออกจากไข่ช่วงเช้าและเย็น เมื่อฟักออกจากไข่จะหงายท้องและดีดตัวร่วงลงน้ำ ตัวอ่อนที่ฟักออกจากตัวใหม่ๆจะสีเหลืองอ่อน ด้านในลำตัวสีเขียว ตาสีดำ ต่อมาอีกประมาณ 1 ชั่วโมง สีจะคล้ำขึ้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา แยกตัวอ่อนวัย 1 ใส่เลี้ยงถ้วยละ 1 ตัว โดยใช้ขวดน้ำขนาดความจุ 950 มิลลิเมตร ตัดเอาก้นขวดสูง 3 นิ้ว เป็นถ้วยเลี้ยง เจาะรูก้นถ้วยเพื่อความสะดวกในการถ่ายน้ำเสีย วางถ้วยในถาดพลาสติกใส่น้ำลงไปประมาณ 0.5 นิ้ว ให้ลูกปลาเป็นอาหารถ้วยละ 1 ตัว

อาหารของแมงดานา


อาหารของแมงดา ให้ด้วยลูกปลา ลูกกุ้ง หรือ ลูกอ๊อด ( อย่าให้ลูกอ๊อดคางคก เพราะลูกอ๊อดคางคกมีพิษ )
การให้อาหารตอนเช้าก่อน 08.00 น. วันละ 1 ครั้ง และช่วงเย็น (16.00น.) เอาเศษลูกปลาตายออก ล้างทำความสะอาดถ้วยเลี้ยง เปลี่ยนน้ำ เมื่อตัวอ่อนลอกคราบเข้าวัย 3 ย้ายเข้ากรงคู่ทำด้วยตาข่ายพลาสติกสีดำ ( มีจำนวนรู 35 รู ต่อ 1 ตารางนิ้ว ) ลักษณะรูปทรงกระบอกยาว 18.5 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เซนติเมตร ปิดส่วนท้ายกรงแต่ละคู่ด้วยแผ่นตาข่ายขนาด (กว้าง x ยาว) 9 x19 เซนติเมตร วางกรงในแนวนอนลงในถาดหรือกะละมังที่มีน้ำประมาณ 2 นิ้ว ด้านบนของกรงกรีดตาข่ายออกสามด้าน ขนาด (กว้าง x ยาว) 5 x 6 เซนติเมตร แล้วใช้ลวดยึดไว้เพื่อเป็นช่องประตูเปิดปิด ใส่ปลาและเอาแมงดาเข้าออก เมื่อลอกคราบเข้าวัย 4 ย้ายเข้ากรงทำเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาด ( กว้าง x ยาว x สูง) 10 x 15 x 10 เซนติเมตร ซึ่งใหญ่กว่าเดิมและเอากล่องลงบ่อดินขนาด ( กว้าง x ยาว) 3.5 x 7 เมตร ลึก 1 เมตรปูพื้นด้วยพลาสติก มีผักตบและกอบัว ใช้โฟมติดด้านข้างกรงเป็นทุ่นให้กรงลอยน้ำได้ ในกรงใส่ผักตบชวาให้แมงดาเกาะ เพื่อความสะดวกในการจัดการเอากรงขึ้นลงจากบ่อ จัดวางเป็นแถวและเอาลวดเสียบหัวและท้ายกรงในแนวยาวเหมือนไม้เสียบลูกชิ้นหรือบาร์บีคิว เลี้ยงจนเป็นตัวเต็มวัย


การจับแมงดานา


เครื่องมือในการจับแมงดานา
1. ใช้มือจับ
2. ใช้สวิงจับหรือช้อนตามไม้น้ำ
3. ใช้แสงไฟล่อ ติดตั้งหลอดแบล็กไลต์บนเสาไม้ไผ่สูงๆ ใช้ตาข่ายขึง กั้นให้สูงแมงดาจะมาเล่นไฟ
4. ปัจจุบันมีเครื่องมือจับแมงดานาแบบพื้นบ้านซึ่งเป็นผลงานการคิดค้นของจ่าสาย ศรีสมุทร สภอ.นาแก จังหวัดนครพนม โดยการใช้สังกะสีแผ่นเรียบมาตัดต่อบัดกรีให้เรียบร้อยเป็นกรวยปากกว้าง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5 เมตร ความสูงของกรวย 1 เมตร และด้านล่างทำเป็นท่อกลวงขนาดกระป๋องนม ยาวประมาณ 30 ซม. การติดตั้งเครื่องมือให้เลือกสถานที่ใกล้แหล่งน้ำ โดยตั้งเสาสูงประมาณ 6 เมตรติดหลอดแบล็กไลต์ไว้ล่อแมงดา ด้านล่างติดตั้งกรวยสังกะสีหงายปากกรวยขึ้น มีไฟนีออนสีฟ้าล่อไว้อีกดวงหนึ่งที่ปากกรวยนั้น ส่วนด้านล่างสุดใช้ถุงปุ๋ยที่ไม่ขาดทะลุสวมเข้าที่ท่อกลวงด้านล่างผูกติดให้แน่น ซึ่งแสงจากหลอดแบล็กไลต์จะล่อแมงดาให้มาที่นี่ ส่วนแสงสีฟ้าจากหลอดนีออนเมื่อสะท้อนจากปากกรวยสังกะสีจะดูคล้ายๆกับแหล่งน้ำขนาดเล็ก ดึงดูดใจให้แมงดาบินลงกรวยในที่สุด ซึ่งการจับด้วยวิธีนี้สะดวก เพราะเราไม่ต้องนั่งเฝ้า รอไว้ดูตอนเช้าเลยทีเดียว

การนำแมงดามาปรุงอาหาร


อาหารจากแมงดา
1. ไข่แมงดานา นำมาย่างไฟหรือกินสดๆ
2. ตัวเต็มวัย ตัวเมียชุบแป้งทอด ทำแกงคั่วแมงดานา ตัวผู้มีกลิ่นหอมทำให้เพิ่มรสชาติอาหาร นำมาทำน้ำพริกแมงดา แจ่วแมงดานา น้ำพริกปลาร้า น้ำปลาแมงดา หรือดองแช่น้ำปลาไว้ขายราคาแพง (ตุลาคม-มีนาคม)


ที่มา http://farmfriend.blogspot.com/2011/06/blog-post_20.html

การเลี้ยง ตั๊กแตน


การเลี้ยงตั๊กแตนลาย อาชีพใหม่ รายได้ดี ตลาดรุ่ง
การเพาะเลี้ยงตั๊กแตนลายเป็นผลงานเพื่อเกษตรกรของภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อันมีนักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญ ประกอบด้วย อาจารย์ทัศนีย์ แจ่มจรรยาและ อาจารย์ชาญชัย ถาวรอนุกูลกิจ อาจารย์ทั้งสองท่านและทีมงานได้เห็นความสำคัญของการนำแมลงที่กินได้ที่มีอยู่ในธรรมชาติมาทำการศึกษาเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพของเกษตรกรและผู้สนใจ จากระยะเวลาที่ผ่านมาภาควิชากีฏวิทยา ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงแมลงเพื่อการเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพของเกษตรกรมากมายหลายชนิด และในปีงบประมาณ 2547 นี้ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการฝึกอบรมเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงแมลงกิน อันประกอบด้วย แมลงดานา จิ้งหรีดและตั๊กแตน เป็นเวลา 1 วัน แก่ผู้สนใจ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการความรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพ สามารถแจ้งความจำนงเพื่อขอเข้ารับการอบรมได้ทุกวันในเวลาราชการที่ อาจารย์ชาญชัย ถาวรอนุกูลกิจ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 40002 โทร. (043) 362-108 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

วิธีการเลี้ยงตั๊กแตน

อาจารย์ทัศนีย์และอาจารย์ชาญชัย ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงตั๊กแตนว่า ในบรรดาแมลงกินได้ ตั๊กแตนหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า กุ้งฟ้า ได้รับความนิยมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 44.91 สำหรับผู้ขายได้แยกชนิดแมลงออกเป็น 3 กลุ่ม ตามความนิยมของลูกค้า โดยในกลุ่มแรกจะมีตั๊กแตน รถด่วน ดักแด้หนอนไหม กลุ่มที่สอง เป็นแมลงกระชอน จิ้งหรีด แมลงตับเต่า หนอนไหม จิโป่ม ส่วนกลุ่มที่สามเป็นแมงกินูน กุดจี่ จักจั่น การกินแมลงนอกจากจะได้รสชาติแล้ว ยังได้คุณค่าทางอาหาร โดยตั๊กแตนมีโปรตีน 16-25 เปอร์เซ็นต์ (น้ำหนักสด) ชีววิทยาและนิเวศวิทยาของตั๊กแตน : ตั๊กแตนหนวดสั้น อยู่ในวงศ์ Acrididae อันดับ Orthoptera มีหนวดสั้นกว่าลำตัว สันหลังอกปล้องแรกเป็นแผ่นคล้ายอานม้า ขาคู่หลังมีขนาดใหญ่เหมาะกับการกระโดด ด้านใน femur ของขาคู่หลังมีตุ่มเล็ก ๆ การทำเสียงโดยใช้ตุ่มเล็ก ๆ ที่เรียงอยู่ด้านใน femur ของขาคู่หลังถูหรือสีกับขอบล่างของปีกคู่หน้า ด้านข้างของท้องปล้องแรกมีอวัยวะฟังเสียง ลักษณะเป็นเยื่อบาง ๆ ปีกคู่หน้าหนาคล้ายแผ่นหนัง ปีกคู่หลังเป็นแผ่นบางกว้างพับซ้อน อยู่ใต้ปีกคู่หน้า เพศเมียมีอวัยวะวางไข่สั้น 2 คู่ อยู่ที่ปลายท้อง วงจรชีวิตของตั๊กแตนมี 3 ระยะ คือ ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย การวางไข่จะวางไข่บนดิน สำหรับตั๊กแตนลาย หรือที่ภาษาท้องถิ่นทางภาคอีสานเรียกว่า ตั๊กแตนข้าวสาร โดยธรรมชาติชอบอาศัยหากินในพืช เช่น ถั่วเหลือง ฝ้าย ละหุ่ง ข้าวโพด วงจรชีวิต ระยะไข่ 32-120 วัน ระยะตัวอ่อน 94 -124 วัน มีการลอกคราบ 7-8 ครั้ง ตัวเต็มวัยเพศเมียอายุ 61.8 วัน ตัวเต็มวัยเพศผู้ อายุ 38 วัน 
อาชีพการเลี้ยงตั๊กแตนขาย

วิธีการเพาะเลี้ยงตั๊กแตน



1. สถานที่และกรงเลี้ยง 
สถานที่ควรเป็นที่ร่มมีหลังคากันแดดและฝน มีแสงแดดส่องถึงช่วงตอนเช้าหรือตอนบ่าย สำหรับกรงเลี้ยงมี 2 แบบ คือ 
- กรงมุ้งไนลอน ขนาดความกว้าง x ยาว x สูง = 25 x 35 x 25 เซนติเมตร ทำโดยใช้ลวดขนาด 2 หุน ตัดทำเป็นโครงสี่เหลี่ยมแล้วประกอบเข้าด้วยกันใช้สายยางสีขาวใสขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร สามารถถอดเข้าออกได้ มีมุ้งผ้าขาวบางหุ้มปล่อยชายผ้าไว้ด้านหน้ากรงสำหรับเปิดปิด วางกรงลวดในถาดเพื่อความสะดวกในการยก ปูกระดาษที่พื้นในกรง เปลี่ยนกระดาษทุกวันเพื่อไม่ให้มูลหมักหมม ในกรงมีกระบอกน้ำโดยใช้ขวดน้ำขนาด 1-1.5 ลิตร ที่ตัดคอออก สำหรับใส่ต้นแครดไว้เป็นอาหารของตั๊กแตน ล้างทำความสะอาดกระบอกน้ำทุกวันตอนเปลี่ยนอาหาร สำหรับอาหารเสริมใช้รำข้าวสาลีใส่จานพลาสติกเล็ก ๆ กรงขนาดใหญ่เลี้ยงตั๊กแตนวัยอ่อนคือ วัย 1-วัย 5 ได้ประมาณ 300 ตัว อย่างก็ไรตาม เราสามารถเลี้ยงตั๊กแตนจนเป็นตัวเต็มวัยในกรงดังกล่าว วางกรงบนชั้นเพื่อประหยัดเนื้อที่ เมื่อตั๊กแตนเข้าวัย 5 หรือเมื่ออายุประมาณ 1 เดือน ลดจำนวนตัวลงครึ่งหนึ่งเพื่อไม่ให้แออัดเกินไป 
- กรงมุ้งลวด โครงเป็นอะลูมิเนียมขนาดกรง กว้างx ยาว x สูง = 60 x 60 x 100 เซนติเมตร ขากรงสูง 15 เซนติเมตร บุกรงด้วยมุ้งลวด ประตูด้านหน้ามี 2 ตอน คือ ครึ่งหนึ่งของด้านบนเป็นประตูบุลวดมีหูจับ ส่วนครึ่งล่างเป็นประตูทึบเพื่อป้องกันไม่ให้ตั๊กแตนออกขณะเปิดปิด พื้นกรงปูด้วยตะแกรงลวดตาข่ายและมีลิ้นชักความสูง 10 เซนติเมตร ถอดเข้าออกได้ เพื่อรองรับมูลของตั๊กแตนและง่ายต่อการดึงออกมาทำความสะอาด ด้านบนของกรงทำให้ถอดบานมุ้งลวดออกได้ กระบอกน้ำใส่พืชอาหาร และภาชนะใส่อาหารเสริมเหมือนดังที่กล่าวไว้ข้างต้น กรงมุ้งลวดนี้ไว้ใช้เลี้ยงตั๊กแตนตั้งแต่วัย 5 ขึ้นไป กรงละประมาณ 2,000-2,500 ตัว โดยตอนแรกอาจจะเลี้ยงตั๊กแตนวัยอ่อนในกรงมุ้งไนลอน 


2. การจัดการ
2.1 การให้อาหาร เปลี่ยนต้นแครดทุกวัน โดยเคาะต้นพืชในกระบอกน้ำเพื่อไล่ตั๊กแตนออก ใช้ต้นแครดสดเพื่อให้ตั๊กแตนกินได้มากขึ้นหลังจากวัย 5 ต้องให้อาหารวันละ 2 ครั้ง อาหารเสริมให้รำข้าวสาลีวันละครั้ง ส่วนการให้น้ำ ใช้จานกระเบื้องดินเผาใส่ก้อนหินกันไม่ให้ตั๊กแตนตกน้ำ
2.2 การทำความสะอาด
- การถ่ายมูลตั๊กแตน ในกรงมุ้งไนลอนเปลี่ยนกระดาษที่ปูพื้นกรงทุกวัน ส่วนในกรงมุ้งลวดดึงลิ้นชักที่รองรับมูลออกมาล้างทุกวัน
- ล้างทำความสะอาดกระบอกที่ใส่ต้นพืชและจานใส่น้ำทุกวัน
2.3 การป้องกันศัตรูของตั๊กแตน ศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ มด ซึ่งจะเข้ามากินไข่และซากตั๊กแตนหรือตัวที่ลอกคราบใหม่ ๆ ซึ่งไม่แข็งแรง การป้องกันโดยใช้ชอล์กกันมดและการดูแลความสะอาด ถ้าเป็นกรงมุ้งลวดระวังอย่าให้มีเศษหญ้าตกหล่นพาดถึงพื้นอันจะเป็นสะพานให้มดเข้าไปในกรง ศัตรูอื่น ๆ ได้แก่ แมงมุม จิ้งเหลน กิ้งก่า และหนู
2.4 การคัดพ่อแม่พันธุ์และการขยายพันธุ์ เลือกตัวที่มีขนาดใหญ่มีความสมบูรณ์แข็งแรง ใส่กรงให้ผสมพันธุ์ ควรมีการผสมข้ามกรงกันบ้างเพื่อหลีกเลี่ยงการเสื่อมถอยอันเกิดจากการผสมเลือดชิด ภาชนะวางไข่ใช้ขวดน้ำอัดลมขนาด 1.25 ลิตร ตัดเอาแต่ก้นขวดที่มีความสูง 10 เซนติเมตร ใส่ดินร่วนปนทราย ให้น้ำพอชื้น ๆ เมื่อตั๊กแตนวางไข่นำขวดดินที่มีไข่แยกออกมา ตั๊กแตนลายมีการผสม 9-15 ครั้ง วางไข่ 3-4 ครั้ง 
2.5 การเลี้ยงตั๊กแตนวัยอ่อนและหลังวัยอ่อน คือวัย 1-ต้นวัย 5 ในกรงมุ้งไนลอน ใช้เวลาประมาณ 35 วัน เมื่อเข้าวัย 5 ซึ่งจะสังเกตจากแผ่นอานม้าที่สันหลังอกขอบหลังแหลมรูปตัว V มีสีเหลืองนวลหรือสีเงินคาด หน้าแถบสีมีจุดดำเรียงเป็นแนว แล้วถ้าจะเลี้ยงในกรงมุ้งไนลอนต่อไปโดยจะต้องลดจำนวนลงเหลือเพียงครึ่งเดียวจากที่เลี้ยงในตอนแรก หรือจะย้ายเข้ากรงมุ้งลวดเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 17-26 วัน ตั๊กแตนจะลอกคราบเป็นตัวเต็มวัย ตัวอ่อนเพศผู้มี 6 วัย ใช้เวลาน้อยกว่าเพศเมีย คือ ประมาณ 53 วัน ส่วนตัวอ่อนเพศเมียมี 7 วัย ใช้เวลา 61.8 วัน จึงจะเจริญเป็นตัวเต็มวัย
2.6 การเก็บตั๊กแตนออกจำหน่าย เมื่อตุ่มปีกของตัวอ่อนเจริญมาชนกันที่สันหลังกลางลำตัวยาวคลุมถึงส่วนท้องปล้องที่ 3 แสดงว่า เป็นวัยสุดท้ายก่อนลอกคราบออกเป็นตัวเต็มวัย เมื่อเป็นตัวเต็มวัยเก็บตั๊กแตนในถุงสีฟ้า การจับตั๊กแตนให้รวบโคนขาคู่หลังเข้าด้วยกัน เนื่องจากเมื่อตั๊กแตนถูกรบกวนจะป้องกันตัว โดยดีดขาคู่หลังที่มีหนามเรียงเป็นแถว ทำให้เจ็บปวดได้
การเลี้ยงตั๊กแตนลายพบว่า มีการรอดชีวิตต่ำเพียง 33.75 เปอร์เซ็นต์ ตั๊กแตนอ่อนแอ โดยเฉพาะในช่วงวัยแรก ๆ การให้รำข้าวสาลีเป็นอาหารเสริมและการเลี้ยงในฤดูฝนทำให้การรอดชีวิตสูงขึ้นประมาณ 51.2 เปอร์เซ็นต์ จากการเลี้ยงตั๊กแตนลายที่ฟักจากไข่เวลาต่างกันจำนวน 5 รุ่น โดยใช้ต้นแครดและเสริมด้วยรำข้าวสาลี พบว่าการตายลดลง คือ มีการรอดชีวิตจนเป็นตัวเต็มวัย 35.67-66.37 เปอร์เซ็นต์ หรือโดยเฉลี่ย 51.2 เปอร์เซ็นต์

ตั๊กแตนทอดกรอบ เมนูยอดนิยม

ตัวอย่างเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จจากการเลี้ยงตั๊กแตน


เกษตรกรชาวจีนชานกรุงปักกิ่งประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงตั๊กแตน
เกษตรกรชาวจีนชานกรุงปักกิ่งประสบความสำเร็จในการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงตั๊กแตนส่งร้านอาหาร ทำรายได้มหาศาลเป็นแบบอย่างให้เพื่อนบ้านที่เคยมองธุรกิจนี้ด้วยสายตาที่หวาดระแวงหันมาทำตาม 

หลี่ ซูฉี เกษตรกรชาวจีน วัย 61 ปี ยอมรับว่า เพื่อนบ้านไม่ค่อยพอใจนักกับธุรกิจของเขา พวกเขาคอยจับตามองฟาร์มเลี้ยงตั๊กแตนและหมั่นตรวจสอบตาข่ายล้อมรั้วเพื่อป้องกันตั๊กแตนบินหนี แต่ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับจากเพื่อนบ้าน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่หันมาทำฟาร์มตั๊กแตนตามอย่างเขา

นายหลี่ บอกว่า เงินลงทุน 2 แสนหยวน (ราว 1 ล้านบาท) ได้กลับคืนมาหมดแล้ว จึงเตรียมขยายกิจการสร้างเรือนเลี้ยงตั๊กแตนอีก 5 หลังในปีนี้ วิธีการเลี้ยงก็ง่ายมาก เพียงแต่นำไข่ของตั๊กแตนไปวางไว้ในเรือนเพาะเลี้ยง หลังจากนั้นก็นำหญ้ามาใส่เป็นอาหาร และรอเวลา 75 วันเพื่อจับตั๊กแตนโตเต็มวัยออกมาขายร้านอาหาร ซึ่งมีคนชมว่าตั๊กแตนของเขามีรสชาติอร่อย

นายหลี่ บอกว่า การจับตั๊กแตนเป็นงานยาก เขาต้องระดมสมาชิกในครอบครัว 4 คนมาช่วยกันจับตั๊กแตนให้ได้น้ำหนัก 220 กิโลกรัม ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมง.

ขอบคุณที่มา
http://poothai.bravehost.com/Tuktan.html

http://farmfriend.blogspot.com/2011/12/blog-post_24.html

วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2556

แหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ Riceberry ไรซเบอรี่

รำข้าวสีดำคือแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ (  Riceberry | ไรซเบอรี่ )
  

ข้าวที่มีสีดำมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่ดีเนื่องจากมี สารจับอนุมูลอิสระ ทั้ง quinolone alkaloid, vitamin E, phytate, g-oryzonol, polyphenol และ anthocyanin อยู่สูง ในข้าวสีดำพันธุ์ไรซ์เบอรี่ พบว่า มีปริมาณ polyphenolic ถึง 752.1 mg/100g, anthocyanin 250.36 mg/100g และ beta carotene    63.3 ug/100g ซึ่งพบอยู่มากในส่วน pericarp สารทั้งสามชนิดมีความสัมพันธ์กับความสามารถ ในการต้านอนุมูลอิสระโดยเฉพาะ polyphenolic ดังนั้นรำข้าวสีดำจึงเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ

            กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งรวมถึงโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 3 ของคนไทยในทุกกลุ่มอายุ อวัยวะสำคัญที่พบคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด เต้านม และมะเร็งทางเดินอาหารอัตราตายด้วยโรคมะเร็งต่อประชากร 100,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 12.6 คน เป็น 68.8 คน ในช่วงปี พ.ศ. 2510- 2544 (กระทรวงสาธารณสุข) อนุมูลอิสระของออกซิเจน หรือ reactive oxygen species (ROS) เกิดขึ้นได้จากกระบวนการปกติของร่างกายและเพิ่มขึ้นจากการอักเสบ การได้รับสารเคมีจากมลพิษ ยาบางชนิด การสูบบุหรี่หรือการได้รับรังสี ROS ทำให้เกิด ปฏิกิริยา lipid peroxidation ซึ่งส่งผลทำให้สารพิษสามารถเข้าไปทำให้เกิดความเสียหายกับเยื่อหุ้มเซลล์, โครงสร้าง DNA และ RNA ตลอดจนชีวโมเลกุลในเซลล์ ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายชนิดเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไต, โรคข้อ รวมทั้งโรคมะเร็ง
          
             การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่าการรับประทานผัก ผลไม้ รวมทั้งธัญพืช ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงสามารถลดอัตราการเกิดโรคเรื้อรังดังกล่าวได้ นอกจากนี้การได้รับสารต้านอนุมูลอิสระจากอาหารหลายๆประเภทจะให้ผลในการป้องกันมากกว่าการได้รับจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งเนื่องจากมีฤทธิ์สร้างเสริมกัน ธัญพืชให้สารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดซึ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อได้รับร่วมกับสารกลุ่มที่มาจากผักและผลไม้ โดยฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระในข้าวมาจากกลุ่มสารประกอบฟีนอล (Phenolic acid derivatives) พบได้มากในส่วนของรำข้าว 
ประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ


            จากการศึกษาพบว่าข้าวยิ่งมีสีม่วงเข้มมากประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระยิ่งมีมากขึ้นโดยมีค่าอยู่ระหว่าง 35.3 ถึง 214.7 umole/g จากการศึกษาด้วยวิธี ORAC (Oxygen Radical Absorbance Capacity)โดยเฉพาะในรำข้าวเจ้าหอมนิลและรำข้าวไรซ์เบอรี่มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระสูง ถึง 229 ถึง 304.7 umole/g และเมื่อนำข้าวสายพันธุ์ต่างๆ มาเปรียบเทียบกับน้ำผลไม้พร้อมดื่มหรือน้ำชาเขียว พบว่ามีประสิทธิภาพในการต้าน อนุมูลอิสระมาก กว่า เกือบ 100 เท่า สำหรับกระบวนการหุงต้มข้าวที่มีสีม่วงเข้ม ด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า พบว่ามีผลทำให้ ประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระลดลงประมาณร้อยละ 50 หรือลดประสิทธิภาพลงประมาณครึ่งหนึ่งของข้าวดิบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแล้วข้าวสีม่วง ยังมีคุณภาพและมีประสิทธิสูงกว่าน้ำผลไม้พร้อมดื่ม หรือน้ำดื่มชาเขียวที่ขายตามท้องตลาด ซึ่ง ข้าวยิ่งสีเมล็ดมีความเข้มเท่าไรยิ่งทำให้มีผลในการต้านอนุมูลอิสระได้สูงขึ้นเท่านั้น

จากงานวิจัยพบว่า ข้าวกล้องพันธุ์ไรซ์เบอรี่และพันธุ์สินเหล็กเมื่อหุงสุกแล้ว ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระเหลืออยู่ ไม่ได้ถูกความร้อนทำลายหมด จึงเป็นแหล่งอาหาร ที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระสูง การที่ร่างกายได้รับสารต้านอนุมูลอิสระพอเพียงต่อความต้องการในแต่ละวัน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และ โรคมะเร็งได้

สารต้านอนุมูลอิสระในน้ำมันรำข้าว
             รำข้าวเป็นแหล่งของน้ำมันที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินอี, โทโคฟีรอล, แคโรทีนอยด์ และ แกมมา ออไรซานอล คุณสมบัติที่โดดเด่นซึ่งแตกต่างจาก น้ำมันพืช อื่นๆ คือ การมีส่วนประกอบเป็นสารสำคัญคือ แกมมา ออไรซานอล และโทโคไตรอีนอล ซึ่งพบว่าสามารถ ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอลในเลือด และลดอัตราการเสี่ยงต่อการเกิด โรคหัวใจได้ นอกจากนี้น้ำมันรำข้าวยังสามารถใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหารสัตว์ การใช้กรดไขมันอิสระในการผลิตสบู่ การใช้ไขเป็นส่วนผสมในการขัดเงา      ต่าง ๆ และ เครื่องสำอางค์              
 
             จากการสกัดน้ำมันจากรำข้าวด้วยวิธี supercritical fluid extraction (SFE) และตรวจสอบ ด้วยวิธี LC-ESI-MS/MS เพื่อตรวจสอบสารที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระในน้ำมันรำข้าว เบื้อง ต้น พบว่า ในน้ำมันรำข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่มี beta-carotene สูงถึง 36.8 ug/รำข้าว 1 กรัม และ flavonoid หลายชนิดที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระสูง ซึ่งมีรายงานที่พบแคโรทีนอยด์ ใน น้ำมันจากพืชหลายชนิด เช่น corn oil, groundnut oil, soy-bean oil, rapeseed oil, linseed oil, olive oil, barley oil, sunflower-seed oil และ cotton-seed oil โดยน้ำมัน เหล่า นี้นับรวมอนุพันธ์ทั้งหมดของแคโรทีนแล้วมีปริมาณประมาณ 100 ppm.

           
  ผลิตภัณฑ์จากข้าวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง 

              เนื่องจากปัจจุบันประชาชนให้ความสนใจในผลของสารต้านอนุมูลอิสระต่อสุขภาพมากขึ้น และจากการศึกษาพบว่าข้าวพันธุ์ ไรซ์เบอรี่ และรำมีประสิทธิภาพ ในการต้านสารอนุมูลอิสระได้ดี ดังนั้นจึงได้นำข้าว        ไรซ์เบอรี่ และรำข้าวมาพัฒนา เป็น อาหารว่างเพื่อสุขภาพ และเป็นอีกทางหนึ่ง ให้แก่ผู้บริโภค ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากข้าวได้เลือกหมั่นโถวและขนมปังใส่ไส้ซึ่งมีส่วนผสมของรำข้าวและถั่วแดง เนื่องจาก เป็นอาหารที่บุคคลทุกเพศทุกวัยสามารถรับประทานได้ 

              เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการต้านสารอนุมูลอิสระของขนมปังใส่ไส้และหมั่นโถว กับเครื่องดื่มชาเขียว ที่ได้รับความนิยมจากท้องตลาดต่อหนึ่งหน่วยบริโภค จะเห็นได้ว่าขนมปังใส่ไส้และหมั่นโถว มีประสิทธิภาพ ในการต้านสารอนุมูลอิสระได้ดี โดยเฉพาะขนมปังใส่ไส้มีประสิทธิภาพ ในการต้านสารอนุมูลอิสระ มากกว่า เครื่องดื่มชาเขียวอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นอาหารว่างทั้งสองจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภค


ที่มา http://kaopansuk.blogspot.com/p/riceberry-105-110.html

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

ข้าวไรซ์เบอรี่ Riceberry

alt 
             













ได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวเจ้าหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 ลักษณะเป็นข้าวเจ้าสีม่วงเข้ม รูปร่างเมล็ดเรียวยาว ข้าวกล้องมีความนุ่มนวลมาก สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตต่อปานกลาง ต้านทานต่อโรคไหม้ ไม่ต้านทานโรคหลาว จึงควรเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ทุกรอบการปลูก
             คุณสมบัติเด่นทางด้านโภชนาการของข้าวไรซ์เบอรี่ คือมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ เบต้าแคโรทีน,แกมมาโอไรซานอล, วิตามินอี, แทนนิน, สังกะสี, โฟเลตสูง, มีดัชนีน้ำตาลต่ำ-ปานกลาง นอกจากนี้รำข้าวและน้ำมันรำข้าว ยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่ดีเหมาะสำหรับใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารเชิงบำบัดอีกด้วย
alt 
























ลักษณะประจำพันธุ์ข้าว
ไรซ์เบอรี่ Riceberry

 ความสูง                                                 105-110 ซม.
อายุเก็บเกี่ยว                                           130 วัน
ผลผลิต                                                  300-500 กก. / ไร่
% ข้าวกล้อง (Brown rice)                         76 %        
% ต้นข้าวหรือข้าวเต็มเมล็ด (head rice)          50 %
ความยาวของเมล็ด     ข้าวเปลือก 11 ม.ม.   ข้าวกล้อง 7.5 ม.ม.  ข้าวขัด 7.0 ม.ม.

คุณสมบัติทางโภชนาการในข้าวกล้องไรซ์เบอรี่  Riceberry
  ปริมาณ Amylose                         15.6   %  
  อุณหภูมิแป้งสุก                           < 70  ° C
  ธาตุเหล็ก                                   13-18 mg/kg            
  ธาตุสังกะสี                                  31.9   mg/kg
  โอเมกา-3                                   25.51 mg/100g         
  วิตามิน อี                                    678    ug /100g
  โฟเลต                                       48.1   ug/100g          
  เบต้าแคโรทีน                              63      ug/100g
  โพลีฟีนอล                                  113.5 mg/100g         
  แทนนิน                                      89.33 mg/100g
  แกมมา-โอไรซานอล                      462    ug/g
  สารต้านอนุมูลอิสระ
  ชนิดละลายในน้ำ                           47.5mg ascorbic acid quivalent/100g
  ชนิดละลายในน้ำมัน                       33.4 mg trolox equivalent/100 g

  ข้อจำกัด :- ข้าวที่ต้องการเอาใจใส่เป็นพิเศษ, ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์, ต้องสภาพอากาศเย็น เพื่อสร้างสีเมล็ด
    ข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้ปรับปรุงพันธุ์จากศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ได้รับความร่วมมือจาก คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  พันธุ์ข้าวนี้ได้จดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่แล้ว  ห้ามนำไปขยายพันธุ์เชิงการค้าต่อ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)   และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


ที่มา http://dna.kps.ku.ac.th

วันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ปลูกผักบนต้นกล้วย

หลายวันก่อนได้ดูทีวี เกี่ยวกับการปลูกผักบนต้นกล้วย มันเป็นไอเดียที่ดีมากๆ ได้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เลยอยากจะขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ต่อ
มาดูที่มากันก่อนค่ะ ไอเดียปลูกผักสลัดแหวกแนวนี้ มีที่มาจากเมืองดาลัท ที่ออร์แกนิกฟาร์ม ของดร.เหวียน บา ฮุง นักวิจัยและเกษตรกรชาวเวียตนาม เขาเห็นต้นกล้วยแก่ ตัดเครือแล้วจะล้มทิ้งเฉยๆ ก็เสียดาย เลยทดลองเอาต้นกล้าผักสลัดมาปลูกไว้บนลำต้นฉ่ำน้ำของต้นกล้วยเสียเลย ก็เหมือนกับการปลูกพืชด้วยระบบไฮโดรโพนิก แต่เราได้ใช้ประโยชน์จากต้นกล้วยที่กำลังจะตาย และกำลังจะถูกตัดทิ้งเป็นขยะไปเปล่าๆ โดยเจาะรูที่ต้นกล้วยเป็นแนวเฉียงลง ตลอดลำต้น เหมือนกับปลูกผักแนวตั้ง อย่าให้แน่นเกิน เว้้นระยะให้เหมาะ เสร็จแล้วก็รอวันโต ไม่ต้องรดน้ำแต่อย่างใด เพียงแต่มีค้ำยันต้นกล้วยไม่ให้ล้ม และเลือกผักที่เติบโตภายใน 40 วัน
ไม่งั้นต้นกล้วยจะแห้งตายเสียก่อนผักจะโต ผักสลัดที่ได้อร่อยและใบเงาสวย เพราะต้นกล้วยมีโปรแทสเซียมเยอะ
เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งต้นกล้วย น้ำ และปุ๋ย ได้ประหยัดทั้งน้ำและปุ๋ยไปด้วย บ้านไหนมีต้นกล้วยตัดเครือแล้วก็ลองดูเลยค่ะ
ปลูกผักบนต้นกล้วย
ปลูกผักบนต้นกล้วย
ปลูกผักบนต้นกล้วย
ปลูกผักบนต้นกล้วย
สำหรับอีกวิธี ก็เป็นการใช้ต้นกล้วยเป็นเหมือนกัน เมื่อตัดเครือแล้ว ก็เอามาปลูกผักกันซะเลย
วัสดุ – อุปกรณ์
เมล็ดพันธุ์ผัก ประเภท กินใบ อายุการเก็บเกี่ยวสั้น เช่น ผักกาดหอม(ไม่ห่อหัว) จำพวกผักสลัด
กระบะเพาะกล้า หรือ ตะกร้าสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ถาดหลุมพลาสติก
กระดาษหนังสือพิมพ์
ขี้เถ้าแกลบ,ทราย
ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยหมัก
ปลูกผักบนต้นกล้วย
วิธีการปลูกผักบนต้นกล้วย
1. การเพาะกล้า ในตะกร้าพลาสติก/กระบะเพาะ
ปูประดาษหนังสือพิมพ์(แผ่นเดี่ยว)บนตะกร้าพลาสติก แล้วจัดกระดาษให้เข้ารูปกับตะกร้า ใส่ทรายลงไปในตะกร้าที่เตรียมไว้ให้ได้ความสูงประมาณ 2 ใน 3 ของความสูง ขีดทรายตามแนวยาวของตะกร้าให้เป็นร่องลึกประมาณ 1 ซม. 2-3 แถว โรยเมล็ดพันธุ์ผักลงไปบางๆ แล้วกลบเบาๆ ด้วยทราย จากนั้นนำกระดาษหนังสือพิมพ์(แผ่นเดี่ยว)วางปิดทับด้านบน พร้อมจัดกระดาษให้เข้ารูปกับตะกร้า ใช้บัวรดน้ำ ลงบนกระดาษหนังสือพิมพ์ (พอให้มีน้ำขังบนผิวหน้าเล็กน้อย) จัดวางตะกร้าไว้ในที่ร่ม หมั่นรดน้ำเช้า-เย็น เมื่อกล้าผักเริ่มงอก ให้เอากระดาษหนังสือพิมพ์ที่ปิดทับด้านหน้าออก แล้วรดน้ำเช้า – เย็น เมื่อต้นกล้าเริ่มมีใบจริงใบแรก หรือ เมื่อมีอายุประมาณ 10-14 วัน ให้ย้ายกล้าในกระบะเพาะลงปลูกในถาดหลุมพลาสติก
2. การย้ายกล้าผักลงปลูกในถาดหลุม
นำขี้เถ้าแกลบผสมเข้ากับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักพอใส่ลงถาดหลุมให้เต็มทุกหลุม จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม ใช้ไม้แทงนำในขี้เถ้าแกลบให้เป็นรู เพื่อนำต้นกล้าลงปลูก ใช้มือจับยอดต้นกล้าผักเบาๆ แล้วนำไม้ขุดแซะรากกล้าผักขึ้นมาจากกระบะเพาะ จากนั้นแยกกล้าลงปลูกในหลุมถาดที่เตรียมไว้ กดปิดบริเวณรูเบา ๆ ทำจนครบทุกหลุมแล้วจัดเรียงถาดหลุมที่ย้ายกล้าเสร็จแล้วไว้ในที่ร่มรำไร พอมีแสงส่องถึง จัดวางไว้บนชั้นให้น้ำไหลผ่านได้โดยสะดวก เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2-3 ใบหรือประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังปลูก ก็สามารถย้ายกล้าผักไปปลูกบนต้นกล้วยได้แล้ว
3. การปลูกผักลงบนต้นกล้วย
เจาะรูบนต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้ว โดยกะจำนวนรูที่จะปลูกผักให้เหมาะสมกับขนาดของต้นกล้วย ให้รูมีขนาดเท่ากับหลุมในถาดหลุมเพื่อ่ยึดรากต้นกล้าผัก จากนั้นจึงเอาต้นกล้าผักยัดใส่ลงไปในรูของต้นกล้วยที่เจาะไว้ ประมาณ 30 วันก็สามารถเก็บผักที่ปลูกบนต้นกล้วยมารับประทานได้ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผักที่ปลูก)
ทั้งนี้ ผักที่ปลูกไม่ควรมีอายุเกิน 40 วัน และควรปลูกผักกินใน ที่ไม่ต้องการแสงแดดจัด
ปลูกผักบนต้นกล้วย
ปลูกผักบนต้นกล้วย

วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สมุนไพรแก้พิษงูกัด



โลดทะนงแดง
      ชาวสุรินทร์ถิ่นเมืองช้างจะรู้กิตติศัพท์หมอเอี๊ยะ สายกระสุนเป็นอย่างดี เพราะท่านเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพรรักษางูมีพิษกัด หมอเอี๊ยะ  สายกระสุน หมอพื้นบ้านแห่งอำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์เล่าให้ฟังว่า ภูมิปัญญานี้สืบสานมาหลายชั่วอายุคน ต่อให้งูจะมีพิษมากน้อยขนาดไหนไม่มีกลัว รักษาหายมาเยอะแล้ว โดยใช้สมุนไพรโลดทะนงแดง-พระเจ้าปลูกหลง บ้างก็เรียกนางแซง หรือหนาดคำ  ซึ่งมีอยู่  2 ชนิด คือโลดทะนงแดงเพราะมีเปลือกหุ้มรากสีแดงและโลดทะนงขาวซึ่งมีเปลือกหุ้มรากสีดำ แต่ชนิดที่มีสรรพคุณทางยาแก้พิษต้องใช้โลดทะนงแดงเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นพิษจากงูทุกชนิด แมงมุมทุกชนิดกัด  ตะขาบกัด แมงป่องกัด และแม้กระทั่งกินเห็ดพิษ
     แนวทางการรักษาใช้ 2 วิธีคือใช้ดื่มและใช้ทา สำหรับดื่มให้นำรากโลดทะนงแดง และเม็ดหมากแห้ง ฝนกับน้ำประมาณครึ่งแก้วดื่ม ดื่ม 1  แก้วสำหรับถูกงูทุกชนิดกัด ยกเว้นงูจงอางให้ดื่ม  2  ครั้ง ถ้าสัตว์อื่นกัดไม่ต้องดื่ม ส่วนกินเห็ดเป็นพิษดื่มครั้งเดียว  กรณีใช้ทาให้นำรากต้นโลดทะนงแดงและหมากแห้งฝนกับน้ำมะนาวจนกระทั่งข้นแล้ว จึงนำไปทาบริเวณบาดแผลที่ถูกงูกัด แมงมุมกัด หรือสัตว์มีพิษกัด ทาทุกเช้า-เย็นจนกระทั่งหายเป็นปกติ สำหรับผู้ที่ถูกงูกัดไม่ควรดื่มเหล้า เพราะจะทำให้แผลอักเสบหายช้าและอาจเสียชีวิตได้
     ในบางตำราใช้รากโลดทะนงแดงฝนกับเหล้าขาวดื่มทำให้อาเจียนอย่างแรง เพื่อถอนพิษสำหรับคนที่ถูกยาเบื่อ ยาเมา เมาเห็ดเมาหอยต่างๆ แต่ระวังอย่าใส่เหล้าขาวเยอะ เดี๋ยวจะเมาเหล้าขาวแทน ฮ่าๆๆ สำหรับสาวๆสามารถใช้ทาหัวฝีแก้ฟกช้ำใช้เป็นยาดูดหนองได้ดี ติดต่อหมอเอี๊ยะ  สายกระสุน ปราชญ์พื้นบ้าน อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์   08-4638-2713




พญาลิ้นงู
      ลุงเกษม  อิทร์ชัยญะ วัย ๗๔ ปี ( พ.ศ. ๒๕๕๔) ส่งสมุนไพรมาให้ปลูกเพื่อการอนุรักษ์กลัวจะสูญพันธุ์ ในจดหมายลุงเขียนเล่ามาว่า เคยถูกแมงป่องต่อย เจ็บปวดมาก จึงได้ใช้หัวว่านยาพญาลิ้นงูที่ปลูกเอาไว้ในบ้าน จำนวน ๒-๓ หัว นำไปตำให้แหลก ผสมกับเหล้าขาว จำนวน  ๒  ช้อนแกง แล้วเอามาพอกแผล เพียงไม่กี่นาทีก็รู้สึกหายปวดและอีกประสบการณ์หนึ่งคือ งูเห่าดอกจันทร์ได้กัดสุนัขที่บ้าน สุนัขทำท่าจะไปไม่รอด จึงได้ใช้ว่านพญาลิ้นงูโขลกให้แหลกผสมกับเหล้าขาวเป็นกระสายยา ๒  ช้อนแกง คั้นเอายานี้ กรอกปากสุนัข เพียงไม่นานสุนัขก็อาการดีขึ้นและหายเป็นปกติ
      สมุนไพรพญาลิ้นงู รูปร่างคล้ายต้นกระเทียม ต้นหอมเล็ก ต้นกุยช่าย คนโบราณนิยมใช้รักษาผู้ที่ถูกงูกัด โดยการเอาใบว่านมาหลายๆใบแล้วตำรวมเข้ากับเม็ดมะขามสด แล้วขยี้ๆพอกลงไปที่แผล แล้วมันก็จะค่อยๆสำแดงเดช ดูดพิษงูนั้นออกมา ให้หมั่นพอกไปเรื่อยๆจนแน่ใจว่าพิษงูนั้นหมด ถ้าหากจะปลูกสมุนไพรพญาลิ้นงูลุงเกษมบอกว่า ผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนห้ามปลูก และปุ๋ยเคมีห้ามใช้  ให้ใช้ได้เฉพาะมูลวัวเก่าๆจะดีนักแล
      ส่วนใครที่ไม่ต้องการให้งูเข้ามาป้วนเปี้ยนในเขตบ้าน  ให้ใช้ผงกำมะถันโรยรอบบ้าน กลิ่นของกำมะถันจะฉุนมาก จึงทำให้งูไม่ชอบกลิ่นและหลีกห่างไป ขอบคุณลุงเกษม  อินทร์ชัยญะ หมู่ ๗ ต.นางแก้ว  อ.โพธาราม จ.ราชบบุรี ๐๓๒-๓๕๙-๔๙๑ ,  ๐๘-๓๓๑๐-๒๕๗๔




สมุนไพรตีนตะขาบ
      เกษตรกรหลายคนเวลาทำการเกษตรดายหญ้าในพื้นที่รกๆอาจจะถูกตะขาบหรือแมงป่องต่อย ทำให้เกิดอาการปวดบวมเจ็บปวด วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นคือใช้เชือกหรือยางรัดบริเวณเหนือรอยแผลที่ถูกงูกัดแล้วหักต้นตีนตะขาบเพื่อเอายางของต้นตีนตะขาบผสมเหล้าขาวประมาณ ๑๐๐ ซีซี. มาทาบริเวณบาดแผล เมื่อรู้สึกว่ายางตีนตะขาบเริ่มแห้ง ให้ทาซ้ำเรื่อยๆ ประมาณ  ๓๐  นาที ก็สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการบวมได้ ให้ทำการพอกยาจนกว่าจะหาย อาจจะใช้ต้นและใบตีนตะขาบตำให้ละเอียดพอกทาก็ได้



เสลดพังพอนตัวเมีย

สรรพคุณเด่น
แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย เริม งูสวัด อีสุกอีใส
วิธีใช้
1. ใช้ใบสด 1-2 ใบ ล้างให้สะอาด ตำให้ละเอียดเติมแอลกอฮอล์ 70%
หรือเหล้าขาวพอให้ยาชุ่มคนให้เข้ากัน เอาสำลีชุบน้ำยา
ทาบริเวณที่มีอาการบ่อยๆ วันละ 4-5 ครั้ง
2. ใช้ในรูปเสลดพังพอนในกลีเซอรีน
ทำโดยนำใบสดที่สะอาดประมาณ 1 กิโลกรัม
ตำให้ละเอียด เติมแอลกอฮอล์ 70 % 1 ลิตรหมักไว้ประมาณ7 วัน

กรองเอาเฉพาะน้ำยาใส่ภาชนะตั้งในหม้อน้ำร้อนเพื่อระเหยแอลกอฮอล์ออก

(ห้ามตั้งบนเตาไฟโดยเด็ดขาด)
ให้เหลือประมาณครึ่งหนึ่งแล้วเติมกลีเซอรีนปริมาณเท่าตัวแบ่งใส่ขวดเล็กเก็บไว้ใช้ได้นาน 6 เดือนใช้เสลดพังพอนกลีเซอลีนป้ายบริเวณที่มีแผลอย่างน้อยวันละ 3-5 ครั้ง
ข้อควรระวัง
ไม่ควรใช้วิธีตำพอกลงบริเวณที่มีอาการโดยตรงเพราะจะทำให้กากติดแผล
ทำความสะอาด ยาก อาจทำให้ติดเชื้อเป็นหนองได้

แหล่งสมุนไพร
       คงมีหลายคนสนใจเกี่ยวกับว่านสมุนไพรต่างๆ แต่ไม่ทราบว่าจะหาได้ที่ไหน ผมขอแนะนำให้ติดต่อไปที่สวนดงว่านที่มีว่านสมุนไพรมากกว่า ๕๐๐ ชนิดบนเนื้อที่  ๑๗  ไร่ แถวคลองสี่ ,สีคิ้วและดอนเมือง  ของคุณณรงค์ศักดิ์  ค้านอธรรม  อยู่ที่ ๒๔๔/๓๒๙  หมู่บ้านยิ่งโอฬาร  ซอยวิภาวดีรังสิต แขวงสีกัน  เขตดอนเมือง  กทม.๑๐๒๑๐  โทร. ๐๘-๑๗๓๕-๔๒๔๓
       คุณณรงค์ศักดิ์  ข้นอธรรม เป็นนักอนุรักษ์ว่านไทย รางวัลโล่เกียรติคุณ ๒๕๕๐ งานพฤกษาสยาม ครั้งที่ ๔ จากพระองค์โสมฯเสนอโดยกรมส่งเสริมการเกษตร มีประสบการณ์กว่า ๓๐  ปี และเป็นผู้เขียนหนังสือ ว่านสมุนไพร ไม้มงคลไทย เพื่อทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐  ปีและในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕  ธันวาคม ๒๕๕๐
       บ้านเรายังดีนะครับที่ยังมีคนดีๆสนใจอนุรักษ์สมุนไพรว่านที่มีคุณค่าไว้ให้คนรุ่นหลังๆได้ศึกษาเรียนรู้และนำไปใช้ประโยชน์ ไม่เช่นนั้นป่านนี้คงเห็นแต่ในรูปและเล่าขานแบบลมๆแล้งๆ


ที่มา 

http://www.jamrat.net/jamrathealth.aspx?blogid=21
http://thaiherb-tip108.blogspot.com/2011/01/blog-post_27.html