เเนวทางเกษตรอินทรีย์
เกษตรอินทรีย์(Organic farming)
ระบบการผลิตทางการเกษตรที่หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ย เคมีสังเคราะห์ สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตดัดแปลงทางพันธุกรรม เกษตรอินทรีย์ให้ความสำคัญสูงสุดในการปรับปรุงบำรุงดิน โดยเชื่อว่า หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ ย่อมทำให้พืชและสัตว์ที่เจริญเติบโตจากผืนดินนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ตามไป ด้วย มนุษย์ที่บริโภคผลผลิตจากไร่นาอินทรีย์ ก็จะได้รับอาหารที่มีคุณภาพดีและปลอดภัย
เกษตรอินทรีย์มีจุดเริ่มต้นจาก ยุโรปและต่อมาได้แพร่หลายไปยังสหรัฐอเมริกา และทั่วโลกจนปัจจุบัน กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตทางการเกษตรที่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง มีการพัฒนาระบบตลาด และมาตรฐานการผลิตมารองรับเป็นการเฉพาะ แต่จริงๆ แล้ว นี่คือวิธีการผลิตของปู่ยาตายาวชาวไทยและจีนมาแต่อดีต คนจีนปลูกผักก็เอาปุ๋ยอินทรีย์มาบำรุงดิน สำหรับประเทศไทย การบุกเบิกเกษตรกรรมอินทรีย์และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เกิดจากการผลักดันขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จังหวัดสุรินทร์ ยโสธร และเชียงใหม่ ประสบการณ์การส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ขององค์กรพัฒนาเอกชน จนสามารถพัฒนาการตลาดอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้พรรคการเมืองนำนโยบายเกษตรอินทรีย์ไปใช้สำหรับการหา เสียง จนในที่สุดนโยบายเกษตรกรรมอินทรีย์ได้ถูกบรรจุไว้ในนโยบายของประเทศ
อย่าง ไรก็ตามหากเกษตรอินทรีย์พัฒนาไปในทิศทางที่มุ่งเน้นการค้าเป็นหลัก มุ่งผลิตพืชเชิงเดี่ยว หรืออยู่ภายใต้ระบบและการผูกขาดของบริษัทขนาดใหญ่ แทนที่จะมุ่งในเรื่องของความมั่นคงด้านอาหาร การทำเกษตรอินทรีย์ดังกล่าว ก็จะไม่ถือว่าเป็นเกษตรกรรมอินทรีย์ที่แท้จริง และผิดหลักการเกษตรกรรมยั่งยืน (1)
หลักการของ "เกษตรอินทรีย์" (2)
เกษตรอินทรีย์ให้ความสำคัญสูงสุดต่อ ”ดิน” เนื่องจากดินเป็นรากฐานของทุกสิ่ง โฮวาร์ด ผู้บุกเบิกเกษตรอินทรีย์ยุคใหม่ ได้วางหลักการสำคัญไว้ 7 ประการ คือ
สุขภาพที่ดีเป็นสิทธิขั้นพื้น ฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงที่อุบัติขึ้นมาบนโลก
สุขภาพที่ดีตามกฎข้อที่ หนึ่ง ต้องใช้กับทั้ง ดิน พืช สัตว์ และมนุษย์ โดยสุขภาพที่ดีของสิ่งมีชีวิตดังกล่าวจะเชื่อมโยงประสานสัมพันธ์ดุจสายโซ่ เส้นเดียวกัน
ความอ่อนแอและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับดิน จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ที่อยู่สูงกว่า จนกระทั่งถึงมนุษย์ซึ่งยืนอยู่บนสุดของห่วงโซ่แห่งความสัมพันธ์
ปัญหา การระบาดของโรคแมลงทั้งในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ในระบบเกษตรกรรมสมัยใหม่ นั้น คือปัญหาในห่วงโซ่ที่สองและสาม (พืช-สัตว์)
ปัญหาเรื่องสุขภาพของ คนในสังคมสมัยใหม่เป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญหาความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในห่วง โซ่ที่สองและสาม
สุขภาพที่ไม่ดีของพืช สัตว์และมนุษย์เป็นผลต่อเนื่องมาจากสุขภาพที่ไม่ดีของดิน การแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพโดยการพัฒนายา และคิดค้นวิธีการรักษาโรคต่างๆ ไม่อาจทำให้สุขภาพดีขึ้นได้ถ้าละเลยความอุดมสมบูรณ์ของดิน
การปรับ เปลี่ยนการพัฒนาที่ถูกต้องจึงต้องสำนึกในปัญหาที่เกิดขึ้น ยอมรับกฎและบทบาทอันซับซ้อนของธรรมชาติ โดยการคืนทุกสิ่งที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ให้กับผืนดินผสมผสานการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ และไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นการรบกวนต่อกระบวนการสะสมธาตุอาหารที่ดำเนินการโดยสิ่งมีชีวิติเล็กๆ ซึ่งอาศัยในดิน
ดังนั้น มโนทัศน์ของดินในหมู่นักเกษตรอินทรีย์จึงเป็นคนละแบบกับที่นักเกษตรเคมีเข้า ใจ นักเกษตรอินทรีย์เชื่อว่าดินใต้ฝ่าเท้าของมนุษย์นั้นมีชีวิต ความอุดมสมบูรณ์ของดินมิได้เป็นภาพของดินซึ่งมีแร่ธาตุที่พืชต้องการไม่กี่ ชนิด แต่เป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในดินเป็นจำนวนมาก การใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียวเพื่อผลิตอาหารจะทำให้สมดุลของธาตุอาหารรอง เสียไป และจะมีผลต่อคุณภาพของอาหารนั้นในที่สุด
เกษตรกรต้นแบบของ เกษตรอินทรีย์ (3)
เกษตรกรต้นแบบของเกษตรผสมผสาน คือ “คุณอรรณพ ตันสกุล” เกษตรชาวปทุมธานี ซึ่งผ่านประสบการณ์ทำนาและทำไร่ส้มมาก่อนหันมาสนใจทำการเกษตรอินทรีย์ โดยเริ่มแรกทำนาที่ตำบลคลอง 5 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี แต่ประสบปัญหาการระบาดของเพลี้ยจักจั่นสีเขียวจึงหันมายกร่องปลูกส้มเขียว หวานในพื้นที่ประมาณ 51 ไร่ แต่สุดท้ายก็พบว่าสวนส้มต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก จึงฉุกคิดได้ว่าแม้จะขายส้มได้มากแต่ตัวเองและลูกน้องใช่ว่าจะมีโอกาสได้ใช้ เงินเหล่านั้น
คุณอรรณพ ตัดสินใจหันมาทดลองนำสมุนไพรใช้ทดแทนสารเคมี เช่น สูตรผสมของสะเดา ข่า และตะไคร้หอม บดรวมกันแล้วแช่น้ำไว้หนึ่งคืนก่อนนำไปผสมน้ำฉีดกับส้มเขียวหวาน ซึ่งพบว่าได้ผลดีสามารถควบคุมเพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรแดง และหนอนชอนใบได้ นอกจากนั้นยังทำการเลี้ยงวัว โดยอาหารวัวได้จากการเกี่ยวหญ้าจากร่องสวนส้มและใช้กากชานอ้อยจากตลาดโดยไม่ ต้องซื้อหาเพียงแต่ต้องใช้แรงงานเพิ่มขึ้น ส่วนกากชานอ้อยที่เหลือจะถูกปล่อยทิ้งไว้ให้ซับเยี่ยวและขี้วัวระยะหนึ่ง เมื่อหมักได้ระยะหนึ่งจะนำไปสุมบริเวณโคนไม้ผลเพื่อช่วยปรับปรุงดินและควบ คุมวัชพืชไปในตัวด้วย
ประสบการณ์เกษตรอินทรีย์ของคุณอรรณพ มีผลกระทบในเชิงความคิดต่อเกษตรกรและนักการเกษตรเป็นจำนวนมาก มีการดัดแปลงสูตรสมุนไพรไปปรับใช้ในนาข้าว แปลงผัก และผลไม้ชนิดอื่นๆ อย่างแพร่หลาย ทำให้วงการเกษตรหันมาให้ความสนใจทำงานวิจัยวิทยาการที่ใช้ทดแทนสารเคมีมาก ยิ่งขึ้น
หมายเหตุ
(1) คัดลอกและเรียบเรียง จากหนังสือ เกษตรกรรมยั่งยืน วิถีเกษตรเพื่อความเป็นไท ; สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกครั้งที่ 3; มหกรรมเกษตรกรรมยั่งยืน: ฟื้นฟูวิถีชีวิตไท เพื่ออธิปไตยของชาติ.
(2) คัดลอกและเรียบเรียง จากหนังสือ เกษตรกรรมทางเลือก ความหมาย ความเป็นมา และเทคนิควิธี ; วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ บรรณาธิการ ; สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกครั้งที่ 2; มหกรรมเกษตรและอาหารปลอดสารพิษ.
(3) คัดลอกและเรียบเรียง จากหนังสือ เกษตรกรรมทางเลือก ความหมาย ความเป็นมา และเทคนิควิธี ;
อ้างแล้ว.
ที่มา http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=raimaoberry&group=5