ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณประยูร จวงจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร ประสบความสำเร็จในการคิดค้น “โรงเพาะเห็ดอิเล็กทรอนิกส์” รูปแบบใหม่ ที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเห็ดได้ตลอดทั้งปี แถมมีรสชาดดีกว่าเห็ดที่ขึ้นตามธรรมชาติเสียอีก
อาจารย์ประยูรกล่าวถึงที่มาของแนวคิดในการทำโรงเพาะเห็ดไฮเทคว่า การเพาะเห็ดในปัจจุบันทำได้ยากขึ้นเนื่องจากการแปรปรวนของอากาศที่รวดเร็วในแต่ละวัน ทำให้การควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแสง ที่เหมาะสมสำหรับเห็ดแต่ละชนิดทำได้ลำบาก โดยส่วนใหญ่ผู้เพาะเห็ดจะต้องคอยตรวจสอบ อุณหภูมิ ความชื้น ในโรงเรือนอยู่บ่อยครั้ง และต้องคอยฉีดน้ำให้กับเห็ด เพื่อให้ได้อุณหภูมิและความชื้นอยู่ในช่วงที่เห็ดแต่ละชนิดต้องการ ทำให้ต้องใช้แรงงานในการดูแล และเกิดความผิดพลาดในเรื่องต่างๆ ได้ง่าย และบางเวลาไม่สามารถมาดูแลโรงเพาะเห็ดได้ ทำให้เกิดความเสียหายกับเห็ด เช่น ทำให้เชื้อในก้อนเห็ดไม่แข็งแรงสมบูรณ์ เกิดเชื้อรา และโรคเห็ดเข้าทำลายก้อนเห็ดได้ง่ายน้ำเข้าไปขังในก้อนเห็ด ทำให้ก้อนเห็ดเน่า
นอกจากนี้การเข้าไปดูแลอาจนำพาเชื้อโรคหรือแมลงเข้าไปทำลายก้อนเห็ดกับทำให้ต้องขาดทุนในการผลิตดอกเห็ด และการเข้าไปดูแลในโรงเพาะเห็ดนานๆ หรือบ่อยครั้ง อาจมีผลทางด้านสุขภาพเนื่องจากสปอร์เห็ดที่กระจายอยู่ภายในโรงเรือน ดังนั้นภาควิชาวิศวกรมอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร จึงได้สร้างโรงเพาะเห็ดอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ Evaporative (EVAP) หรือ ระบบการระเหยของไอน้ำ และระบบ Air EVAP แบบควบคุมอัตโนมัติขึ้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เพาะเห็ดขาย ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และปลอดสารเคมีในการกำจัดโรค และแมลงปลอดภัยกับผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยให้เห็ดมีรสชาติอร่อยเพิ่มมากขึ้นด้วย
อาจารย์ประยูรอธิบายหลักการทำงานของ ระบบ Evaporative (EVAP) ว่า จะควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และสเปร์ น้ำให้โรงเพาะเห็ดอัตโนมัติ ผ่านระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และสเปรย์น้ำให้โรงเพาะเห็ดอัตโนมัติ ผ่านระบบควบคุมสมองกลอิเล็กทรอนิกส์ฝังตัว หรือกล่องควบคุมอัจฉริยะนั่นเอง มี 9 หน้าที่ในการสั่งงานตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในโรงเรือนเพื่อปรับความชื้นและอุณหภูมิให้เหมาะสมกับเห็ดอยู่ตลอดและทันท่วงที ระบบสามารถตรวจสอบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซน์ที่สะสมในโรงเรือนออกโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เห็ดมีดอกที่สมบูรณ์ และออกดอกในปริมาณที่มากขึ้น สามารถปรับปริมาณแสงที่เหมาะสมซึ่งจะทำให้เห็ดมีดอกที่สวยงาม มีการออกดอกสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ระบบยังสามารถตั้งเวลาในการเปิดปิดทุกอุปกรณ์ในการควบคุมเองได้ เพื่อเข้าไปเก็บผลผลิตเห็ด ตามเวลาที่ผู้ใช้กำหนด หลังจากเก็บผลผลิตเสร็จระบบก็จะสั่งให้ทำการเปิดระบบควบคุมต่างๆ ใหม่เองโดยอัตโนมัติ ระบบควบคุมนี้ผู้ใช้สามารถที่จะตั้งค่า ช่วงของอุณหภูมิและความชื้นได้เอง ตามความเหมาะสมของเห็ดแต่ละชนิด
อาจารย์ประยูรกล่าวอีกว่า ระบบนี้ สามารถนำไปเพาะเห็ดได้หลายชนิดไม่ว่าจะเป็นเห็ดเมืองหนาว เช่น เห็ดออเรนจิ เห็ดเข็มทอง เห็ดหอม เห็ดถั่งเฉ้า เห็ดเย็นชื้น เช่น เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดตระกูลนางรม เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหลินจือ เห็ดร้อนชื้น เช่น เห็ดขอนขาว เห็ดฟาง เป็นต้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับอุปกรณ์เพิ่มเติมที่จะถูกควบคุม ช่วยลดแรงงาน ความเสี่ยงในการที่ก้อนเห็ดจะเสียหาย ความปลอดภัยจากสปอร์เห็ดของผู้ดูแล
รวมทั้งช่วยประหยัดน้ำและพลังงาน ยืดอายุก้อนเห็ดให้เก็บได้นานขึ้น 10-25% เพราะเชื้อเห็ดจะแข็งแรง ลดการเสียของก้อนเห็ดได้ 20-30% ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น 15-20% เห็ดมีคุณภาพ สด สะอาด รสอร่อย ปลอดสารเคมี เป็นที่ต้องการของตลาด ขายได้ราคาสูงขึ้น และสามารถคืนทุนได้ภายใน 6-8 เดือนเท่านั้น สำหรับผู้สนใจสามารถแวะเยี่ยมชมโรงเพาะเห็ดแห่งนี้ได้ที่ ม.เทคโนโลยีมหานครได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ ทางสถาบันฯยังพร้อมแบ่งปันหลักสูตรเพาะเห็ดเงินล้านแก่ผู้สนใจทุกท่าน โดยติดต่อ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 02-9883655 ต่อ 1105-7 สำนักประชาสัมพันธ์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร