วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การปลูกมะลิ

มะลิเป็นไม้ดอกสีขาวที่มีกลิ่นหอม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น เก็บดอกมาร้อยเป็นพวงมาลัย ทำเป็นดอกไม้แห้ง หรือนำมาสกัดทำน้ำมันหอมระเหย
นอกจากการใช้ประโยชน์จากดอกมะลิแล้ว ส่วนต่าง ๆ ของมะลิก็ยังนำมาใช้เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรคได้ เช่นดอกสด ดอกแห้ง ใบสด ต้น ราก

ประโยชน์
มะลินอกจากจะเก็บดอกมาร้อยเป็นพวงมาลัย ทำเป็นดอกไม้แห้ง หรือนำมาสกัดทำน้ำมันหอมระเหยแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างเช่น

มะลิซ้อน ดอกสด ใช้รักษาโรคตาเจ็บ แก้ไข้ตัวร้อน แก้หวัด


ดอกแห้ง ใช้ปรุงเป็นสารแต่งกลิ่น


ใบสด นำมาตำให้ละเอียดจะช่วยรักษาแผลพุพองและแผลฝีดาษ


ต้น ใช้รักษาโรคคุดทะราด ขับเสมหะและโลหิต


ราก นำมาฝนใช้แก้ปวด รักษาโรคร้อนในและอาการเสียดท้อง

มะลิวัลย์ ราก ใช้เป็นยาถอนพิษต่าง ๆ ได้
จากการที่มีการนำมะลิมาใช้ประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน จึงทำให้มะลิเป็นไม้ดอกที่มีความสำคัญทางการค้ามากขึ้น พื้นที่ปลูกที่สำคัญของไทย ได้แก่ จังหวัดนครปฐม นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำพูน หนองคาย และสมุทรสาคร การจำหน่ายมะลิจะมีทั้งในและต่างประเทศ โดยตลาดต่างประเทศจะมีการส่งออกในรูปของพวงมาลัย ดอกมะลิสดและต้นมะลิ


ลักษณะทั่วไป

มะลิมีลักษณะต้นเป็นไม้พุ่ม ไม้เลื้อย และไม้รอเลื้อย มีทั้งชนิดใบเดี่ยวและใบรวม การจัดเรียงตัวของใบมีทั้งแบบใบอยู่ตรงข้ามกัน ใบแบบสลับกัน ดอกมีสีขาว กลีบดอกมีทั้งชั้นเดียวและหลายชั้น เป็นดอกเดี่ยวและดอกช่อ ดอกจะออกจากยอดหรือข้างกิ่ง ส่วนมากมีกลีบเลี้ยง 4-9 กลีบ กลีบดอกมี 4-9 กลีบ โดยปกติดอกจะเริ่มบานในเวลาบ่าย และร่วงในวันรุ่งขึ้น มะลิจะให้ดอกมากในฤดูร้อนและฤดูฝน ผลผลิตจะลดต่ำลงในฤดูหนาว ฉะนั้นในช่วงนี้ดอกมะลิจะมีราคาแพง
พันธุ์
มะลิโดยทั่วไปจะมีอยู่ด้วยกันหลายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่นิยมนำมาปลูกเป็นการค้า ได้แก่ มะลิลา ซึ่งมีลักษณะเป็นไม้รอเลื้อย กิ่งอ่อนและกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อนมีขน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ ตรงกันข้าม ใบเป็นรูปไข่ ขอบใบเรียบ ออกดอกเป็นช่อสีขาว ช่อละ 3 ดอก ดอกกลางบานก่อน กลีบดอกชั้นเดียว ปลายกลีบมน มีกลิ่นหอม มะลิลาที่เป็นพันธุ์ส่งเสริมได้แก่
พันธุ์แม่กลอง
พันธุ์ราษฎร์บูรณะ
พันธุ์ชุมพร

ลักษณะ

พันธุ์แม่กลอง
พันธุ์ราษฎร์บูรณะ
พันธุ์ชุมพร
ทรงต้น
ทรงพุ่มใหญ่ หนาและทึบ
เจริญเติบโตเร็ว
ทรงพุ่มเล็กกว่า และค่อนข้างทึบ คล้ายพันธุ์ราษฎร์บูรณะ
แต่ทรงพุ่มโปร่งกว่าเล็กน้อย
ใบ
ใหญ่หนา สีเขียวเข้มจนออกดำ
รูปใบค่อนข้างกลม ปลายใบมน
ใบเล็กกว่า สีเขียวเข้ม รูปใบเรียว ใบคล้ายพันธุ์ราษฎร์บูรณะ
แต่เรียวกว่า สีอ่อนกว่าและบางกว่า
ช่วงข้อใบ
ห่าง ค่อนข้างถี่ ถี่
ดอก
ใหญ่ กลม เล็ก เรียวแหลม คล้ายพันธุ์ราษฎร์บูรณะ
ช่อดอก
มักมี 1 ชุด
ชุดละ 3 ดอก
มักมี 1-2 ชุด
ชุดละ 3 ดอก
มักมีมากกว่า 2 ชุด
ชุดละ 3 ดอก
ผลผลิต
ดอกไม่ดก ดอกดก ทะยอยให้ดอก ดอกดกมาก
แต่ทิ้งระยะห่างเป็นช่วง ๆ
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ ที่นิยมทำกันมากที่สุด คือ
การปักชำ ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายสะดวกและรวดเร็ว โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
1. เตรียมวัสดุเพาะชำ โดยใช้ทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1 บรรจุในตะกร้าพลาสติกที่เตรียมไว้ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
2. การเตรียมกิ่งพันธุ์ กิ่งที่ใช้จะเป็นกิ่งกึ่งแก่กึ่งอ่อน ตัดให้มีความยาวของกิ่งประมาณ 4 นิ้ว หรือมีข้ออย่างน้อย 3 ข้อ การตัดกิ่งควรจะตัดให้ชิดข้อ ริดใบส่วนล่างออกให้เหลือใบคู่บนสุด 1 คู่ ตัดใบออกให้เหลือเพียง 1/2 ใบ เพื่อลดการคายน้ำ ถ้าต้องการเร่งรากควรนำกิ่งมะลิไปจุ่มในฮอร์โมน IBA [Indole Butyric Acid] และ NAA [Naphthalene Acetic Acid] ในอัตราส่วน 1:1 ความเข้มข้น 4,500 ppm
3. นำกิ่งมะลิที่เตรียมไว้ปักชำลงในภาชนะเพาะ โดยปักเรียงเป็นแถว ให้มีระยะห่างระหว่างแถวและกิ่ง 2 x 2 นิ้ว จากนั้นรดน้ำและสารกันรา เช่น แคปแทน และสารเคมีกำจัดแมลง เช่น เซฟวิน
4. รักษาความชื้นให้เหมาะสมและคงที่ โดยนำเอาภาชนะเพาะชำ (ตะกร้าพลาสติก) ไปวางไว้ในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ มัดปากถุงให้แน่น (มัดให้สูง) นำไปผูกไว้ที่กิ่งหรือท่อนไม้ เพื่อไม่ให้ปากถุงกดทับกิ่งชำ แล้วนำไปวางไว้ในที่ร่ม ถ้าเป็นมะลิลากิ่งปักชำจะออกรากภายใน 3 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นมะลิซ้อนจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
5. หลังจากกิ่งปักชำออกรากแล้วให้นำไปเลี้ยงต่อในถุงขนาด 2x3 นิ้ว โดยใส่ดิน, ขุยมะพร้าว และปุ๋ยคอก อัตรา 3:1:1 จนต้นมะลิแข็งแรงดีแล้ว จึงนำไปปลูกต่อไป
ในกรณีที่ต้องการขยายพันธุ์เพื่อเป็นการค้า ให้ปักชำในกระบะปักชำที่สร้างไว้ในที่ร่ม เช่น ในเรือนเพาะชำ ขนาดของกระบะอาจจะใช้ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 20 เมตร สูง 80 เซนติเมตร หรือขนาดอื่นก็ได้ตามความเหมาะสม ใช้ขี้เถ้าแกลบเก่า ๆ เป็นวัสดุปักขำ โดยใส่ลงในกระบะประมาณ 50 เซนติเมตร ระยะห่างของกิ่งที่ใช้ปักชำประมาณ 2 นิ้ว และระยะระหว่างแถวประมาณ 2 นิ้ว เมื่อชำเสร็จแล้วให้ใช้พลาสติกใสปิดกระบะให้มิดชิด ทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ กิ่งมะลิจะออกรากประมาณ 90% ของมะลิทั้งหมด
เมื่อมะลิออกรากแล้ว ให้สังเกตดูความสมบูรณ์ของรากก่อนที่จะย้ายลงปลูกในถุงพลาสติกหรือในแปลง การปักชำวิธีนี้จะได้จำนวนต้นครั้งละมาก ๆ และเปอร์เซ็นต์การออกรากสูง แต่มีข้อควรระวังคือ การปักชำในกระบะซ้ำ ๆ กันหลายครั้งอาจเกิดโรคราขึ้นได้ ดังนั้นควรใช้สารเคมีป้องกันราราด หรือฉีดพ่นลงในกระบะขณะปักชำด้วย

การปลูก
ควรจะปลูกให้มะลิได้รับแสงแดดเต็มที่ เพื่อดอกจะได้ดกตามต้องการ

นิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฏาคม
มะลิชอบดินร่วนซุยมีการระบายน้ำดี มีอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารสมบูรณ์
หากจะปลูกมะลิให้มีอายุยืนยาว ควรขุดหลุมลึก กว้าง และยาวด้านละ 50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก ใบไม้ผุหรือปุ๋ยหมัก และวัสดุอื่น ๆ ในอัตราส่วน 1:1:1 พร้อมกับเติมปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) และปุ๋ยผสมสูตร 15-15-15 อย่างละ 1 กำมือ คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วใส่กลับลงไปในหลุมใหม่ ทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน จึงนำเอาต้นมะลิที่ซื้อมา หรือได้จากการปักชำลงปลูก
การดูแลรักษา
1. การกำจัดวัชพืช ปกติชาวสวนนิยมใช้กรัมม๊อกโซนฉีดตามร่องปลูกทุกเดือน โดยไม่ให้โดนต้นมะลิ
2. การใส่ปุ๋ย ให้ใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราการใส่ปุ๋ยขึ้นอยู่กับขนาดของทรงพุ่ม ใส่เดือนละครั้ง โดยการหว่านและรดน้ำตามด้วย
3. การตัดแต่ง หลังจากปลูกมะลิไปนาน ๆ แล้วมะลิจะแตกกิ่งก้านสาขามากมาย ควรตัดแต่ทรงพุ่มให้โปร่ง รวมทั้งตัดกิ่งที่แห้งและตายออกด้วย จะช่วยให้มะลิมีทรงพุ่มสวยงาม โรคและแมลงลดน้อยลง มะลิมีอายุยืนยาวขึ้น ให้ดอกมากขึ้น พร้อมทั้ง จะช่วยให้เกษตรกรมีความสะดวกในการปฏิบัติงานอีกด้วย
4. การให้น้ำ มะลิจะต้องการน้ำพอสมควร หากดินยังแฉะอยู่ไม่ควรรดน้ำ ควรรอจนกว่าดินจะแห้งหมาด ๆ เสียก่อน ทั้งนี้อาจให้น้ำวันละ 1-2 ครั้งหรืออาทิตย์ละครั้งก็ได้ขึ้นอยู่กับสภาพของดิน โดยให้รดน้ำในตอนเช้า แต่ระวังอย่าให้น้ำท่วม หรือมีน้ำขังอยู่ในแปลงนาน ๆ เพราะจะทำให้ต้นมะลิแคระแกร็น ใบเหลือง และตายได้
โรคที่สำคัญ
1. โรครากเน่า
เกิดจากเชื้อรา จัดได้ว่าเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง จะเกิดกับมะลิที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป โดยจะมีอาการใบเหลือง เหี่ยวและทิ้งใบต้นแห้งตาย เมื่อขุดดูจะพบว่ารากเน่าเปื่อย และที่โคนต้นจะพบเส้นใยสีขาว มักระบาดในสภาพดินที่เป็นกรด และพื้นที่ที่ปลูกซ้ำเป็นเวลานาน
การป้องกันกำจัด
- เมื่อพบต้นที่เป็นโรค ให้ถอนเผาไฟทำลายเสีย รวมทั้งเผาดินในหลุมด้วย แล้วใช้ปูนขาว หรือเทอราคลอผสมน้ำราดลงดิน
- ถ้าระบาดทั่วสวน ให้เปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นๆ ก่อนประมาณ 4-5 ปี
- ถ้าต้องการปลูกซ้ำที่เดิม ก็ควรมีการปรับดินด้วยการใส่ปูนขาวและปุ๋ยคอก
2. โรคแอนแทรกโนส
เกิดจากเชื้อรา โดยจะเริ่มมีจุดสีน้ำตาลอ่อนบนใบ และขยายลุกลามออกไป ขอบแผลเป็นสีน้ำตาลแก่เห็นได้ชัด แผลที่ขยายออกไปมีลักษณะเป็นรอยวงกลมซ้อนกัน เนื้อเยื่อขอบแผลแห้งกรอบ เวลาอากาศชื้น ๆ บริเวณตรงกลางจะพบสปอร์เกิดเป็นหยดสีส้มอ่อน ๆ ขนาดแผลขยายใหญ่ไม่มีขอบเขตกำจัด จนดูเหมือนโรคใบแห้ง เชื้อราชนิดนี้แพร่ระบาดได้โดยปลิวไปกับลมหรือถูกฝนชะล้าง
การป้องกันกำจัด
ทำได้โดยการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไดเทนเอ็ม 45

3. โรครากปม
เกิดจากไส้เดือนฝอย โรคนี้จะพบได้เฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น คือใบจะมีสีเหลืองด่าง ๆ ทั่วทั้งใบ คล้ายกับอาการขาดธาตุอาหาร ทั้งนี้เนื่องจากไส้เดือนฝอยจะไปอุดท่อน้ำท่ออาหารไว้ เมื่อถอนต้นดูจะพบว่ามีรากปมเล็ก ๆ อยู่ทั่วไป ถ้าเฉือนปมนี้ออกดูจะพบถุงสีขาวเล็ก ๆ ขนาดเมล็ดผักกาดฝังอยู่
การป้องกันกำจัด
- ปลูกมะลิหมุนเวียนสลับกับพืชชนิดอื่น ๆ
- ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้น
- ขุดต้นที่เป็นโรคนี้เผาไฟทำลายเสีย
- ใช้สารเคมีป้องกันกำจัด เช่น ฟูราดาน ไวย์เดท-แอล

แมลงศัตรูที่สำคัญ
1. หนอนเจาะดอก
ลำตัวมีขนาดเล็ก สีเขียว ปากหรือหัวดำ ระบาดมากในฤดูฝน ทำให้ดอกเสียหายมาก โดยการเจาะกัดกินดอก ทำให้ดอกเป็นรูและผิดรูปร่าง เมื่อหนอนดูดกินน้ำเลี้ยงจากดอกจะทำให้กลีบดอกเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมม่วง จะพบการทำลายของหนอนเจาะดอกนี้มากกว่าแมลงตัวอื่น ๆ หากป้องกันกำจัดไม่ทันจะเกิดความเสียหายมาก
การป้องกันกำจัด
1. เก็บเศษพืชที่หล่นบริเวณโคนต้นเผาทำลาย เพื่อป้องกันดักแด้ของหนอนเจาะดอก
2. ฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกำจัด เช่น แลนเนท
3. ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาศัยของตัวแก่ได้
4. การใช้กับดักแสงไฟ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดการทำลายของหนอนเจาะดอกมะลิ และช่วยลดปริมาณการพ่นสารเคมีอีกด้วย

กับดักแสงไฟที่นิยมใช้มี 3 ชนิด คือ
- หลอดไฟนีออน [Fluorescent] เป็นหลอดทั่วไปที่ใช้ในบ้านเรือน นิยมใช้ติดตั้งเพื่อจับแมลง เพราะหาซื้อได้ง่าย ราคาไม่แพงนัก
- หลอดไฟแสงสีม่วง [Black light] เป็นหลอดสีดำให้แสงสีม่วง มีประสิทธิภาพในการล่อแมลงดีกว่าหลอดไฟนีออน แต่หาซื้อยาก เนื่องจากราคาแพง และเป็นอันตรายต่อเยื่อบุนัยน์ตา
- หลอดไฟแสงสีฟ้า [Blue light) เป็นหลอดสีขาวเหมือนหลอดไฟนีออนให้แสงสีฟ้า นิยมใช้ล่อจับแมลงเช่นเดียวกับหลอดสีม่วงแต่ราคาถูกกว่า
จากการศึกษาของ นางพิสมัย ชวลิตวงษ์พร นักกีฏวิทยา กองกีฏและสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร โดยการติดตั้งการดักแสงไฟสีฟ้าและสีม่วงพบว่า ให้ผลที่พอ ๆ กัน ฉะนั้น เราจึงควรเลือกใช้แสงสีฟ้าเพราะมีราคาถูก และการติดตั้งแสงสีฟ้าที่ความสูง 50 เซนติเมตร เหนือต้นมะลิจะช่วยให้จับตัวเต็มวัยของแมลงศัตรูมะลิได้หลายชนิด ทำให้ดอกมะลิถูกแมลงทำลายได้น้อยกว่าแปลงที่พ่นสารเคมี

2. หนอนกินใบ
มักระบาดในฤดูฝน จะทำลายใบมะลิโดยพับใบเข้าด้วยกัน แล้วซ่อนตัวอยู่ในนั้น และกัดกินทำลายใบ

การป้องกันกำจัด
1. เก็บหนอนหรือดักแด้ทำลายเสีย
2. ใช้สารเคมีประเภทโมโนโครโตฟอส เช่น อโซดริน อัตรา 20-30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือวิมลอร์ด 25% อีซี อัตรา 8-10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นทุก 4-6 วัน เมื่อมีการระบาด

3. หนอนเจาะลำต้น
หนอนจะเจาะตรงบริเวณโคนต้น ทำให้ต้นแห้งตาย อาการเริ่มแรกจะพบต้นมีใบเหลืองและหลุดร่วง ตรงบริเวณโคนต้น จะมีขุยไม้ที่เกิดจากการกัดกินของหนอนกองอยู่เห็นได้ชัด
การป้องกันกำจัด
- ถอนต้นที่ถูกทำลายเผาไฟทิ้งเสีย
- ใช้สารเคมีพวกไตโครวอส เช่น เดนคอล อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 1 ลิตร ฉีดเข้าไปในรูที่หนอนเจาะ แล้วเอาดินเหนียวอุดรูให้มิด

4. เพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและดอก ทำให้ส่วนที่ถูกทำลายหงิกงอ แคระแกร็น เสียรูปร่าง
การป้องกันกำจัด
- ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัด เช่น พอสซ์ คูมูลัส

กลยุทธ

เนื่องจากในฤดูหนาว มะลิจะออกดอกน้อย แต่ตลาดมีความต้องการในปริมาณที่สูง จึงทำให้มะลิมีราคา แพงกว่าปกติ ดังนั้นหากเกษตรกรสามารถทำให้มะลิออกดอกในฤดูหนาวได้ ก็จะทำให้มีรายได้ดีจากการปลูกมะลิ ปัจจัย สำคัญที่ทำให้มะลิออกดอกในฤดูหนาวมี 2 ข้อดังนี้

1. ตัดแต่งกิ่ง
โดยทำการตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งที่เป็นโรคหรือถูกแมลงทำลาย กิ่งไขว้ล้มเอนไม่เป็นระเบียบ และ กิ่งเลื้อย ซึ่งวิธีการตัดแต่งกิ่งมี 2 วิธี คือ
- แบบเหลือกิ่งไว้กับต้นยาว โดยตัดแต่งกิ่งออกเพียงเล็กน้อยให้เหลือกิ่งสมบูรณ์ไว้กับต้นมาก ๆ การตัดแต่งกิ่งวิธีนี้เหมาะกับมะลิที่มีอายุน้อย
- แบบเหลือกิ่งไว้กับต้นสั้น โดยตัดแต่งกิ่งให้เหลือเพียง 3-4 กิ่ง แต่ละกิ่งยาวประมาณ 1-1.5 ฟุต การตัดแต่งกิ่งวิธีนี้ใช้กับมะลิอายุ 2 ปีขึ้นไป

มะลิมีช่วงระยะเวลาตั้งแต่เก็บดอก จนถึงตากิ่งเจริญให้ดอกใหม่อีกครั้งประมาณ 6 สัปดาห์ ดังนั้น ถ้าเกษตรกรต้องการให้มะลิออกดอกในเดือนใด ก็ต้องนับย้อนเวลาตัดแต่งกิ่งถอยหลังไป 6 สัปดาห์ และถ้าต้องการให้แปลงมะลิทุกแปลงออกดอกพร้อมกันหมด เวลาตัดแต่งกิ่งก็ตัดให้หมดทุกแปลงเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเมื่อต้องการให้มะลิออกดอกในฤดูหนาว ระยะเวลาที่เหมาะสมในการตัดแต่งกิ่งคือ ช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน

2. การบำรุงรักษาต้นและดอก พยาบาล
2.1 การบำรุงต้น เมื่อตัดแต่งกิ่งมะลิแล้ว จำเป็นมากที่ผู้ปลูกจะต้องบำรุงต้นมะลิให้สมบูรณ์ โดยการใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอกใส่ได้ไม่จำกัด ส่วนปุ๋ยเคมีใส่เดือนละครั้ง สูตรปุ๋ยที่แนะนำคือสูตร 15-1 5-15 ใช้ในอัตรา 1-2 ช้อนแกง/ต้น
2.2 การบำรุงดอกในฤดูหนาว นอกจากมะลิจะออกดอกน้อยแล้ว ยังมีขนาดเล็กอีกด้วย ดังนั้น จึงควรให้ปุ๋ยทางใบที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูง เช่น สูตร 10-45-10 ฉีดพ่นหลังใบ ในอัตรา 3 ช้อนแกง/น้ำ 20 ลิตร โดยฉีดพ่นทุก 10 วัน แนะนำให้ใช้ในฤดูหนาวเท่านั้น สำหรับฤดูอื่นไม่แนะนำให้ใช้ปุ๋ยทางใบ เนื่องจากมะลิมีราคาไม่สูงซึ่งไม่คุ้มกับการลงทุน

การใช้สารไทโอยูเรียเร่งการออกดอกในฤดูหนาว
สารไทโอยูเรียมีผลต่อการชักนำให้มะลิออกดอก จากการวิจัยเกี่ยวกับการบังคับให้มะลิ ออกดอกในฤดูหนาวได้นั้นพบว่า สารไทโอยูเรียเป็นสารที่มีผลทำลายการพักตัวของมะลิ และเร่งการออกดอกของมะลิ ในฤดูหนาวได้เป็นผลสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ
ขั้นตอนการปฏิบัติงาน
1. ตัดแต่งกิ่งมะลิในเดือนกันยายน
2. ให้ปุ๋ยและน้ำเพื่อบำรุงต้นให้สมบูรณ์ โดยใช้ปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 30 กรัมต่อต้นในเดือนกันยายนและตุลาคม
3. พ่นสารไทโอยูเรีย 1% (ไทโอยูเรีย 200 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร) ในเดือนพฤศจิกายน
มะลิจะออกดอกหลังจากพ่นสารไทโอยูเรียแล้วประมาณ 20 วัน และเก็บดอกต่อเนื่องไปอีก 1 เดือน นอกจากนี้ยังพบอีกว่า การให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงร่วมกับการพ่นสารไทโอยูเรีย ก็จะมีผลต่อการเพิ่มปริมาณดอกได้ดีขึ้นอีก
จากการปฏิบัติดังกล่าว เราสามารถบังคับมะลิให้มะลิออกดอกในช่วงที่ต้องการได้คือ ในเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม ซึ่ง เป็นช่วงฤดูหนาวดอกมะลิมีราคาแพง
การปลูกมะลิการมุ้ง

เป็นวิธีการปฏิบัติ เพื่อลดต้นทุนทางด้านการใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดแมลง และรักษาสภาพแวดล้อม โดยใช้ตาข่ายคลุมแปลงมะลิ จะคลุมเฉพาะช่วงกลางคืนเท่านั้น เพื่อป้องกันการวางไข่ของหนอนผีเสื้อกลางคืน ซึ่งเป็นหนอนกัดกินดอกมะลิ สาเหตุที่ไม่คลุมช่วงกลางวันก็เพราะว่า มะลิต้องการแสงแดดจัดเพื่อการออกดอก ถ้ามะลิได้รับแสงน้อยมะลิจะให้ดอกไม่ดก การปฏิบัติเช่นนี้ จะเพิ่มต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายแรงงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องใช้แรงงานในการเปิด - ปิดตาข่าย แต่เมื่อเทียบกับการใช้สารเคมีแล้ว ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นยังน้อยกว่าการใช้สารเคมี ดังนั้น วิธีนี้จึงเหมาะที่จะใช้กับแปลงมะลิมาก

การเก็บเกี่ยวดอกมะลิต้องเก็บขณะดอกตูม มีความเจริญเต็มที่ มีลักษณะสีขาวนวล วิธีเก็บให้ใช้มือเด็ดตรงก้านดอกใต้กลีบเลี้ยง เกษตรกรมักเก็บดอกตอนเช้ามืด ประมาณ 03.00-04.00 น. ทั้งนี้เพื่อจะส่งตลาดตอนเช้าตรู่

ราคาของดอกมะลิจะขึ้นอยู่กับฤดูกาล ในฤดูหนาวจะแพงมาก ราคาที่ปากคลองตลาด ในบางวันของบางปีจะมีราคาลิตรละ 600-700 บาท ส่วนฤดูร้อนและฤดูฝนราคาจะถูกเฉลี่ยประมาณ 30 บาท โดยปกติพบว่าผลผลิตเฉลี่ยมีดังนี้ อายุ 1 ปี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1,000 - 2,000 ลิตร/ไร่
อายุ 2 ปี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3,000 - 4,000 ลิตร/ไร่
อายุ 3 ปี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3,000 ลิตร/ไร่ และหลังจากนั้นแล้วผลผลิตจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ
ในการส่งออกดอกมะลิ มักจะพบปัญหาดอกช้ำเน่าเสียเมื่อถึงปลายทาง ดังนั้น การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวจนถึงบรรจุหีบห่อเพื่อส่งออกให้ดอกมะลิได้รับความเสียหายน้อยที่สุดนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
จากการทดลองของ ชณิฏฐ์ศิริ สุยสุวรรณ และบุญลือ กล้าหาญ ภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยการเปรียบเทียบการลดอุณหภูมิของดอกมะลิด้วยการใช้ความเย็น โดยการใช้ความเย็นจากน้ำแข็งในกล่องโฟมและการใช้ความเย็นจากน้ำแข็งในถังสังกะสีพบว่า วิธีการลดอุณหภูมิโดยการใช้ความเย็นจากน้ำแข็งในกล่องโฟมช่วยรักษาความสดของดอกมะลิและเกิดความเสียหายหรือชอกช้ำน้อยที่สุด ซึ่งวิธีการดังกล่าว มีขั้นตอนการปฏิบัติ ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 เก็บเกี่ยวดอกมะลิจากสวน
ขั้นตอนที่ 2 ลดอุณหภูมิของดอกมะลิด้วยความเย็น จากน้ำแข็งในกล่องโฟมที่ปูพื้นกล่องด้วยน้ำแข็งเกล็ด นำดอกมะลิบรรจุในถุงพลาสติกวางลงในกล่องและปูทับด้วยน้ำแข็งเกล็ด เก็บรักษาไว้ 3 ชั่วโมง
ขั้นตอนที่ 3 บรรจุดอกมะลิในถุงพลาสติกใหญ่ และนำส่งผู้ซื้อ
ขั้นตอนที่ 4 ลดอุณหภูมิดอกมะลด้วยน้ำเย็น อุณหภูมิประมาณ 23 องศาเซลเซียส จนดอกสดแข็ง
ขั้นตอนที่ 5 บรรจุ ดอกมะลิในถุงพลาสติกเล็ก ถุงละ 500 กรัม มัดปากถุงบรรจุในกล่องโฟม ซึ่งรองพื้นและปูทับด้วยน้ำแข็งเกล็ด เมื่อครบ 6 ชั่วโมง ให้เปลี่ยนเป็นบรรจุน้ำแข็งในถุงพลาสติก และใช้น้ำแข็งรองพื้นและปูทับถุงมะลิ เก็บรักษาไว้ 11 ชั่วโมง ก็นำมาวางผึ่งในที่ที่มีอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส

ที่มา http://suphanburi.doae.go.th/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%B4.htm