เมื่อวานเพิ่งได้เจ้าต้นนี้มาปลูกที่บ้านครับ หลายคนคงเคยได้ยิน "ตะใคร้ต้น" แต่หลายคนคงอาจจะยังไม่รู้จักเจ้าต้นนี้เท่าไรนัก
ยืมรูปจากคนอื่นมาก่อนเพราะที่บ้านยังไม่โตมากครับ
ตะใคร้ต้นดอกตูม
ตะใคร้ต้นดอกบาน
ตะไคร้ ต้นมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน บางพื้นที่เรียกจะไคต้น ตะไคร้ดอย ตะไคร้ภูเขา ลิเชีย์ ออยล์ เกล๋อ ฉือซือ หรือสะไค้ เป็นต้นไม้มีถิ่นกำเนิดมาจากจีนและอินโดนีเซีย ยืนต้นเติบโตได้ในระดับความสูง 700-2,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะทางพฤกษศาสตร์แตกต่างจากตะไคร้หอม โดยการแตกของกิ่งและใบจะออกมาจากส่วนของลำต้นโดยตรง ไม่มีการแตกกอ ประเทศไทยพบบริเวณป่าดิบเขาที่ระดับความสูง 700-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเล
ตะไคร้ ต้นมีลักษณะลำต้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 5-12 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้น 6-20 ซม. ผิวลำต้นเกลี้ยง ไม่มีขนปกคลุม ใบเป็นใบเลี้ยงคู่เกิดจากส่วนของกิ่งที่แผ่ออกมาจากลำต้น ประกอบด้วยก้านใบและแผ่นใบ เป็นใบเดี่ยวยาวเรียงสลับ หลังใบสีเขียว ท้องใบมีสีขาวนวล มีขนาด 1.86x6.32 ซม. เมื่อออกดอกใบจะกลายเป็นสีเหลืองและจะหลุดร่วงไป ดอกมีลักษณะเป็นช่อสั้นๆ รวมกันเป็นกระจุกที่ซอกใบ สีขาวนวลหรือสีครีม มีกลิ่นหอม ออกดอกในเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์
ลักษณะผลกลม ขนาด 0.8-0.9 ซม. มีสีเขียว เมื่อแก่จัดเป็นสีม่วงเข้ม ผลแก่ช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม เนื้อผลมีกลิ่นหอมแรง รากเป็นระบบรากแก้ว มีรากแขนงแผ่ออกไปตามด้านข้าง ส่วนของรากจะแข็งและเหนียว มีกลิ่นหอม
ส่วนของตะไคร้ต้นที่นำมาใช้ ประโยชน์ ได้แก่ ผลใช้เป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหาร ราก ดอกและผลนำมาสกัดน้ำมันหอมระเหยโดยการกลั่นด้วยน้ำ มีสีเหลืองอ่อนหรือน้ำตาลอ่อน กลิ่นคล้ายมะนาว ต้านการติดเชื้อ การอักเสบ ขยายหลอดเลือด ลดความดันโลหิต ระงับประสาทให้สงบ ลดอุณหภูมิของร่างกายได้
การ ใช้ประโยชน์จากตะไคร้ต้น นอกจากจะเป็นเครื่องเทศในการปรุงอาหารแล้ว ยังใช้เป็นยาสมานแผล ยาฆ่าเชื้อโรค เป็นส่วนผสมสำคัญในสบู่ ยาระงับกลิ่น ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและเครื่องหอม โดยนำน้ำมันหอมระเหยที่กลั่นได้ไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆ หรือนำไปผสมในยาฆ่าแมลง ยากันยุง และสามารถนำ Citral ที่พบในน้ำมันหอมระเหยมาเป็นสารเริ่มต้นในการผลิตไอโอโนนและวิตามินเอได้
ปัจจุบัน มีการนำตะไคร้ต้นมาใช้ประโยชน์เป็นพืชสมุนไพรอย่างกว้างขวาง มีการเพาะปลูกเป็นการค้าในจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ผู้ผลิตใหญ่คือจีน ปริมาณ 500-1,000 ตันต่อปี ในรูปของน้ำมันหอมระเหย สำหรับประเทศไทยยังไม่พบผลิตเป็นการค้า เนื่องจากยังไม่สามารถขยายพันธุ์จากการเพาะเมล็ดตามธรรมชาติได้ จากการทดลองขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ปักชำ ยังไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ ส่วนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากส่วนของปลายยอด ก็สามารถเพิ่มปริมาณได้เพียงส่วนน้อย
ในประเทศไทยพบตะไคร้ต้นในป่า ธรรมชาติ สูงจะระดับน้ำทะเล 700 เมตร เช่น ที่สถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามแนวพระราชดำริบ้านปางขอน ดอยช้าง และดอยวาวี จ.เชียงราย ตลอดจนใน จ.เชียงใหม่ น่าน และแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงรายสกัดน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้ต้นมาแปรรูป เป็นน้ำมันเหลือง ยาหม่อง และสบู่ตะไคร้ต้น
เมื่อพูดถึงสถานการณ์ ตลาดของตะไคร้ต้น มีปริมาณความต้องการน้ำมันหอมระเหยในตลาดโลกประมาณ 200-1,500 ตันต่อปี ประเทศที่รับซื้อคือ สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตกและญี่ปุ่น ซึ่งจากความต้องการดังกล่าว ทำให้ตะไคร้ต้นมีโอกาสเป็นพืชอุตสาหกรรมใหม่ต่อไปได้ แต่ในปัจจุบันตะไคร้ต้นในสภาพธรรมชาติมีน้อยลง และลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว และมีความเสี่ยงที่จะหมดไปจากป่า เนื่องจากการขยายพันธุ์ทำได้ลำบาก และพื้นที่เดิมในธรรมชาติถูกรุกรานเพื่อใช้ในการปลูกพืชชนิดอื่นๆ
สภาพ ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือ พันธุ์ของตะไคร้ต้นในธรรมชาติมีความแปรปรวนสูง ยังไม่มีการศึกษาพันธุ์กันอย่างจริงจัง และยังไม่มีพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงมาใช้ประโยชน์ รวมถึงการขยายพันธุ์ยังไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งวิธีการเพาะเมล็ดและโดยวิธีอื่นๆ การผลิตก็ยังไม่มีเทคโนโลยี เช่น การเกษตรกรรม การจัดการดินและปุ๋ย และการอารักขาพืช เทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวก็ยังไม่มีการศึกษาส่วนต่างๆ สำหรับการผลิตน้ำมันหอมระเหย และองค์ประกอบเคมีที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ
ผลงานวิจัยที่ผ่านมา นักวิจัยหลายท่านได้ทดลองและมีผลการวิจัยเกี่ยวกับตะไคร้ต้นดังนี้
ทดลอง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เพาะเมล็ด การปักชำ แต่ยังไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ ส่วนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากสวนปลายของยอดก็ได้ปริมาณน้อย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาทากันยุงจากตะไคร้ต้น ก็ควรใช้น้ำมันที่กลั่นจากผลความเข้มข้นร้อยละ 20 ในเอทานอลที่ผสมสารยึดระหว่างการระเหย (วานินิน) ลงไป
การใช้น้ำมัน หอมระเหยที่สกัดจากตะไคร้ต้นให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคจุดใบ ผัก คือความเข้มข้น 1,000 ppm หรืออัตราใช้ในแปลงผักเท่ากับ 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นด้วยเครื่องพ่นสารเคมีชนิดสะพายหลัง มีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคใบจุดอย่างได้ผลดีใกล้เคียงกับสารเคมี เป็นทางเลือกให้เกษตรกรในการผลิตผักตระกูลกะหล่ำ ที่สามารถใช้ทดแทนสารเคมีได้อย่างปลอดภัย
เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีที่มี อยู่ในปัจจุบันในการสกัดสารหอมระเหย พบว่าผลแก่ 1 กิโลกรัมมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยสูงสุด รองลงมาคือ ดอกและราก โดยมีน้ำมันหอมระเหย 43.3 มิลลิลิตร (43.3%) 8.3 มิลลิลิตร (8.3%) และ 4.6 มิลลิลิตร (4.6%) ตามลำดับ
จากการทดลองกลั่นน้ำมันหอมระเหยจากผล ตะไคร้ต้นด้วยการเก็บผล 2 กิโลกรัม กลั่นเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ให้ปริมาณหอมระเหยเฉลี่ย 3.04% และจากการศึกษาถึงองค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหยด้วยเทคนิคแก๊สโครมาโตกราฟฟี พบว่า Citral 55% Iimonone 22% และ methylheptenenone 6.8% นอกจากนั้น จาการทดลองสกัดและวิเคราะห์องค์ประกอบหลัก โดยใช้เทคนิคแก๊สโครมาโตกราฟฟีและแมสสเปกโทรเมตริ พบองค์ประกอบหลักในน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ a-pinene, limonene และ geranail คงจะเห็นได้ว่าตะไคร้ต้นใช้ประโยชน์ได้ในหลายๆ ด้าน ผู้ใดสนใจในรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชเชียงราย โทร.0-5317-0100 หรือ 0-5317-0102 ในวันและเวลาราชการ.
(บัณฑิต จันทร์งาม, อรุณี ใจเถิง ศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย : ข้อมูล)
ที่มา http://www.magnoliathailand.com/webboard/index.php?topic=9105.0