วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
มะฮอกกานีต้นไม้สู้พายุไต้ฝุ่น
ประหลาดใจไม่น้อยเมื่อเห็นชาว ฟิลิปปินส์ปลูกไม้ต้นขนาดใหญ่ เช่น มะฮอกกานี เอาไว้ตามถนนหนทางทั้งในมะนิลาและเกซอนซิตี แต่ละต้นมีอายุไม่ใช่น้อย ลำต้นอ้วนขนาดคนโอบ
เขาปลูกกันตาม บาทวิถีแคบๆ หน้าอาคารที่ทำการ บริษัทและตึกแถวอย่างไม่ยี่หระต่อแรงลมพายุไต้ฝุ่น ซึ่งพัดกระหน่ำเข้าใส่เกาะลูซอนปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ลูกทีเดียว
เรา ได้แต่ประหลาดใจว่ามะฮอกกานี มันมีดีอะไรหนอ ถึงได้ทนทานไม่โค่นล้มทั้งที่กิ่งก้านหักฉีก นี่ถ้าเป็นหน่วยงานกรมทางหลวงของบางประเทศคงตัดลำต้นจนไม่เหลือร่มเงาให้ชาว บ้านร้านตลาด หรือคนเดินถนนกันแล้ว
มะฮอกกานีนั้นมีขนาดค่อนข้างใหญ่ สูง 30-35 เมตรเป็นเรื่องธรรมดา ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 50-120 เซนติเมตร ตามแต่อายุ และพื้นที่ของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ปลูกมะฮอกกานีกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพื้นที่ระดับ 700 เมตร โดยได้ปลูกต้นไม้ชนิดนี้ซึ่งเป็นญาติอันใกล้ชิดกับสะเดา ที่ได้กล่าวถึงในฉบับที่ผ่านมา แต่มะฮอกกานีมีใบใหญ่กว่ามาก ขอบใบเรียบ ไม่หยักหรือเป็นร่อง ผิวใบบนเป็นสีเขียวคล้ำ ใบแก่มักร่วงหล่นไปพร้อมแทงใบใหม่ ดูคล้ายกับไม่ผลัดใบ ใบอ่อนสีม่วงอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มขึ้นตามอายุ
มะฮอกกานีออกดอกเป็นช่อสีขาว โดยแทงช่อออกปลายกิ่งก้านเมื่อผสมเกสรแล้วจึงพัฒนาไปเป็นผล ติดผลประมาณ 1-3 ผลต่อช่อ ผลมีขนาดใหญ่ สีน้ำตาล ผิวเรียบแข็งแรง แต่เมื่อแก่จัด เปลือกหุ้ม ผลจะแตกอ้า เมล็ดในจะแบน มีปีกยาว 5-8 เซนติเมตร ให้เก็บผลแกจัดมาตากแดดให้ผลแตกแ ละแคะเอาเมล็ดมาตัดปีกออก นำเมล็ดมาเพาะในกระบะและย้ายปลูกเมื่อมีใบจริง 1 คู่ เมื่อมีอายุได้ 6 เดือน จึงย้ายลงแปลงกลางแจ้ง โดยใช้ระยะห่าง 4x4 เมตร
การปลูกต้น มะฮอกกานีในเมืองไทยให้พบความสำเร็จ มีเทคนิคอยู่ที่ว่าควรปลูกสลับกับไม้ต้นสะเดาไทย ไม่ควรปลูกมะฮอกกานีเป็นสวนป่าชนิดเดียวกันโดยเด็ดขาด เทคนิคนี้ต้องยกเครดิตให้กับ คุณสมยศ กิจค้า นักวิชาการของศูนย์จัดการเมล็ดพันธุ์ ไม้ป่าอาเซียนแคนาดา สำนักงานวิชาการ ป่าไม้ กรมป่าไม้ คุณสมยศ ได้กล่าวไว้ในคู่มือการส่งเสริมปลูกป่าเอกชนว่า หากปลูกต้นสะเดาไทยแทรกไว้แถวเว้นแถว จะช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเข้าทำลายของแมลงเจาะยอดหรือลำต้นได้มาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะต้นสะเดาไทยมีสารอซาดิราชทิน Azadirachtin ซึ่งเป็นยาป้องกันปราบปรามศัตรูพืช ซึ่งปลอดภัยกับมนุษย์เป็นอย่างมาก
ต้น มะฮอกกานีนั้นอาจขยายพันธุ์ได้โดยการนำหน่อจากต้นแม่ที่ตัดโค่นลงหรือทำให้ บางส่วนแตกหน่อใหม่ แล้วจึงแยกหน่อเหล่านี้ (อายุ 2 เดือน) มาปักชำ โดยทาฮอร์โมนเร่งราก หน่อจะแตกรากได้ดี เมื่อมีอายุ 2 เดือน จึงย้ายลงปลูกในแปลงได้
เทคนิคดังกล่าวโดดเด่นเพราะต้นมะฮอกกานีที่ ได้จะถอดแบบมาจากต้นแม่ที่ดีเด่นนั้นทุกประการ เช่นต้นตรงทนต่อแมลงเจาะลำต้นหรือเจาะยอด และใช้แพร่พันธุ์มะฮอกกานีที่ดีออกไปได้
ต้นมะฮอกกานีมีอยู่ 3 ชนิด ทั้งหมดมาจากอเมริกาเขตร้อน เช่น เม็กซิโก ตอนกลาง อเมริกากลาง และเวสต์อินดีส์ นอกจากนี้ยังพบในอเมริกาใต้อีกด้วย แต่ในเอเชียนั้นประเทศที่รู้คุณค่าของมะฮอกกานี และปลูกกันแพร่หลายคงได้แก่ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
มะฮอกกานี ให้เนื้อไม้ที่ดีที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ในการทำเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงใช้ตกแต่งบ้าน ที่นิยมกันมากเช่นนี้คงเป็นเพราะมีทั้งความงดงามของเนื้อไม้บวกกับความง่าย ในการแปรรูปเนื้อไม้นั่นเอง
คำว่ามะฮอกกานีนั้นใช้ ได้กับต้นไม้อีกสกุลหนึ่งคือ แอฟริกันมะฮอกกานี (Khaya) ซึ่งลักษณะคล้ายมะฮอกกานีแท้ๆ แต่คุณภาพเนื้อไม้จะต่ำกว่ามะฮอกกานีสกุล Swietenia
ในฟิลิปปินส์นั้นถ้าเอ่ยคำว่าฟิลิปปินส์มะฮอกกานีนั้น เขาหมายถึงเนื้อไม้ที่ตัดเลื่อยออกมาจากไม้ต้นสกุลยางนา เช่น สกุล Shorea และ Parashorea ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับไม้ต้นมะฮอกกานีแท้ๆ
จะ อย่างไรก็แล้วแต่ นอกจากมีเนื้อไม้สวยงามตกแต่งด้วยเลื่อยและกบได้ง่าย มีค่า ราคาแพงแล้ว ต้นมะฮอกกานีใบใหญ่ (S.macrophylla) นั้น ทนทานต่อลมพายุไต้ฝุ่นหรือไซโคลนในฟิลิปปินส์ได้อย่างเด็ดขาด หันมาปลูกมะฮอกกานีใบใหญ่เป็นไม้ต้นต้านพายุกันเถอะ
ขอบ คุณข้อมูลจากhttp://www.posttoday.com/