วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เชื้อรา บิวเวอร์เรีย ( Beauveria bassiasna )





เป็นจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคกับแมลง ซึ่งสามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด ซึ่งได้แก่แมลงจำพวกเพลี้ยต่างๆ หนอนผีเสื้อ ด้วง และแมลงวัน หรือยุง นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าสามารถกำจัดปลวก และมดคันไฟได้ ทำให้มดและปลวกตายยกรังได้ 
                   กลไกการเข้าทำลายแมลงของเชื้อราบิวเวอร์เรีย คือ เมื่อสปอร์ของเชื้อราสัมผัสกับผิวของแมลง ในสภาพความชื้นที่เหมาะสม (ความชื้นสัมพัทธ์ 50 % ขึ้นไป) จะงอกเส้นใยแทงผ่านผิวหนังเข้าไปในลำตัวแมลง แล้วขยายจำนวนเจริญอยู่ภายในโดยใช้เนื้อเยื่อของแมลงเป็นอาหาร แมลงจะตายในที่สุด ภายในระยะเวลาต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และวัยของแมลง โดยทั่วไปประมาณ 3 - 14 วัน เชื้อราบิวเวอร์เรียสามารถนำมาใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืชที่สำคัญในพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น แมลงศัตรูพืชเป้าหมายในข้าว ได้แก่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ บั่ว หนอนห่อใบ ในมะม่วงได้แก่ เพลี้ยจักจั่นที่ทำลายช่อมะม่วง แมลงค่อมทอง ในพืชตระกูลส้มได้แก่ เพลี้ยอ่อนส้ม เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยไฟ ไรแดง ในพืชผักได้แก่ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรขาว แมลงหวี่ขาว หนอนผีเสื้อต่างๆ ในอ้อยได้แก่ แมลงค่อมทอง เป็นต้น 


การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียควบคุมศัตรูพืช 
1. เนื่องจากเชื้อค่อนข้างอ่อนแอต่อแสงแดด และอุณหภูมิสูง จึงควรใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียในช่วงเวลาเย็นถึงค่ำ 
2. ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีขายตามท้องตลาด ให้ใช้วิธีและอัตราการใช้ที่ระบุไว้ในฉลาก 
3. เชื้อราบิวเวอร์เรียชนิดสด ที่รับจากศูนย์บริหารศัตรูพืช หรือที่เกษตรกรผลิตขยายได้เอง ใช้ในอัตราก้อนเชื้อ 1 กิโลกรัม  ( 2 ถุง) ต่อน้ำ 25 – 50 ลิตร โดยนำก้อนเชื้อใส่ลงในตาข่ายเขียว แล้วนำไปยี หรือขยี้ในน้ำให้สปอร์เชื้อราหลุดจากเมล็ดข้าวโพดลงไปในน้ำ นำเมล็ดข้าวโพดออกทิ้งไป แล้วนำน้ำที่ได้ไปฉีดพ่น 
4. ระหว่างที่ฉีด ให้กวนน้ำเป็นระยะ และควรปรับหัวฉีดให้พ่นฝอยละเอียด จะฉีดได้ผลดีและได้พื้นที่เพิ่มขึ้น 
5. เชื้อราบิวเวอร์เรียสามารถทำลายแมลงได้หลายชนิด รวมถึงแมลงศัตรูธรรมชาติบางชนิดด้วย ดังนั้นถ้าหากพบว่ามีศัตรูธรรมชาติอยู่มาก ก็ควรงด หรือชะลอการฉีดออกไป 
6. เชื้อราจะเข้าทำลายแมลงได้ในสภาพที่มีความชื้นสูง ดังนั้น การใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียในช่วงฤดูแล้ง หรืออากาศแห้งแล้ง อาจจำเป็นต้องเพิ่มความชื้นโดยการให้น้ำ หรือพ่นละอองน้ำ ก่อนและหลังการใช้ 


การผลิตเชื้อราบิวเวอร์เรีย 
เกษตรกรสามรถผลิตเชื้อราบิวเวอร์เรียใช้ได้เอง โดยขอรับหัวเชื้อจากศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำมาต่อเชื้อลงในเมล็ดข้าวโพด ซึ่งมีขั้นตอนลัวิธีการดังนี้ 


1. เตรียมวัสดุเลี้ยงเชื้อ เชื้อราบิวเวอร์เรียสามารถเจริญเติบโตได้ดีบนเมล็ดธัญพืชทุกชนิด แต่เมล็ดธัญพืชที่ เหมาะสมที่สุดคือ เมล็ดข้าวโพด เพราะมีขนาดใหญ่ ทำให้มีช่องว่างมาก เมล็ดข้าวโพดที่จะนำมาใช้ต้องไม่เป็นเมล็ดที่คลุกสารเคมี หรือสารกำจัดเชื้อรา การเตรียมเมล็ดข้าวโพดสำหรับเลี้ยงเชื้อราบิวเวอร์เรียทำได้โดย นำเมล็ดข้าวโพดมาล้างให้สะอาด แล้ว 
•  ทำให้เมล็ดอุ้มน้ำด้วยการแช่เมล็ดไว้ 1 คืน (หรือใช้วิธีต้มประมาณ 30 นาที) 
•  นำมาพึ่งให้หมาดน้ำ 
•  นำมากรอกใส่ถุง (ถุงเพาะเห็ด : ถุงทนความร้อนชนิดขยายข้าง ขนาด 6 * 12 นิ้ว) ถุงละประมาณ  5 ขีด (หรือสูงประมาณ 4 นิ้ว ) สวมปากถุงด้วยคอขวด ลึกประมาณ 3 นิ้ว แล้วพับปากถุงลง อุดด้วยสำลี หรือขี้ฝ้าย แล้วหุ้มปากถุงด้วยกระดาษ รัดด้วยยางวง 
2. นึ่งฆ่าเชื้อ เมื่อเตรียมถุงเมล็ดข้าวโพดเสร็จแล้วให้นำไปนึ่ง เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในถุง 
•  กรณีใช้หม้อนึ่งลูกทุ่ง (ทำจากถัง๒๐๐ ลิตร) ใช้เวลานึ่งอย่างน้อย 3 ชั่วโมง นับ จากน้ำเดือด หลังจากนึ่งเสร็จแล้วนำมาวางทิ้งไว้รอให้เย็น แล้วแกะกระดาษที่หุ้มปากถุงออก                            


3. การเขี่ยเชื้อ อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเขี่ย เชื้อราบิวเวอร์เรีย ประกอยด้วย ตู้เขี่ยเชื้อ ตะเกียง แอลกอฮอล์ (และแอลกอฮอล์ 95 % สำหรับเติมตะเกียง)
เข็มเขี่ยเชื้อ และแอลกอฮอล์ 70 % สำหรับฆ่าเชื้อ 
- เตรียมอุปกรณ์ ด้วยการทำความสะอาดตู้ แล้วเช็ดฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ 70 % (นำแอลกอฮอล์ใส่ฟ๊อกกี้ ฉีดภายในตู้ให้ทั่วแล้วเช็ดด้วยสำลี) 
- นำอุปกรณ์ใส่เข้าไปในตู้ ได้แก่ ตะเกียงแอลกอฮอล์ แก้วน้ำที่แช่เข็มเขี่ยเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ 70 % หัวเชื้อ โดยเช็ดผิวด้วยแอลกอฮอล์ 70 % ก่อนนำเข้าตู้ 
- นำถุงเมล็ดข้าวโพดที่นึ่งแล้วใส่เข้าไปในตู้ ด้านซ้ายมือ แล้วปิดตู้ 
- เริ่มทำการเขี่ยเชื้อโดยสอดมือเข้าไปภายในตู้ (ก่อนสอดมือเข้าไปต้องเช็ดมือและแขนด้วยแอลกอฮอล์ 70 % ทุกครั้ง) จุดตะเกียง ใช้มือขวาจับเข็มเขี่ยด้วยสามนิ้ว (โป้ง ชี้ กลาง) นำมาลนไฟที่ปลายให้แดง แล้วลนมาทางด้ามจับ 2 – 3 ครั้ง 


 A- ใช้มือซ้ายจับขวดหัวเชื้อ แล้วเปิดจุกสำลีโดยใช้นิ้วก้อยของมือขวา ลนไฟที่ปากขวด 2 – 3 ครั้ง 
 B– สอดเข็มเขี่ยเชื้อเข้าไปตัดวุ้นในขวด ชิ้นละประมาณ ? ตารางเซนติเมตร แล้วจิ้มออกมาจากขวด 
 C– ลนปากขวดอีก 2 – 3 ครั้งก่อนปิดสำลีเข้าที่เดิม 
 D– มือซ้ายวางขวดหัวเชื้อแล้วหยิบถุงเมล็ดข้าวโพกมาเปิดจุกสำลีด้วยนิ้วก้อยของมือขวา ลนปากถุงเล็กน้อย แล้วใส่หัวเชื้อที่ติดปลายเข็มเข้าไปในถุง 
 E– ลนปากถุงเล็กน้อยก่อนปิดปากถุง แล้วเขย่าถุงเบาๆ นำถุงที่ใส่เชื้อแล้วมาวางด้านขวามือ 
- ถุงต่อไป ลนเข็มเขี่ย 2 – 3 ครั้ง แล้วทำตามขั้นตอน A – E จนกระทั่งใส่หัวเชื้อหมดทุกถุงในตู้ แล้วนำเข็มแช่ในแก้วแอลกอฮอล์ ดับตะเกียง แล้วนำถุงเมล็ดข้าวโพดที่ใส่หัวเชื้อแล้วออกจากตู้ 
4. การบ่มเชื้อ นำถุงเมล็ดข้าวโพดที่ใส่เชื้อแล้ว ไปวางไว้ในสภาพอากาศปกติ อากาศถ่ายเทได้ มีแสงสว่างปกติ แต่ไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง เชื้อจะเจริญเติบโตจนเต็มเมล็ดข้าวโพด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ เมื่อเชื้อเดินเต็มแล้วก็นำไปใช้ได้ การเก็บรักษาเมื่อเชื้อเดินเต็มแล้ว ควรเก็บไว้ในที่แห้งและเย็น จะทำให้เก็บไว้ได้นานขึ้น


เชื้อรา บูเวเรีย บัสเซียน่า จัดการกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวได้


       เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงจำพวกปากดูด  ตัวเต็มวัยมีลำตัวสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลปนดำ มีรูปร่าง 2 ลักษณะ คือ ชนิดปีกยาว และชนิดปีกสั้น ชนิดมีปีกยาวสามารถเคลื่อนย้ายและอพยพไปในระยะทางใกล้และไกล โดยอาศัยกระแสลมช่วย เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายข้าวโดยการดูดกินน้ำ เลี้ยงจากเซลส์ท่อน้ำท่ออาหารบริเวณโคนต้นข้าวระดับเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก แห้งตายเป็นหย่อมๆเรียก “อาการไหม้ ”


     โดยทั่วไปพบอาการไหม้ในระยะข้าวแตกกอถึงระยะออกรวง ซึ่งตรงกับช่วงอายุขัยที่ 2-3  ของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าว นาข้าวที่ขาดน้ำตัวอ่อนจะลงมาอยู่ที่บริเวณโคนกอข้าวหรือบนพื้นดินที่แฉะมีความชื้น


     ผลิตภัณฑ์มีองค์ประกอบคือ "เชื้อรา บูวาเรีย บาสเซียน่า" เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์สายพันธุ์ไทย ที่นำมาใช้ป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช อาทิ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยไฟ ไรแดง แมลงหวี่ขาว เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น หนอนกอ หนอนห่อใบ แมลงสิง แมลงหล่า ด้วงหมัดผัก ทั้งช่วงวัยอ่อนและวัยแก่


     ขั้นตอนการเข้าทำลายของหัวเชื้อราบูเวเรีย บัสเซีนน่า (ใน องคต) นั้น จะแทรกเข้าไปตามเนื้อเยื่อที่อ่อนๆ หรือตามของเหลวในตัวเพลี้ยหรือหนอนต่างๆ และเจริญเติบโตออกมาข้างนอกเมื่อพร้อมที่จะแพร่สปอร์ สปอร์จะมีสีขาวขุ่น เมื่อแมลงสัมผัสเชื้อ หลังจากสัมผัสเชื้อ 3 วันแมลงจะเริ่มป่วยและหยุดทำลายพืช และจะตายภายในระยะเวลา 5-14 วัน


      วิธีการใช้


      ใช้องคต 1 ซอง (500 กรัม) ต่อน้ำ 1 ถัง 200 ลิตร ผสมน้ำยาจับใบ แล้วฉีดพ่น 3 วันครั้ง (ช่วงที่ยังระบาดไม่มาก)


       หลังจากฉีดแล้ววันแรกจะพบว่าเพลี้ยกระโดดจะยังไม่ตาย แต่ไม่ต้องตกใจพอเข้าวันที่ 2 จะเริ่มเห็นเพลี้ยกระโดดแห้งหาย พอวันที่ 3 จะไม่พบเพลี้ยกระโดดเกาะที่ต้นข้าวแล้วเพลี้ยกระโดดที่ตายจะร่วงหล่นลงในน้ำ              


       วิธีใช้


1. เชื้อบูเวเรีย 50 กรัม / น้ำ 20 ลิตร โดยแบ่งน้ำออกเป็น 2 ส่วน


ส่วนที่ 1 จำนวน 5 ลิตร ผสมกับเชื้อบุเวเรีย (ในองคต) จำนวน 50 กรัม ปิดฝาทิ้งไว้ 2-3 ชั่วโมง
ส่วนที่ 2 จำนวน 15 ลิตร ผสมกับสารจับใบ (ซันไลน์) คนให้เข้ากัน
     --> นำน้ำที่ได้จากส่วนที่ 1 และ 2 มาผสมกันและคนให้เข้ากัน


2. นำไปฉีดพ่นในแปลงที่พบแมลง โดยให้ฉีดพ่นในช่วงที่มีความชื้นสูง (ช่วงเวลาเย็นที่มีแสงแดดอ่อน ๆ หรือตอนเช้าตรู่)


ควรเริ่มฉีดพ่นตอนที่แมลงยังมีปริมาณน้อย และ ฉีดพ่นซ้ำทุก 5-7 วัน จนกว่าแมลงจะหยุดระบาด
3. ควรปรับหัวฉีดให้พ่นฝอยละเอียด จะฉีดได้ผลดีและได้พื้นที่เพิ่มขึ้น
4. สามารถตรวจสอบผลการควบคุมศัตรูพืชได้หลังจากใช้ 1–3 วัน          


ข้อควรระวัง     


ไม่ควรใช้ เชื้อรา บูเวเรีย บัสเซียน่า ร่วมกับสารปราบศัตรูพืช
หลังฉีดควรงดใช้สารปราบศัตรูพืชทุกชนิด
ควรฉีดช่วงเย็นป้องกันเชื้อถูกทำลาย


ที่มา 
http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=8778.0
http://www.kasetchonnabot.com/node/363
http://www.clinictech.most.go.th/techlist/0214/agriculture/00000-983.html

วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันหนึ่งที่พ่อต้องปล่อยหนูไป




หนูสอนให้พ่อรู้ว่าถ้าหนูก้มเอาหน้าผากแตะพื้น
แปลว่าช้อนเมื้อกี้เป็นช้อนสุดท้าย แล้วหนูจะไม่หม่ำอีกเด็ดขาด ไม่ว่าพ่อจะมาไม้ไหนก็ตาม

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า ตอนนี้พจนานุกรมหนูมี 3 คำนี้
มี้อาว แปลว่า ไม่เอา ...
มะ แปลว่า แม่ ...
จิ แปลว่า ฉี่ (ซึ่งบางครั้งพ่อก็ต้องเดาเอาว่า จะฉี่ หรือ ฉี่ไปแล้วจงไปตามเช็ดด้วย)

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า เย็นวันที่พ่อกลับเร็วนั้นมีความหมายกับหนูแค่ไหน

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า หนูกินไม่เลือกเหมือนพ่อนั่นแหละ

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า อย่ารัดจุกหนูกลางหัว
เพราะเวลาหนูคันหัวหนูจะเกาจนมันหลุด ให้รัดค่อนมาทางหน้าผาก

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า ถ้าหนูมาเกาะขาแล้วชี้ไปที่ไหน แปลว่า
สิ่งนั้นมันทำให้หนูเจ็บหรือไม่ชอบใจ (ซึ่งบางทีหนูก็เกาะขาแม่แล้วชี้มาที่พ่อ)

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า ถ้าหนูยังไม่หลับ อย่าหวังว่าใครในบ้านจะได้หลับ (อย่างเป็นสุข)

หนูสอนให้พ่อรู้ว่าการจัดบ้านให้เป็นระเบียบนั้นเป็นการเสียเวลาและพลังงานโดยเปล่าประโยชน์

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า เมื่อหนูตื่นมากลางดึกถ้าพ่อตบก้นหนูเบา ๆ แล้วหนูยังไม่หลับต่อ
แปลว่าหนูหิวน้ำจงเอาขวดน้ำมาใส่ปากหนูซะดีๆ ไม่งั้นพ่อไม่ได้หลับต่อแน่ ๆ

หนูสอนให้พ่อรู้ว่าราคาของผ้าอ้อมสำเร็จรูปไม่มีความสัมพันธ์ต่อจำนวนครั้งที่หนู
จะตื่นมากลางดึก

หนูสอนให้พ่อรู้ว่า อย่าลืมปล่อยหนูเล่นน้ำนานเกิน 10 นาที
เพราะหนูจะเป็นหวัด แล้วคนที่เดือดร้อนก็พ่อนั้นแหละ

หนูสอนให้พ่อรู้ว่าถ้าหนูนอนไม่หลับให้เอามือหนูมาแปะไว้ที่หน้าพ่อแล้วหนู
จะหลับได้ง่ายขึ้น (แต่ตอนตื่นมักจะกลายเป็นเท้าหนูเวียนมาอยู่บนหน้าพ่อแทนอยู่ร่ำไป)
หนูสอนให้พ่อรู้ว่า ....
แล้ววันหนึ่งที่ ....
ความรักของพ่อ ... ถูกมองว่าน้อยกว่าความรักผู้ชายอีกคนหนึ่ง
คำพร่ำเตือนสอนสั่งของพ่อ ...เสียงดังน้อยกว่าคำออดอ้อนของผู้ชายคนนั้น
ความห่วงใยของพ่อ ...มีค่าน้อยกว่าที่จะปฏิเสธคำขอผู้ชายคนนั้น
อ้อมกอดของพ่อ ...ดูเหมือนจะอบอุ่นน้อยไปกว่าอ้อมกอดของผู้ชายคนนั้น
พ่อหวังแค่เพียงว่า....ผู้ชายคนนั้นจะรักและทนุถนอมหนูได้เพียงครึ่งที่พ่อรักหนู..


ที่มา http://www.pattanakit.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=538652312&Ntype=128



วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ปลูกข้าวลอยน้ำ แนวคิดปรับตัวของเกษตรกรในช่วงน้ำท่วม



       ถึงเวลาที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ความแปรปรวนของดินฟ้า อากาศ รวมถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ แน่นอนเกษตรกรย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะไม่มีพื้นที่ในการเพาะปลูก เมื่อไม่มีที่เพาะปลูก สิ่งที่ตามมา คือรายได้ในการดำรงชีพก็ขาดหายไปด้วย
       
       สิ่งที่ทำได้คือการที่เกษตรต้องปรับตัว และหาวิธีการเพื่อให้สามารถเพาะปลูกได้ และการปลูกข้าวลอยน้ำ เป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ทำให้เกษตรกรสามารถใช้ดำรงชีวิตอยู่กับน้ำ และสามารถทำการเกษตรและมีรายได้เลี้ยงชีพได้ แนวคิดในการปลูกข้าวลอยน้ำ เกิดขึ้นมาจาก นายสุพรรณ เมธสาร เกษตรกร แห่งบ้านสามชุก อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี
       
       นายสุพรรณ เป็นเกษตรกรตัวอย่างอีกคนหนึ่ง เพราะเขาเป็นเกษตรกรที่ไม่หยุดนิ่งในการที่ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ส่งผลให้เขามีความรู้หลายด้าน ปัจจุบัน ยังเป็นวิทยากร อบรมแก่ผู้ที่สนใจเรื่องการปลูกไผ่ การขยายพันธุ์ รวมถึงช่องทางการจัดจำหน่าย
       
       ดังนั้น นายสุพรรณ จึงเป็นที่เชื่อถือของเหล่าเกษตรกรในอีกหลายด้าน และด้วยความที่เป็นเกษตรกรนักคิดนี่เอง ทำให้ เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา นายสุพรรณมีแนวคิดที่จะนำข้าวไปปลูกบนน้ำ เนื่องจากเห็นว่า ในแม่น้ำลำคลองมักจะมีผักตบชวา ซึ่งผักตบชวาในแม่น้ำนั้นมีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะในแม่น้ำมีธาตุอาหาร แพลงตอน ตลอดจนจุลินทรีย์ต่างๆที่เป็นอาหารของพืช จึงทดลองปลูกข้าวในน้ำ ผลผลิตที่ได้เป็นที่น่าพอใจเลยทีเดียว
       
       นายสุพรรณ เล่าว่า ทดลองปลูกข้าวลอยน้ำ ซึ่งปรากฏว่าได้ผลผลิตจริง และประหยัดต้นทุน วิธีการปลูกข้าวแบบลอยน้ำ ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนเรื่องการเตรียมดิน น้ำมันเชื้อเพลิงและตัดปัญหาการดูแลเรื่องน้ำไปเลย จากการคำนวณพบว่า หากทำแพปลูกข้าวในพื้นที่ 1 ไร่ ผลผลิตที่ได้รับ เฉลี่ย 70 ถัง /ไร่ ซึ่งวิธีนี้จะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จากการเผาและลดการใช้สารเคมีต่าง ๆ ทำให้ลดต้นทุนได้มากวัสดุอุปกรณ์ยังสามารถนำมาใช้ครั้งต่อไปได้
       
       ทั้งนี้ นายสุพรรณยังได้เตรียมการขยายผล เรื่องการปลูกข้าวลอยน้ำ โดยจะใช้ผักตบชวาเป็นฐานซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการทดลองว่าจะได้ผลอย่างไร สำหรับ วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้สำหรับการปลูกข้าวลอยน้ำ ในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ฝากล่องโฟมเก่า ( กล่องโฟมใส่ผลไม้) กระถางพลาสติกสำหรับปลูก ดินเลนสำหรับปลูก เมล็ดพันธุ์ข้าว ลำไม้ไผ่สำหรับทำแพ เชือกฟาง
       
       โดยวิธีการปลูกข้าวลอยน้ำ 1.นำเมล็ดพันธุ์ข้าวไปเพาะในแปลงเพาะ เหมือนกับการเตรียมกล้าพันธุ์สำหรับดำนาทั่วไป 2.นำลำไม้ไผ่มาทำเป็นกรอบ 4 เหลี่ยม เพื่อทำเป็นแพ ในพื้นที่ๆจะปลูกข้าวลอยน้ำ 3.นำฝากล่องผลไม้( ฝากล่องโฟม ) มาเจาะรูให้มีขนาดเท่ากระถางพลาสติก แต่ให้อุ้มตัวกระถางไว้ได้ 4.นำกระถางปลูกใส่ดินเลนให้เต็ม 5.เมื่อต้นกล้ามีอายุ 10 - 15 วันจึงแยกกล้ามาปลูกในกระถางที่เตรียมไว้ ประมาณ 4-5 กอต่อกระถาง 6.นำกระถางเพาะกล้าใส่ในฝากล่องโฟม แล้วจึงนำไปลอยน้ำ ในกรอบไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ 7.ใช้เชือกผูกกล่องโฟมกับแพไม้ไผ่ เพื่อป้องกันการพัดพาของน้ำ ไม่ให้ไหลไปที่อื่น
       
       ด้านการดูแลและการใส่ปุ๋ย นายสุพรรณเน้นให้เกษตรกรที่ ทำแบบเกษตรอินทรีย์และอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพบำรุงข้าว ช่วงที่ข้าวมีอายุ 30และ 55 วัน หลังการปลูก ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อัตรา 1 กำมือ/กระถาง / ครั้ง หากมีแมลงศัตรูพืช ก็ใช้น้ำหมักสมุนไพรฉีดพ่น วิธีนี้เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาดูแลเรื่องน้ำเลย เพราะข้าวจะได้รับน้ำตลอดในช่วง ระยะเวลาการปลูก
       



ที่มา : ศูนย์ทางด่วนข้อมูลการเกษตร



วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ต้นสุดท้าย






















































ที่มา http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=51841.16


เท่าทันวิกฤต “เมล็ดพันธุ์” จุดเริ่มต้นของความไม่เป็นธรรม




เรื่อง/ภาพ : ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ

1...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดยโสธร ชาวบ้านในที่แห่งนี้มีอาชีพปลูกแตงโมเป็นส่วนมาก ในสมัยนั้น พันธุ์แตงโมที่พวกเขานิยมปลูกกันมีอยู่ไม่กี่ชนิด และทั้งหมดล้วนเป็นพันธุ์พื้นบ้าน ที่เป็นเมล็ดพันธุ์แท้ๆ ที่พวกเขาสามารถนำกลับมาปลูกได้อีกไม่จำกัด เช่น พันธุ์บางเบิด พันธุ์หมอน

…แต่แล้ววันหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงก็มาเยือน เมื่อใครสักคนนำเมล็ดพันธุ์แตงโมและปุ๋ยมาให้พวกเขาฟรีๆ  เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ได้สร้างปรากฎการณ์ที่น่ายินดีในช่วงแรกพบ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ชาวบ้านได้รับผลผลิตจำนวนมากจากเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ทำให้ปีต่อมา พวกเขาจึงเลือกปลูกแตงโมด้วยเมล็ดพันธุ์นั้นอีกครั้ง คราวนี้ เมล็ดพันธุ์กลับไม่ฟรีเหมือนครั้งแรก แต่พวกเขาต้องใช้เงินซื้อหามา ยิ่งไปกว่านั้น ในปีต่อๆ มา ราคากลับสูงขึ้นเรื่อยๆ

เพียงแค่ 3 ปี หลังจากวันแรกที่เมล็ดพันธุ์ซึ่งได้ผลผลิตมากในเวลาอันรวดเร็วเข้ามาในหมู่บ้าน เมล็ดพันธุ์แตงโมพื้นบ้านที่พวกเขาเคยปลูกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งก็หายไปอย่างสิ้นเชิง และหลังจากนั้นเพียง 10 ปี เมล็ดพันธุ์แตงโมที่เคยแจกฟรีก็ทะยานถึงกิโลกรัมละ 12,000 บาท  เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดกับหมู่บ้านนี้เพียงแห่งเดียว แต่หมู่บ้านรอบๆ นั้นก็เจอสถานการณ์เดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ได้ส่งผลให้ปัจจุบัน คนที่ต้องการปลูกแตงโมสัก 10 ไร่ เขาจะต้องใช้เงินอย่างน้อยๆ ก็หลักแสนบาท ชีวิตของเกษตรกรจึงต้องเริ่มต้นจากการเป็น “หนี้” ทันที และปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแตงโมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องเจอในแทบทุกพันธุ์พืช

…นั่นคือจุดเริ่มต้นของการหายไปของเมล็ดพันธุ์ จากปากของผู้อยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่วันแรกนามว่า “โจน จันได” 



2...

 “แม้ประเทศไทยจะเลิกทาสไปนานแล้ว แต่ทุกวันนี้ เรากลับเป็นทาสกันโดยไม่รู้สึกตัว เพราะทุกๆ คำที่เราป้อนข้าวเข้าปาก เราจะต้องส่งเงินให้บริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ ลองดูว่าคำไหนที่เราป้อนเข้าปาก แล้วไม่ได้ส่งให้บริษัทเหล่านั้น  มันคือการส่งส่วย ทั้งที่แต่ก่อนไม่ได้ส่ง เรายังอยู่ได้ แต่ตอนนี้เราต้องส่งมันทุกคำข้าวเลย” โจนเล่าถึงสิ่งที่คนจำนวนมากละเลย

…และท่ามกลางวิถีชีวิตที่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่ รีบอาบน้ำแต่งตัวออกจากบ้าน และหักโหมกับการทำงานจนค่ำมืด ผู้คนจำนวนมากจึงอาจไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียดระหว่างวันอย่างที่เขาว่าจริงๆ คนจำนวนไม่น้อยกลับจำยอมให้ทุกๆ จังหวะชีวิตของตัวเอง กลายเป็นการส่งเงินให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้น

นอกจากการเอาเปรียบในเชิงมูลค่า เรายังต้องเจอกับการที่ผู้ผลิตทำเพื่อ “ขาย” มากกว่าที่จะทำให้คนกิน ทำให้ในท้องตลาดจึงเต็มไปด้วยผักสีสวยสด และมีรูปลักษณ์สวยงาม แต่พืชพรรณเหล่านั้นกลับเต็มไปด้วยสารเคมี

และสิ่งสำคัญที่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความซับซ้อนในเรื่องการ ‘ส่งส่วย’ ก็คือ “วิกฤตเมล็ดพันธุ์”

จากที่ “เมล็ดพันธุ์” เคยเป็นอาหาร เป็นชีวิต เป็นรากฐานของความอุดมสมบูรณ์ในการอยู่กิน และเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืน  ในปัจจุบัน  “เมล็ดพันธุ์” กลับค่อยๆ กลายเป็นเครื่องมือในการเอาเปรียบระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค  ตามท้องตลาด มูลค่าเมล็ดพันธุ์ในซองขนาดเล็กที่ขายอยู่ทั่วไป แม้จะมีราคาไม่กี่สิบบาท แต่เมื่อเปิดมาดูภายใน เราจะพบว่ามันก็มีไม่กี่สิบเมล็ดเช่นกัน และในหลายๆ พันธุ์พืช เมื่อนำมาหารเฉลี่ย เราจะพบว่ามันมีราคาสูงถึงเมล็ดละ 1 บาทเลยทีเดียว 

การเอาเปรียบของ "ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่" ที่จะเกี่ยวข้องกับ "ผู้ผลิตรายย่อย" ที่สำคัญมากก็คือ การทำให้ “เมล็ดพันธุ์” ที่ขายตามท้องตลาดเหล่านั้น ไม่สามารถปลูกซ้ำได้อีกครั้ง หรือถ้าปลูกได้ ก็จะได้ความสมบูรณ์ไม่เท่าเดิม

“การพัฒนาอาหารในปัจจุบัน มันไม่ได้พัฒนาเพื่อให้คนกิน แต่เป็นการพัฒนาเพื่อที่จะยึดครองโลกเท่านั้น” โจนเอ่ยขึ้น

“ชาวนาทำงานหนักมาก เขาต้องเปลี่ยนความอุดมสมบูรณ์เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเงินไปให้บริษัทเหล่านั้น  เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นกลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกคนหนี่ง และเกษตรกรก็กลายเป็นคนที่จนที่สุดในโลกคนหนึ่ง ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าในการทำการเกษตร 60% ของเงินที่ลงไป จะต้องไปให้กับบริษัทเหล่านี้ อันนี้คือความซับซ้อนที่เกิดขึ้น โดยมีเมล็ดพันธุ์เป็นหนึ่งในเครื่องมือ แล้วอนาคตของเกษตรกรจะอยู่อย่างไร ถ้าพวกเขาเจอปัญหาอย่างนี้” โจน แสดงความเห็น และเล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนเด็กๆ เมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งที่คนจะแจกกัน ไม่ใช่สิ่งที่ขายกันอย่างในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น ทัศนคติต่อ “การพัฒนาพันธุ์” ของสังคม ยังมีเป้าหมายวนเวียนอยู่เพียง 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ ผลผลิตสูง และเติบโตรวดเร็ว  เราจะพบว่าในระบบการศึกษาหลายแห่งก็สอนไปในแนวทางเดียวกันนี้ ไม่ต่างกัน

“โดยธรรมชาติ ไก่ใช้เวลา 3 เดือนถึงจะได้น้ำหนัก 1 กิโลกรัม แต่ทุกวันนี้ เขาก็พัฒนายังไงก็ได้ให้เหลือ 28-30 วัน แต่ไม่มีใครคำนึงถึงคุณค่าในอาหารเลย เช่น ในอดีต บล็อคคอรี่ 1 กรัมจะมีแคลเซียมอยู่ราว 9 มิลลิกรัม แต่ทุกวันนี้จะหลงเหลืออยู่เพียง 4.4 มิลลิกรัม  ในผักชนิดอื่นๆ ก็มีลักษณะเดียวกัน  หมอสมุนไพรจะไม่ใช้ยาสมุนไพรแบบที่ปลูกเร่งโต เพราะคุณภาพมันใช้ไม่ได้ เขาจะต้องไปหาในป่าที่คุณค่ามันเข้มข้นมาก มันถึงจะรักษาโรคได้” โจน ให้ข้อมูล

3...

สำหรับคนทั่วไป ชื่อของ โจน จันได อาจดูเป็นสัญลักษณ์ของ “บ้านดิน” ในประเทศไทย จากภารกิจที่เคยเดินทางอบรมบ้านดินตามจังหวัดต่างๆ มาจนเกือบทั้งประเทศ ถึงขนาดที่ว่า หลังจากที่ชีวิตของเขาเป็นที่รู้จักในสังคม เขาแทบไม่เคยอยู่ที่ไหนเกินหนึ่งเดือนติดต่อกันถึง 5 ปี  แต่วันหนึ่ง เมื่อเขารู้สึกว่าชีวิตที่เป็นอยู่เริ่ม “ยาก” ขึ้น เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนภารกิจในแต่ละวันของเขา โดยตั้งใจให้แต่ละวันเป็นไปอย่างเรียบง่าย พร้อมกับให้เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตกับการ “เก็บเมล็ดพันธุ์”

เขาให้เหตุผลว่า การเก็บเมล็ดพันธุ์แท้ๆ มันเป็นเหมือนดั่งทางออกของชีวิตมนุษย์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะชีวิตที่ไปผูกติดไว้กับกลไกตลาดอยู่ตลอดเวลาเป็นการใช้ชีวิตที่หาความแน่นอนไม่ได้ 

เมื่อการเก็บเมล็ดพันธุ์จำเป็นต้องปลูกพืชผักต่างๆ ตลอดปี แต่บ้านเกิดของเขาที่ยโสธรจะน้ำท่วมในหน้าฝน ทำให้ทำนาได้เพียงอย่างเดียว รวมทั้งหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำที่จะปลูกอะไรได้ถนัดนัก เขาจึงตัดสินใจหาที่แปลงใหม่ให้กับชีวิต และมาได้ที่บ้านแม่โจ้ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

ในระยะแรก คือราว 8 ปีก่อน ครอบครัวเล็กๆ ของโจนเริ่มชีวิตที่ตัวเองเชื่อด้วยความพร้อมของพื้นที่เพียง “ศูนย์”

“ตอนเริ่มต้นมีต้นไม้เพียงสองต้น และโล่งไปหมด เงินก็ไม่มี ก็ลำบากในเริ่มต้น กินปลีกล้วย กินต้นกล้วย ช่วงแรกๆ เป็นช่วงที่สนุกที่สุด มันไม่มีอะไรกิน เป็นชีวิตที่ท้าทาย บางคนอาจจะท้อ แต่ผมว่ามันสนุกที่จะเผชิญตรงนั้น” โจนย้อนอดีตให้ฟัง

แต่ปัจจุบัน เนื้อที่ราว 20 ไร่ที่มาปักหลักอยู่ ก็ได้กลายเป็นสวนพันพรรณซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการพึ่งพาตนเองให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ และคนที่เดินทางไกลมาจากทั่วสารทิศ โดยสวนพันพรรณแห่งนี้ประกอบด้วย บ้าน โรงครัว โถงห้องประชุม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทำจากดิน มีการปลูกผักไว้กินเอง โดยใช้เมล็ดพันธุ์แท้ๆ ที่ได้มาจากทั้งเพื่อนฝูงและการเก็บสะสมมาจากที่ต่างๆ รวมถึงการมีวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่อยู่อย่างเรียบง่าย

และแน่นอนว่าภารกิจที่เขาตั้งใจว่าจะทุ่มเท ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างดังหวัง เมล็ดพันธุ์จากที่มีไม่กี่ชนิดในตอนเริ่มต้น เขาก็เก็บมันจนมีอยู่ราว 200-300 พันธุ์ โดยหวังว่าจะเก็บได้ครบ “พัน” ตามชื่อ “สวนพันพรรณ” ในวันหนึ่งข้างหน้า

“คุณไม่จำเป็นต้องมาทำเหมือนผมก็ได้ แต่สิ่งที่ทุกคนพอจะทำได้ก็คือ ต้องพยายามต่อต้านพันธุ์ผสมให้มากที่สุด ไม่ให้เข้ามาในประเทศของเราเท่าที่จะทำได้ และพยายามปลูกพันธุ์พื้นบ้านให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ” โจน เล่าถึงวิธีการที่ทุกคนพอจะทำได้

และสำหรับคนที่มีวิถีชีวิตอยู่ในเมือง โจนบอกว่า ทุกคนสามารถทำในเป้าหมายเดียวกันกับเขาได้ ทั้งจากการเริ่มต้นปลูกกินเองเล็กๆ ในเมือง สนับสนุนคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ เปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้าสู่คำว่า “จำเป็น” จริงๆ และทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจนสามารถส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ให้กระจายออกไปให้มากขึ้นเรื่อยๆ  

เขามองว่า เนื่องจากปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับเรื่องนี้ เป็นเพราะคนส่วนมากยังไม่ทราบ “ถ้าคนจำนวนมากเห็นด้วย ต่างคนก็ต่างออกไปทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้”

“มันไม่ใช่แค่การปลูกผัก แต่จริงๆ แล้วมันคือการกลับมาสู่การใช้ ‘สติ’ อีกครั้งหนึ่ง ทำยังไงเราถึงจะมีชีวิตอยู่อย่างมีสติได้ ทุกครั้งที่เราจะจับอะไรเข้าปาก ทุกครั้งที่เราจะซื้ออะไรเข้ามาในชีวิตของเรา จะต้องใช้ ‘สติ’ ก่อน เราซื้อเพราะ ‘ชอบ’ หรือซื้อเพราะ ‘จำเป็น’  ถ้าเราซื้อเพราะชอบ แปลว่าเรายอมเอาตัวไปเป็นขี้ข้า เอาโซ่มามัดคอทันที แต่ถ้าเราซื้อเพราะความจำเป็น เราก็จะเป็นอิสร

“สิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ เกิดจากเราซื้อเพราะชอบ เราจ่ายเงินซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็นเข้ามาในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทเหล่านั้นมันก็โตขึ้นเรื่อยๆ และเขาก็กลับมากินเรามากขึ้นเรื่อยๆ การทำสงครามกับบริษัทเหล่านี้ ไม่ใช่การจับอาวุธ สิ่งเดียวที่ทำได้ง่ายๆ ก็คือ ทำจากตัวเอง ลดการสนับสนุน แค่นี้เขาก็ตายแล้ว โรงงานผงชูรส ถ้าเราเลิกกิน มันก็จบ  ถ้าเราเริ่มได้ คนอื่นเห็น เขาก็เริ่มตามได้ อยู่ที่ว่าวันนี้เราจะเริ่มได้ไหม”


ที่มา : http://www.greenworld.or.th/greenworld/local/1201




ปุ๋ยยูเรีย:ความรู้เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ย


1.  ปุ๋ยอินทรีย์คือปุ๋ยที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตที่สลายตัวแล้วจนพืชสามารถนำไปใช้ได้แบ่งออกเป็น 3 ชนิดด้วยกัน คือ
1.1  ปุ๋ยคอก ได้แก่ขี้วัว ขี้ควาย ขี้ม้า ขี้แพะ แกะ กระต่าย เป็ด ไก่ ห่าน นกกระทา ฯลฯ รวมทั้งอุจจาระและปัสสาวะของคนด้วย
1.2  ปุ๋ยหมัก ได้จากการเอาวัชพืชต่าง ๆ เช่น หญ้า บอน ตลอดจนใบไม้ใบหญ้า ฟางข้าว เปลือกถั่ว กากอ้อย ต้นข้าวโพด ต้นถั่ว เศษผัก มาหมักจนสลายตัว
1.3  ปุ๋ยพืชสด ได้จากการนำเมล็ดถั่วกระด้าง ปอเทือง มาหว่านลงในดินพอเริ่มออกดอกก็ไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน
สรุปแล้วปุ๋ยหมักก็คืออินทรีย์วัตถุนั่นเอง  เมื่อนำไปใช้แล้วทำให้ดินร่วนซุย  และเป็นอาหารของพืช  แต่มีปริมาณธาตุอาหารน้อยกว่าปุ๋ยเคมีมาก  ขอแนะนำให้คุณไปอ่านเรื่องปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยเคมีอย่างไหนจะดีกว่ากัน  โดย ผศ.ดร.สุรศักดิ์  เสรีพงษ์  ในนิตยสารชาวเกษตร อันดับที่ 22 เดือนมีนาคม 2526
2.  ปุ๋ยยูเรีย(Urea) และแอมโมเนียมซัลเฟต(Ammonium Sulfate)ต่างเป็นปุ๋ยเคมีไนโตรเจนเหมือนกันแต่ต่างกันที่วิธีการผลิต  และปริมาณธาตุไนโตรเจนปุ๋ย ปุ๋ยยูเรีย ปริมาณธาตุไนโตรเจน 46-48% เท่านั้น
ยูเรีย วิธีผลิตได้จากปฏิกิริยาระหว่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับก๊าซแอมโมเนียม
คุณสมบัติทางกายภาพ
1.  เป็นผลึกสีขาว
2. ดูดความชื้นได้ดีมาก
3.  ละลายน้ำได้ 50%
คุณสมบัติทางเคมี
1.  ใช้ในนาข้าว  หว่านบาง ๆ เป็นปุ๋ยหยอดหน้า มีไนโตรเจน 47-48%
2.  ใช้เป็นอาหารสัตว์พวกวัวควาย
3.  ใช้กับพืชผักสีเขียวช่วยเร่งความเจริญเติบโตใช้เพียงครึ่งเดียวของปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต เพราะมีธาตุไนโตรเจนสูงกว่าเท่าตัว ปุ๋ยยูเรียมีราคาแพงกว่าปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต
แอมโมเนียมซัลเฟต (Ammonium Sulfate)
วิธีผลิตมี 2 แบบ ใหญ่ ๆ คือ
1.  ใช้แอมโมเนียทำปฏิกิริยากับกรดซัลฟูริกเอซิด(กรดกำมะถันมีสูตรทางเคมี H2SO4)
2.  ใช้แอมโมเนียทำปฏิกิริยากับยิบซั่มและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
คุณสมบัติทางกายภาพ
1.  เป็นผลึกสีขาวหรือเทา
2.  ดูดความชื้นในอากาศ
คุณสมบัติทางเคมี
สูตรเคมี
มีธาตุไนโตรเจน 20%
มีธาตุกำมะถัน 24 %
อยู่ในระดับปฏิกิริยาเป็นกรด
ประโยชน์ที่ใช้
ใช้กับดินเค็มหรือดินที่เป็นด่าง
ใช้เมื่อต้องการธาตุกำมะถัน
ใช้ในพืชบางชนิดที่ชอบดินเป็นกรด
ใช้กับพืชผักเพื่อเร่งความเจริญเติบโต
ในระหว่างปุ๋ยยูเรียกับปุ๋ยแอมโมเนียซัลเฟตจะใช้ปุ๋ยยูเรียในปริมาณน้ำหนักและราคาต่ำกว่าปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต เพราะปุ๋ยยูเรียมีปริมาณธาตุไนโตรเจน 46-48% สูงกว่าปุ๋ยแอมโมเนียซัลเฟตเท่าตัว  ลองเอาไปคำนวณดูว่าควรจะใช้ปุ๋ยยูเรียหรือปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตอย่างไหนจะได้กำไรกว่า ในเมื่อเสียเงินเท่า ๆ กัน สมมุติว่าไร่หนึ่งใช้ปุ๋ย 16-20-0 จำนวน 20 กิโลกรัมราคากิโลกรัมละ 4.50 บาท เป็นเงิน 90 บาท มีไนโตรเจน 3.2 กก. เงินจำนวนนี้ถ้านำไปซื้อปุ๋ยยูเรียราคากิโลกรัมละ 6.50 บาท จะซื้อได้ 13.8 กิโลกรัม ปุ๋ย 16-20-0 มีไนโตรเจน(N)16/ปุ๋ยจำนวน 20 กิโลกรัมมีธาตุไนโตรเจน 3.2 กิโลกรัม ปุ๋ยยูเรียมีไนโตรเจน (N)46/ปุ๋ยจำนวน 13.8 กิโลกรัมจะมีไนโตรเจน 6.07 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตถึงเท่าตัว สรุปแล้วเงิน 90 บาทเท่ากันจะซื้อปุ๋ยยูเรียได้ถึง 13.8 กิโลกรัมใช้ใส่พืชได้กำไร  กว่าซื้อปุ๋ย สูตร 16-20-0 จำนวน 20 กิโลกรัม ถ้าต้องการรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องโปรดอ่านเรื่อง การใช้ปุ๋ยยูเรียในนิตยสารชาวเกษตรฉบับที่ 26 เดือนกุมภาพันธ์ 2526



ที่มา http://www.thaikasetsart.com

การใช้ประโยชน์จากยูเรียเป็นอาหารสัตว์


            ในปัจจุบันราคาวัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารโปรตีนทั้งที่มาจากพืช และชนิดที่มาจากสัตว์ เช่น พวกกากถั่วต่างๆ และปลาป่น ฯลฯ มีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เป็นอันมาก เนื่องจากอาหารโปรตีนชนิดต่างๆเหล่านี้เป็น ส่วนประกอบสำคัญในสูตรอาหารข้น หรืออาหารผสม ซึ่ง ใช้เป็นอาหารหลักของสัตว์กระเพาะเดี่ยว เช่น สุกรเป็ดไก่ ฯลฯ สำหรับสัตว์กระเพาะรวม หรือสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โคเนื้อ โคนม กระบือ ฯลฯ การให้อาหารข้นเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารหยาบ และเพิ่มผลผลิตของสัตว์เท่านั้น แนวทางที่นำวัสดุอาหารที่ให้โปรตีนสูงๆมาทดแทน อาหารโปรตีนจากธรรมชาต ิซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปคือ การใช้ไนโตรเจนที่ไม่ใช่โปรตีนแท้ (Non-Protein Nitrogen หรือ NPN.) มาใช้ผสมในอาหาร-สัตว์นั้น เป็นไปได้มากในสัตว์เคี้ยวเอื้องเท่านั้น เนื่องจากสัตว์ประเภทนี้มีความสามารถ ใช้ประโยชน์จากแหล่งโปรตีนคุณภาพต่ำ และจากสารประกอบไนโตรเจนที่ไม่ใช่โปรตีน แล้วสามารถเปลี่ยนให้เป็นโปรตีน เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวสัตว์เองได้โดยขบวนการของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในกระเพาะส่วนหน้า ซึ่งสัตว์กระเพาะเดี่ยว ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากความแตกต่างกันทางระบบย่อยอาหารของสัตว์ทั้ง 2 ชนิด แหล่งของไนโตรเจนที่ใช้ได้แก่ ยูเรีย ไบยูเรต ไดแอมโมเนียม ฟอสเฟต ฯลฯ แต่ที่นิยมใช้กันมากคือ ปุ๋ยยูเรีย หรือที่รู้จักกันในหมู่เกษตรกรผู้ใช้คือ ปุ๋ยเย็น หรือปุ๋ยน้ำตาลยูเรีย จะมีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆขนาดเล็กมีสีขาวขุ่น หาซื้อได้ง่ายราคาไม่แพง และสะดวกในการใช้ยูเรียเป็นสาร ประกอบมีไนโตรเจน เป็นองค์ประกอบอยู่ถึง 46% ในการวิเคราะห์หาโปรตีนทั่วไป นิยมวัดปริมาณไนโตรเจนเป็นหลักแล้ว คูณด้วย ปริมาณโปรตีนเฉลี่ย 16% (6.25) ดังนั้น ยูเรียจะมีเปอร์เซ็นต์โปรตีนเท่ากับ 287.5 เปอร์เซ็นต์

การนำปุ๋ยยูเรียมาใช้ประโยชน์

                        ปุ๋ยยูเรียสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ 2 ประการคือ นำผสมลงในอาหารข้นโดยตรง หรือใช้ปุ๋ยยูเรีย  เพื่อปรับปรุงคุณภาพของอาหารหยาบคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว ทั้งนี้แล้วแต่วัตถุประสงค์ของผู้ใช้ จุดประสงค์ของการนำยูเรียมาใช้ผสมในอาหารสัตว์ เพื่อทดแทนอาหารโปรตีนจากธรรมชาติ และลดต้นทุนค่าอาหาร โดยจะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และคุณค่าทางโภชนะเป็นสำคัญ วิธีนี้นับการใช้ปุ๋ยยูเรียผสมน้ำราดผสมกับฟางข้าวหมักทิ้งไว้ 21 วัน โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย 6 เปอร์เซนต์ ก็จะทำให้ฟางข้าวหลังการหมักแล้ว มีคุณค่าทางอาหารสูงขึ้น สะดวกสำหรับผู้ใช้ และสัตว์เลี้ยงจะได้รับประโยชน์จากปุ๋ยยูเรีย โดยตรงจากการสลายตัวในกระเพาะหมัก หรือในส่วนของลำไส้เล็ก เมื่อพิจารณาในแง่เศรษฐกิจแล้ว ราคายูเรียจะถูกกว่า และ ให้ปริมาณของโปรตีนมากกว่าการใช้ปลาป่นและกากถั่วต่างๆ ซึ่งการใช้ปุ๋ยยูเรีย เป็นแหล่งโปรตีนผสมในอาหารข้น จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูง โดยจุลินทรีย์นั้นต้องมีแหล่งคาร์โบไฮเดรทที่ย่อยได้ง่ายๆ (แป้ง) เพียงพอ เช่น ข้าวโพด ปลายข้าว มันเส้น รำละเอียด ฯลฯ มีแร่ธาต ุและวิตามิน ผสมอยู่ด้วย การให้สัตว์เคี้ยวเอื้องกินยูเรีย โดยตรง หรือผสมกับน้ำให้กินในปริมาณมากๆ สัตว์อาจจะตายได้ เนื่องจากยูเรียสามารถสลายตัวให้แอมโมเนียในกระเพาะรูเมน ถ้าสัตว์ได้รับยูเรียในระดับสูง หรือในสภาพที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดแอมโมเนียในกระเพาะ เกินกว่าที่จุลินทรีย์จะนำไปสร้างโปรตีนได้ทัน ร่างกายจึงต้องมีการกำจัดออก โดยเปลี่ยนเป็นยูเรียที่ตับ และขับออกทางปัสสาวะ ถ้าระดับของแอมโมเนีย สูงเกินกว่าร่างกายจะกำจัดได้ทัน ก็จะเกิดเป็นพิษสัตว์อาจถึงตาย  ถ้าช่วยไม่ทัน ดังนั้น ก่อนนำยูเรียไปใช้ผสมในสูตรอาหาร จึงควรศึกษาให้ดีเสียก่อน

ปริมาณที่ใช้ผสมในอาหาร

                       การใช้ยูเรียในสูตรอาหารข้น สำหรับเคี้ยวเอื้องแต่ละประเภทจะต่างกันไป ฉลอง(2532) รายงานว่า ยูเรีย 1 กิโลกรัม ผสมกับเมล็ดข้าวโพด 6 กิโลกรัม จะให้คุณค่าเท่ากับกากถั่วเหลือง 7 กิโลกรัม ถึงแม้การใช้ยูเรียร่วมกับเมล็ดข้าวโพด ราคาถูกกว่าการใช้กากถั่วเหลืองล้วนๆ ก็ตาม การใช้ยูเรียในสูตรอาหารสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูงๆ เช่น ในโคนมก็มีข้อจำกัด คือ ในสูตรอาหารข้นสำหรับโคนม ที่ให้ผลผลิตต่ำกว่า 20 กก./วัน จะใช้ได้ไม่เกิน 1.5 เปอร์เซ็นต์ ของสูตรอาหารข้น และสำหรับโคนมที่ให้ผลผลิตนมสูงกว่า 20 กก./วัน จะใช้ได้ไม่เกิน 0.75 เปอร์เซนต์ ของสูตรอาหารข้น หรือ ไม่ควรใช้ในสูตร อาหารข้นเลย (Mudd,1977) ในสูตรอาหารข้นสำหรับโคเนื้อใช้ได้สูงถึง 2.5 เปอร์เซ็นต์ ของอาหารข้น (Corse,1981) และโค-กระบือที่มีน้ำหนักมากกว่า 350 กิโลกรัม ควรได้รับยูเรียไม่เกิน 136 กรัม/ตัว/วัน โค-กระบือมีน้ำหนักระว่าง 230-350 กก. ควรได้รับยูเรียไม่เกิน 90 กรัม/ตัว/วัน และโค-กระบือมีน้ำหนักระหว่าง 130-230 กก. ควรได้รับยูเรีย ไม่เกิน 45 กรัม/ตัว/วัน (สมิต,2532) การใช้ยูเรียในสูตรอาหารข้น นอกจากจะต้องมีแหล่งคาร์โบไฮเดรทอย่างเพียงพอแล้ว ควรผสมกำมะถันลงในสูตรอาหารด้วย เพื่อให้จุลินทรีย์ในกระเพาะสามารถผลิตกรดอะมิโนที่จำเป็น ชนิดที่มีกำมะถัน เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยได้ กำมะถันที่ใช้ประมาณ 0.10.2 เปอร์เซนต์ หรืออัตราส่วนของยูเรียต่อกำมะถันคือ N:S=10:1 นอกจากจะใช้ยูเรียผสมในสูตรอาหารข้นแล้ว ยังสามารถใช้ยูเรีย เพื่อปรับปรุงคุณภาพ หรือคุณค่าทางอาหารของอาหาร หยาบที่มีคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว ฯลฯ ให้ดีขึ้นโดยใช้ยูเรีย 6 เปอร์เซ็นต์ ผสมน้ำหมักกับฟางข้าวใช้เวลา 21 วัน แล้วนำออก ใช้เลี้ยงโค-กระบือ ฟางหมักยูเรียจะให้คุณค่าทางอาหาร และการย่อยได้สูงกว่าฟางข้าวธรรมดา (สถานนีบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่, 2525) ซึ่งสมคิด และคณะ(1984) รายงานการใช้ฟางข้าวหมักยูเรีย แล้วนำมาเลี้ยงโคนมสาวเปรียบเทียบ กับการเลี้ยง ด้วยฟางข้าวธรรมดาหญ้าแห้งและหญ้าสด ปรากฎว่า การเลี้ยงด้วยฟางหมักยูเรีย จะมีอัตราการเพิ่มน้ำหนักใกล้เคียงกับ การใช้หญ้าแห้งและหญ้าสด และสูงกว่าโคที่เลี้ยงด้วยฟางข้าวธรรมดา นอกจากนั้นสมคิด และคณะ(1984) ยังรายงาน ไว้ด้วยว่าการใช้ฟางข้าวหมักยูเรียเป็นอาหารหยาบ เลี้ยงโคกำลังรีดนมโคสามารถให้ผลผลิตน้ำนมได้ไม่แตกต่างกับโคที่กินหญ้าสด นอกจากนั้น อาจใช้ยูเรีย 1.52 กิโลกรัม ผสมกับกากน้ำตาล 7.5 กิโลกรัม ผสมน้ำราดบนฟางข้าวให้โคกระบือ กินได้ทันที (จีระชัย และบุญล้อม,2529,และจินดา และคณะ,2527) วิธีนี้ถ้าใช้เลี้ยงโค-กระบือเป็นเวลานานๆควรต้อง เสริมวิตามินเอ ดี และอี ด้วย

 

ขบวนการใช้ประโยชน์ของโปรตีน จากอาหารในสัตว์เคี้ยวเอื้อง

                        การย่อยสลายของอาหารโปรตีนแท้ และไนโตรเจนที่มาจากโปรตีนไม่แท้ ในสัตว์เคี้ยวเอื้องจะเกิดขึ้น เมื่อสัตว์กินอาหารเข้าไปถึงกระเพาะหมัก ซึ่งที่นั่นจะมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่จำนวนมาก และหลายชนิดประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ของ อาหารที่เป็นโปรตีนแท้ จะถูกย่อยสลายให้เป็นแอมโมเนีย โดยจุลินทรีย์ในกระเพาะหมัก ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์ จะไหล ผ่านไปยังกระเพาะจริง และลำไส้ สำหรับสารประกอบที่ไม่ใช่โปรตีนแท้ (ยูเรีย) จะถูกย่อยสลายเป็นแอมโมเนียทั้งหมด แอมโมเนียที่ได้จากโปรตีนแท้ และแอมโมเนียจากสารประกอบไม่ใช่โปรตีนทั้งหมดส่วนหนึ่ง จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับพลังงาน  โดยจุลินทรีย์ เพื่อการเจริญเติบโตของตัวมันเอง กลายเป็นจุลินทรีย์โปรตีนแอมโมเนีย บางส่วนจะผ่านเข้ามาในระบบการย่อยอาหารใหม่ทางน้ำลาย และผนัง ของกระเพาะรูเมน ซึ่งการหมุนเวียนของแอมโมเนียระบบนี้ จะสามารถช่วยให้สัตว์เคี้ยวเอื้องได้รับไนโตรเจนเพิ่มขึ้น ในช่วงระยะที่สัตว์อดอาหาร หรือได้รับอาหารมีไนโตรเจนต่ำ โดยการใช้ประโยชน์จากแอมโมเนียส่วนนี้ สำหรับบางส่วนที่เหลือ จะถูกส่งไปที่ตับเปลี่ยนเป็น ยูเรีย และขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ จุลินทรีย์โปรตีน และโปรตีนที่เหลือจะผ่านมายังกระเพาะจริง และลำไส้เล็ก ซึ่งจะถูกย่อยสลาย และถูกดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อการดำรงชีพการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตสำหรับตัวสัตว์ต่อไป ส่วนที่ไม่สามารถสลาย และดูดซึมได้ก็จะถูกขับออกมาจากร่างกายทางอุจจาระดู จากภาพประกอบด้านล่าง

 ข้อเสนอแนะ ในการใช้ยูเรียผสมในอาหารสัตว์

                  1.ใช้อาหารผสมยูเรียเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีกระเพาะรูเมน เจริญเติบโตแล้วเท่านั้น อย่าใช้ยูเรียกับลูกสัตว์หรือสัตว์ กระเพาะเดี่ยว

                    2. ใช้ยูเรียในสูตรอาหารข้น ที่มีโปรตีนหยาบต่ำกว่า 13 -14 เปอร์เซ็นต์

                    3. ในสูตรอาหารจะต้องมีคาร์โบไฮเดรทที่ย่อยง่ายอยู่สูง เช่น มันเส้น ข้าวโพด รำละเอียด ปลายข้าว ฯลฯ

                  4.ยูเรียไม่มีพลังงานแร่ธาตุ และวิตามินการใช้ยูเรียเป็นแหล่งไนโตรเจน แทนโปรตีนธรรมชาติ จึงควรเสริมโภชนะ เหล่านี้ลงไปด้วย

                    5.การใช้ยูเรียผสมในอาหารข้นไม่ควรเกิน 3 เปอร์เซนต์ ของอาหารข้น หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณวัตถุแห้งที่สัตว์กินได้ หรือเกิน 30 กรัมต่อน้ำหนักตัว 100 กิโลกรัม

                    6. ยูเรียจะมีรสชาดเฝื่อน สัตว์ไม่ชอบกิน ควรผสมกากน้ำตาล เพื่อเพิ่มรสชาด

                    7. ควรใช้ยูเรียผสมลงในอาหารวันละน้อย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงระดับที่ต้องการ เพื่อสัตว์จะได้มีเวลาปรับตัว

                   8.การผสมยูเรียลงในอาหารข้น  ต้องผสมให้เข้ากันดีอย่าให้เป็นก้อน และไม่ควรใช้ยูเรียละลายน้ำให้สัตว์ดื่มโดยตรง เพราะสัตว์จะกินเข้าไปครั้งละมากๆ และอาจเป็นอันตรายได้

การเป็นพิษจากยูเรีย และการรักษา

                       ยูเรียเองไม่เป็นพิษต่อสัตว์ การเป็นพิษจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อยูเรียสลายตัวได้แอมโมเนีย ซึ่งตัวแอมโมเนียนี้เองจะเป็นพิษ กับเนื้อเยื่อ เมื่อสัตว์กินอาหารมีโปรตีนสูงๆ หรือสารประกอบที่ไม่ใช่โปรตีนแท้มากเกินไป เช่น ยูเรียจะมีผลให้ในกระเพาะ รูเมน ผลิตแอมโมเนียมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดเกินกว่า 2 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ สัตว์จะแสดง อาการเป็นพิษ และถ้าแอมโมเนียในเลือดสูงถึงระดับ 3 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ สัตว์จะเป็นอันตรายถึงตายได้ อาการที่เห็นทั่วไปคือ หลังจากกินยูเรียเข้าไปประมาณ 20 นาที จะแสดงอาการน้ำลายฟูมปากหายใจลึก หรือหายใจลำบากมีอาการทาง ประสาทกล้ามเนื้อ ชักกระตุก อย่างรุนแรง ท้องอืด สัตว์จะล้มลงนอน และตายในที่สุด (Fraser,1963,Dinningetal.,1984) วิธีหนึ่งที่จะช่วยลดพิษได้ โดยการใช้น้ำส้มสายชู และน้ำเย็นอัตรา 1:1 กรอกใส่ปากให้เร็วที่สุด (Pieter และdeKock,1962; Clarke and Clarke, 1963 และ Church, 1979)

สรุป

                        การใช้ปุ๋ยยูเรียทดแทนอาหารโปรตีนจากธรรมชาติในอาหารข้น สำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องนั้น จะช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร และสามารถทำให้การผลิตสัตว์ มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้โปรตีนจากธรรมชาติ ซึ่งมีราคาแพงกว่า ถ้าผู้ใช้จะได้ทำ ความเข้าใจถึงวิธีการใช้ยูเรียอย่างถูกต้อง กับขนาด และชนิด ของสัตว์ ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากยูเรียได้อย่างมีประสิทธิ ภาพยิ่งขึ้น สำหรับการใช้ยูเรียเพื่อปรับปรุงคุณภาพ ของอาหารหยาบคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว จะสามารถทำให้อาหารหยาบนั้น มีคุณภาพสูงพอ ๆ กับหญ้า โดยจะมีการย่อยได้ของวัตถุแห้ง และปริมาณการกินได้ของสัตว์เพิ่มขึ้น


ที่มา http://www.dld.go.th/nutrition/Nutrition_Knowlage/ARTICLE/ArtileC.htm

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

รายชื่อ พืชที่ต้องการน้ำน้อย


เทคโนโลยีจำนวนมากมายที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ระบบภูมิอากาศโลกที่เกิดขึ้นกับสังคมมนุษย์อยู่เสมอในเหตุการณ์ของอากาศที่ วิกฤตและในหลายๆ กรณีที่คาดว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตจะทำให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงเวลาที่เกิดความรุนแรง ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าการปรับตัวต่อการขยายตัวบางครั้ง
การปรับเปลี่ยนหรือขยายเทคโนโลยีที่ใช้อาจย้อนกลับไปประมาณหลายร้อยปีที่คนในท้องถิ่นมีการใช้เทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมมาจัดการกับอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำ โดยการสร้างบ้านที่มีเสาเรือนสูง และหลายๆ หมู่บ้านก็ทำเช่นเดียวกัน แม้ว่าพวกเขาจะใช้วัสดุสมัยใหม่กว่าเช่น เสาคอนกรีตหรือหลังคาสังกะสี เทคโนโลยีอื่นๆ อาจจะพิจารณาถึงความทันสมัย
ตั้งแต่วันที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 18 ชาวนาได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเบื้องต้นมาจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แห้งแล้งให้ดีขึ้น เช่นการแนะนำสายพันธุ์ใหม่ของพืชที่ใช้น้ำน้อย และทำให้ดีกว่าเดิมเช่นเดียวกับระบบน้ำหยดในการชลประทาน
รายชื่อพืชที่ต้องการน้ำน้อย
  • มะละกอ พืชที่ต้องการน้ำน้อย
    มะละกอ (Papaya) ชื่อวิทยาศาสตร์: Carica papyya L. ชื่อวงศ์: CARICACEAE ชื่อสามัญ: Papaya. ชื่อท้องถิ่น: มะก๊วยเต็ด ก๊วยเท็ดลักษณะทั่วไปของมะละกอ สามารถเจริญเติบโ๋ตได้ดีในทุกสภาพภูมิอากาศ ดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ท่วมขัง มีความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ระหว่าง 6.0-6.8 มะละกอใช้ผลบริโภคทั้งผลดิบและผลสุก นอกจากการนำมะละกอไปรับประทานสด ๆ แล้ว เรายังสามารถนำไปปรุงอาหาร เช่น ส้มตำ แกงส้ม ฯลฯ หรือนำไปหมักเนื้อให้นุ่มได้อีกด้วย เพราะในมะละกอมีเอนไซม์ชนิดหนึ่งเรียกว่า พาเพน (Papain) ซึ่งสามารถนำเอนไซม์ชนิดนี้ไปใส่ในผงหมักเนื้อสำเร็จรูป บางครั้งนำไปทำเป็นยาช่วยย่อยสำหรับผู้ที่มีปัญหาอาหารไม่ย่อยก็ได้
  • ถั่วทุกชนิด พืชที่ต้องการน้ำน้อย
    พืชตระกูลถั่วทุกชนิด (ยกเว้นพืชที่เป็นต้นใหญ่ อย่างเช่น ต้นหางนกยูง ต้นก้ามปู) เนื่องจากถั่วเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย เจริญเติบโตเร็ว หลังเก็บเกี่ยวสามารถไถกลบและซังพืชจะเป็นปุ๋ยชั้นดีให้นาข้าว หากมีการปลูกสลับกันในระหว่างการเก็บเกี่ยวและรอการไถพรวนดินแล้ว ส่วนใหญ่พืชตระกูลถั่วเป็นไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น หรือไม้ล้มลุก ใบเรียงสลับ มักเป็นใบประกอบแบบ 3 ใบ หรือใบประกอบแบบขนนก อาจเป็นชนิดขนนกชั้นเดียวหรือขนนก 2 ชั้น มีหูใบบนก้านใบและบนราคิสอาจมีต่อมหรือหนาม ใบแผ่กางในเวลากลางวันและหุบในเวลากลางคืน ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและดอกช่อแบบต่างๆ เช่น ช่อกระจะ ช่อเชิงลด ช่อกระจุกแน่น และช่อแยกแขนง ลักษณะของดอกแตกต่างกันตามวงศ์ย่อย ผลมีลักษณะเป็นฝักแตกได้ หรือแตกไม่ได้ บางชนิดมีลักษณะค่อนข้างกลม มีปีกแผ่ออกไปโดยรอบ เรียกว่าผลแบบซามารา เช่น ผลประดู่
  • งาดำ พืชที่ต้องการน้ำน้อย
    งาดำ เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย และสามารถทนแล้งได้ดี อีกทั้งยังมีต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ แต่ให้ราคาขายที่ค่อนข้างสูง เหมาะกับการทำการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ งายังมีวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ โดยเฉพาะแคลเซียมที่มีมากกว่านมวัวถึง 6 เท่า มีธาตุเหล็ก แมกนีเซียม สังกะสี ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และทองแดง และยังมากด้วยวิตามินบีชนิดต่างๆ ซึ่งดีต่อระบบประสาท ช่วยทำให้นอนหลับ ร่างกายกระฉับกระเฉง พร้อมกันนั้นยังมีสารบำรุงประสาทด้วย และวิตามินอีเป็นตัวแอนติออกซิแดนท์ที่ช่วยต้านมะเร็ง
  • ข้าวฟ่างหวาน พืชที่ต้องการน้ำน้อย
    ข้าวฟ่างหวาน ปลูกเพื่อผลิตเอทานอล โดยจีนและอินเดียเริ่มหันมาปลูกพืชที่ต้องการน้ำน้อยลงด้วยการปลูกข้าวชนิดนี้ เนื่องจากภัยแล้ง พันธุ์ข้าวฟ่างลูกผสมสีแดง ส่วนใหญ่เกษตรกรจะปลูกตามหลังข้าวโพดในเขตการปลูกข้าวโพดจังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และเพชรบูรณ์ ตามระบบการจำหน่ายเมล็ดพันธ์และการรับซื้อผลผลิต กลับคืน พันธุ์เฮกการีหนัก เป็นข้าวฟ่างพันธุ์แท้ต้นสูง เมล็ดสีขาว กรมวิชาการเกษตร (กรมกสิกรรม) แนะนำให้เกษตรกรปลูกตั้งแต่ปี 2506 โดยมีลักษณะเด่น คือ มีผลผลิต เมล็ดเฉลี่ยประมาณ 400-600 กิโลกรัมต่อไร่ เมล็ดมีขนาดใหญ่และ มีความไวต่อช่วงแสง เหมาะสำหรับปลูกในปลายฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือน กรกฎาคมถึงต้นเดือนกันยายน
  • ฟักทอง ฟักเขียว แก้วมังกร พืชที่ต้องการน้ำน้อย
    ฟักทอง ฟักเขียว แก้วมังกร พืชตระกูลนี้บางชนิดต้องการน้ำมาก แต่ไม่ถึงกับให้ทุกวัน ส่วนถ้าปลูกแก้วมังกรไว้ในที่ร่มจะไม่ได้ผลผลิต ส่วนใหญ่พืชที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น จะต้องการน้ำในปริมาณน้อย ฟักทองเป็นไม้เถาเลื้อยไปตามดิน มีมือสำหรับยึดเกาะ ลำต้นอวบน้ำ ใบเดี่ยวรูปห้าเหลี่ยม มีขนทั้งสองด้าน ดอกสีเหลืองรูปกระดิ่ง ผลฟักทองมีด้วยกันหลายลักษณะ บางครั้งเป็นผลเกือบกลมก็มี แต่โดยทั่วไปเป็นรูปทรงกลมแป้น ผิวขรุขระเล็กน้อย เมื่อยังดิบเนื้อค่อนข้างแข็ง นอกจากเนื้อของผลฟักทองจะใช้เป็นอาหารแล้ว เมล็ดฟักทองก็ใช้เป็นอาหารว่างได้ด้วย
  • พืชไร่ พืชที่ต้องการน้ำน้อย
    พืชไร่ทุกชนิด พืชที่สามารถปลูกในที่ดอนได้ พืชชนิดนี้ต้องการน้ำน้อยและอายุสั้น พืชไร่เป็นไม้ประเภทไม้ล้มลุกและไม้ทนแล้ง ต้องการน้ำน้อย มีอายุการปลูกและการเก็บเกี่ยวไม่นาน และเมื่อให้ผลผลิตแล้วลำต้นก็จะตาย พืชไร่ถือเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรของประเทศไทย พืชไร่ที่จัดเป็นพืชเศรษฐกิจนำรายได้มาสู่ประเทศไทยอย่างมาก เช่น อ้อย เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตน้ำตาลทราย ข้าวโพด เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารสัตว์ มันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบในการผลิตแป้งและอาหารสัตว์ ซึ่งวิทยาลัยเกษตรกรรมได้ มีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไร่อย่างมีคุณภาพ เช่น ส่งเสริมให้เกษตรกรป,กมันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60 ซึ่งให้ผลผลิตสูง ทนโรค ส่งเสริมการปลูกสับปะรดพันธุ์เพชรบุรี ซึ่งมีคุณสมบัติหวานกรอบ
  • มะพร้าว พืชที่ต้องการน้ำน้อย
    มะพร้าว มันสำปะหลัง ตะบองเพชร เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย และมีความอดทนสูง สามารถปลูกในดินทราย ซึ่งเป็นดินที่มีทรายปนอยู่มาก จึงทำให้มีเนื้อดินหยาบ เม็ดดินใหญ่และไม่เกาะกัน น้ำและอากาศซึมผ่านง่าย ไม่อุ้มน้ำ จึงมีการระบายน้ำและอากาศได้ดี ทำให้มีการจับยึดธาตุอาหารเพื่อบำรุงพืชได้น้อย ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับการปลูกพืชทั่วไป มะพร้าว เป็นพืชยืนต้น ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก ผลประกอบด้วยเอพิคาร์ป (epicarp) คือเปลือกนอก ถัดไปข้างในจะเป็นมีโซคาร์ป (mesocarp) หรือใยมะพร้าว ถัดไปข้างในเป็นส่วนเอนโดคาร์ป (endocarp) หรือกะลามะพร้าว ซึ่งจะมีรูสีคล้ำอยู่ 3 รู สำหรับงอก ถัดจากส่วนเอนโดคาร์ปเข้าไปจะเป็นส่วนเอนโดสเปิร์ม หรือที่เรียกว่าเนื้อมะพร้าว ภายในมะพร้าวจะมีน้ำมะพร้าว ซึ่งเมื่อมะพร้าวแก่ เอนโดสเปิร์มก็จะดูดเอาน้ำมะพร้าวไปหมด
  • สมุนไพร พืชที่ต้องการน้ำน้อย
    สมุนไพรไทย ก็เป็นพืชที่เกิดอยู่ในแถบที่มีความแห้งแล้งย่อมจะต้องการปริมาณน้ำน้อยกว่าพืชที่เคยอยู่ในที่ๆ ชุ่มชื้นมาก่อน พืชบางชนิดต้องการความชื้นสูง เช่น กระวาน กานพลู พวกนี้ใช้น้ำมาก นอกนั้นต้องการน้อย ควรดูแหล่งกำเนิดว่าเป็นพืชที่มาจากไหน พืชสมุนไพร นั้นตั้งแต่โบราณก็ทราบกันดีว่ามีคุณค่าทางยามากมายซึ่ง เชื่อกันอีกด้วยว่า ต้นพืชต่างๆ ก็เป็นพืชที่มีสารที่เป็นตัวยาด้วยกันทั้งสิ้นเพียงแต่ว่าพืชชนิดไหนจะมีคุณ ค่าทางยามากน้อยกว่ากันเท่านั้น ปัจจุบันมีผู้พยายามศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนายาสมุนไพรให้สามารถนำมาใช้ในรูป แบบที่สะดวกยิ่งขึ้น เช่น นำมาบดเป็นผงบรรจุแคปซูล ตอกเป็นยาเม็ด เตรียมเป็นครีมหรือยาขี้ผึ้งเพื่อใช้ทาภายนอก
  • มันสำปะหลัง พืชที่ต้องการน้ำน้อย
    การปลูกพืชแต่ละอย่างควรอยู่ในแนวทาง การเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นทฤษฎีแห่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการบริหารงานในการทำการเกษตรที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช มหาราช ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย เพื่อแก้ไขปัญหาการเกษตร โดยการแบ่งพื้นที่การเกษตรออกเป็น 4 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งขุดสระกักเก็บน้ำ จำนวน 30% ของพื้นที่ ส่วนที่สอง ปลูกข้าว จำนวน 30% ของพื้นที่ ส่วนที่สาม ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นและส่วนที่สี่ เป็น พื้นที่ที่ใช้สร้างสิ่งปลูกสร้างเช่น ที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ฉาง จำนวน 10% ของพื้นที่ จำนวนสัดส่วนของพื้นที่นี้ทั้งหมดสามารถปรับเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพพื้นที่แต่ละแห่ง เช่นครอบครัวหนึ่งมีสมาชิกจำนวน 4 คน พื้นที่มีแหล่งน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี แต่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำก็ควรปรับลดพื้นที่ขุดสระ และเพิ่มพื้นที่นาข้าวเพื่อให้มีข้าวบริโภคเพียงพอตลอดทั้งปี


    ที่มา http://www.kasetorganic.com

เคลียร์ปัญหาน้ำเน่ากับ EM ฉบับการ์ตูน



ทำความเข้าใจปัญหาน้ำเน่ากับการแก้ปัญหาด้วย EM ผ่านการ์ตูน โดย ดร.อาทิตย์ นันทขว้าง อาจารย์สาขาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งระบุว่าวาดการ์ตุนตอนพิเศษเพื่อแบ่งปันความรู้แก่คนทั่วไปและคนที่ต้องการใช้หรือคิดจะใช้ EM เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในบ้าน โดยไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านหรือทำลายขวัญและกำลังใจแต่อย่างใด และอ้างอิงข้อมูลจากกิจกรรม “ระดมสมองนักวิทย์: EM กับน้ำเสียสู่สังคมอุดมปัญญา” ในเฟซบุค
      
      
      
      
      
      
      
      
      
      
      
      
      
       


ที่มา http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000141172