วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เท่าทันวิกฤต “เมล็ดพันธุ์” จุดเริ่มต้นของความไม่เป็นธรรม




เรื่อง/ภาพ : ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ

1...

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดยโสธร ชาวบ้านในที่แห่งนี้มีอาชีพปลูกแตงโมเป็นส่วนมาก ในสมัยนั้น พันธุ์แตงโมที่พวกเขานิยมปลูกกันมีอยู่ไม่กี่ชนิด และทั้งหมดล้วนเป็นพันธุ์พื้นบ้าน ที่เป็นเมล็ดพันธุ์แท้ๆ ที่พวกเขาสามารถนำกลับมาปลูกได้อีกไม่จำกัด เช่น พันธุ์บางเบิด พันธุ์หมอน

…แต่แล้ววันหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงก็มาเยือน เมื่อใครสักคนนำเมล็ดพันธุ์แตงโมและปุ๋ยมาให้พวกเขาฟรีๆ  เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ได้สร้างปรากฎการณ์ที่น่ายินดีในช่วงแรกพบ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ชาวบ้านได้รับผลผลิตจำนวนมากจากเมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ทำให้ปีต่อมา พวกเขาจึงเลือกปลูกแตงโมด้วยเมล็ดพันธุ์นั้นอีกครั้ง คราวนี้ เมล็ดพันธุ์กลับไม่ฟรีเหมือนครั้งแรก แต่พวกเขาต้องใช้เงินซื้อหามา ยิ่งไปกว่านั้น ในปีต่อๆ มา ราคากลับสูงขึ้นเรื่อยๆ

เพียงแค่ 3 ปี หลังจากวันแรกที่เมล็ดพันธุ์ซึ่งได้ผลผลิตมากในเวลาอันรวดเร็วเข้ามาในหมู่บ้าน เมล็ดพันธุ์แตงโมพื้นบ้านที่พวกเขาเคยปลูกได้ไม่จำกัดจำนวนครั้งก็หายไปอย่างสิ้นเชิง และหลังจากนั้นเพียง 10 ปี เมล็ดพันธุ์แตงโมที่เคยแจกฟรีก็ทะยานถึงกิโลกรัมละ 12,000 บาท  เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดกับหมู่บ้านนี้เพียงแห่งเดียว แต่หมู่บ้านรอบๆ นั้นก็เจอสถานการณ์เดียวกัน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ได้ส่งผลให้ปัจจุบัน คนที่ต้องการปลูกแตงโมสัก 10 ไร่ เขาจะต้องใช้เงินอย่างน้อยๆ ก็หลักแสนบาท ชีวิตของเกษตรกรจึงต้องเริ่มต้นจากการเป็น “หนี้” ทันที และปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแตงโมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องเจอในแทบทุกพันธุ์พืช

…นั่นคือจุดเริ่มต้นของการหายไปของเมล็ดพันธุ์ จากปากของผู้อยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่วันแรกนามว่า “โจน จันได” 



2...

 “แม้ประเทศไทยจะเลิกทาสไปนานแล้ว แต่ทุกวันนี้ เรากลับเป็นทาสกันโดยไม่รู้สึกตัว เพราะทุกๆ คำที่เราป้อนข้าวเข้าปาก เราจะต้องส่งเงินให้บริษัทผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ ลองดูว่าคำไหนที่เราป้อนเข้าปาก แล้วไม่ได้ส่งให้บริษัทเหล่านั้น  มันคือการส่งส่วย ทั้งที่แต่ก่อนไม่ได้ส่ง เรายังอยู่ได้ แต่ตอนนี้เราต้องส่งมันทุกคำข้าวเลย” โจนเล่าถึงสิ่งที่คนจำนวนมากละเลย

…และท่ามกลางวิถีชีวิตที่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่ รีบอาบน้ำแต่งตัวออกจากบ้าน และหักโหมกับการทำงานจนค่ำมืด ผู้คนจำนวนมากจึงอาจไม่ได้ใส่ใจในรายละเอียดระหว่างวันอย่างที่เขาว่าจริงๆ คนจำนวนไม่น้อยกลับจำยอมให้ทุกๆ จังหวะชีวิตของตัวเอง กลายเป็นการส่งเงินให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้น

นอกจากการเอาเปรียบในเชิงมูลค่า เรายังต้องเจอกับการที่ผู้ผลิตทำเพื่อ “ขาย” มากกว่าที่จะทำให้คนกิน ทำให้ในท้องตลาดจึงเต็มไปด้วยผักสีสวยสด และมีรูปลักษณ์สวยงาม แต่พืชพรรณเหล่านั้นกลับเต็มไปด้วยสารเคมี

และสิ่งสำคัญที่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของความซับซ้อนในเรื่องการ ‘ส่งส่วย’ ก็คือ “วิกฤตเมล็ดพันธุ์”

จากที่ “เมล็ดพันธุ์” เคยเป็นอาหาร เป็นชีวิต เป็นรากฐานของความอุดมสมบูรณ์ในการอยู่กิน และเป็นวิถีชีวิตที่ยั่งยืน  ในปัจจุบัน  “เมล็ดพันธุ์” กลับค่อยๆ กลายเป็นเครื่องมือในการเอาเปรียบระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค  ตามท้องตลาด มูลค่าเมล็ดพันธุ์ในซองขนาดเล็กที่ขายอยู่ทั่วไป แม้จะมีราคาไม่กี่สิบบาท แต่เมื่อเปิดมาดูภายใน เราจะพบว่ามันก็มีไม่กี่สิบเมล็ดเช่นกัน และในหลายๆ พันธุ์พืช เมื่อนำมาหารเฉลี่ย เราจะพบว่ามันมีราคาสูงถึงเมล็ดละ 1 บาทเลยทีเดียว 

การเอาเปรียบของ "ผู้ผลิตยักษ์ใหญ่" ที่จะเกี่ยวข้องกับ "ผู้ผลิตรายย่อย" ที่สำคัญมากก็คือ การทำให้ “เมล็ดพันธุ์” ที่ขายตามท้องตลาดเหล่านั้น ไม่สามารถปลูกซ้ำได้อีกครั้ง หรือถ้าปลูกได้ ก็จะได้ความสมบูรณ์ไม่เท่าเดิม

“การพัฒนาอาหารในปัจจุบัน มันไม่ได้พัฒนาเพื่อให้คนกิน แต่เป็นการพัฒนาเพื่อที่จะยึดครองโลกเท่านั้น” โจนเอ่ยขึ้น

“ชาวนาทำงานหนักมาก เขาต้องเปลี่ยนความอุดมสมบูรณ์เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเงินไปให้บริษัทเหล่านั้น  เพื่อให้บริษัทเหล่านั้นกลายเป็นคนที่รวยที่สุดในโลกคนหนี่ง และเกษตรกรก็กลายเป็นคนที่จนที่สุดในโลกคนหนึ่ง ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่าในการทำการเกษตร 60% ของเงินที่ลงไป จะต้องไปให้กับบริษัทเหล่านี้ อันนี้คือความซับซ้อนที่เกิดขึ้น โดยมีเมล็ดพันธุ์เป็นหนึ่งในเครื่องมือ แล้วอนาคตของเกษตรกรจะอยู่อย่างไร ถ้าพวกเขาเจอปัญหาอย่างนี้” โจน แสดงความเห็น และเล่าให้ฟังว่า เมื่อตอนเด็กๆ เมล็ดพันธุ์เป็นสิ่งที่คนจะแจกกัน ไม่ใช่สิ่งที่ขายกันอย่างในปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น ทัศนคติต่อ “การพัฒนาพันธุ์” ของสังคม ยังมีเป้าหมายวนเวียนอยู่เพียง 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ ผลผลิตสูง และเติบโตรวดเร็ว  เราจะพบว่าในระบบการศึกษาหลายแห่งก็สอนไปในแนวทางเดียวกันนี้ ไม่ต่างกัน

“โดยธรรมชาติ ไก่ใช้เวลา 3 เดือนถึงจะได้น้ำหนัก 1 กิโลกรัม แต่ทุกวันนี้ เขาก็พัฒนายังไงก็ได้ให้เหลือ 28-30 วัน แต่ไม่มีใครคำนึงถึงคุณค่าในอาหารเลย เช่น ในอดีต บล็อคคอรี่ 1 กรัมจะมีแคลเซียมอยู่ราว 9 มิลลิกรัม แต่ทุกวันนี้จะหลงเหลืออยู่เพียง 4.4 มิลลิกรัม  ในผักชนิดอื่นๆ ก็มีลักษณะเดียวกัน  หมอสมุนไพรจะไม่ใช้ยาสมุนไพรแบบที่ปลูกเร่งโต เพราะคุณภาพมันใช้ไม่ได้ เขาจะต้องไปหาในป่าที่คุณค่ามันเข้มข้นมาก มันถึงจะรักษาโรคได้” โจน ให้ข้อมูล

3...

สำหรับคนทั่วไป ชื่อของ โจน จันได อาจดูเป็นสัญลักษณ์ของ “บ้านดิน” ในประเทศไทย จากภารกิจที่เคยเดินทางอบรมบ้านดินตามจังหวัดต่างๆ มาจนเกือบทั้งประเทศ ถึงขนาดที่ว่า หลังจากที่ชีวิตของเขาเป็นที่รู้จักในสังคม เขาแทบไม่เคยอยู่ที่ไหนเกินหนึ่งเดือนติดต่อกันถึง 5 ปี  แต่วันหนึ่ง เมื่อเขารู้สึกว่าชีวิตที่เป็นอยู่เริ่ม “ยาก” ขึ้น เขาจึงตัดสินใจเปลี่ยนภารกิจในแต่ละวันของเขา โดยตั้งใจให้แต่ละวันเป็นไปอย่างเรียบง่าย พร้อมกับให้เวลาที่เหลืออยู่ของชีวิตกับการ “เก็บเมล็ดพันธุ์”

เขาให้เหตุผลว่า การเก็บเมล็ดพันธุ์แท้ๆ มันเป็นเหมือนดั่งทางออกของชีวิตมนุษย์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง เพราะชีวิตที่ไปผูกติดไว้กับกลไกตลาดอยู่ตลอดเวลาเป็นการใช้ชีวิตที่หาความแน่นอนไม่ได้ 

เมื่อการเก็บเมล็ดพันธุ์จำเป็นต้องปลูกพืชผักต่างๆ ตลอดปี แต่บ้านเกิดของเขาที่ยโสธรจะน้ำท่วมในหน้าฝน ทำให้ทำนาได้เพียงอย่างเดียว รวมทั้งหน้าแล้งก็ไม่มีน้ำที่จะปลูกอะไรได้ถนัดนัก เขาจึงตัดสินใจหาที่แปลงใหม่ให้กับชีวิต และมาได้ที่บ้านแม่โจ้ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

ในระยะแรก คือราว 8 ปีก่อน ครอบครัวเล็กๆ ของโจนเริ่มชีวิตที่ตัวเองเชื่อด้วยความพร้อมของพื้นที่เพียง “ศูนย์”

“ตอนเริ่มต้นมีต้นไม้เพียงสองต้น และโล่งไปหมด เงินก็ไม่มี ก็ลำบากในเริ่มต้น กินปลีกล้วย กินต้นกล้วย ช่วงแรกๆ เป็นช่วงที่สนุกที่สุด มันไม่มีอะไรกิน เป็นชีวิตที่ท้าทาย บางคนอาจจะท้อ แต่ผมว่ามันสนุกที่จะเผชิญตรงนั้น” โจนย้อนอดีตให้ฟัง

แต่ปัจจุบัน เนื้อที่ราว 20 ไร่ที่มาปักหลักอยู่ ก็ได้กลายเป็นสวนพันพรรณซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการพึ่งพาตนเองให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ และคนที่เดินทางไกลมาจากทั่วสารทิศ โดยสวนพันพรรณแห่งนี้ประกอบด้วย บ้าน โรงครัว โถงห้องประชุม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดทำจากดิน มีการปลูกผักไว้กินเอง โดยใช้เมล็ดพันธุ์แท้ๆ ที่ได้มาจากทั้งเพื่อนฝูงและการเก็บสะสมมาจากที่ต่างๆ รวมถึงการมีวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่อยู่อย่างเรียบง่าย

และแน่นอนว่าภารกิจที่เขาตั้งใจว่าจะทุ่มเท ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างดังหวัง เมล็ดพันธุ์จากที่มีไม่กี่ชนิดในตอนเริ่มต้น เขาก็เก็บมันจนมีอยู่ราว 200-300 พันธุ์ โดยหวังว่าจะเก็บได้ครบ “พัน” ตามชื่อ “สวนพันพรรณ” ในวันหนึ่งข้างหน้า

“คุณไม่จำเป็นต้องมาทำเหมือนผมก็ได้ แต่สิ่งที่ทุกคนพอจะทำได้ก็คือ ต้องพยายามต่อต้านพันธุ์ผสมให้มากที่สุด ไม่ให้เข้ามาในประเทศของเราเท่าที่จะทำได้ และพยายามปลูกพันธุ์พื้นบ้านให้มากที่สุด เพื่อที่จะได้หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ” โจน เล่าถึงวิธีการที่ทุกคนพอจะทำได้

และสำหรับคนที่มีวิถีชีวิตอยู่ในเมือง โจนบอกว่า ทุกคนสามารถทำในเป้าหมายเดียวกันกับเขาได้ ทั้งจากการเริ่มต้นปลูกกินเองเล็กๆ ในเมือง สนับสนุนคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ เปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้าสู่คำว่า “จำเป็น” จริงๆ และทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจนสามารถส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ให้กระจายออกไปให้มากขึ้นเรื่อยๆ  

เขามองว่า เนื่องจากปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับเรื่องนี้ เป็นเพราะคนส่วนมากยังไม่ทราบ “ถ้าคนจำนวนมากเห็นด้วย ต่างคนก็ต่างออกไปทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้”

“มันไม่ใช่แค่การปลูกผัก แต่จริงๆ แล้วมันคือการกลับมาสู่การใช้ ‘สติ’ อีกครั้งหนึ่ง ทำยังไงเราถึงจะมีชีวิตอยู่อย่างมีสติได้ ทุกครั้งที่เราจะจับอะไรเข้าปาก ทุกครั้งที่เราจะซื้ออะไรเข้ามาในชีวิตของเรา จะต้องใช้ ‘สติ’ ก่อน เราซื้อเพราะ ‘ชอบ’ หรือซื้อเพราะ ‘จำเป็น’  ถ้าเราซื้อเพราะชอบ แปลว่าเรายอมเอาตัวไปเป็นขี้ข้า เอาโซ่มามัดคอทันที แต่ถ้าเราซื้อเพราะความจำเป็น เราก็จะเป็นอิสร

“สิ่งต่างๆ ที่เป็นปัญหาอยู่ตอนนี้ เกิดจากเราซื้อเพราะชอบ เราจ่ายเงินซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็นเข้ามาในชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ บริษัทเหล่านั้นมันก็โตขึ้นเรื่อยๆ และเขาก็กลับมากินเรามากขึ้นเรื่อยๆ การทำสงครามกับบริษัทเหล่านี้ ไม่ใช่การจับอาวุธ สิ่งเดียวที่ทำได้ง่ายๆ ก็คือ ทำจากตัวเอง ลดการสนับสนุน แค่นี้เขาก็ตายแล้ว โรงงานผงชูรส ถ้าเราเลิกกิน มันก็จบ  ถ้าเราเริ่มได้ คนอื่นเห็น เขาก็เริ่มตามได้ อยู่ที่ว่าวันนี้เราจะเริ่มได้ไหม”


ที่มา : http://www.greenworld.or.th/greenworld/local/1201