วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
การใช้ประโยชน์จากยูเรียเป็นอาหารสัตว์
ในปัจจุบันราคาวัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารโปรตีนทั้งที่มาจากพืช และชนิดที่มาจากสัตว์ เช่น พวกกากถั่วต่างๆ และปลาป่น ฯลฯ มีราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เป็นอันมาก เนื่องจากอาหารโปรตีนชนิดต่างๆเหล่านี้เป็น ส่วนประกอบสำคัญในสูตรอาหารข้น หรืออาหารผสม ซึ่ง ใช้เป็นอาหารหลักของสัตว์กระเพาะเดี่ยว เช่น สุกรเป็ดไก่ ฯลฯ สำหรับสัตว์กระเพาะรวม หรือสัตว์เคี้ยวเอื้อง เช่น โคเนื้อ โคนม กระบือ ฯลฯ การให้อาหารข้นเป็นส่วนหนึ่งที่จำเป็นในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารหยาบ และเพิ่มผลผลิตของสัตว์เท่านั้น แนวทางที่นำวัสดุอาหารที่ให้โปรตีนสูงๆมาทดแทน อาหารโปรตีนจากธรรมชาต ิซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปคือ การใช้ไนโตรเจนที่ไม่ใช่โปรตีนแท้ (Non-Protein Nitrogen หรือ NPN.) มาใช้ผสมในอาหาร-สัตว์นั้น เป็นไปได้มากในสัตว์เคี้ยวเอื้องเท่านั้น เนื่องจากสัตว์ประเภทนี้มีความสามารถ ใช้ประโยชน์จากแหล่งโปรตีนคุณภาพต่ำ และจากสารประกอบไนโตรเจนที่ไม่ใช่โปรตีน แล้วสามารถเปลี่ยนให้เป็นโปรตีน เพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวสัตว์เองได้โดยขบวนการของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในกระเพาะส่วนหน้า ซึ่งสัตว์กระเพาะเดี่ยว ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากความแตกต่างกันทางระบบย่อยอาหารของสัตว์ทั้ง 2 ชนิด แหล่งของไนโตรเจนที่ใช้ได้แก่ ยูเรีย ไบยูเรต ไดแอมโมเนียม ฟอสเฟต ฯลฯ แต่ที่นิยมใช้กันมากคือ ปุ๋ยยูเรีย หรือที่รู้จักกันในหมู่เกษตรกรผู้ใช้คือ ปุ๋ยเย็น หรือปุ๋ยน้ำตาลยูเรีย จะมีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆขนาดเล็กมีสีขาวขุ่น หาซื้อได้ง่ายราคาไม่แพง และสะดวกในการใช้ยูเรียเป็นสาร ประกอบมีไนโตรเจน เป็นองค์ประกอบอยู่ถึง 46% ในการวิเคราะห์หาโปรตีนทั่วไป นิยมวัดปริมาณไนโตรเจนเป็นหลักแล้ว คูณด้วย ปริมาณโปรตีนเฉลี่ย 16% (6.25) ดังนั้น ยูเรียจะมีเปอร์เซ็นต์โปรตีนเท่ากับ 287.5 เปอร์เซ็นต์
การนำปุ๋ยยูเรียมาใช้ประโยชน์
ปุ๋ยยูเรียสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ 2 ประการคือ นำผสมลงในอาหารข้นโดยตรง หรือใช้ปุ๋ยยูเรีย เพื่อปรับปรุงคุณภาพของอาหารหยาบคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว ทั้งนี้แล้วแต่วัตถุประสงค์ของผู้ใช้ จุดประสงค์ของการนำยูเรียมาใช้ผสมในอาหารสัตว์ เพื่อทดแทนอาหารโปรตีนจากธรรมชาติ และลดต้นทุนค่าอาหาร โดยจะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และคุณค่าทางโภชนะเป็นสำคัญ วิธีนี้นับการใช้ปุ๋ยยูเรียผสมน้ำราดผสมกับฟางข้าวหมักทิ้งไว้ 21 วัน โดยใช้ปุ๋ยยูเรีย 6 เปอร์เซนต์ ก็จะทำให้ฟางข้าวหลังการหมักแล้ว มีคุณค่าทางอาหารสูงขึ้น สะดวกสำหรับผู้ใช้ และสัตว์เลี้ยงจะได้รับประโยชน์จากปุ๋ยยูเรีย โดยตรงจากการสลายตัวในกระเพาะหมัก หรือในส่วนของลำไส้เล็ก เมื่อพิจารณาในแง่เศรษฐกิจแล้ว ราคายูเรียจะถูกกว่า และ ให้ปริมาณของโปรตีนมากกว่าการใช้ปลาป่นและกากถั่วต่างๆ ซึ่งการใช้ปุ๋ยยูเรีย เป็นแหล่งโปรตีนผสมในอาหารข้น จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูง โดยจุลินทรีย์นั้นต้องมีแหล่งคาร์โบไฮเดรทที่ย่อยได้ง่ายๆ (แป้ง) เพียงพอ เช่น ข้าวโพด ปลายข้าว มันเส้น รำละเอียด ฯลฯ มีแร่ธาต ุและวิตามิน ผสมอยู่ด้วย การให้สัตว์เคี้ยวเอื้องกินยูเรีย โดยตรง หรือผสมกับน้ำให้กินในปริมาณมากๆ สัตว์อาจจะตายได้ เนื่องจากยูเรียสามารถสลายตัวให้แอมโมเนียในกระเพาะรูเมน ถ้าสัตว์ได้รับยูเรียในระดับสูง หรือในสภาพที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดแอมโมเนียในกระเพาะ เกินกว่าที่จุลินทรีย์จะนำไปสร้างโปรตีนได้ทัน ร่างกายจึงต้องมีการกำจัดออก โดยเปลี่ยนเป็นยูเรียที่ตับ และขับออกทางปัสสาวะ ถ้าระดับของแอมโมเนีย สูงเกินกว่าร่างกายจะกำจัดได้ทัน ก็จะเกิดเป็นพิษสัตว์อาจถึงตาย ถ้าช่วยไม่ทัน ดังนั้น ก่อนนำยูเรียไปใช้ผสมในสูตรอาหาร จึงควรศึกษาให้ดีเสียก่อน
ปริมาณที่ใช้ผสมในอาหาร
การใช้ยูเรียในสูตรอาหารข้น สำหรับเคี้ยวเอื้องแต่ละประเภทจะต่างกันไป ฉลอง(2532) รายงานว่า ยูเรีย 1 กิโลกรัม ผสมกับเมล็ดข้าวโพด 6 กิโลกรัม จะให้คุณค่าเท่ากับกากถั่วเหลือง 7 กิโลกรัม ถึงแม้การใช้ยูเรียร่วมกับเมล็ดข้าวโพด ราคาถูกกว่าการใช้กากถั่วเหลืองล้วนๆ ก็ตาม การใช้ยูเรียในสูตรอาหารสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูงๆ เช่น ในโคนมก็มีข้อจำกัด คือ ในสูตรอาหารข้นสำหรับโคนม ที่ให้ผลผลิตต่ำกว่า 20 กก./วัน จะใช้ได้ไม่เกิน 1.5 เปอร์เซ็นต์ ของสูตรอาหารข้น และสำหรับโคนมที่ให้ผลผลิตนมสูงกว่า 20 กก./วัน จะใช้ได้ไม่เกิน 0.75 เปอร์เซนต์ ของสูตรอาหารข้น หรือ ไม่ควรใช้ในสูตร อาหารข้นเลย (Mudd,1977) ในสูตรอาหารข้นสำหรับโคเนื้อใช้ได้สูงถึง 2.5 เปอร์เซ็นต์ ของอาหารข้น (Corse,1981) และโค-กระบือที่มีน้ำหนักมากกว่า 350 กิโลกรัม ควรได้รับยูเรียไม่เกิน 136 กรัม/ตัว/วัน โค-กระบือมีน้ำหนักระว่าง 230-350 กก. ควรได้รับยูเรียไม่เกิน 90 กรัม/ตัว/วัน และโค-กระบือมีน้ำหนักระหว่าง 130-230 กก. ควรได้รับยูเรีย ไม่เกิน 45 กรัม/ตัว/วัน (สมิต,2532) การใช้ยูเรียในสูตรอาหารข้น นอกจากจะต้องมีแหล่งคาร์โบไฮเดรทอย่างเพียงพอแล้ว ควรผสมกำมะถันลงในสูตรอาหารด้วย เพื่อให้จุลินทรีย์ในกระเพาะสามารถผลิตกรดอะมิโนที่จำเป็น ชนิดที่มีกำมะถัน เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยได้ กำมะถันที่ใช้ประมาณ 0.10.2 เปอร์เซนต์ หรืออัตราส่วนของยูเรียต่อกำมะถันคือ N:S=10:1 นอกจากจะใช้ยูเรียผสมในสูตรอาหารข้นแล้ว ยังสามารถใช้ยูเรีย เพื่อปรับปรุงคุณภาพ หรือคุณค่าทางอาหารของอาหาร หยาบที่มีคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว ฯลฯ ให้ดีขึ้นโดยใช้ยูเรีย 6 เปอร์เซ็นต์ ผสมน้ำหมักกับฟางข้าวใช้เวลา 21 วัน แล้วนำออก ใช้เลี้ยงโค-กระบือ ฟางหมักยูเรียจะให้คุณค่าทางอาหาร และการย่อยได้สูงกว่าฟางข้าวธรรมดา (สถานนีบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่, 2525) ซึ่งสมคิด และคณะ(1984) รายงานการใช้ฟางข้าวหมักยูเรีย แล้วนำมาเลี้ยงโคนมสาวเปรียบเทียบ กับการเลี้ยง ด้วยฟางข้าวธรรมดาหญ้าแห้งและหญ้าสด ปรากฎว่า การเลี้ยงด้วยฟางหมักยูเรีย จะมีอัตราการเพิ่มน้ำหนักใกล้เคียงกับ การใช้หญ้าแห้งและหญ้าสด และสูงกว่าโคที่เลี้ยงด้วยฟางข้าวธรรมดา นอกจากนั้นสมคิด และคณะ(1984) ยังรายงาน ไว้ด้วยว่าการใช้ฟางข้าวหมักยูเรียเป็นอาหารหยาบ เลี้ยงโคกำลังรีดนมโคสามารถให้ผลผลิตน้ำนมได้ไม่แตกต่างกับโคที่กินหญ้าสด นอกจากนั้น อาจใช้ยูเรีย 1.52 กิโลกรัม ผสมกับกากน้ำตาล 7.5 กิโลกรัม ผสมน้ำราดบนฟางข้าวให้โคกระบือ กินได้ทันที (จีระชัย และบุญล้อม,2529,และจินดา และคณะ,2527) วิธีนี้ถ้าใช้เลี้ยงโค-กระบือเป็นเวลานานๆควรต้อง เสริมวิตามินเอ ดี และอี ด้วย
ขบวนการใช้ประโยชน์ของโปรตีน จากอาหารในสัตว์เคี้ยวเอื้อง
การย่อยสลายของอาหารโปรตีนแท้ และไนโตรเจนที่มาจากโปรตีนไม่แท้ ในสัตว์เคี้ยวเอื้องจะเกิดขึ้น เมื่อสัตว์กินอาหารเข้าไปถึงกระเพาะหมัก ซึ่งที่นั่นจะมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่จำนวนมาก และหลายชนิดประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ของ อาหารที่เป็นโปรตีนแท้ จะถูกย่อยสลายให้เป็นแอมโมเนีย โดยจุลินทรีย์ในกระเพาะหมัก ส่วนอีก 40 เปอร์เซ็นต์ จะไหล ผ่านไปยังกระเพาะจริง และลำไส้ สำหรับสารประกอบที่ไม่ใช่โปรตีนแท้ (ยูเรีย) จะถูกย่อยสลายเป็นแอมโมเนียทั้งหมด แอมโมเนียที่ได้จากโปรตีนแท้ และแอมโมเนียจากสารประกอบไม่ใช่โปรตีนทั้งหมดส่วนหนึ่ง จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกับพลังงาน โดยจุลินทรีย์ เพื่อการเจริญเติบโตของตัวมันเอง กลายเป็นจุลินทรีย์โปรตีนแอมโมเนีย บางส่วนจะผ่านเข้ามาในระบบการย่อยอาหารใหม่ทางน้ำลาย และผนัง ของกระเพาะรูเมน ซึ่งการหมุนเวียนของแอมโมเนียระบบนี้ จะสามารถช่วยให้สัตว์เคี้ยวเอื้องได้รับไนโตรเจนเพิ่มขึ้น ในช่วงระยะที่สัตว์อดอาหาร หรือได้รับอาหารมีไนโตรเจนต่ำ โดยการใช้ประโยชน์จากแอมโมเนียส่วนนี้ สำหรับบางส่วนที่เหลือ จะถูกส่งไปที่ตับเปลี่ยนเป็น ยูเรีย และขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ จุลินทรีย์โปรตีน และโปรตีนที่เหลือจะผ่านมายังกระเพาะจริง และลำไส้เล็ก ซึ่งจะถูกย่อยสลาย และถูกดูดซึมนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อการดำรงชีพการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตสำหรับตัวสัตว์ต่อไป ส่วนที่ไม่สามารถสลาย และดูดซึมได้ก็จะถูกขับออกมาจากร่างกายทางอุจจาระดู จากภาพประกอบด้านล่าง
ข้อเสนอแนะ ในการใช้ยูเรียผสมในอาหารสัตว์
1.ใช้อาหารผสมยูเรียเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีกระเพาะรูเมน เจริญเติบโตแล้วเท่านั้น อย่าใช้ยูเรียกับลูกสัตว์หรือสัตว์ กระเพาะเดี่ยว
2. ใช้ยูเรียในสูตรอาหารข้น ที่มีโปรตีนหยาบต่ำกว่า 13 -14 เปอร์เซ็นต์
3. ในสูตรอาหารจะต้องมีคาร์โบไฮเดรทที่ย่อยง่ายอยู่สูง เช่น มันเส้น ข้าวโพด รำละเอียด ปลายข้าว ฯลฯ
4.ยูเรียไม่มีพลังงานแร่ธาตุ และวิตามินการใช้ยูเรียเป็นแหล่งไนโตรเจน แทนโปรตีนธรรมชาติ จึงควรเสริมโภชนะ เหล่านี้ลงไปด้วย
5.การใช้ยูเรียผสมในอาหารข้นไม่ควรเกิน 3 เปอร์เซนต์ ของอาหารข้น หรือ 1 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณวัตถุแห้งที่สัตว์กินได้ หรือเกิน 30 กรัมต่อน้ำหนักตัว 100 กิโลกรัม
6. ยูเรียจะมีรสชาดเฝื่อน สัตว์ไม่ชอบกิน ควรผสมกากน้ำตาล เพื่อเพิ่มรสชาด
7. ควรใช้ยูเรียผสมลงในอาหารวันละน้อย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงระดับที่ต้องการ เพื่อสัตว์จะได้มีเวลาปรับตัว
8.การผสมยูเรียลงในอาหารข้น ต้องผสมให้เข้ากันดีอย่าให้เป็นก้อน และไม่ควรใช้ยูเรียละลายน้ำให้สัตว์ดื่มโดยตรง เพราะสัตว์จะกินเข้าไปครั้งละมากๆ และอาจเป็นอันตรายได้
การเป็นพิษจากยูเรีย และการรักษา
ยูเรียเองไม่เป็นพิษต่อสัตว์ การเป็นพิษจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อยูเรียสลายตัวได้แอมโมเนีย ซึ่งตัวแอมโมเนียนี้เองจะเป็นพิษ กับเนื้อเยื่อ เมื่อสัตว์กินอาหารมีโปรตีนสูงๆ หรือสารประกอบที่ไม่ใช่โปรตีนแท้มากเกินไป เช่น ยูเรียจะมีผลให้ในกระเพาะ รูเมน ผลิตแอมโมเนียมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดเกินกว่า 2 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ สัตว์จะแสดง อาการเป็นพิษ และถ้าแอมโมเนียในเลือดสูงถึงระดับ 3 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ สัตว์จะเป็นอันตรายถึงตายได้ อาการที่เห็นทั่วไปคือ หลังจากกินยูเรียเข้าไปประมาณ 20 นาที จะแสดงอาการน้ำลายฟูมปากหายใจลึก หรือหายใจลำบากมีอาการทาง ประสาทกล้ามเนื้อ ชักกระตุก อย่างรุนแรง ท้องอืด สัตว์จะล้มลงนอน และตายในที่สุด (Fraser,1963,Dinningetal.,1984) วิธีหนึ่งที่จะช่วยลดพิษได้ โดยการใช้น้ำส้มสายชู และน้ำเย็นอัตรา 1:1 กรอกใส่ปากให้เร็วที่สุด (Pieter และdeKock,1962; Clarke and Clarke, 1963 และ Church, 1979)
สรุป
การใช้ปุ๋ยยูเรียทดแทนอาหารโปรตีนจากธรรมชาติในอาหารข้น สำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้องนั้น จะช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร และสามารถทำให้การผลิตสัตว์ มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการใช้โปรตีนจากธรรมชาติ ซึ่งมีราคาแพงกว่า ถ้าผู้ใช้จะได้ทำ ความเข้าใจถึงวิธีการใช้ยูเรียอย่างถูกต้อง กับขนาด และชนิด ของสัตว์ ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากยูเรียได้อย่างมีประสิทธิ ภาพยิ่งขึ้น สำหรับการใช้ยูเรียเพื่อปรับปรุงคุณภาพ ของอาหารหยาบคุณภาพต่ำ เช่น ฟางข้าว จะสามารถทำให้อาหารหยาบนั้น มีคุณภาพสูงพอ ๆ กับหญ้า โดยจะมีการย่อยได้ของวัตถุแห้ง และปริมาณการกินได้ของสัตว์เพิ่มขึ้น
ที่มา http://www.dld.go.th/nutrition/Nutrition_Knowlage/ARTICLE/ArtileC.htm