ภาพที่คุ้นตาสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุก นั่นคือการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ แต่นาทีนี้ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพการเลี้ยงปลา ให้ต่างไปจากช่วงที่ผ่านมา
โดยเป็นฝีมือและผ่านการคิดค้นของนักศึกษาและคณาจารย์ แห่งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง ด้วยการออกแบบถังพลาสติก 200 ลิตรในระบบน้ำหมุนเวียนมาเลี้ยงปลาดุกรัสเซียจนประสบความสำเร็จ
อรัณย์ พรหมบางยวน นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง เปิดเผยว่า การเลี้ยงปลาดุกด้วย ระบบน้ำหมุนเวียนในถังพลาสติกกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนี้ หลังจากผ่านกระบวนการคิดค้นและทดลองจนสัมฤทธิ์ผลเมื่อปลายปี2553 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เมื่อได้นำออกสู่สายตาสาธารณชน และที่สำคัญในกลุ่มภาคเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกได้ให้ความสนใจและมีกระแสตอบรับกลับมาเป็นอย่างดี
เนื่องจากการเลี้ยงปลาดุก โดยเฉพาะปลาดุกรัสเซียในถังพลาสติก 200 ลิตรในระบบน้ำหมุนเวียน นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าเลี้ยงในบ่อซีเมนต์แล้ว ยังจะทำให้ได้ปลาดุกคุณภาพ ดีไม่มีร่องรอยบอบช้ำอันเนื่องมาจากลำตัวปลาเมื่อต้องสัมผัสหรือกระทบกับ ผนังบ่อ ซึ่งมีพื้นผิวหยาบและกระด้าง อันเป็นต้นเหตุของการทำให้เสียราคาเวลาจับปลาออกจำหน่ายในท้องตลาด ที่สำคัญสามารถเพาะเลี้ยงได้ในพื้นที่อันจำกัด
ต้นทุนสำหรับการสร้างถังพลาสติก 200 ลิตรเพื่อเลี้ยงปลาดุกรัส เซียสนนราคาอยู่ที่1,500-2,000บาทเท่านั้น ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้มีคุณสมบัติอายุการใช้งานนาน มีความทนทาน ราคาถูก หาซื้อได้ทั่วไป เคลื่อนย้ายสะดวก ที่สำคัญระบบการเลี้ยงปลาแบบนี้ที่ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ เพราะน้ำที่ผ่านการเลี้ยงปลาแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านขบวนการบำบัดทางชีวภาพ ซึ่งเป็นระบบที่ประหยัดน้ำ และเป็นระบบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้เลี้ยงสามารถนำผัก เช่น ผักบุ้งและผักกระเฉดมาปลูกในถังกรองได้
“เริ่มแรกเราใช้ปลาดุกรัส เซียเป็นปลาทดลอง เนื่องจากเป็นปลาที่สามารถหาลูกพันธุ์ได้ง่าย และเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งมีอัตราการเจริญเติบโตดี ขายคล่อง เมื่อประชาชนทราบข่าวทำให้มีเกษตรกรผู้สนใจมาขอความรู้และให้พวกเราช่วยออก แบบให้อย่างแพร่หลาย" อรัณย์ กล่าว
ด้าน ประพัฒน์ ปานนิล อาจารย์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง กล่าวว่า การเลี้ยงปลาดุกรัส เซียในถังพลาสติก 200 ลิตร ในระบบน้ำหมุนเวียน สามารถเลี้ยงปลาได้จำนวน 50 ตัว น้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 3.42 กรัม ความยาวเฉลี่ย 6.5 เซนติเมตร การให้อาหาร 4 วันแรกให้อาหารกุ้งเบอร์ 3 อย่างเดียว วันที่ 5-17 ให้อาหารกุ้งเบอร์ 3 ร่วมกับอาหารปลาดุกเล็ก และตั้งแต่วันที่ 17-78 วัน ให้อาหารปลาดุกเล็ก ตลอดการทดลอง โดยให้อาหารวันละ 3 ครั้ง แต่ละครั้งให้จนปลาอิ่ม ตรวจวัดคุณภาพน้ำ ค่าแอมโมเนีย อัลคาลินิตี้ และ pH ทุก 7 วัน ช่วง 20 วันแรกไม่ต้องล้างกรอง ช่วง 21-40 วัน ล้างกรอง 4 วันต่อครั้ง และช่วงอายุการเลี้ยง 40-78 วัน ล้างกรอง 1-2 วันต่อครั้ง
“การเลี้ยง ในระบบน้ำหมุนเวียนคือ การนำน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการผ่านการบำบัดทางชีวภาพซึ่งในขั้นตอนนี้สามารถนำผักมาปลูกเพื่อเป็น อาหารได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังได้ปลาดุกมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด" ประพัฒน์ กล่าว
หากเกษตรกรรายใดสนใจการเลี้ยงปลาดุกด้วย ระบบน้ำหมุนเวียนในถังพลาสติก 200 ลิตร สามารถติดต่อไปได้ที่โทร.08-7275-2148 ทีมวิจัยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง ยินดีให้คำปรึกษาและแนะนำตลอดเวลาในวันและราชการ
ที่มา http://www.komchadluek.net