วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

การขยายพันธุ์ ลองกอง

ลองกอง ในประเทศไทยมีหลายชนิด มีลักษณะแตกต่างกันมากบ้างน้อยบ้างความแตกต่างดั้งเดิมที่เริ่มค้นพบลองกอง สายพันธุ์ลองกองที่รวบรวมได้ทั้งหมด 7 สายพันธุ์ ดังนี้

1.ลองกองทั่วไป
ลักษณะเด่นของผลที่พบได้แก่ผลค่อนข้างกลม ขนาดของผลค่อนข้างสม่ำเสมอกันทั้งช่อ ขนาดของผลโดยเฉลี่ย กว้าง 2.88 ซ.ม. และยาว 3.26 ซ.ม. เปลือกผลมีสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล มีรอยด่างสีดำคล้ายเขม่าจับอยู่เกือบทั่วผล มีจุดสีน้ำตาลประปราย เปลือกผลหนาประมาณ 1 ม.ม. ลักษณะของผลในช่อค่อนข้างแน่น มีน้ำยางขาวขุ่น (ผลค่อนข้างสด) จำนวนเมล็ดขนาดใหญ่ 1-0 เมล็ดต่อผล มักพบเมล็ดลีบ 1-2 เมล็ดต่อผล ถ้าผลไหนมี 4 กลีบจะพบเมล็ดทั้ง 4 กลีบ (ใหญ่ 3 เล็ก 1) ถ้าปอกหรือบีบผลตามแนวยาวจะไม่พบน้ำยางขาวขุ่นเลย ผลมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว(ผลค่อนข้างสด)
ลักษณะผลของลองกองทั่วไป
ลักษณะผลของลองกองทั่วไป


 2.ลองกองแกแลแมร์ (ลองกองแปรแมร์)         
           ลักษณะเด่นของผลที่พบได้แก่ ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมถึงกลม ขนาดของผลโดยเฉลี่ยกว้าง 3.14  ซ.ม.ยาว 3.30 ซ.ม.ผิวเปลือกมีสีเหลืองอ่อน มีจุดสีน้ำตาลประปราย ขนาดของผลในช่อค่อนข้างสม่ำเสมอ ขนาดของผลปลายช่อจะมีขนาดเล็กกว่าส่วนอื่นๆ ผลมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เมื่อผ่า เมื่อผ่าตามขวางพบปริมาณน้ำยางขาวขุ่นค่อนข้างมาก แต่ถ้าแกะเปลือกผลตามยาวจะไม่พบน้ำยาง ผลค่อนข้างแห้ง ไม่ฉ่ำน้ำเนื้อผลมีรสหวานสนิท
ลักษณ์ผลของลองกองแกแลแมร์
ลักษณะผลของลองกองแกแลแมร์
3.ลองกองคันธุลี  
          ลักษณะเด่นของผลที่พบได้แก่ ขนาดของช่อค่อนข้างใหญ่ ขนาดของผลโดยเฉลี่ย กว้าง 3.30 ซ.ม. และยาว 3.59 ซ.ม.ผลมีน้ำหนักมาก ผลแน่นเต็มช่อ ลักษณะของผลค่อนข้างกลม มีจุดสีน้ำตาลประปรายเห็นได้ชัดเจน สีของเปลือกผลค่อนข้างเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน มีรอยด่างคล้ายคราบเขม่ากระจายอยู่ทั่วทั้งผล พบเมล็ดทั้งใหญ่และลีบในผลเดียวกัน ผลมีรสหวานสนิท


ลักษณะผลของลองกองคันธุลี
ลักษณะผลของลองกองคันธุลี
4.ลองกองธารโต
           ลักษณะเด่นของผลที่พบได้แก่ ผลค่อนข้างกลม ขนาดของผลค่อนข้างสม่ำเสมอกันทั้งช่อ ขนาดของผลโดยเฉลี่ยกว้าง 3.01 ซ.ม. และ ยาว 3.14 ซ.ม. เปลือกผลมีสีเหลืองนวล ผิวค่อนข้างเกลี้ยง มีจุดประสีน้ำตาลเล็กน้อยบริเวณปลายผลขั้วผลติดช่อค่อนข้างแน่น จำนวนเมล็ดต่อผลน้อย พบเมล็ดลีบบ้างเนื้อผลแห้ง มีรสชาติหวานเปลือกหนา และสามารถแกะเปลือกได้ง่าย



ลักษณะผลของลองกองธารโต
ลักษณะผลของลองกองธารโต
5.ลองกองไม้
          ลักษณะเด่นของผลที่พบได้แก่ ลักษณะของผลค่อนข้างกลม พบทรงรีบ้าง ขนาดของผลโดยเฉลี่ยกว้าง 3.25 ซ.ม.และยาว 3.47 ซ.ม. เปลือกผลมีสีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน มีจุดสีน้ำตาลประปราย แต่ค่อนข้างน้อย ผิวผลเรียบ จำนวนผลต่อช่อไม่มากนัก ช่อดอกมีขนาดสั้น ถ้าผลไหนไม่พบเมล็ดใหญ่ จะพบเมล็ดลีบแทน เมล็ดลีบมีสีน้ำตาล เปลือกผลค่อนข้างบางน้อยกว่า 1 ม.ม.



ลักษณะผลของลองกองไม้
ลักษณะผลของลองกองไม้
6.ลองกองเปลือกบาง
          ลักษณะเด่นของผลที่พบได้แก่ ลักษณะผลค่อนข้างกลม มีบ้างที่คล้ายรูปหยดน้ำ ขนาดของผลโดยเฉลี่ย กว้าง 3.19 ซ.ม.และยาว 3.56 ซ.ม. เปลือกผลมีสีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน มีจุดสีน้ำตาลประปรายค่อนข้างมาก ที่บริเวณเปลือกผลมีคราบคล้ายเขม่าสีดำติดอยู่ ความหนาของเปลือกแทบจะไม่แตกต่างจากลองกองปกติ สามารถปอกเปลือกผลได้ง่าย ผลแห้งไม่ฉ่ำน้ำมีรสชาติหวานสนิท


ลักษณะผลของลองกองเปลือกบาง
ลักษณะผลของลองกองเปลือกบาง
7.ลองกองกาญจนดิษฐ์
          ลักษณะเด่นของผลที่พบได้แก่ ลักษณะของผลกลมรี ขนาดของผลโดยเฉลี่ย กว้าง 3.04 ซ.ม. และยาว 3.42 ซ.ม.ขนาดของช่อค่อนข้างสั้น เปลือกผลมีสีเหลืองนวลถึงสีน้ำตาล มีจุดสีน้ำตาลประปรายทั่วผลเปลือกไม่หนามากและผลมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน

ลักษณะผลของลองกองกาญจนดิษฐ์
ลักษณะผลของลองกองกาญจนดิษฐ์



          การขยายพันธุ์ลองกอง
 เพื่อจุดมุ่งหมายให้ได้ต้นพันธุ์ดี พันธุ์แท้สามารถทำได้หลายวิธีทั้งเพาะเมล็ด ทาบกิ่ง ต่อกิ่ง(เสียบยอดและเสียบข้าง)และติดตา
          1. การเพาะเมล็ด ทำได้โดยคัดเลือกเมล็ดลองกองพันธุ์แท้มาปลูกโดยมั่นใจว่าไม่มีเมล็ดพันธุ์อื่น เช่น ลางสาด ดูกูมาปะปนโดยที่ผลลองกอง 100 ผล หนักประมาณ 2 กก. จะมีเมล็ดสมบูรณ์เพียงประมาณ 10-12 เมล็ดเท่านั้น ล้างเมล็ดให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้งแล้วนำไปเพาะทันที ในขี้เถ้าแกลบผสมทราบ ในอัตรา 1:1 โดยฝังเมล็ดในวัสดุ เพาะลึกประมาณครึ่งเซนติเมตรแล้วเกลี่ยกลบด้วยวัสดุเพาะ ดูแลรดน้ำให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เมล็ดก็จะเริ่มงอกหลังจากเพาะประมาณ15-45วัน เมล็ด1เมล็ดจะงอกได้ต้นกล้าประมาณ1-3ต้นจากนั้นเมื่อใบคู่แรกแก่เต็มที่จึงย้ายไปปลูกในถุงเพาะชำต่อไป
          2. การทาบกิ่ง ต่อกิ่งและติดตา โดยใช้ต้นตอที่เพาะเมล็ดจากดูกูหรือลางสาด ตามวิธีเดียวกับเพาะเมล็ดลองกองที่กล่าวแล้วข้างต้น จะประสบความสำเร็จมากกว่าการถอนต้นกล้าจากใต้ต้นมาทำเป็นต้นตอ ซึ่งต้นตอที่เหมาะสมควรจะมีอายุิประมาณ7-10 เดือนส่วนต้นแม่พันธุ์ควรเป็นต้นพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตแล้ว และควรทำการขยายพันธุ์ในฤดูฝน เพราะต้นตอและต้นแม่พันธุ์อยู่ในระยะการเจริญเติบโตมีความสมบูรณ์สูง รวมทั้งเป็นระยะที่ความชื้นในอากาศสูงซึ่งจะช่วยให้เนื้อเยื่อบริเวณรอยต่อประสานกันได้อย่างสมบูรณ์
การทาบกิ่ง วิธีทาบกิ่งที่ให้ผลดี คือ การทาบกิ่งแบบปาด ดัดแปลง หรือฝานบวบแปลง
การต่อกิ่ง ทำได้ 2 วิธี คือ การเสียบยอด และ เสียบข้าง
          การเสียบยอดเป็นวิธีที่นิยมกันมากที่สุด ต้นตอที่เหมาะสม สมควรมีขนาดประมาณครึ่งเซนติเมตร กิ่งพันธุ์ที่นำมาใช้จะมีขนาดใหญ่หรือเล็กกว่าต้นตอก็ใช้ได้ โดยใช้เทคนิคจัดแนวเนื้อเยื่อเจริญให้ตรงกันด้านใดด้านหนึ่ง โดยถ้ากิ่งพันธุ์ดีมีขนาดใหญ่กว่าต้นตอ
ให้ใช้ไมไผ่ผ่าซีกมาช่วยค้ำพยุงลำต้นจนกว่ารอยแผลประสานกันสนิท
          การเสียบข้าง วิธีนี้เหมาะกับต้นตอที่มีอายุมากกว่า 1 ปี หรือมีขนาดประมาณแท่งดินสอหรือใหญ่กว่า ซึ่งเนื้อไม้จะเริ่มแข็งการ ผ่าต้นตอเพื่อเสียบยอดทำได้ยากและรอยแผลช้ำ สำหรับวิธีนี้ถ้าทำครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จก็สามารถนำต้นตอกลับมาใช้ได้อีกครั้งหนึ่ง
          การติดตาวิธีที่ได้ผลดีคือ การติดตาแบบเพลท ต้นตอที่ใช้มีขนาดใหญ่เหมือนกับที่ใช้ในการเสียบข้าง และจะต้องมีความสมบูรณ์เปลือกร่อนได้ง่าย สำหรับแผ่นตาพันธุ์ดีก็ควรเป็นตาที่สมบูรณ์และมีใบติดที่แผ่นตาด้วย