วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การเปลียนยอดมะเขือพวงเป็นพันธุ์ใหม่

การเปลียนยอดมะเขือพวงเป็นยอดมะเขือยาว เป็นการเปลียนยอดที่มีความสนใจของผู้เขียนก็เลยนำความรู้มาให้สมาชิกคนเกษตร ดอทคอมได้นำไปทดลองทำดู ข้อดี ในการเปลียนยอดแบบนี้ จะทำให้ลูกดกและสมบูรณ์ ลูกใหญ่ และมีอายุอยู่ได้หลายปีไม่ต้องปลูกใหม่ จะเริ่มกันเลยนะครับ

เริ่มจากการเตรียมอุปกรณ์ในการเปลียนยอดนะครับ

1.ถุงพลาสดิก

2.มีดคัตเตอร์

3.เชือกสำหรับใช้รัด

4.ต้นมะเขือพวงที่จะเปลียนยอด

5.กิ่งพันธุ์มะเขือยาว

6.เทปพลาสติก

เมื่อเตรียมอุปกรณ์ครบแล้วก็เริ่มเลยนะครับ

1.เริ่มจากการตัดต้นมะเขือพวง ดังรูป

2.ฝ่าครึ่งต้นมะเขือพวงลึกประมาณ1นิ้ว ดังรูป

3.ตัดกิ่งมะเขือพวงตัดแนวเฉียงเป็นลิ่ม เสียบลงตรงระหว่างรอยฝ่าของต้นมะเขือพวง เมื่อเสร็จตามขั้นตอนที่กล่าวมา ก็ใช้ก็ใช้เทปพลาสติกพันแผลที่เสียบให้แน่น

4.แล้วก็ใช้ถุงพลาสติกครอบไว้ดังรูปเป็นอันเสร็จ

เมื่อทำเสร็จแล้วก็สังเกตดูว่าภายใน15วันกิ่งที่เสียบไม่เน่าก็แสดงว่ารอดแล้ว ก็จะได้ต้นมะเขือพวงยอดมะเขือยาว

ที่มา http://khonkaset.com


เลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบคอนโด


" กุ้งก้ามกราม" จัดเป็นกุ้งน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ชาวบ้านมักจะเรียกว่า "กุ้งแม่น้ำ" จัดเป็นกุ้งที่มีรสชาติอร่อยมาก โดยเฉพาะกุ้งที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนัก 3-4 ตัว ต่อกิโลกรัม มีราคาขายถึงผู้บริโภคในขณะนี้เฉลี่ย 600-700 บาท ต่อกิโลกรัม ในอดีตกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่ในธรรมชาติจะพบมากในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีปริมาณลดลงมาก เนื่องจากประชาชนจับขึ้นมาบริโภคมากเกินกว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรกุ้ง ดังนั้น กุ้งก้ามกรามที่มีวางขายในท้องตลาดเกือบทั้งหมดจะเป็นกุ้งเลี้ยงและมีขนาด ตัวเล็ก เฉลี่ยน้ำหนัก 20-30 ตัว ต่อกิโลกรัม (กุ้งก้ามกรามตัวใหญ่จะมีเนื้อแน่นและอร่อยกว่ากุ้งตัวเล็ก ตลาดมีความต้องการกุ้งขนาดใหญ่มากกว่า)



แนวคิดในการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในขวดพลาสติค

สถานี ประมงน้ำจืดจังหวัดชัยนาท เป็นหน่วยงานแรกที่เริ่มทดลองเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในขวดพลาสติค เริ่มต้นในช่วงที่ คุณสนธิพันธ์ ผาสุขดี ยังดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถานี โดยมีจุดเริ่มต้นของแนวคิดจากการสังเกตพฤติกรรมของกุ้งก้ามกรามที่อาศัยอยู่ ในแหล่งน้ำธรรมชาติว่ามักจะอาศัยอยู่ตามซอกหินหรือโขดหินซึ่งจะใช้พื้นที่ อาศัยไม่มากนัก และกุ้งแต่ละตัวจะมีอาณาเขตของตัวเอง นอกจากนั้น ยังได้ทำการศึกษาจากตำราและรายงานวิจัยต่างๆ พบว่า กุ้งก้ามกรามไม่ต้องการพื้นที่ในการดำรงชีวิตมากนัก ทำให้คิดว่าน่าจะนำเอากุ้งก้ามกรามมาทดลองเลี้ยงในขวดพลาสติคได้ เพียงแต่ยึดหลักการในการเลี้ยงว่า "น้ำที่ใช้เลี้ยงจะต้องสะอาดและใช้อาหารที่มีคุณภาพเลี้ยง" จากสมมติฐานดังกล่าว ทางสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดชัยนาทจึงได้เริ่มต้นทำการศึกษาความเป็นไปได้ใน การเลี้ยง โดยได้ทดลองเลี้ยงในขวดพลาสติคขนาดต่างๆ โดยนำเอากุ้งก้ามกราม ขนาด 20-30 ตัว ต่อกิโลกรัม มาทดลองเลี้ยงในขวดพลาสติค ขวดละ 1 ตัว ปรากฏผลว่าในขวดพลาสติคขนาดบรรจุน้ำ 5 ลิตร ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ



เลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบระบบปิด

วิธี การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในขวดพลาสติค หลักการแรกที่สำคัญคือจะต้องเลี้ยงในระบบปิด น้ำที่ใช้เลี้ยงจะต้องหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ดังนั้น ระบบการกรองและการหมุนเวียนน้ำจะต้องดีและมีประสิทธิภาพมาก สำหรับขั้นตอนในการเลี้ยง นำขวดพลาสติค ขนาด 5 ลิตร (ใช้ขวดบรรจุน้ำโพลารีสที่ใช้แล้ว) ตัดขวดด้านข้างให้เป็นช่องเพื่อให้น้ำสามารถไหลลงมาในขวดได้ นำขวดพลาสติคไปทำความสะอาดแล้วนำไปวางในแนวนอน โดยเอาด้านที่ตัดไว้ด้านบนวางเรียงเป็นแถวเพื่อความสะดวกในการจัดการ นำกุ้งก้ามกราม ขนาด 20-30 ตัว ต่อกิโลกรัม ปล่อยเลี้ยงขวดละ 1 ตัว ในการคัดกุ้งมาเลี้ยงนั้นจะต้องคัดกุ้งที่มีความสมบูรณ์ ขาและก้ามจะต้องอยู่ครบ ไม่มีแผลตามลำตัว เลี้ยงด้วยอาหารกุ้งกุลาดำ ให้วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น อัตราประมาณ 5% ของน้ำหนักตัวกุ้ง



ระบบการหมุนเวียนน้ำ

คือหัวใจที่สำคัญของการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม

น้ำ ที่จะใช้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามจะใช้น้ำประปาก็ได้ แต่จะต้องผ่านกระบวนการกำจัดคลอรีนออกแล้ว น้ำมีค่าความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 7-8 (ค่า pH=7-8) ส่วนระบบการหมุนเวียนของน้ำนั้นจะใช้วิธีการสูบน้ำไปในท่อ พีวีซี แล้วเจาะรูให้น้ำหยดลงมาตรงช่องที่วางขวดไว้พอดี เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำในขวดพลาสติค อัตราการปล่อยน้ำในเวลา 1 นาที ควรจะให้น้ำไหลเข้าขวดได้ประมาณ 600-800 ซีซี น้ำที่ล้นออกมาจากขวดจะไหลตกลงสู่บ่อพักด้านล่าง ซึ่งทำเป็นบ่อคอนกรีตที่มีกรวดและหินช่วยกรองเศษอาหารไว้ น้ำที่ผ่านกระบวนการนี้จะใสสะอาดพร้อมที่จะสูบขึ้นมาใช้ใหม่



ปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับ จะต้องมีกระแสไฟฟ้าสำรอง

ปัญหา ที่สำคัญอย่างหนึ่งของเกษตรกรที่คิดจะเลี้ยงกุ้งในขวดพลาสติคหรือการเลี้ยง แบบคอนโดฯ นั้น จะต้องระมัดระวังเรื่องไฟฟ้าดับ ถ้าไฟฟ้าดับเกิน 1 ชั่วโมง และเครื่องสูบน้ำไม่สามารถสูบน้ำขึ้นไปหมุนเวียนได้ กุ้งจะตายเพราะขาดออกซิเจน ดังนั้น ควรจะมีเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าไว้สำรองหรืออาจจะเตรียมถังน้ำสำรองไว้ด้านบน แล้วปล่อยน้ำลงมาก็ได้ สิ่งที่ผู้เลี้ยงอีกประการหนึ่งที่ไม่ควรละเลยก็คือ อุณหภูมิของน้ำที่ใช้เลี้ยงควรจะมีอุณหภูมิประมาณ 28 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำลงไปกว่านี้พบว่า กุ้งจะกินอาหารน้อยลง มีผลต่อการเจริญเติบโตของกุ้งและถ้าอุณหภูมิของน้ำสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส อาจจะทำให้กุ้งถึงตายได้



ผลจากการเลี้ยงกุ้งในขวดพลาสติค 1 เดือน

มีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าตัว

สิ่ง ที่สนับสนุนถึงความเป็นไปได้ในการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในขวดพลาสติคก็คือ พบว่า กุ้งมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมาก หลังจากที่ได้ทดลองเลี้ยงไปนาน 1 เดือน กุ้งมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นถึง 1 เท่าตัว กล่าวคือ ถ้านำกุ้งที่มีน้ำหนัก 15 กรัม มาเลี้ยง 1 เดือน จะได้กุ้งที่มีน้ำหนัก 30 กรัม นับเป็นอัตราการเจริญเติบโตที่น่าพอใจ จากการศึกษายังพบว่า กุ้งที่เลี้ยงในขวดพลาสติคนั้นจะมีการลอกคราบเร็วกว่าที่เลี้ยงในบ่อดิน จากการศึกษาและทดลองที่ผ่านมาทำให้ได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า เมื่อนำกุ้งก้ามกราม ขนาด 20-30 ตัว มาเลี้ยงในขวดพลาสติคและใช้เวลาเลี้ยงนานประมาณ 5 เดือน จะได้กุ้งที่มีน้ำหนัก 3-4 ตัว ต่อกิโลกรัม ซึ่งจะจับขายได้ถึงกิโลกรัมละ 600-700 บาท

อย่างไรก็ตาม หลังจากการทดลองเลี้ยงในขวดพลาสติค เริ่มพบปัญหากุ้งตาย เมื่อกุ้งมีขนาดใหญ่ขึ้นเนื่องจากไม่สามารถลอกคราบได้ สาเหตุหลักน่าจะมาจากขวดพลาสติคที่ใช้เลี้ยงแคบเกินไป จึงได้มีการปรับเปลี่ยนภาชนะที่ใช้เลี้ยงและระบบการเลี้ยงใหม่



การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในตะกร้าพลาสติค

จาก ที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้นว่า พบปัญหาในช่วงที่ทดลองเลี้ยงในขวดพลาสติคคือ เมื่อเลี้ยงกุ้งจนได้น้ำหนักเฉลี่ย 70-100 กรัม กุ้งจะลอกคราบไม่ออกและตายในที่สุด สาเหตุน่าจะมาจากพื้นที่ขวดคับแคบเกินไปนั่นเอง จึงได้มีการเปลี่ยนภาชนะเลี้ยงใหม่ที่มีความเหมาะสมมากกว่า เช่น เลี้ยงในตู้กระจกที่บรรจุน้ำได้เฉลี่ย 16-17 ลิตร และใส่ไว้ในตะกร้าพลาสติคอีกชั้นหนึ่ง ระบบการเลี้ยงเหมือนกับที่เลี้ยงในขวดพลาสติคทุกประการ จากการทดลองพบว่า กุ้งมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 30-60 กรัม คาดว่าตั้งแต่เริ่มเลี้ยงจะใช้เวลาเลี้ยงนานประมาณ 5-6 เดือน จะจับขายได้และเมื่อคำนวณค่าอาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นเงิน 45 บาท ต่อน้ำหนักกุ้ง 1 กิโลกรัม แต่วิธีการเลี้ยงแบบนี้เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่เลี้ยงน้อย เลี้ยงเป็นอาชีพเสริมได้เป็นอย่างดี แต่จะต้องประยุกต์ใช้ภาชนะที่มีต้นทุนต่ำกว่าตู้กระจก



เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในตะกร้าพลาสติคเชิงพาณิชย์

ควรจะเลี้ยงในแม่น้ำและสร้างกระชังเลี้ยง

เหตุผล ที่แนะนำสำหรับเกษตรกรที่คิดจะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในตะกร้าพลาสิคเชิงพาณิชย์ ควรจะเลี้ยงในแม่น้ำและสร้างกระชัง เนื่องจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องค่าไฟฟ้าและการจัดการเรื่องระบบหมุน เวียนของน้ำ ในการสร้างกระชังจะสร้างอย่างง่ายๆ คือ สร้างเป็นแพลอยน้ำเฉยๆ ไม่ต้องมีตาข่ายไนล่อนเหมือนกระชังปลา แต่จะต้องสร้างคานสำหรับแขวนตะกร้าพลาสติคและมีทางเดินสำหรับให้อาหาร กระชังไม่ต้องสร้างให้รับน้ำหนักได้มาก เพราะตะกร้าจะลอยอยู่ในน้ำแทบจะไม่ได้รับน้ำหนักเลย ขนาดของกระชังที่แนะนำคือ ขนาดพื้นที่ประมาณ 25 ตารางเมตร สามารถวางตะกร้าเลี้ยงได้ 120 ตะกร้า ตะกร้าพลาสติคที่ใช้เลี้ยงจะต้องมีฝาปิดเพื่อป้องกันกุ้งหลบหนี ด้านบนและด้านข้างโปร่ง ส่วนด้านล่างตะกร้าตัน ขนาดตะกร้ามีความกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 45 เซนติเมตร และสูง 30 เซนติเมตร ตะกร้าพลาสติคซื้อเพียงครั้งเดียวใช้ได้นานหลายรุ่น

วิธีการแขวน ตะกร้าให้แขวนอยู่ใต้ระดับน้ำเล็กน้อยและแขวนเป็นแถวห่างกันพอประมาณ เพื่อความสะดวกในการให้อาหารและทำความสะอาดตะกร้า ในการแขวนมีเคล็ดลับอยู่ว่าจะต้องแขวนตะกร้าให้สามารถเคลื่อนไหวได้ อย่ามัดตะกร้าติดกับคานจนแน่น เนื่องจากเมื่อตะกร้าไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ตะกอนในน้ำจะตกค้างที่ก้นตะกร้ามาก และจะทำให้การถ่ายเทน้ำไม่ดี ผลตามมาจะทำให้กุ้งตายได้



อัตราการปล่อยกุ้งและการให้อาหาร

แนะ นำให้ปล่อยกุ้งก้ามกราม ขนาด 10-15 ตัว ต่อกิโลกรัม ให้อาหารกุ้งกุลาดำชนิดโปรตีนประมาณ 35% ให้ 2 เวลา คือ เช้า-เย็น แบ่งให้มื้อเย็นมากหน่อย เพราะนิสัยกุ้งจะกินอาหารมากในเวลากลางคืน โดยปกติจะให้อาหารในอัตรา 5% ของน้ำหนักตัวกุ้ง และจะต้องเขย่าตะกร้าสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เพื่อให้ตะกอนที่ตกอยู่บริเวณก้นตะกร้าหลุดออกไป ช่วยให้ระบบการถ่ายเทน้ำให้ดีขึ้น รวมถึงอัตราการเจริญเติบโตของกุ้งดีขึ้นตามไปด้วย ได้มีการคำนวณถึงต้นทุนค่าอาหารในการเลี้ยงกุ้งแต่ละตัวจะไม่เกิน 20 บาท อย่างไรก็ตาม กุ้งก้ามกรามที่ซื้อมาเลี้ยงในตะกร้าและเลี้ยงในแม่น้ำนั้นจะต้องเป็นกุ้ง ที่คัดเป็นพิเศษ ไม่มีบาดแผล ก้ามไม่หัก ครีบไม่กร่อนและมีระยางค์ครบ โดยปกติกุ้งก้ามกรามขนาด 10-15 ตัว ต่อกิโลกรัม จะซื้อมาเลี้ยงในราคาประมาณกิโลกรัมละ 170-180 บาท



เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในบ่อดินควบคู่การเลี้ยงปลา

เป็น ที่สังเกตว่ากุ้งก้ามกรามที่เลี้ยงในตะกร้าพลาสติคและเลี้ยงในกระชังนั้น จะมีอัตราการลอกคราบเร็วกว่าที่เลี้ยงในขวดพลาสติคด้วยซ้ำไป ซึ่งพฤติกรรมในการลอกคราบจะสอดคล้องกับการเจริญเติบโต จากการทดลองเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในตะกร้าพลาสติคและเลี้ยงในกระชังนั้นพบว่า น้ำหนักตัวกุ้งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 50-60 กรัม ต่อตัว ต่อเดือน นับว่าเร็วมาก ดังนั้น เมื่อเลี้ยงไปนานประมาณ 5-6 เดือน จะได้กุ้งก้ามกรามที่มีน้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 300 กรัม (3 ขีด) ซึ่งจะได้กุ้งก้ามกรามที่ขนาดน้ำหนักได้ 3 ตัว ต่อ 1 กิโลกรัม จับขายได้กิโลกรัมละ 600-700 บาท

สำหรับเกษตรกรที่มีบ่อเลี้ยงปลา อยู่แล้วและมีความต้องการที่จะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามควบคู่ไปด้วยสามารถทำได้ แต่น้ำในบ่อจะต้องมีความสะอาดจริง และไม่แนะนำให้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามร่วมกับปลาดุกหรือปลาสวายอย่างเด็ดขาด เนื่องจากคุณภาพของน้ำไม่ดี จะทำให้กุ้งตายได้

กุ้งก้ามกราม จัดเป็นกุ้งแม่น้ำที่มีรสชาติอร่อยมาก สามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ถ้าเป็นกุ้งตัวใหญ่น้ำหนักตัวไม่น้อยกว่า 300 กรัม นำไปทำกุ้งเผาขายในราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท หรือนำไปทำอาหารยอดฮิตของคนไทยและชาวต่างชาติคือ ต้มยำกุ้งแม่น้ำ นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่นที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศ ไทยจะนิยมสั่งต้มยำกุ้งเป็นอันดับแรก นอกจากความอร่อยแล้วยังมีผลวิจัยว่าต้มยำจัดเป็นอาหารที่ช่วยป้องกันการเกิด โรคมะเร็งและโรคโลหิตจางได้

ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ

ที่มา http://www.coastalaqua.com/webboard/index.php?topic=2428.0

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผงพะโล้และเปลือกมังคุดช่วยไล่แมลงในนาข้าวและสวนผลไม้

ผงพะโล้ที่ใช้ในการประกอบอาหารหรือการทำผะโล้นั้นใครจะเชื่อว่าจะนำมาใช้ในทางการเกษตรได้ โดยทางคุณนงนุช แสนแก้ว อาศัยอยู่ที่ บ้านเลขที่ 219/1 หมู่ 11 ชุมชนบ้านเขางอบพัฒนา ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี สมาชิกในกลุ่มส่งเสริมอาชีพการปลูกพืชสมุนไพร ได้มาบอกเล่าเกี่ยวกับสูตรขับไล่แมลงในนาข้าวและสวนผลไม้โดยการใช้ผงพะโล้และเปลือกมังคุด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


ผงพะโล้และเปลือกมังคุดช่วยไล่แมลงในนาข้าวและสวนผลไม้

ส่วนประกอบ

1.เปลือกมังคุดตากแห้งป่นละเอียด จำนวน 200 กรัม

2.ผงพะโล้ จำนวน 100 กรัม

3.ขมิ้นชัน(สด) ป่นละเอียด จำนวน 100 กรัม

4.แอลกอฮอล์ 70% จำนวน 1 ขวด

วิธีการทำ

นำเอาเปลือกมังคุดที่ตากแห้งป่นละเอียดมาผสมเข้ากับผงพะโล้ จากนั้นนำเอาขมิ้นชันป่นละเอียดมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน เทแอลกอฮอล์ลงไป คนให้เข้ากัน ปิดฝาถังแล้วหมักทิ้งไว้ประมาณ 21 วัน จึงนำเอามาใช้ในการเป็นหัวเชื้อขับไล่แมลง โดยเมื่อหมักครบตามจำนวนวันที่กำหนด จะต้องนำหัวเชื้อมากรอกแล้วนำหัวเชื้อบรรจุลงขวดปิดฝาให้สนิท เมื่อนำไปใช้ควรใช้ตามอัตราที่ได้กำหนดไว้จะช่วยในการขับไล่แมลงในนาข้าวและสวนผักหรือสวนผลไม้ได้เป็นอย่างดี



วิธีการนำไปใช้

- ใช้ในนาข้าว นำหัวเชื้อจำนวน 10CC ผสมกับน้ำเหล่า 20 ลิตร ฉีดพ่นในช่วงเช้าที่มีแสงแดดร่ำไร หรือช่วงเย็นที่แดดไม่จ้า

- ใช้กับสวนผลไม้ หรือสวนผัก นำเอาหัวเชื้อจำนวน 20CC ผสมกับน้ำเปล่า 20 ลิตร ฉีดพ่นในช่วงเช้าที่มีแดดร่ำไรและช่วงเย็นที่แดดไม่จ้า

*** น้ำหมักสมุนไพรผงพะโล้เปลือกมังคุด จะช่วยในการขับไล่แมลงศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี และควรฉีดทุกๆ 5-7 วัน โดยสังเกตจากการเข้าทำลายหรือรบกวนในแปลงนา หรือในสวนพืชผัก และสวนผลไม้นั้นเอง

ประโยชน์ของการนำไปใช้

1.ไม่เป็นอันตรายต่อผู้นำไปฉีดพ่น

2.ช่วยในการขับไล่แมลงที่มารบกวนในนาข้าว ในสวนพืชผัก และสวนผลไม้ได้เป็นอย่างดี

3.ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีเข้ามาฉีดพ่นกำจัดแมลง

ที่มา http://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=2579&s=tblareablog

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โรคแอนแทรคโนส สาเหตุจากเชื้อรา เป็นโรคที่มีความสำคัญที่สุดในมะม่วง

anthracnose1.jpganthracnose2.jpganthracnose3.jpganthracnose4.jpg

โรคแอนแทรกโนส (Anthracnose) สาเหตุ เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides Penz. เป็น โรคที่มีความสำคัญมากกับมะม่วงทุกพันธุ์ แต่มะม่วงพันธุ์แต่ละพันธุ์มีความต้านทานต่อโรคแตกต่างกัน พันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ เช่นพันธุ์น้ำดอกไม้ หากไม่มีการพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราอาการจะรุนแรงมาก บางครั้งจะไม่ได้ผลผลิตเลย อาการบนใบอ่อนเริ่มจากการเป็นจุดชุ่มน้ำและเปลี่ยนเป็นสีดำต่อไป บริเวณที่เป็นแผลจะหดตัวลงเล็กน้อยจนดึงให้ใบบิดเบี้ยว ใบแก่ขนาดของจุดจะมีขนาดคงที่ค่อนข้างเป็นเหลี่ยม เมื่อมะม่วงแทงช่อดอก เชื้อจะเข้าทำลายที่ช่อดอก ทำให้ช่อดอกแห้ง ดอกร่วง ช่อที่ติดผลอ่อนรวมทั้งผลแก่จะมีแผลเน่าดำ ในสภาพอากาศที่ มีความชื้นสูง จะมีสปอร์สีชมพูเกิดขึ้นตามแผลที่เป็นโรคการ ป้องกันกำจัดโรคแอนแทรกโนส ควรทำในระยะที่มะม่วงกำลังจะแตกใบอ่อนและเมื่อมะม่วงจะแทงช่อดอก เกษตรกรควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราชนิดสัมผัส เช่นสารแมนโคเซ็บ แคปแทน สารพวกคอปเปอร์ อาจจะผสม หรือสลับกับสารประเภทดูดซึม เช่น Prochloraz, azoxystrobin, benomyl, carbendazim หรือสารดูดซึมอื่นๆ พ่นทุก 10-14 วันประมาณ 2-3 ครั้ง มะม่วงที่ต้องการเก็บรักษา สารพวกคอปเปอร์ซึ่งไม่มีค่า MRL ในยุโรปกำหนดไว้ จึงน่าจะเป็นทางเลือกใช้ได้ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยวไว้นานหลังการเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะพันธุ์เขียวมรกต ควรพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราในช่วงปลายฤดูปลูกด้วย
_______________________
แบ่งปันข้อมูลจาก: หนังสือโรคและแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ พิมพ์ครั้งที่ 3 (พิสุทธิ์ เอกอำนวย, 2553) สวนสัตว์แมลงสยาม เชียงใหม่ เจ้าของและผู้พิมพ์โฆษณา 592 หน้า

กรณีฝนไม่ตกหนักอาจจะใช้สารเบนโนมิล (เช่น เมเจอร์เบน) อัตรา 6-12 กรัม ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ห่างกันประมาณ 7-10 วัน โดยอาจฉีดสลับกับสารแคปแทน (เช่น อโรไชด์) อัตรา 30-40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร และเกษตรกรเจ้าของสวนมั่นสังเกตช่อดอกบ่อยๆหากพบว่าสารกำจัดโรคที่ฉีดพ่นไปเอาชนะไม่ได้ (โรคลุกลามต่อเนื่อง) ให้เปลี่ยนสารเคมีทันที

** สารเคมีที่พิชิตแอนแทรคโนส ได้อย่างแน่นอน ในปัจจุบัน เกษตรกรชาวสวนส่วนใหญ่แนะนำให้ใช้สาร ฟลิ้นท์+แอนทราโคลโกลด์ เพราะสามารถป้องกันโรคแอนเทรคโนสได้ผลแน่นอน แม้จะมีขนาดฝนตกติดต่อกันหลายวัน ที่สำคัญเป็นสารที่ฉีดพ่นแล้วไม่เป็นอันตรายต่อดอก ดอกมะม่วงที่ฉีดพ่นด้วยสาร ฟลิ้นท์+แอนทราโคลโกลด์ จะสดและใสกว่าการฉีดพ่นด้วยสารกลุ่มอื่นที่สำคัญไม่พบปัญหาดอกแห้งหรือดอกไหม้ หรือฉีดพ่นสารในสภาพอากาศร้อน อัตราที่แนะนำให้ใช้ฟลิ้นท์ 3 กรัม และ แอนทราโคลโกลด์ 30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีกพ่น 7-10 วันต่อครั้ง แต่หากช่วงนั้นมีฝนตกติดต่อกันหลายวัน ให้ลดระยะเวลาฉีดเหลือ 2-3 วันต่อครั้งจะได้ผลดีที่สุด

ที่มา
http://www.malaeng.com/blog/?p=9196
http://www.rakbankerd.com/agriculture/open.php?id=2471&s=tblplant

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เลี้ยงปลาดุกระบบน้ำหมุนเวียนทำง่ายรายได้ดี

ภาพที่คุ้นตาสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุก นั่นคือการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ แต่นาทีนี้ได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพการเลี้ยงปลา ให้ต่างไปจากช่วงที่ผ่านมา

โดยเป็นฝีมือและผ่านการคิดค้นของนักศึกษาและคณาจารย์ แห่งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง ด้วยการออกแบบถังพลาสติก 200 ลิตรในระบบน้ำหมุนเวียนมาเลี้ยงปลาดุกรัสเซียจนประสบความสำเร็จ
อรัณย์ พรหมบางยวน นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง เปิดเผยว่า การเลี้ยงปลาดุกด้วย ระบบน้ำหมุนเวียนในถังพลาสติกกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนี้ หลังจากผ่านกระบวนการคิดค้นและทดลองจนสัมฤทธิ์ผลเมื่อปลายปี2553 ที่ผ่านมา ทั้งนี้เมื่อได้นำออกสู่สายตาสาธารณชน และที่สำคัญในกลุ่มภาคเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกได้ให้ความสนใจและมีกระแสตอบรับกลับมาเป็นอย่างดี
เนื่องจากการเลี้ยงปลาดุก โดยเฉพาะปลาดุกรัสเซียในถังพลาสติก 200 ลิตรในระบบน้ำหมุนเวียน นอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าเลี้ยงในบ่อซีเมนต์แล้ว ยังจะทำให้ได้ปลาดุกคุณภาพ ดีไม่มีร่องรอยบอบช้ำอันเนื่องมาจากลำตัวปลาเมื่อต้องสัมผัสหรือกระทบกับ ผนังบ่อ ซึ่งมีพื้นผิวหยาบและกระด้าง อันเป็นต้นเหตุของการทำให้เสียราคาเวลาจับปลาออกจำหน่ายในท้องตลาด ที่สำคัญสามารถเพาะเลี้ยงได้ในพื้นที่อันจำกัด
ต้นทุนสำหรับการสร้างถังพลาสติก 200 ลิตรเพื่อเลี้ยงปลาดุกรัส เซียสนนราคาอยู่ที่1,500-2,000บาทเท่านั้น ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้มีคุณสมบัติอายุการใช้งานนาน มีความทนทาน ราคาถูก หาซื้อได้ทั่วไป เคลื่อนย้ายสะดวก ที่สำคัญระบบการเลี้ยงปลาแบบนี้ที่ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำ เพราะน้ำที่ผ่านการเลี้ยงปลาแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านขบวนการบำบัดทางชีวภาพ ซึ่งเป็นระบบที่ประหยัดน้ำ และเป็นระบบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ผู้เลี้ยงสามารถนำผัก เช่น ผักบุ้งและผักกระเฉดมาปลูกในถังกรองได้
“เริ่มแรกเราใช้ปลาดุกรัส เซียเป็นปลาทดลอง เนื่องจากเป็นปลาที่สามารถหาลูกพันธุ์ได้ง่าย และเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งมีอัตราการเจริญเติบโตดี ขายคล่อง เมื่อประชาชนทราบข่าวทำให้มีเกษตรกรผู้สนใจมาขอความรู้และให้พวกเราช่วยออก แบบให้อย่างแพร่หลาย" อรัณย์ กล่าว
ด้าน ประพัฒน์ ปานนิล อาจารย์วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง กล่าวว่า การเลี้ยงปลาดุกรัส เซียในถังพลาสติก 200 ลิตร ในระบบน้ำหมุนเวียน สามารถเลี้ยงปลาได้จำนวน 50 ตัว น้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 3.42 กรัม ความยาวเฉลี่ย 6.5 เซนติเมตร การให้อาหาร 4 วันแรกให้อาหารกุ้งเบอร์ 3 อย่างเดียว วันที่ 5-17 ให้อาหารกุ้งเบอร์ 3 ร่วมกับอาหารปลาดุกเล็ก และตั้งแต่วันที่ 17-78 วัน ให้อาหารปลาดุกเล็ก ตลอดการทดลอง โดยให้อาหารวันละ 3 ครั้ง แต่ละครั้งให้จนปลาอิ่ม ตรวจวัดคุณภาพน้ำ ค่าแอมโมเนีย อัลคาลินิตี้ และ pH ทุก 7 วัน ช่วง 20 วันแรกไม่ต้องล้างกรอง ช่วง 21-40 วัน ล้างกรอง 4 วันต่อครั้ง และช่วงอายุการเลี้ยง 40-78 วัน ล้างกรอง 1-2 วันต่อครั้ง
“การเลี้ยง ในระบบน้ำหมุนเวียนคือ การนำน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการผ่านการบำบัดทางชีวภาพซึ่งในขั้นตอนนี้สามารถนำผักมาปลูกเพื่อเป็น อาหารได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังได้ปลาดุกมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด" ประพัฒน์ กล่าว
หากเกษตรกรรายใดสนใจการเลี้ยงปลาดุกด้วย ระบบน้ำหมุนเวียนในถังพลาสติก 200 ลิตร สามารถติดต่อไปได้ที่โทร.08-7275-2148 ทีมวิจัยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง ยินดีให้คำปรึกษาและแนะนำตลอดเวลาในวันและราชการ

ที่มา http://www.komchadluek.net