วันพุธที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2555

การตรวจวัดค่าความเป็นกรด-เบสของดิน (Soil pH)

ความเป็นกรด-เบส หรือค่าพีเอชของดิน แต่ ละชั้นบอกถึงลักษณะดินต้นกำเนิด สารเคมีที่อยู่ในฝนหรือน้ำที่ไหลลงสู่ดิน การจัดการดิน และกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตในดิน (พืช สัตว์ และจุลินทรีย์) เช่นเดียวกับพีเอชของน้ำ พีเอชของดินวัดโดยใช้ค่าล็อก pH ของดินเป็นตัวบ่งชี้สมบัติทางเคมีของดินและธาตุอาหารในดิน กิจกรรมของสารเคมีในดินส่งผลต่อพีเอช พืชแต่ละชนิดก็จะขึ้นได้ในดินที่มีพีเอชต่างกัน เกษตรกรจึงมักจะใส่สารลงไปในดินเพื่อเปลี่ยนค่าพีเอชให้เหมาะกับชนิดของพืช ที่จะปลูกพีเอชของดินยังมีผลต่อพีเอชของน้ำใต้ดินหรือแหล่งน้ำอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ดังเช่น แม่น้ำ หรือทะเลสาบ ค่าพีเอชของดินมีค่า 1 - 14 จำแนกเป็นค่าพิสัยได้ 10 ระดับ ดังนี้ (Soil Survey Division Staff, 1993)


ph
วิธีการตรวจวัด

การเตรียมตัวอย่างดินสำหรับห้องปฏิบัติการ


1. ใช้ตะแกรงร่อนดินเบอร์ 10 (ช่องตะแกรงขนาด 2 มิลลิเมตร) เหนือกระดาษ แล้วเทดินตัวอย่างลงในตะแกรง ใส่ถุงมือยางเพื่อกันไม่ให้กรดและเบสจากมือของผู้ปฏิบัติไปทำให้ค่าพีเอชของดิน ผิดไปจากความเป็นจริง
2. ค่อยๆ เขี่ยเบาๆ ทำให้ดินผ่านช่องตะแกรงลงไปบนกระดาษ อย่าดันจนตะแกรงลวดโก่งด้วยการกดดินแรงเกินไป หยิบเอาหินและสิ่งปะปนอื่นๆ ออกจากตะแกรงทิ้งไป เก็บรักษาตัวอย่างดินที่ร่อนแล้ว แต่ละชนิดไว้สำหรับการวิเคราะห์อื่นๆ

screen

3. นำดินตัวอย่างที่เอาหินออกแล้วจากกระดาษใต้ตะแกรงร่อนลงในถุงพลาสติกหรือ ภาชนะที่แห้งและสะอาด ปิดปากภาชนะ และเขียนฉลากไว้ที่ถุงเช่นเดียวกับที่เขียนไว้ที่ภาชนะที่ใช้เก็บดินภาคสนาม (เลขที่ชั้นดิน ระดับความลึกชั้นตัวอย่างดิน วันที่ ชื่อจุดศึกษา ตำแหน่งจุดศึกษา ฯลฯ) ตัวอย่างดินนี้สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์อื่นๆ ในห้องปฏิบัติการบนฉลาก ให้เขียนชื่อจุดศึกษา เลขที่ตัวอย่างดิน เลขที่ชั้นดิน ความลึกระดับบนสุดจากผิวดิน ความลึกระดับล่างสุดจากผิวดิน วันที่ที่เก็บตัวอย่างดิน
4. เก็บรักษาตัวอย่างดินนี้ไว้ในที่ที่ปลอดภัย ในที่แห้งจนกว่าจะนำไปใช้


การตรวจวัดค่าความเป็นกรด-เบสของดิน
1. ชั่งตัวอย่างดินที่แห้งและร่อนแล้วมา 20 กรัม เทลงในบีกเกอร์ แล้วเติมน้ำกลั่น 20 หรือ 100 มิลลิลิตร เพื่อให้ได้อัตราส่วนดิน : น้ำ เท่ากับ 1 : 1 ในกรณีดินร่วนและดินทราย หรืออัตราส่วน 1 : 5 ในกรณีดินเหนียว (ดินในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้อัตราส่วน 1 : 5)
2. ใช้แท่งแก้วคนดินนานเวลา 30 วินาที แล้วพักทิ้งไว้ 3 นาที ทำอย่างนี้ 5 ครั้ง
3. เมื่อคนดินครบ 5 ครั้งแล้ว ตั้งทิ้งไว้จนดินในบีกเกอร์ตกตะกอน จะเห็นน้ำใสๆ อยู่บริเวณด้านบน
4. จุ่มกระดาษวัดค่าพีเอช หรือปากกาวัดค่าพีเอชที่ปรับค่ามาตรฐาน ลงไปในบริเวณน้ำใสๆ อย่าจุ่มลงไปให้โดนดินด้านล่าง (ภาพที่ 99) รอจนค่าหยุดนิ่ง แล้วอ่านค่าพีเอช
5. เมื่อวัดค่าพีเอชเสร็จแล้ว ใช้น้ำกลั่นล้างปากกาวัดค่าพีเอชบริเวณส่วนที่สัมผัสกับดินให้สะอาด แล้วใช้กระดาษทิชชูซับให้แห้ง


measure-ph


หมายเหตุ: ก่อนการใช้พีเอชมิเตอร์ต้องมีการเทียบมาตรฐานเครื่องมือ (ดูวิธีการเทียบมาตรฐานจากหลักวิธีการดำเนินการเรื่อง น้ำ)





 ที่มา http://www3.ipst.ac.th