วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สยบเพลี้ยแป้งในไร่มัน ด้วยแมลงช้างปีกใส ที่ เมืองกาญจน์



แมลงช้างปีกใส


เพลี้ยแป้ง


ปัญหา การระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง นับวันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพราะมีอัตราการระบาดเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถึงต้องมีการประกาศให้เป็นเขตภัยพิบัติจากการเข้าทำลายของเพลี้ยงแป้งเลยที เดียว

ดังนั้น จึงนับเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

นอก เหนือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานหลักในการดูแลแก้ไขปัญหาเกี่ยว กับการเกษตรของเกษตรกรทั่วประเทศ ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งแล้ว สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นับเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วย เช่นกัน โดยการนำผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง เข้ามาส่งเสริมถ่ายทอดไปยังเกษตรกรที่ประสบปัญหาการระบาด ซึ่งในวันนี้เรียกได้ว่า มีหลายพื้นที่ที่สามารถแก้ไขปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งได้แล้ว

"การ ใช้ศัตรูธรรมชาติเพื่อการแก้ปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่าง ยั่งยืน" เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้ง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

สำหรับ พื้นที่ดำเนินโครงการนั้น อยู่ในเขต 3 จังหวัดภาคกลาง ประกอบด้วย ในเขตอำเภอพนมทวน อำเภอบ่อพลอย อำเภอเลาขวัญ และอำเภอห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี

โดยมีหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบในการดำเนิน โครงการคือ ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ หนึ่งในหน่วยงานที่สังกัดอยู่ภายใต้สำนักงาน วช.

ศ.นพ. สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการการใช้ศัตรูธรรมชาติเพื่อการแก้ปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งมัน สำปะหลังอย่างยั่งยืน เป็นโครงการที่นำวิธีการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังระบาดโดยลดการใช้สาร เคมี โดยใช้ศัตรูตามธรรมชาติมาควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง หรือที่เรียกว่า "ชีววิธี" ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2553-กันยายน 2555

สำหรับวัตถุประสงค์ของ โครงการเพื่อใช้ประโยชน์ศัตรูธรรมชาติในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง เพื่อให้เกิดการควบคุมที่ถาวรในสภาพไร่ สามารถลดประชากรของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังให้ระบาดไม่เกิน 30% ในปีที่ 1 และไม่เกิน 10% ในปีที่ 2 และลดปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังและลดการใช้สารฆ่าแมลงในพื้นที่ ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดกาญจนบุรี

"รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีการ ใช้ประโยชน์ศัตรูธรรมชาติให้แก่เกษตรกรในจังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 200 คน ในพื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่ โดยจัดการอบรมเพื่อให้เกษตรกรทำการผลิตศัตรูธรรมชาติ ทั้งแมลงช้างปีกใส แตนเบียน และไรตัวห้ำ มวนตัวห้ำเพลี้ยไฟ มวนตัวห้ำ และมวลตาโต ทดสอบการใช้ประโยชน์ของแมลงศัตรูธรรมชาติโดยการปลดปล่อยศัตรูธรรมชาติและ ติดตามประเมินผลการปลดปล่อยศัตรูธรรมชาติในพื้นที่โครงการ"

"หลังจาก ดำเนินการโครงการไปแล้วเป็นเวลา 1 ปี พบว่า ในพื้นที่ที่ทำการวิจัยและทดลองปล่อยศัตรูธรรมชาตินั้นมีปริมาณของเพลี้ย แป้งมันสำปะหลังลดลงจนเกษตรกรให้การยอมรับและนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปต่อยอด โดยการผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติเพื่อนำไปปล่อยในแปลงมันสำปะหลังต่อไป" เลขา วช. กล่าว

รศ.ดร. วิวัฒน์ เสือสะอาด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่การระบาดขยายวงกว้างขึ้นเกิดจากการขยาย พื้นที่ปลูกและมีการใช้ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่มีไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยเพลี้ยแป้งติดไปกับท่อนพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งกระจายไปสู่ต้นมันสำปะหลังต้นอื่นและแปลงข้าง เคียง

ทั้งนี้ ได้พบว่ามีการลงทำลายของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง สร้างความเสียหายรุนแรงในหลายจังหวัด ตั้งแต่ต้นปี 2551 และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นและขยายวงกว้างไปสู่พื้นที่ปลูกมัน สำปะหลังในหลายจังหวัด

"ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังไม่ให้เกิดการระบาดโดย หาวิธีการที่ทดแทนหรือลดการใช้สารเคมีในการกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังเพื่อ ลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ทางเลือกหนึ่งที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับแนวคิดการผลิตพืชปลอดภัย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือวิธีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี (biological control) ซึ่งหมายถึง การใช้ประโยชน์จากศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ ตัวห้ำ (predator) ตัวเบียน (parasite) ตลอดจนเชื้อโรค (pathogen) ในการควบคุมศัตรูพืช"

สำหรับ การดำเนินโครงการมาจนถึงขณะนี้ ได้มีการฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกร ทำการผลิตศัตรูธรรมชาติ ชนิดต่างๆ อันได้แก่ แมลงช้างปีกใส Plesiochrysa ramburi (Schneider) และแมลงช้างปีกใส Mallada basalis (Walker) แตนเบียน Allotropa sp. และไรตัวห้ำ Amblyseius longispinosus (Evans) มวนตัวห้ำเพลี้ยไฟ Wollastoniella rotunda Yasunaga & Miyamoto มวนตัวห้ำ Orius maxidentex Ghauri และมวนตาโต Geocoris ochroterus

โดย ทั้งนี้ตัวที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านได้เพาะขยายพันธุ์และปล่อยในพื้นที่ของบ้าน รางยอม หมู่ที่ 8 ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่เคยประสบปัญหาระบาดของเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลัง และได้รับการส่งเสริมจากโครงการให้นำแมลงช้างปีกใสเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการ ระบาดจนประสบความสำเร็จ

ทุกวันนี้ต้นมันสำปะหลังสามารถเจริญเติบโต ให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดี โดยปราศจากการระบาดถึงร้อยละ 80 ของพื้นที่ปล่อยแมลงช้างปีกใสทั้งหมด 1,000 กว่าไร่

ทั้งนี้ ด้วยความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ และสำนักงานเกษตรอำเภอพนมทวน ได้มีการเข้ามาส่งเสริมแนะนำทั้งวิธีการป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง และการเพาะเลี้ยงแมลงช้างปีกใสให้กับชาวบ้าน

คุณสายัณต์ บุญสวัสดิ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 ตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน ได้ย้อนอดีตถึงการเข้าระบาดของเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลังของเกษตรกรในหมู่ บ้านรางยอม ว่าได้เริ่มเกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างรุนแรงในปี 2551 เป็นต้นมา ซึ่งในระยะแรกนั้น ได้ใช้วิธีการป้องกันกำจัดด้วยการฉีดพ่นสารเคมี แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ยังพบการระบาดอย่างต่อเนื่อง จนต้องไถมันสำปะหลังที่ปลูกทิ้ง

"จนมา ได้รับการส่งเสริมจากเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 หน่วยงาน ที่เข้ามาให้ความรู้ และรวมกลุ่มชาวบ้านที่สนใจตั้งเป็นศูนย์ผลิตศัตรูพืชขึ้น โดยเน้นการเพาะขยายพันธุ์แมลงช้างปีกใสเป็นหลัก โดยทางศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์ ได้มอบพ่อแม่พันธุ์แมลงช้างปีกใสมาให้เพาะเลี้ยง"

ปัจจุบันโรงเรือน เพาะเลี้ยงแมลงช้างปีกใสของชาวบ้านรางยอมได้ตั้งอยู่ที่บ้าน คุณประทิน อ่อนน้อย หรือ คุณเจี๊ยบ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มเกษตรธรรมชาติบ้านรางยอม โดยสถานที่แห่งนี้ในปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรในจังหวัด กาญจนบุรีและใกล้เคียง เพื่อนำเทคนิคการเพาะเลี้ยงไปใช้ในพื้นที่ของตนเอง โดยที่ผ่านมามีเกษตรกรเข้ามาดูงานอย่างต่อเนื่อง

สำหรับภายในโรง เรือนจะมีการเพาะเลี้ยงแมลงช้างปีกใส จะมีกรงเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งภายในจะปล่อยพ่อแม่พันธุ์ให้กินเพลี้ยอ่อนเป็นอาหาร ซึ่งเพาะเลี้ยงไว้บนลูกฟักทอง ทั้งนี้ ฟักทองที่นำมาใช้เลี้ยงนั้นต้องเลือกแบบที่กำลังพอดี คือไม่อ่อนไม่แก่จนเกินไป

"หลักสำคัญที่สุดคือ ต้องมีเพลี้ยอ่อนเป็นอาหารให้กับแมลงช้างปีกใส ซึ่งแต่ก่อนนี้เราสามารถเก็บยอดต้นมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยอ่อนระบาดมาให้ แมลงช้างปีกใสกินได้ แต่ตอนนี้เราไม่มีแล้ว หาเพลี้ยยาก ต้องไปขอเพลี้ยอ่อนจากตำบลอื่น จึงต้องเปลี่ยนมาเลี้ยงเพลี้ยอ่อนบนลูกฟักทองแทน โดยชาวบ้านที่ต้องการแมลงช้างปีกใสไปปล่อยในแปลงตัวเอง ต้องนำลูกฟักทองมาแลก" คุณประทิน กล่าว

ทั้งนี้ ในการเลี้ยงนั้นจะนำลูกฟักทองมาวางบนชั้นไม้ ซึ่งจะมียอดมันสำปะหลังที่มีเพลี้ยแป้งเกาะอยู่ วางอยู่ด้านล่าง และนำลูกฟักทองไว้ด้านบน เพลี้ยแป้งจะขึ้นมาดูดกินน้ำเลี้ยงจากฟักทองเป็นอาหาร และขยายพันธุ์อยู่บนลูกฟักทองจนเต็มทั้งลูก

"หลังจากได้ฟักทองที่มี เพลี้ยแป้งเกาะอยู่จนเต็มแล้ว จะนำเข้าไปในกรงเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์แมลงช้างปีกใส ซึ่งจะบุด้วยมุ้งตาละเอียด พ่อแม่พันธุ์ที่ปล่อยจะใช้อัตราส่วน ฟักทอง 1 ลูก ปล่อยพ่อแม่พันธุ์ 5 คู่ ซึ่งพ่อแม่พันธุ์จะกินเพลี้ยแป้งเป็นอาหาร และวางไข่ โดยแม่หนึ่งจะวางไข่ 400-500 ฟอง

สำหรับฟักทองที่ใช้เลี้ยง เมื่อถูกดูดน้ำเลี้ยงหมดแล้ว จะไม่ถูกนำไปทิ้ง แต่จะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยหมัก นำกลับมาใช้ในไร่มันสำปะหลังอีกครั้งหนึ่ง

"เนื่องจากการเลี้ยงแมลง ช้างปีกใสมีความละเอียดอ่อนมาก และต้องใช้เทคนิค เราจึงทำให้ง่ายขึ้น โดยการปล่อยนั้น แทนที่จะนำไข่ไปวางไว้ตามต้นมันสำปะหลัง เหมือนกับที่นักวิชาการทำ เราจะใช้วิธีการนำตัวโตเต็มวัยที่เติบโตอยู่ในกรงเลี้ยงไปปล่อยแทน โดยจะใช้วิธีการจับด้วยเครื่องมือจับแมลงช้างปีกใส แล้วนำไปปล่อยในแปลงปลูกมัน สำหรับในกรงนั้นตัวอ่อนที่เกิดมาจะโตขึ้นมาแทนตัวที่เราจับไปปล่อย โดยเวลาที่เหมาะสมในการปล่อยคือ ช่วงเช้าและเย็น หากไปปล่อยตอนแดดจัด แมลงช้างปีกใสจะไม่รอด"

ทั้งนี้ ในการปล่อยแมลงช้างปีกใสนั้น คุณประทินบอกว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15-30 วัน จึงจะเห็นผล ซึ่งต้องมีการไปตรวจดูแปลงปลูกมันสำปะหลังทุกวัน

"ถ้าได้ผล จะสังเกตได้จากยอดมันสำปะหลังที่เคยหงิกย่นจะคลายยืดตัวออกมาเหมือนปกติ" คุณประทิน กล่าว

"ทุก วันนี้แม้ไม่มีการระบาด แต่เราก็ยังคงมาตรการการป้องกันไว้อย่างเข้มข้น โดยจะนำแมลงช้างปีกใสไปปล่อยในแปลงปลูกอย่างต่อเนื่อง โดยดูจากจำนวนเพลี้ยแป้งที่พบในแปลง หากไม่มีเลยก็จะปล่อยประมาณ 30 วันครั้ง แต่หากพบว่ามีการระบาดเกิดขึ้นบ้างแล้ว จะปล่อยทุก 15 วัน นอกจากเรื่องการเพาะเลี้ยงแมลงช้างปีกใสแล้ว อีกสิ่งที่เรากำลังดำเนินการคือ การใช้วิธีชุบท่อนพันธุ์มันสำปะหลังด้วยสารเคมีป้องกันเพลี้ยแป้งก่อนปลูก ควบคู่ไปด้วย"

จากทั้งมีการจัดการป้องกันเรื่องการระบาดของเพลี้ย แป้งและมีการจัดการดูแลแปลงมันสำปะหลังเป็นอย่างดี ทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 6 ตัน" คุณประทิน กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่มีปัญหาเรื่องเพลี้ยแป้ง สามารถติดต่อ ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โทร. (02) 942-8252 หรือ เว็บไซต์ www.thaibiocontrol.org


ที่มา http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05040010854&srcday=&search=no