วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การขโมยพืชในอดีต

ดอกต้น cinchona ที่มียาควินินรักษามาลาเรีย

Robert Woodward (ซ้าย) และ William Doering ผู้สังเคราะห์ควินินได้ในปี 1944

ต้นปาล์มแอฟริกาใน Miami สหรัฐฯ


เราใช้พืชเป็นอาหาร ยารักษาโรค ทำเครื่องนุ่งห่ม และสร้างที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ส่วนในบทบาทการเป็นยาของพืชนั้น ชุมชนโบราณได้พึ่งพาหมอผี ให้ทำหน้าที่เป็นทั้งหมอและพระ เพราะผู้คนในสมัยก่อนเชื่อว่าคนเป็นโรคเกิดจากการถูกปิศาจเข้าสิง ดังนั้น กระบวนการรักษาจึงต้องมีพิธีกรรมทางศาสนามากำจัดผีด้วย และหมอผีจะให้คนไข้กินยา ซึ่งตามปรกติก็คือพืชสมุนไพร

ถึงยุคปัจจุบัน วิทยาศาสตร์สุขภาพได้เจริญก้าวหน้าไปมาก เพราะแพทย์ใช้ยาสังเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ถึงกระนั้นพืชก็ยังเป็นแหล่งกำเนิดยาที่สำคัญของมนุษย์ต่อไป ดังที่ได้มีหลักฐานมากมายว่า แพทย์ได้เคยใช้ฝิ่น (opium) และเฮโรอีน (heroin) ที่สกัดได้จากฝิ่นมาบรรเทาความเจ็บปวดตั้งแต่เมื่อ 4,000 ปีก่อน รวมถึงได้สกัด cocaine จากต้น Erythroxylan coca และนำเปลือกของต้น cinchona มาสกัดยาควินิน เพื่อใช้รักษาโรคมาลาเรีย และการพบตัวยาที่ใช้กระตุ้นหัวใจในต้น foxglove (Digitalis purpurea) เป็นต้น ทั้งๆ ที่เภสัชไพรเหล่านี้มิได้เป็นพืชท้องถิ่น แต่เป็นพืชต่างด้าวที่ชอบขึ้นในต่างแดน แล้วถูกขโมยไปปลูกในพื้นที่ส่วนต่างๆ ของโลก ตามสถานการณ์การเมืองและวัฒนธรรมในยุคนั้น ดังที่อดีตประธานาธิบดีโทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) แห่งสหรัฐฯ ได้เคยกล่าวว่า วิถีทางหนึ่งที่คนรักชาติสามารถช่วยมาตุภูมิได้ คือนำพืชที่มีประโยชน์จากต่างแดนมาปลูกในประเทศของตน

ในประเทศอื่นๆ การนำพืชต่างแดนมาปลูกก็เป็นที่นิยมเช่นกัน เมื่อจีนขาดแคลนอาหารในคริสต์ศตวรรษที่ 11 กษัตริย์จีนทรงโปรดให้คนจีนปลูกมันฝรั่งและข้าวโพดเพื่อบรรเทาทุพภิกขภัย ซึ่งพืชทั้งสองชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 กับ 19 ซึ่งเป็นยุคอุตสาหกรรม ประเทศในยุโรปมีความจำเป็นต้องจ้างกรรมกรจำนวนมากมาทำงานในโรงงาน จึงต้องหาอาหารราคาถูกมาเลี้ยงดู และได้นำมันฝรั่งของชาวอินคามาปลูก และเมื่อรัฐบาลอังกฤษประจักษ์ว่า พืชจากต่างแดนสามารถแก้ปัญหาอาหารขาดแคลนได้ จึงสนับสนุนให้ส่งนักพฤกษศาสตร์ออกไปสำรวจโลกร่วมกับนักผจญภัย เพื่อจะได้นำพืชที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจและทางการแพทย์กลับมาปลูกในอังกฤษ และประเทศอาณานิคม เช่น ได้ส่ง Sir Joseph Banks ผู้เป็นนักพฤกศาสตร์ออกเดินทางไปกับกัปตัน Cook เพื่อสำรวจมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ และ Banks ก็ได้พบว่า ต้นสนที่ชอบขึ้นบนเกาะ Norfolk น่าจะงอกงามได้ดีในทวีปออสเตรเลีย ดังนั้นจึงนำไม้เนื้อแข็งชนิดนี้มาปลูกในดินแดนที่พบใหม่ ซึ่งต้นสนก็เติบโตดี จนชาวออสเตรเลียยุคบุกเบิกสามารถใช้ไม้สนต่อเรือรบสำหรับพิทักษ์ปกป้องผล ประโยชน์และดินแดนของอังกฤษในภูมิภาคนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อนักพฤกษศาสตร์แห่งบริษัท British East India เมื่อเห็นชาวจีนนิยมดื่มชา ก็ได้นำชา 1,000 ต้น และเมล็ดชา 17,000 เมล็ด ไปปลูกในอินเดีย จนทำให้อินเดียเป็นประเทศที่ปลูกชาได้ดีและมากประเทศหนึ่งของโลก

สำหรับ William Hooker อดีตผู้อำนวยการของสวนพฤกษศาสตร์ Kew ในลอนดอนก็ได้เคยแถลงว่า สวน Kew จะซื้อเมล็ดพืชทุกชนิดจากต่างแดนเพื่อนำมาเพาะชำในเรือนกระจก ก่อนนำต้นกล้าที่อื่นไปปลูกในดินแดนที่เหมาะสมต่อไป เช่น ได้ส่งต้นกล้า oak, mahogany ไปปลูกในอินเดีย และกล้าชาไปปลูกที่จาไมกา ครั้นเมื่อนักวิชาการพบว่า นอกจากจะมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว พืชบางชนิดยังเป็นยาด้วย การขโมยพืชจึงเกิดขึ้นอย่างไม่เกรงบาปกรรมใดๆ เช่น ในกรณีต้น cinchona ที่ให้ยาควินินสำหรับรักษาโรคมาลาเรียที่คร่าชีวิตมนุษย์นับล้านทุกปี รัฐบาลอังกฤษได้จัดตั้งโครงการขโมย cinchona ออกจากป่าในประเทศโคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู และโบลิเวีย เพื่อนำไปปลูกในเอเชียตะวันออกไกล เป็นต้น

ในการติดตามประวัติความเป็นมาของการขโมยต้น cinchona นักประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ใน ค.ศ.1638 แพทย์ส่วนตัวของท่าน Countess of Chinchon ซึ่งเป็นภริยาของอุปทูตอังกฤษประจำเปรู ได้พบว่าเปลือกของต้น cinchona เวลานำมาต้ม น้ำที่ได้สามารถรักษาคนที่เป็นไข้มาลาเรียได้ แต่ประสิทธิภาพของเปลือกต้นไม้ชนิดนี้ก็ไม่เป็นที่รู้กันมาก จนกระทั่งแพทย์หลวงได้ต้มเปลือกต้น cinchona เพื่อถวายการรักษาไข้มาลาเรียแด่พระเจ้า Charles ที่ 2 แห่งอังกฤษ จนพระองค์หายประชวร Carl Linnaeus จึงได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ของ cinchona ว่า Cinchona succirubia ตามชื่อของ Countess แต่ Linnaeus สะกดชื่อ Countess ผิด และไม่ได้แก้ไขความผิดพลาด ชื่อผิดจึงได้ติดมาจนทุกวันนี้

ตามปกติต้น cinchona ชอบขึ้นในป่าบนเทือกเขา Andes ในอเมริกาใต้ และชาวบ้านมักต้มเปลือกต้นไม้ชนิดนี้ เพื่อให้คนไข้ที่ป่วยเป็นมาลาเรียดื่ม แต่ชาวอินเดียนถือว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของต้นไม้ที่ขึ้นในป่า ดังนั้นจึงพากันตัดต้นแล้วลอกเปลือกต้น ซึ่ง Alexander von Helmholtz คิดว่าเป็นวิธีที่สิ้นเปลือง เพราะเมื่อใดที่ต้น cinchona หมดป่า ยาที่อยู่ในเปลือกก็จะหมดตาม และนั่นหมายความว่า โลกจะมีคนไข้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรียเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน Helmholtz จึงเสนอให้รัฐบาลอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในสมัยนั้นนำต้น cinchona ไปปลูกดินแดนใหม่ เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้ยาที่หายากนี้

โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ โดยรัฐบาลประเทศเปรู ชิลี และโบลิเวีย ซึ่งเป็นประเทศเจ้าของต้น cinchona ไม่รู้เรื่องนี้เลย แต่ถึงจะรู้ก็คงพิทักษ์ต้นไม้ท้องถิ่นของตนไม่ได้ เพราะประเทศเหล่านั้นมีความวุ่นวายทางการเมืองตลอดเวลา ดังนั้นใน ค.ศ. 1854 Charles Hasskarl ผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์ Buitenzorg บนเกาะชวาซึ่งอยู่บนอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์จึงลอบนำเมล็ดต้น cinchona นำออกจากเปรูเป็นผลสำเร็จ เหตุการณ์นี้ทำให้ชาวเปรูแค้นเคืองมาก เมื่อได้พบว่าต้น cinchona สามารถขึ้นได้ดีในอินเดีย ชวา และศรีลังกา เพราะประเทศเหล่านี้มีดิน ฟ้า อากาศใกล้เคียงกับเปรู โบลิเวีย และเอกวาดอร์

เมื่อเอเชียมีการปลูกต้น cinchona กันแพร่หลาย ธุรกิจการซื้อเปลือก cinchona จากประเทศในอเมริกาใต้ก็เริ่มตกต่ำ จาก ค.ศ.1881 ที่มีการซื้อขายมากถึง 9 ล้านกิโลกรัม แต่ภายในเวลา 40 ปี ธุรกิจ cinchona ในอเมริกาใต้ก็ถึงจุดอวสาน

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อทหารอังกฤษจำนวนมากได้ล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรีย รัฐบาลจึงจำเป็นต้องใช้ยาควินินที่ได้จากการต้มเปลือก cinchona ปริมาณมหาศาล แต่บรรดาประเทศที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษผลิต cinchona ได้ไม่พอกับความต้องการ รัฐบาลอังกฤษจึงขอซื้อเปลือกต้น cinchona ที่ปลูกในชวา ซึ่งอยู่ในความปกครองของเนเธอร์แลนด์ มาสกัดยาควินินให้ทหารใช้

ใน ค.ศ.1942 ประชาชนในอินเดียและศรีลังกาถูกโรคมาลาเรียคุกคามหนัก ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตไปประมาณ 2 ล้านคน แต่อังกฤษซึ่งมียาควินินในครอบครองมากก็ไม่นำยาออกมาใช้รักษาคนอินเดีย เพราะกลัวทหารอังกฤษจำนวนมากจะเสียชีวิต ถ้ายาหมด และเมื่อชวาที่ปลูก cinchona มาก ตกอยู่ในการยึดครองของญี่ปุ่น ดังนั้นกองทัพสัมพันธมิตรจึงต้องเริ่มโครงการปลูก cinchona บนเทือกเขา Andes อย่างเร่งด่วน จนได้เปลือก cinchona อย่างเพียงพอภายในเวลา 2 ปี 6 เดือน

ความเดือดร้อนจากความต้องการควินินจากต้น cinchona เริ่มหมดไป เมื่อนักเคมีประสบความสำเร็จในการสังเคราะห์ควินินได้ในห้องปฏิบัติการ

สำหรับต้นยางพาราก็เช่นกัน ใน ค.ศ.1876 Henry Wickham ผู้เป็นเจ้าหน้าที่แห่งสวนพฤกษศาสตร์ Kew ในลอนดอนได้ลอบนำเมล็ดยางพารา 70,000 เมล็ด ออกจากป่าฝนในบราซิล โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ศุลกากรว่า สิ่งที่ตนกำลังขนออกนอกประเทศเป็นเมล็ดพืชที่บอบบาง ซึ่งจะนำไปปลูกที่อังกฤษ ครั้นเมื่อเมล็ดยางพาราเดินทางถึงสวน Kew ก็ถูกนำไปเพาะชำในเรือนกระจก จากนั้นกล้ายางก็ถูกส่งไปลองปลูกที่สวน Peradeniya ในศรีลังกา แล้วแพร่พันธุ์ต่อไปปลูกที่สิงคโปร์ จากที่นั่น Henry Ridley ได้ชักจูงให้เกษตรกรอังกฤษซึ่งอาศัยอยู่ในมลายูลองปลูกต้นยางพาราดูบ้าง และพบว่าได้ผลดีมาก ในที่สุดเกษตรกรรมยางพาราในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็มีแต่รุ่งกับรุ่ง แต่ธุรกิจยางในบราซิลเองตายสนิท เพราะก่อน ค.ศ.1876 ยางพาราที่โลกใช้ 98% มาจากบราซิล แต่เมื่อถึง ค.ศ.1919 ธุรกิจยางในบราซิลก็ไม่มีอีกเลย

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับการขโมยพืช คือ ผู้ขโมยมักนำเมล็ดออกนอกประเทศ เพราะเมล็ดพืชมีขนาดเล็ก ดังนั้นจึงสามารถซุกซ่อนได้มิดชิด และเมื่อนำไปเพาะจนได้ต้นกล้าแล้ว รัฐบาลมหาอำนาจ เช่น อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ก็จะส่งกล้าไปปลูกในดินแดนอาณานิคมของตน เช่น ในอินเดีย มลายู ศรีลังกา และเคนยาของอังกฤษ หรืออินโดนีเซียของเนเธอร์แลนด์ ครั้นเมื่อพืชที่ถูกขโมยเติบโตเต็มที่ ก็จะถูกเก็บเกี่ยวเพื่อนำผลผลิตที่ได้กลับสู่ประเทศมหาอำนาจอีก และในขณะเดียวกัน ชาวบ้านในประเทศอาณานิคมเองก็มีงานทำ ถึงจะไม่ร่ำรวยก็ตาม ดังนั้น คุณประโยชน์มหาศาลจึงเกิดขึ้นกับประเทศที่ขโมยพืช แต่สำหรับประเทศที่พืชถูกขโมย นั่นอาจหมายถึงความหายนะทางเศรษฐกิจ

เหล่านี้คือตัวอย่างของการย้ายถิ่นปลูกพืชที่นำความสำเร็จมาสู่ ประเทศที่ขโมย แต่ในทางตรงกันข้าม มีพืชบางชนิดที่ถูกขโมยไปแล้วสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศที่นำเข้ามาก เช่น ผักตบชวา (Eichhornia crassipes) ซึ่งเป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งที่มีถิ่นกำเนิดในบราซิล จนกระทั่ง 120 ปีก่อนนี้เอง เมื่อนักท่องเที่ยวชาวอเมริกาคนหนึ่งได้เห็นดอกผักตบชวา ซึ่งมีสีม่วง และสวยคล้ายกล้วยไม้ จึงคิดนำไปปลูกในอเมริกาบ้าง จากนั้นภายในเวลาเพียงปีเดียว ผักตบชวาก็ได้แพร่พันธุ์ไปทั่วอเมริกา จากฟลอริดาถึงเท็กซัส และได้กระจายพันธุ์จนถึงออสเตรเลียใน ค.ศ.1985 ถึงอินเดียใน ค.ศ.1902 ถึงมลายูใน ค.ศ.1910 และถึงแม่น้ำ Congo ในแอฟริกาใน ค.ศ.1940

ทุกวันนี้ทะเลสาบ Victoria ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เพราะมีพื้นที่ถึง 70,000 ตารางกิโลเมตร ทะเลนี้ตั้งอยู่ระหว่างยูกันดา แทนซาเนีย และเคนยา กำลังถูกผักตบชวาคุกคามหนัก เพราะพื้นที่ 15% ของทะเลสาบถูกผักตบชวาปกคลุม ทำให้สัตว์น้ำในทะเลสาบมีปัญหาในการโผล่ขึ้นหายใจที่ผิวน้ำ นอกจากนี้แพผักตบขนาดมโหฬาร ซึ่งมีพื้นที่หลายหมื่นตารางเมตรและหนักหลายตัน ได้ลอยน้ำเข้าอุดท่อระบายน้ำและท่อลำเลียงน้ำของโรงงานไฟฟ้า ทำให้การผลิตไฟฟ้าถูกกระทบกระเทือน นอกจากนี้แพผักตบยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ เช่น ยุง หอยทาก และงู ซึ่งเป็นสัตว์อันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และผู้คนที่อาศัยอยู่รอบๆ ทะเลสาบด้วย นั่นคือ คุณภาพชีวิตของชาวบ้านทุกคนและสัตว์ทุกชีวิตได้ลดลง ตั้งแต่ผักตบชวามาเยือนและเติบโตในทะเลสาบ Victoria

ปัจจุบัน ปัญหานี้กำลังได้รับการแก้ไขด้วยวิธีวิทยาศาสตร์ ด้วยการกำจัดด้วยวิธีทั้งทางกายภาพและชีวภาพ แต่ก็ใช่ว่าแก้ไขได้ง่าย เพราะผักตบชวาแพร่พันธุ์ได้อย่างเร็วมากนั่นเอง

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.

ที่มา http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9540000098784