วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เทคนิคการเลี้ยงไก่ไข่ต้นทุนต่ำ ปลอดภัย ไร้สารตกค้าง

 
อาชีพเลี้ยงไก่ไข่   เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยม  เพราะนอกจากจะได้ไข่ไว้บริโภคภายในครัวเรือนแล้ว  ยังสามารถจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกร  อีกทั้งการลงทุนก็ไม่มาก  เลี้ยงง่าย  ใช้เนื้อที่น้อย
บริษัทหรือฟาร์มเอกชนจำนวนมาก  ผลิตไข่ไก่พันธุ์ลูกผสมเพื่อจำหน่ายแก่ผู้เลี้ยง  ไก่พันธุ์ที่คัดเลือกเป็นไก่พันธุ์ไข่ดก  ไข่ฟองโต  ไข่ทน  และไข่นาน  มีผลผลิตไข่อยู่ในเกณฑ์สูงสามารถเลี้ยงได้ตั้งแต่อายุเริ่มได้  1  วัน  หรือจะเลี้ยงไก่รุ่น  2  เดือนก็ได้

ปัญหาของเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่บางครั้งเพราะได้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มค่า  ทั้งนี้เนื่องมาจากไก่มีการเจ็บป่วย ไก่ตาย โดยที่ยังไม่มีการระบาดของโรค แต่เกิดจากไก่มีอาการแพ้กลิ่นเหม็นแพ้แอมโมเนียจากมูลไก่เอง  ปัญหาของมูลไก่โดยทั่วไป คือ เกิดกลิ่นเหม็นออกมารบกวนสุขภาพของไก่และคน และมูลไก่ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน ทำให้เกษตรกรต้องเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหา เช่น ค่ายาในการรักษาไก่ ซึ่งค่าวัคซีน ค่าอาหาร ค่าพันธุ์ไก่ ฯลฯ ก็เป็นต้นทุนที่สูงอยู่แล้ว

แนวทางการแก้ไข คือ ต้องทำให้ผลผลิตสูงขึ้น  เกิดการสูญเสียแก่ไก่ไข่น้อยที่สุด และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต  ต้นทุนด้านค่าอาหารยังเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่เรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค ในกรณีที่ไม่ได้เกิดจากโรคระบาด การใช้แนวทางการป้องกัน การจัดการระบบสุขาภิบาลของโรงเรือน
การเลี้ยงไก่ไข่สามารถทำการเลี้ยงได้  2 วิธี

การเลี้ยงแบบขังรวม เป็นการเลี้ยงไก่แบบเลี้ยงรวมกันในโรงเรือนขนาดใหญ่ และรองพื้นด้วยวัสดุรองพื้น วิธีนี้เป็นที่สนใจจากผู้เลี้ยงในปัจจุบันอย่างมาก  โรงเรือน และอุปกรณ์ในการเลี้ยงไก่ไข่  ต้องแข็งแรง  กันแดด  กันฝน กันลมได้  และมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ดูแลวัสดุรองพื้นอย่าให้แฉะหรือแข็งเป็นแผ่น หรือมีกลิ่นเหม็นของแก๊สแอมโมเนีย ต้องคุ้ยและพลิกกลับอย่างสม่ำเสมอ

การเลี้ยงแบบกรงตับ  เป็นกรงใส่ไก่ไข่ที่มีทั้งแบบชั้นเดียว  และหลายชั้นซ้อนกันเป็นที่นิยมมาก ชั้นเดียว  2  ด้าน  ด้านละ  6  ช่อง  ชุดหนึ่งเลี้ยงได้  12  ตัว  ติดตั้งอุปกรณ์ให้น้ำให้อาหารแบบกะทัดรัด  ส่วนใหญ่จะเป็นไก่สาว เป็นวิธีที่ผู้เลี้ยงไก่เป็นอาชีพหรือเพื่อการค้านิยมกันมาก เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาเลี้ยงดูไก่เล็กหรือไก่รุ่น นอกจากนี้โรงเรือนก็สร้างไว้เฉพาะกับไก่ไข่เท่านั้น แต่การเลี้ยงไก่วิธีนี้ต้องลงทุนสูง ผู้เลี้ยงจะต้องรู้จักฟาร์มที่ผลิตไก่สาวเป็นอย่างดี ต้องสอบถามถึงประวัติของฝูงไก่สาวที่นำมาเลี้ยงเสมอ เพราะช่วงที่ไก่ยังเป็นลูกไก่และไก่รุ่นผู้เลี้ยงไม่สามารถรู้ประวัติของฝูง ไก่สาวที่จะนำมาเลี้ยงได้

เทคนิคการป้องกันและแก้ไข

การจัดการน้ำไก่ไข่

1.ไก่ไข่ที่อายุ 3 เดือนขึ้นไป ต้องการน้ำประมาณ 15-20 ลิตร/100 ตัว/วัน หากขาดน้ำในช่วงให้กำลังไข่ เพียง 3-4 ชั่วโมง จะทำให้ไข่ฟองเล็ก  น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำสะอาด ไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อนโดยใช้ ไคโตซาน  มิกซ์ฟีด  ละลายน้ำในรางหรือถังให้ไก่กิน  โดยใช้อัตรา 10 ซีซี.น้ำ 20 ลิตร ป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำ กระตุ้นการกินอาหาร

การจัดการอาหารไก่ไข่

1. อาหารไก่ไข่ ในช่วงเริ่มให้ไข่ เปอร์เซ็นต์โปรตีน ประมาณ 15-16 %  ซึ่งมีทั้งอาหารป่น อาหารอัดเม็ด หัวอาหารสำหรับผสมเอง ความต้องการอาหารของไก่ อายุ 3 เดือนขึ้นไป ประมาณ 10 กิโลกรัม/100 ตัว/วัน  ปัญหาที่เกิดจากอาหารบางครั้งคือ การปนเปื้อนเชื้อราในอาหาร ที่เรียกว่า สารอะฟลาท๊อกซิน นอกจากนั้นในวัตถุดิบอาหารสัตว์บางครั้งอาจมีสารพิษตกค้างจากสารเคมีที่ใช้ เช่น ยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืช  ซึ่งปะปนในอาหารสัตว์  เมื่อสัตว์กินเข้าไป จะทำให้ตับถูกทำลาย หรือเป็นมะเร็งที่ตับได้  แต่ในไก่สามารถสังเกตได้ว่าไก่จะถ่ายเหลว หรือท้องเสีย  วิธีป้องกันแก้ไขโดย ใช้สเม็คไทต์ผง ผสมร่วมกับอาหารไก่ เพียง  3 % ของอาหารสามารถจับตรึงสารพิษที่ปนเปื้อนกับอาหารได้ ช่วยจับตรึงแอมโมเนียและกลิ่นเหม็นตั้งแต่ในระบบลำไส้ เมื่อไก่ถ่ายออกมากลิ่นเหม็นจะน้อยลง

การจัดการด้านสุขาภิบาล

1. การกำจัดกลิ่นเหม็นจากมูลสัตว์ตามพื้นคอก ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ไก่มีอาการหายใจลำบาก หน้าบวม ร้อนแดง ตาอักเสบ น้ำมูก น้ำตาไหลและมีอาการคัน เกาจนเป็นแผลทำให้เกิดการติดเชื้อและตายในที่สุด  หากเป็นไก่ไข่แบบเลี้ยงรวมบนพื้น สามารถใช้สเม็คไทต์ ผง หว่านลงบนวัสดุรองพื้น โดยในระยะไก่โตอาจหว่านโรย ทุก 5-7 วัน ช่วงเช้า-เย็น  ไก่ไข่แบบกรงตับให้ใช้สเม็คไทต์ผง หว่าน โรยบางๆ ทับลงบนมูลไก่ที่พื้นคอก  กลิ่นเหม็นจะถูกดูดซับ จากนั้นประมาณ 5-10 นาทีกลิ่นเหม็นจะหายไป

2. การหว่านโรยสเม็คไทต์ผง บนมูลไก่บนลานตากแห้ง หรือหว่านโรยบางๆ ในเล้าไก่ ช่วยลดปัญหาไรไก่ พยาธิ รวมทั้งแมลงวันให้น้อยลง เนื่องจากสเม็คไทต์ เป็นสารจากการระเบิดตัวของหินภูเขาไฟ ซึ่งสามารถรบกวนผิวไรไก่และพยาธิ  ทำให้ไรไก่และพยาธิไม่สามารถระบาดได้และลดลง จนหมดไป

** หมายเหตุ  หากนำมูลไก่ที่หว่านโรยด้วยสเม็คไทต์ไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ จะเป็นปุ๋ยละลายช้าที่มีซิลิก้า ช่วยให้พืช แข็งแกร่ง ต้านทาน โรค แมลงได้ดีขึ้น

เขียนและรายงานโดย  พิพัฒนะ  เครือชาลี (นักวิชาการ)