วันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พิษพาราควอท (Paraquat)



พาราควอท
 เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช (Herbicide) จัดอยู่ในกลุ่มไบพัยริดิล (bipyridyl Compound) สังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในคริสศตวรรษที่ 19 ในครั้งนั้นมีนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้สารนี้วัดค่า Oxidation ซึ่งรู้จักดีในชื่อของ Methylviologen ในปีพ.ศ.2501 พาราควอทได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในทางเกษตรกรรมโดยบริษัทไอ.ซี.ไอ. แห่งประเทศอังกฤษ ใช้ชื่อทางการค้าว่า "กรัมม็อกโซน" (Gramoxone) รู้จักกันทั่วโลกว่าเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ต่อมาได้มีบริษัทอื่น ๆ ผลิตพาราควอทออกมาโดยใช้ชื่อทางการค้าต่าง ๆ กันมากมาย ปัจจุบันพาราควอทเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่แพร่หลายที่สุดชนิดหนึ่ง และเป็นสารกำจัดวัชพืชที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตเพราะได้รับพิษของพาราควอทหลายพันคน

คุณสมบัติ
เป็นของเหลวสีน้ำเงินเข้ม มีรสเผ็ด, ขม และมีกลิ่นฉุน สลายตัวที่ 300ซ. ไม่ระเหย ที่ความเข้มข้นสูงสามารถกัดกร่อนโลหะ, ดีบุก, สังกะสีและอะลูมิเนียมได้ ละลายได้ดีในน้ำ แต่ละลายได้น้อยในแอลกอฮอล์และไม่ละลายในตัวทำละลายที่เป็นสารอินทรีย์อื่น ๆ มีความคงทนดีในภาวะกรด หรือภาวะเป็นกลาง แต่จะสลายตัวได้ง่ายในภาวะด่าง ถูกทำลายให้เสื่อมฤทธิ์เมื่อถูกแสงอุลตร้าไวโอเล็ต, สารที่มีพื้นผิวเป็นประจุลบและดินเหนียว
ชื่อการค้ามักลงท้ายด้วย Xone เช่น Gramoxone 

อาการพิษเฉียบพลัน
WHO จัดให้พาราควอทเป็นสารที่มีพิษปานกลาง โดยพิจารณาจาก LD50 ของมัน พาราควอทเป็นพิษอย่างร้ายแรงต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะได้รับพิษโดยทางใด
สารนี้ถูกดูดซึมได้น้อยมากทางผิวหนังที่ไม่มีแผล แต่ถ้าผิวหนังมีรอยขีดข่วนหรือเป็นแผล พาราควอทจะซึมผ่านได้ดี พาราควอทจะระคายเคืองต่อผิวหนังอย่างรุนแรง การได้รับพิษเข้มข้น อาจทำให้เล็บหลุดได้
เมื่อผู้ป่วยกินพาราควอทเข้มข้น จะมีอาการแสบร้อนในช่องปาก ทางเดินอาหารอักเสบ เนื่องจากฤทธิ์ในการกัดของพาราควอท คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย ท้องร่วงซึ่งบางครั้งอาจมีเลือดปนออกมา กระสับกระส่าย เลือดกำเดาไหล หายใจขัด เบื่ออาหาร หัวใจเต้นเร็ว ผิวหนังคล้ำ ระบบหายใจล้มเหลว เซลล์ตับและไตถูกทำลายและตายในที่สุด 

อาการพิษเรื้อรัง
การสัมผัสพาราควอทติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เป็นแผลพุพอง ซึ่งยังผลให้สารนี้ซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นสาเหตุให้ได้รับพิษอย่างร้ายแรง การสูดดมพาราควอทติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เลือดกำเดาไหล ถ้าเข้าตาจะเป็นอันตรายแต่แก้วตา และทำให้ตาบอดได้ในเวลาต่อมา ถ้ากลืนกินพิษของมันจะเป็นอันตรายต่อกระเพาะ ไต ตับ หัวใจ และอวัยวะอื่น ๆ นอกจากนี้ พิษของพาราควอทยังสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อของปอด กลายเป็นพังผืด ซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อปอดอย่างรุนแรง
สารประกอบของสารนี้มักจะซึมลงไปปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน 

กลไกการเกิดพิษ
กลไกที่แท้จริงยังไม่มีใครทราบ สมมติฐานที่เชื่อว่าจะเป็นไปได้คือ พาราควอทถูก reduce โดยอ็อกซิเจน เกิด Superoxide radical (O2) หลังจากนั้นโดยเอ็นซัยม์ Superoxide dismutaseจะทำให้Superoxide radical ทำปฏิกิริยากับน้ำเกิด H2O2(Hydrogen peroxide). Superoxide radical และ H2O2จะออกฤทธิ์ไปทำลายผนังเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย 

ผลต่อระบบของร่างกาย (Systemic Effects)
การได้รับพาราควอทปริมาณน้อยถึงปานกลาง 2-3 วัน หลังจากได้รับพาราควอท อาจมีอาการของไตและตับถูกทำลาย ความรุนแรงขึ้นอยู่กับปริมาณของพาราควอทที่ได้รับเข้าไป การทำลายของอวัยวะทั้งสองนี้ สามารถกลับเป็นปกติได้ ประมาณ 5-10 วัน หรือในบางครั้งอาจถึง 14 วัน หลังจากได้รับพาราควอท ผู้ป่วยจะมีอาการปอดถูกทำลาย ซึ่งไม่สามารถจะกลับเป็นปกติได้ การหายใจไม่สะดวก และทรุดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏจากการเอกซเรย์ และในที่สุดผู้ป่วยจะเสียชีวิตเนื่องจากระบบหายใจล้มเหลว 

การได้รับพาราควอทปริมาณสูง เมื่อผู้ป่วยได้รับพาราควอทในปริมาณที่สูง เช่น เกินกว่า 100 ซีซี ของพาราควอทเข้มข้น อวัยวะหลายอย่างจะถูกทำลายและล้มเหลว และผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลาเพียง 2-3 ชั่วโมง หรือ 1-2 วัน
สำหรับผู้ใหญ่ การกินพาราควอทเพียง 3 กรัม อาจทำให้ตายได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษา (พาราควอท 3 กรัม เท่ากับปริมาณพาราควอทเข้มข้น 15 ซีซีหรือ 1 ช้อนโต๊ะ) 
 
พยาธิสภาพ
พยาธิสภาพที่อวัยวะต่าง ๆ มีดังนี้
- ปอดมี Diffuse cellular intravascular fibrosis โดยมี infiltration ของ profibroblast เข้าไปในถุงลม ทำให้เกิด pulmonary edema ได้
- ตับมี Centrilobular fatty infiltration ตับจะมีขนาดโตขึ้น มีการคั่งของเลือดและน้ำดี
- ไตมี Cortical necrosis และ tubular necrosis มีขนาดโตขึ้น
- กระเพาะอาหารมีเลือดออกได้
- ต่อมหมวกไตจะถูกทำลาย
- หัวใจมี focal myocardial necrosis 

การวินิจฉัย
1. ประวัติ
ผู้ป่วยทั้งหมดจะให้ประวัติว่ากินพาราควอทโดยจงใจฆ่าตัวตายแทบทั้งสิ้น มีส่วนน้อยที่หยิบยาผิด แพทย์จะวินิจฉัยได้จากชื่อและฉลากที่ญาติหรือตัวผู้ป่วยนำมา ผู้ป่วยที่มีสติดีอยู่อาจให้ประวัติว่าสารพิษที่กินมีรสเผ็ดร้อนและขม มีสีน้ำตาลไหม้หรือสีฟ้าแก่ซึ่งพอช่วยการวินิจฉัยในเบื้องต้นถ้าผู้ป่วยไม่ ให้ความร่วมมือหรือไม่รู้สึกตัว ควรรีบซักประวัติจากผู้นำส่ง หรือญาติผู้ป่วย และให้นำฉลากหรือขวดยามาให้แพทย์ทำการักษาดูโดยด่วนในเรื่องของสี เมื่อหลายปีที่ผ่านมาพาราควอทที่ผลิตเป็นน้ำยาสีน้ำตาลเข้ม ปรากฏว่ามีผู้เข้าใจผิดกคิดว่าเป็นยาสามัญประจำบ้าน จึงเกิดพิษโดยอุบัติเหตุเพราะการหยิบยาผิดได้ ในปัจจุบันจึงเปลี่ยนจากสีน้ำตาลมาเป็นสีน้ำเงินและเติมสารที่ทำให้อาเจียน เข้าไปด้วย เพื่อประโยชน์ในการป้องกันไม่ให้พาราควอทถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ส่วน หนึ่ง ฉะนั้นจะพบว่าน้ำล้างกระเพาะอาหารของผู้ป่วยที่กินพาราควอทเป็นสีน้ำเงิน หรือสีฟ้าแก่
ปริมาณพาราควอทที่ผู้ป่วยกินเข้าไปก็มีความสำคัญต่อ พยากรณ์โรค เพราะกรัมม็อกโซนชนิดร้อยละ 20 จำนวน 10 - 15 มล. ก็เพียงพอทำให้ผู้ป่วยตายได้ ดังนั้นถ้าผู้ป่วยกินมาหนึ่งอึกใหญ่ประมาณคร่าว ๆ ว่า 30 มล. จะเป็นประมาณมากเกินพอที่ทำให้ตายได้ จำเป็นต้องให้การรักษาเร่งด่วน ผู้ป่วยที่ให้ประวัติกินพาราควอทเพียงหนึ่งอึก แม้ยังไม่ทันกลืน รีบบ้วนออกมาในที่สุดยังตายได้ ระยะเวลาที่ผู้ป่วยได้รับพาราควอทเข้าไปในร่างกายก่อนนำส่งโรงพยาบาลก็มี ความสำคัญ ช่วยพยากรณ์โรคได้กล่าวคือ ระยะยิ่งนานอัตราการตายก็ยิ่งสูง 

2. การตรวจร่างกาย
ในชั่วโมงแรก ๆ มักไม่พบอาการผิดปกติ ยังคงมีสติดี พูดจารู้เรื่อง ให้ประวัติต่าง ๆ ได้ การตรวจร่างกายระบบต่าง ๆ ยังปกติ ผู้ป่วยที่กินพาราควอทจำนวนมาก อาจดิ้นทุรนทุรายมีฟองน้ำลายเป็นสีน้ำเงินออกมาทางปากและจมูก เนื่องจากภาวะ Pulmonary congestion หายใจหอบและหมดสติ
ผู้ป่วยที่กินพาราควอทมานาน 12 - 24 ชั่วโมง ตรวจพบมีลักษณะบวมพองที่บริเวณรินฝีปาก ลิ้น ช่องปาก ลำคอ และหลอดอาหาร ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นแผล ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการหอบจำเป็นต้องซักประวัติเกี่ยวกับพาราควอท เพราะเคยมีรายงานผู้ป่วยมาหาแพทย์ด้วยประวัติแบบนี้ เมื่อถ่ายภาพรังสีพบว่าพังผืดเกิดขึ้นทั่วไปในเนื้อปอด
สำหรับผู้ป่วย ที่มีอาชีพต้องทำงานสัมผัสกับพาราควอท เช่น ในโรงงานผลิตพาราควอท หรือเป็นเกษตรกร อาจพบผิวหนังมีลักษณะไหม้เป็นสีน้ำตาลตามบริเวณแขน ขา หน้าอก ส่วนที่สัมผัสกับพาราควอท และในที่สุดเกิดอาการผิดปรกติทางระบบหายใจ ฉะนั้น จำเป็นต้องตรวจร่างกาย รวมทั้งสมรรถภาพการทำงานของปอด ของบุคคลที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเหล่านี้เป็นระยะ ๆ 

3.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- ตรวจเคมีเลือดจะพบว่า BUN, Creatinine, Uric acid, Alkaline phosphatase, Bilirubin, SGOT สูงกว่าปรกติ แสดงถึงการมีพยาธิสภาพที่ตับและไต
- ตรวจBlood gas พบ O2 ต่ำ CO2สูงกว่าปรกติ
- ตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด แสดงภาวะเนื้อเยื่อปอดเป็นพังผืด
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจจะพบลักษณะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (มี T - waveเปลี่ยนแปลงและมี U-waveเกิดขึ้น)
การ ตรวจหาสารพาราควอท การตรวจพบสารพาราควอทในปัสสาวะหรือของเหลวจากกระเพาะ จะช่วยยืนยันการวิเคราะห์โรคร่วมกับประวัติและอาการทางคลินิกปัสสาวะและน้ำ ที่ดูดจากกระเพาะ สามารถนำไปตรวจหาพาราควอทได้ โดยปฏิกิริยารีดักชั่นของพาราควอทที่มีประจุบวก เปลี่ยนเป็นอนุมูลสีน้ำเงินในสภาพที่เป็นด่าง และมี sodium dithionite อยู่ด้วย 

วิธีการตรวจ
1. นำปัสสาวะหรือของเหลวที่ดูดจากกระเพาะปริมาณ 10 ซีซี ใส่ลงในหลอดทดลอง
2. เติมด่าง เช่น sodium hydroxide ลงไปจน pH สูงกว่า 9 (อาจใช้ sodium bicarbonate ประมาณ 2.5 - 5 ซีซี แทนได้)
3. เติม sodium dithionite ขนาดเท่าปลายช้อนชาลงในตัวอย่าง เขย่าเบาๆ
4. นำหลอดทดลองไปส่องดูกับพื้นสีขาว ถ้ามีสีน้ำเงินหรือสีเขียวเกิดขึ้น แสดงว่ามีพาราควอทอยู่ในตัวอย่างนั้น และเป็นการยืนยันการวินิจฉัยโรค หากในตัวอย่างมีพาราควอทอยู่ในความเข้มข้นสูง สีที่เกิดขึ้นอาจจะกลายเป็นสีดำ ให้ตรวจซ้ำอีกครั้งโดยเจือจางตัวอย่างลง พาราควอทเป็นสารพิษที่เรียกว่า hit and run poison เราไม่อาจตรวจพบสารพิษได้ในผู้ป่วยที่ปอดเป็นพังผืด และหายใจหอบขณะที่มาโรงพยาบาล หลังจากได้รับพาราควอทเข้าไปแล้ว นานหนึ่งสัปดาห์ถึงสองสัปดาห์ 

การรักษา 
 
การปฏิบัติเบื้องต้น
พยายามให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาพาราควอทออกมามากที่สุดเช่น ล้วงคอ, ให้กินไข่ขาว, หรือให้ดื่มน้ำเกลือเข้มข้นอุ่น ๆ เป็นต้น แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน 
 
การปฏิบัติในโรงพยาบาล แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ 
 
1. ป้องกันการดูดซึมทางลำไส้ ให้ดินเหนียว Fuller's Earth(ICI)60 กรัม/ขวด ปริมาณ 150 กรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร ให้ทางปาก หรือให้ bentonite 100-150 กรัม และให้ร่วมกับยาระบาย MOM 30 มล. ทุก 6 ชั่วโมง จนผู้ป่วยถ่าย โดยทั่วไปถือว่าขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดในการรักษาภาวะเป็นพิษ เพราะว่าดินสามารถ inactivate พาราควอทได้เป็นอย่างดี 

2. เร่งการขับถ่ายออกจากเลือด ใช้วิธี forced diuresis โดยให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำด้วยอัตรา 250 มล./ชั่วโมง ร่วมกับฉีดยาขับปัสสาวะ furosemide จนปัสสาวะออกประมาณ 3 มล./นาที จะช่วยเพิ่มการกำจัดพาราควอททางไตได้ ข้อควรระวังคือ จะต้องแก้ภาวะเกลือแร่ผิดปกติและต้องระวังภาวะน้ำเกิน เพราะผู้ป่วยอาจเกิดไตวายจากพาราควอท ทำให้ขับน้ำออกจากร่างกายไม่ได้ ในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือพร้อม อาจใช้วิธ ีHaemodialysisหรือ Haemoperfusionได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับยามาภายใน 3 วัน และอาการไม่เป็นแบบ multiple organ failure ซึ่งมักจะรักษาไม่ได้ผล การทำ hemoperfusion อาจต้องทำซ้ำๆ กันวันละ 1-2 ครั้ง 3 วัน เพราะหลังจากนั้นแล้ว ยาอาจกระจายเข้าไปในเนื้อเยื่อต่างๆ แม้จะทำ hemoperfusion ก็ไม่ได้ผล 

3. ป้องกันการทำลายเนื้อเยื่อของร่างกาย โดยงดให้อ๊อกซิเจน แม้รายที่มีอาการทางระบบหายใจแล้ว เพื่อยับยั้งกลไกลการเกิด Oxdation ของพาราควอท มีการป้องกันการเกิดพังผืดในปอดด้วย สเตียรอยด์ เช่น ให้ dexamethasone 5 มก. IV ทุก 6 ชั่วโมง และยา cytotoxic เช่น cyclophosphamide 5 มก./กก./วัน IV แบ่งให้ทุก 8 ชั่วโมง ผลการรักษาอาจจะดี แต่ยังไม่มี controlled trial พิสูจน์อย่างชัดเจน 

จากการที่พาราควอทออกฤทธิ์แบบ oxidant จึงมีความพยายามใช้สาร antioxidants มาใช้ในการรักษา เช่น วิตามินซี วิตามินอี ไนอาซิน N-acetylcysteine แต่พบว่าได้ผลน้อย การพยากรณ์ความรุนแรงของอาการมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวิเคราะห์หา ปริมาณพาราควอท ถ้าพบว่าใน 24 ชั่วโมงแรกภายหลังการกินมีค่าพาราควอทในเลือดเกิน 0.2 ไมโครกรัม/มล. และกิน 0.1 ไมโครกรัม/มล.ใน 48 ชั่วโมงแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะตาย ถ้าพบว่าในปัสสาวะมีพาราควอทถูกขับถ่ายออกมามากกว่า 1 มก./ชั่วโมง ผู้ป่วยก็จะตายเช่นกัน 

กรณีที่พาราควอทเข้มข้นกระเด็นเข้าตา อาจทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงของกระจกตา (cornea) และเยื่อตาขาว (conjunctiva) หากไม่ได้รับการรักษา การอักเสบจะค่อยๆ มากขึ้นในระยะเวลา 24 ชั่วโมง และอาจทำให้เกิดแผลที่เยื่อบุกระจกตาและเยื่อบุตาขาว ซึ่งอาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้ แต่โดยปกติถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจะหายเป็นปกติเหมือนเดิม แม้ในรายที่รุนแรงมาก
เมื่อพาราควอทกระเด็นเข้าตาให้รีบล้างทันทีด้วยน้ำสะอาดจำนวนมากติดต่อกัน นาน 10-15 นาที และปรึกษาจักษุแพทย์ ควรให้ยาหยอดตาที่มียาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแทรกซ้อน และให้ยาหยอดตาที่มี steroid ที่เหมาะสมจะช่วยลดการเกิด granulation tissue ได้ ในระยะ 3-4 สัปดาห์แรก อาจมีการบวมของกระจกตาซึ่งทำให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพไม่ชัดเป็นการชั่วคราว 


ความแตกต่างระหว่าง พาราควอต กับ ไกลโฟเสท
 
สารเคมีกำจัดวัชพืช มีหลายชนิด หากแบ่งตามลักษณะการทำลาย แบ่งได้ 2 ชนิดคือ 
1. ฉีดทางใบ การฉีดทางใบยังแบ่งได้เป็น สัมผัสตาย หรือฉีดถูกบริเวณใดก็ตาม จะตายเฉพาะส่วนนั้น หมายถึงประเภทฆ่าวัชพืชแบบไม่ถอนรากถอนโคนอีกประเภทหนึ่ง เป็นประเภทดูดซึม หลังจากฉีดให้ทางใบแล้วจะเคลื่อนย้ายเข้าไปในต้นพืช เข้าทำลายท่อน้ำท่ออาหารทั้งระบบ แม้ส่วนที่อยู่ใต้ดินก็ได้รับผลด้วย หรือทำลายแบบถอนรากถอนโคนเลยทีเดียว 

2. ฉีดลงดิน ก่อนเมล็ดวัชพืชงอกเมื่อได้รับความชื้น สารเคมีถูกดูดซึมเข้าสู่ต้นอ่อนแล้วเข้าทำลายต้นวัชพืชทันที สารเคมีชนิดนี้จะมีผลตกค้างในดินนาน 4 สัปดาห์ ไปจนถึง 1 ปี 

นอกจากนี้ สารเคมีกำจัดวัชพืชแบ่งเป็นชนิด 
เลือกทำลาย หมายถึง สารเคมีกำจัดวัชพืชจะเข้าทำลายวัชพืชเพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น เลือกทำลายเฉพาะ พืชใบกว้าง เท่านั้น 

อีกชนิดหนึ่งเป็นชนิดที่ไม่เลือกทำลาย หมายถึงถ้าฉีดสารเคมีกำจัดวัชพืชชนิดนี้แล้วไม่ว่าพืชใบกว้าง ใบแคบ หรือแม้แต่พืชที่ปลูกก็จะถูกทำลายทั้งหมดโดยไม่เลือกหน้า 

พาราควอต จัดอยู่ในกลุ่มสัมผัสตาย ไม่ว่าจะเป็นพืชใบกว้างหรือใบแคบก็ตาม มีชื่อการค้าว่า แพลนโซน กรัมม็อกโซน พาราควอต และวีดอล เป็นต้น เป็นสารเคมีที่ออกฤทธิ์ทำลายได้เร็วมาก ฉีดในขณะแดดจ้าต้นวัชพืชจะแสดงอาการภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง 

ดังนั้น ขณะที่ฉีดพ่นควรระวังอย่าให้ละอองสารเคมีไปสัมผัสกับต้นพืชที่ปลูก สารเคมีกำจัดวัชพืชกลุ่มนี้จะสลายตัวได้ 25-50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อถูกแสงแดดจ้าภายในเวลา 3 สัปดาห์ 
นอกจากนี้ เมื่อฉีดพ่นลงดินจะถูกอนุภาคของดินจับสารเคมีพาราควอตได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ จึงไม่สามารถทำลายวัชพืชได้เลย 

กลุ่มไกลโฟเสท เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชทำลายได้ทั้งชนิดใบกว้างและใบแคบ รวมทั้งพวกกก ใช้ฉีดพ่นทางใบแล้วพืชจะดูดซึมเข้าไปทำลายส่วนต่าง ๆ อย่างช้า ๆ และเห็นผลในสัปดาห์ที่ 3 ใช้กำจัดวัชพืชที่มีหัวอยู่ใต้ดินเช่นหญ้าคา หรือหญ้าแห้วหมู หากต้องการให้ได้ผลดีต้องฉีดพ่นวัชพืชที่มีใบ 4-8 ใบ หรือต้นที่แก่เต็มที่ หากฉีดพ่นวัชพืชที่มีอายุน้อยมักจะไม่ได้ผล 

ไกลโฟเสทมีผลตกค้างในดินน้อยมาก เนื่องจากถูกจุลินทรีย์ในดินเป็นตัวย่อยสลาย ขอนำตัวอย่าง สารเคมีกำจัดวัชพืช ชนิดเลือกทำลาย เช่น กลุ่ม 2, 4-ดี ที่มีชื่อการค้าว่า เฮ็ดโดนัล เอสเตอร์ 79 และ เซลล์-ดี 80 ใช้พ่นทางใบ จะเลือกทำลายเฉพาะวัชพืช ใบกว้าง และ กก การฉีดพ่นที่ได้ผลดีไม่ควรมีฝนตกนาน 4-6 ชั่วโมง 2, 4-ดี สลายตัวในดินภายใน 1-4 สัปดาห์ มีหลายคนมักถามว่า วัชพืชใบกว้างกับวัชพืชใบแคบนั้นต่างกันอย่างไร ขอตอบว่า วัชพืชใบแคบ ก็คือพืชตระกูลหญ้า เช่น หญ้าข้าวนก หญ้าไม้กวาด และหญ้าอื่น ๆ จัดอยู่ในประเภทพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ส่วนวัชพืชใบกว้าง เช่น โสน เซ่ง ผักบุ้ง ผักปอดนา เทียนนาและผักปราบ ทั้งหมดจัดอยู่ในประเภทพืชใบ เลี้ยงคู่ ผมอธิบายพอเป็นสังเขป คิดว่าคงพอจะเข้าใจนะครับ

ที่มา