วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553

ไส้เดือนเพื่อนเกษตร





โดย

เกษม รักควาย
สวนรักคนรักควาย โคราช

คำนำ

เนื่อง จากในสภาวะปัจจุบัน การทำการเกษตรของเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีมากกว่า 70 % ของกิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อสภาพดินในปัจจุบัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบมากกว่า
ไส้เดือนก็เช่นเดียวกัน ต่างก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นดินและสิ่งแวดล้อมที่อุดม สมบูรณ์เปลี่ยนไป ทำให้พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่แทบไม่มีไส้เดือนได้อาศัยอยู่เลย ทั้งๆที่ไส้เดือนเหล่านี้มีค่าคุณอนันต์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก เป็นแรงงานที่ไม่ต้องจ้างหา เป็นผู้สร้างอินทรียวัตถุธาตุให้แก่พืช เป็นผู้ทำให้สภาพพื้นดินอุดมสมบูรณ์ เป็นผู้ช่วยให้เกษตรกรประหยัดรายจ่ายค่าปุ๋ยแต่เพิ่มรายรับ เป็นเจ้าหน้าที่ที่คอยกำจัดขยะได้อย่างดีเยี่ยม และอื่นๆ อีกมากมาย
เป็น เวลาหลายปีมาแล้วที่ต่างประเทศได้รู้คุณค่าของไส้เดือนและได้มีการทดลองถึง คุณค่าของไส้เดือน และมีการนำเอาใช้ในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอย่างแพร่หลาย ประเทศไทยของเราก็ได้มีการนำเอาไส้เดือนมาใช้ในด้านสาธารณสุข ด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ แต่ไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายนัก ก็เนื่องจากยังให้ความสำคัญน้อยอยู่
กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารการ เลี้ยงไส้เดือนนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไปไม่มากก็น้อย และเป็นแนวทางเพื่อการพัฒนาต่อๆไป

เกษม รักควาย
15 ม.ค.2553


ไส้เดือน
ไส้เดือน เป็นสัตว์ที่มีประโยชน์อย่างมากทั้งเป็นผู้ช่วยพรวนดิน ทำให้ดินร่วนซุย ย่อยสลายอินทรียวัตถุให้เป็นปุ๋ย ช่วยรีไซเคิลขยะสดจากบ้านเรือนและชุมชน ลดปริมาณขยะ แปรเปลี่ยนให้มาเป็นปุ๋ยหมักและปุ๋ยน้ำ ที่สามารถนำกลับมาบำรุงรักษาต้นไม้และพืชผัก รวมทั้งยังนำมาเป็นแหล่งอาหารที่อุดมด้วยโปรตีนเฉพาะสำหรับการเลี้ยงสัตว์
วัน ก่อนก็เตรียมดินจะปลูกพืช-ผักไว้กิน ขุดดินไปโดนซะหลายตัว ที่สวนก็พอมีอยู่แต่ไม่มากนัก เสียดายจัง คงต้องหาทางเอามาเลี้ยงใหม่ให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่งั้นมีหวังโดนสับเละอีกแน่
แต่มีเรื่องที่ควรให้ความสนใจและระมัด ระวังอยู่ก็ในเรื่องของพันธุ์ไส้เดือนที่จะนำมาเลี้ยง ปัจจุบันฟาร์มเลี้ยงไส้เดือนในประเทศไทย มีการนำสายพันธุ์ไส้เดือนจากต่างประเทศเข้ามาเพาะเลี้ยง และมีการนำไปปล่อยสู่ธรรมชาติ ไส้เดือนต่างประเทศเหล่านี้มีความแข็งแรง ทนต่อสภาพแวดล้อม เจริญเติบโตแพร่พันธุ์และขยายพันธุ์และขยายจำนวนได้อย่างรวดเร็วกว่าพันธุ์ ไทยท้องถิ่น และไส้เดือนสามารถผสมข้ามพันธุ์กันได้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเกี่ยวข้องกับระบบนิเวสน์วิทยาหรือไม่

วิธีการเพาะเลี้ยงไส้เดือนดิน
การ เพาะเลี้ยงไส้เดือนมีวิธีการเพาะที่ง่าย ลงทุนต่ำ สามารถเลี้ยงได้ตั้งแต่ขนาดเล็กในภาชนะ เช่น ถังพลาสติก กระบะไม้ ถังส้วม เป็นต้น
ไส้เดือนเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่ายเจริญเติบโตเร็ว แพร่พันธุ์และขยายจำนวนรวดเร็วในเวลาสั้นๆ โดยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและอาหาร

สภาพแวดล้อมที่ไส้เดือนชอบ
1.ไส้เดือนชอบอยู่ในที่มืด ไม่ชอบแสงสว่างหรือแสงแดด
2.ไส้เดือนชอบอยู่ในที่ชื้น ไม่แห้งเกินไป และไม่ชื้นแฉะมีน้ำท่วมขัง
3.ไส้เดือน ชอบอุณหภูมิที่เย็นระหว่าง 12-25 องศา ถ้าสูงหรือต่ำกว่านี้ จะมีผลต่อการขยายพันธุ์ และจะตายถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส และสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
4.ไส้เดือนจะตายในสภาพที่ปนเปื้อนสารเคมี
ภาชนะ ที่ใช้เลี้ยงไส้เดือนสามารถใช้ได้ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เพียงแต่ขอให้คำนึงถึงภาชนะนั้นสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับ ไส้เดือน แต่โดยหลักการภาชนะที่ใช้เลี้ยงไส้เดือน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่คือ
1.ส่วนระบายน้ำและส่วนรองรับน้ำ(ปุ๋ยน้ำ)
ภาชนะที่จะต้อง นำมาเลี้ยงไส้เดือน จะต้องเป็นภาชนะที่ระบายน้ำได้ดี เพราะไส้เดือนไม่ชอบชื้นแฉะหรือน้ำขัง ซึ่งอาจทำให้ไส้เดือนตายได้ ภาชนะที่ใช้เลี้ยงจึงต้องเจาะรูที่ก้นภาชนะ หรือไม่ก็บุด้วยตะแกรงหรือตาข่าย หรือใช้กรวด หิน ทราย เป็นตัวกรอง
ใน กรณีที่ต้องการเก็บปุ๋ยน้ำก็จะต้องมีส่วนรองรับน้ำ ซึ่งอาจจะอยู่รวมกันในภาชนะเดียวกัน (เช่นในถัง) หรืออาจจะแยกออกมาต่างหากจากภาชนะเลี้ยงไส้เดือนก็ได้ (เช่นในกรณีเลี้ยงในโรงเรือน)

2.ส่วนที่อยู่อาศัยของไส้เดือน
ส่วน ที่อยู่อาศัยของไส้เดือนกับส่วนที่ใส่อาหารสำหรับไส้เดือนจะอยู่ด้วยกันโดย ส่วนที่ใส่อาหารจะอยู่ด้านบนของส่วนที่อยู่อาศัยของไส้เดือน ส่วนที่อาศัยของไส้เดือนนี้จะต้องมืดไม่โดนแสงสว่าง และมีวัสดุดูดซับความชื้นไว้ได้ วัสดุที่ใส่ในส่วนที่อยู่อาศัยของไส้เดือน มักจะเป็นดินดี ฟางข้าว หรือ เศษกระดาษหนังสือพิมพ์ เศษกระดาษกล่อง ใบไม้แห้ง มูลสัตว์แห้ง
3.ส่วนที่ใส่อาหารของไส้เดือน
ส่วนนี้จะอยู่ ด้านบนของที่อยู่อาศัยของไส้เดือน อาหารที่ใส่ให้แก่ไส้เดือนไม่ควรสูงมาก แต่แผ่กระจายไปทางกว้างหรือแนวนอน และควรถูกปกคลุมด้วยวัสดุที่ชื้นและป้องกันแสงสว่าง เพื่อให้ไส้เดือนเลื้อยขึ้นมาจากที่อาศัยมากินอาหาร แล้วถ่ายเป็นปุ๋ยออกมาแทนที่
อาหารที่ไส้เดือนชอบมาก คือ มูลวัว มูลควาย มูลไก่ นอกนั้นก็มีเศษอาหาร เศษผักผลไม้ เศษใบไม้แห้ง
ภาชนะ เลี้ยงไส้เดือนอาจมีฝาปิด โดยเฉพาะการเลี้ยงในครัวเรือน แต่โดยทั่วไป ถ้าเลี้ยงในปริมาณมาก เลี้ยงเพื่อการค้า มักจะไม่มีฝาปิด แต่ควรคลุมด้วยตาข่าย เพื่อป้องกันไส้เดือนถูกกินหรือถูกทำร้ายจากสัตว์อื่นๆ เช่น นก
รูปแบบที่ใช้เพาะเลี้ยงไส้เดือน มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เช่น
- การเลี้ยงบนพื้นดิน
- การเลี้ยงในลิ้นชัก
- การเลี้ยงในถังพลาสติก
-การเลี้ยงในกระบะไม้
-การเลี้ยงในถังคอนกรีต
ฯลฯ

การเลี้ยงบนพื้นดิน
วิธี การนี้เป็นการกองวัสดุที่เป็นที่อาศัยของไส้เดือนไว้บนดิน โดยมีกรอบไม้เป็นคอกกั้น แล้วใส่อาหารไว้ด้านบน ในระหว่างการเลี้ยงถ้าให้อาหารอย่างเพียงพอ ไส้เดือนจะอยู่บริเวณกรอบไม้ไม่หนีไปไหน วิธีนี้ประหยัดและสะดวก เวลาเก็บปุ๋ยหมักไส้เดือนก็สะดวก หรือคลุกเคล้าลงในดินเพาะปลูกได้ทันที

วิธีการ
1.ทำกรอบไม้สูง 50 ซม. กว้าง 1.00 ม. ยาวตามพื้นที่ที่มี วางไว้บริเวณดินเหนียวใต้ต้นร่มไม้
2.ใช้ฟางข้าวที่แช่น้ำไว้ 2-3 วัน ผสมกับมูลวัวแห้งหรือมูลไก่แห้ง อัตราส่วน1: 1 ใส่ลงในคอกสูง 30 ซม.
3.ใส่ไส้เดือนลงไปบนกองฟางประมาณ 0.5 กก./พื้นที่ 1 ตรม. แล้วโรยอาหารไส้เดือนให้ทั่วบริเวณผิวหน้าหนา 3-4 ซม.
4.คลุมด้วยฟางหรือกระดาษหนังสือพิมพ์ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
5.เมื่อ อาหารหมด คอยเติมอาหารให้ไส้เดือนช่วงแรกๆ อาจใช้เวลา 3-4 วัน แต่เมื่อปริมาณไส้เดือนเพิ่มมากขึ้น จะต้องให้ถี่กว่านั้น คือทุกๆ 2-3 วัน
6.เมื่อเลี้ยงไปได้ 2-3 เดือน สามารถแยกปุ๋ยหมักไส้เดือนและไส้เดือนได้

การเลี้ยงในลิ้นชักพลาสติก
วิธี การนี้เป็นการคิดค้นโดย ดร.อานัติ ตันโช โดยดัดแปลงมาจากภาชนะเลี้ยงไส้เดือนแบบชั้นๆของต่างประเทศ โดยใช้ชั้นใส่เสื้อผ้าใส่ของแบบลิ้นชัก 4 ชั้น โดยชั้นล่างใช้เป็นชั้นสำหรับรองรับปุ๋ยน้ำ ส่วนอีก 3 ชั้น ใช้เป็นชั้นเลี้ยงไส้เดือน ชั้นสำหรับเลี้ยงไส้เดือนจะต้องเจาะรูเพื่อระบายน้ำ เหมาะสำหรับใช้เลี้ยงไส้เดือนสำหรับภายในครัวเรือน หรือใช้เลี้ยงเพื่อการค้าได้ โดยใช้ชั้นพลาสติกหลายชุด

วิธีการ
1.เจาะรูหลายรู ที่พื้นของลิ้นชักทุกชั้น ยกเว้นชั้นล่างสุดไม่ต้องเจาะ เพื่อใช้รองรับปุ๋ยน้ำ ชั้น 2-3 -4 ใช้เลี้ยงไส้เดือน
2.ใช้ฟางที่แช่น้ำทิ้งไว้ 2- 3 วัน มาวางไว้ที่ชั้น 2- 3 -4 หนา 1-2 นิ้วให้ทั่ว
3.ใช้ดินดีผสมกับปุ๋ยคอก อย่างละเท่าๆกันลงไป หนา 3-4 นิ้ว แล้วจึงปล่อยไส้เดือนลงไปในชั้นเลี้ยงแต่ละชั้น
4.ใส่เศษอาหาร เศษผักผลไม้ที่ใช้เป็นอาหารของไส้เดือน โรยให้ทั่วแต่อย่าให้หนา ปิดลิ้นชักทิ้งไว้
5.เติม อาหารไส้เดือนทุกๆ 3-4 วัน หรือเมื่อเห็นว่าเศษอาหารหมดแล้ว หลังจากนั้น 2-3 เดือน ก็สามารถเก็บปุ๋ยหมักไส้เดือนและเก็บแยกไส้เดือนที่เพิ่มจำนวนขึ้นได้ ส่วนปุ๋ยน้ำก็สามารถแยกเก็บออกมาเมื่อใดก็ได้ เมื่อเห็นว่ามีมากพอแล้ว

การเลี้ยงในถังพลาสติก
เป็น วิธีการที่ใช้เลี้ยงไส้เดือน เพื่อการกำจัดขยะสดในครัวเรือน และเลี้ยงเพื่อการค้าโดยใช้พลาสติกหลายๆใบ ถังพลาสติกก็ดัดแปลงมาจากถังพลาสติกใบใหญ่ ปากกว้างอย่างน้อย 50 ซม. สูงอย่างน้อย 60 ซม. และถ้าต้องการรองรับปุ๋ยน้ำด้วย ถังต้องสูงกว่านี้
วิธีการ
1.เจาะรูที่ส่วนล่างของถัง ใส่ก๊อกเปิด ปิด เพื่อใช้ระบายน้ำออกจากถัง
2.ใส่ กรวดหรือหินลงด้านล่างของถังสูงประมาณ 15 ซม.ตัดแผ่นไม้เป็นรูปกลม ขนาดพอดีกับพื้นที่ผิวของกรวดหินภายในถัง เจาะรูหลายๆรู เพื่อช่วยระบายน้ำ หรือ อาจใช้ลวดตะแกรงแทนไม้อัดได้ การใช้ถังพลาสติกเลี้ยงเพื่อการค้า อาจไม่ใส่หินลงในถัง แต่ใช้วิธีเจาะก้นถังพลาสติกเลย เพื่อระบายน้ำปุ๋ยออกจากถัง
3.ใส่เศษฟางแช่น้ำ ปุ๋ยคอกใบไม้แห้ง เศษกระดาษหนังสือพิมพ์ หา 15-30 ซม. โรยทับด้วยดินดี
4.ใส่ไส้เดือน แล้วใส่อาหารไส้เดือน ได้แก่ เศษอาหาร เศษพืชผักผลไม้จากครัวเรือน
5.ปิด ทับด้วยฟาง หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ พรมน้ำให้ชุ่ม แล้วคอยเติมอาหารทุก 3-4 วัน หรือเมื่อเห็นว่าอาหารหมด ภายใน 2-3 เดือน สามารถเริ่มเก็บปุ๋ยหมักไส้เดือน และเก็บแยกไส้เดือนที่เพิ่มขื้นได้

การเพาะเลี้ยงในกระบะไม้
เป็นวิธีการที่เลี้ยงไส้เดือนในครัวเรือนก็ได้ หรือใช้เลี้ยงในลักษณะฟาร์มเพื่อการค้าก็ได้ โดยใช้กระบะหลายๆอัน


วิธีการ
1.ทำ กระบะไม้ให้มีความสูง 50 ซม. ยาว 1 เมตร กว้าง 50 ซม.หรือ 1 เมตร ด้านล่างของกระบะถ้าเป็นพื้นไม่ต้องเจาะรู หรือใช้เป็นตะแกรงลวด ก็จะสะดวกและระบายน้ำได้ดี
2.ใช้ฟางข้าวที่แช่น้ำไว้แล้วรองพื้นกระบะหนา 1-2 นิ้ว ถ้าหาฟางข้าวไม่ได้ให้ใช้เศษกระดาษกล่อง กระดาษหนังสือพิมพ์ เศษใบไม้แห้งก็ได้
3.ใช้ ดินดีผสมกับมูลสัตว์แห้ง หรือ ปุ๋ยคอกในอัตรา 1: 1 โรยทับลงไป หนา 3-45 นิ้ว จากนั้นให้ปล่อยไส้เดือน แล้วใส่เศษอาหาร เศษพืชผักผลไม้ ไว้ด้านบนให้ทั่ว แต่อย่าหนาจนเกินไป
4.ปิดทับด้วยฟางข้าว หรือกระดาษหนังสือพิมพ์ พรมน้ำให้ชุ่ม
5.คอย เติมเศษอาหารทุกๆ 3-4 วัน หรือ เมื่อเห็นว่าอาหารหมดแล้ว 1-2 เดือนก็สามารถแยกเอาปุ๋ยหมักไส้เดือน และเก็บแยกไส้เดือนที่เพิ่มจำนวนขึ้นออกมาได้

การเพาะเลี้ยงในถังคอนกรีต
วิธี การนี้ใช้เลี้ยงในครัวเรือนก็ใช้ถังเพียงชุดเดียวหรือ 2 ชุดก็เลี้ยงไส้เดือนในชุมชนหรือใช้เลี้ยงเป็นฟาร์มเพื่อการค้าก็ใช้ได้ดี ไม่ต้องเก็บแยกปุ๋ยหมักและเก็บแยกไส้เดือนบ่อยๆ เพราะภาชนะมีขนาดใหญ่ บรรจุปุ๋ยหมักไส้เดือนได้มาก

วิธีการ
1.ใช้ถังคอนกรีตขนาดเส้นผ่า ศูนย์กลาง 1 เมตร สูง 80 ซม. 2 ถังซ้อนกัน โดยใบล่างมีฝารองก้นถัง และเจาะรูใส่ท่อระบายน้ำหรือมีก๊อกปิดเปิด เพื่อเก็บปุ๋ยน้ำตั้งไว้ในบริเวณใต้ร่มที่แสงแดดส่องไม่ถึง
2.ที่ก้นถังใส่เศษอิฐ หิน กรวด สูง 15 ซม. เพื่อช่วยให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น แล้วใช้ลวดตาข่ายพลาสติกปิดทับ
3.ใช้ ฟางข้าวที่แช่น้ำแล้ว หรือ เศษวัชพืช แช่น้ำผสมกับมูลสัตว์แห้ง เช่นมูลวัวแห้ง มูลไก่แห้ง หรือ ปุ๋ยคอกในอัตราส่วน 1:1 ลงในถังใบล่าง จนเต็มถังใบล่าง
4.ปล่อยไส้เดือน แล้วใส่เศษอาหาร เศษพืชผัก ผลไม้ลงไปให้ทั่วพื้นผิวด้านบน แต่อย่าให้หนา แล้วอาจปิดทับด้วยฟางผสมน้ำให้ชุ่ม ควรใช้ตาข่ายพลาสติกคลุมฝาถังด้านบนไว้
5.คอย เติมเศษอาหารทุกๆ 3-4 วัน หรือเมื่อเห็นว่าอาหารหมด ซึ่งขนาดของถังซีเมนต์มีขนาดใหญ่พอที่รองรับ ปุ๋ยคอกและปริมาณไส้เดือนที่จะเกิดมากขึ้นได้นานหลายเดือน โดยไม่ต้องทำการเก็บแยกออกไป สามารถเก็บแยกออกไปก็ได้เมื่อต้องการ


ที่มา http://www.takeang.com/takeang_forums/index.php?topic=620.0