วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553

เมล็ดพันธุ์ควบคุมคืออะไร


เนื่อง จากพันธุ์ เป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูกของเกษตรกร จึงได้มีการคิดค้นพัฒนาพันธุ์พืชกันอย่างกว้างขวาง แต่ละพันธุ์ต่างก็มีคุณสมบัติดีเด่นต่างๆ กันไป ก่อให้เกิดธุรกิจเมล็ดพันธุ์อันเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีมูลค่าหลายพันล้าน และมีการแข่งขันค่อนข้างสูง กลยุทธ์ทางการตลาดนานาประการถูกนำมาใช้แย่งชิงตลาดกันอย่างดุเดือด แต่ผู้ใช้เมล็ดพันธุ์จะได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพตรงตามที่ระบุ หรือไม่เป็นเรื่องที่น่าคิด ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 เมล็ดพันธุ์พืชควบคุม หมายถึง เมล็ดพันธุ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม ซึ่งค่อนข้างเป็นภาษากฎหมาย แต่สำหรับเราๆ ท่านๆ ให้เข้าใจว่า เมล็ดพันธุ์ควบคุม เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ต้องได้รับการกำกับดูแลเป็นพิเศษแตกต่างจากเมล็ดพันธุ์ ทั่วไป


นับตั้งแต่ประกาศให้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีเมล็ดพันธุ์ที่ประกาศเป็น เมล็ดพันธุ์พืช ควบคุมจำนวนทั้งสิ้น 29 ชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นเมล็ดพันธุ์พืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งทาง ราชการได้กำหนดความบริสุทธิ์และความงอกของเมล็ดพันธุ์พืชไว้ชัดเจน ท่านผู้อ่านบางท่านที่ไม่อยู่ในวงการนี้อาจจะงงๆ กับคำว่า "ความบริสุทธิ์" และ "ความงอก" ของเมล็ดพันธุ์ว่าหมายถึงอะไร การวัดค่าความบริสุทธิ์และความงอกงามของเมล็ดพันธุ์ จะวัดออกมาเป็นอัตราส่วนร้อยละ ว่ากันง่ายๆ ความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์นั้น สมมุติว่าวัดค่าความบริสุทธิ์ได้ 95 เปอร์เซ็นต์ แสดงว่าเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว100 กรัม จะมีเมล็ดพืชอื่นและสิ่งเจือปนอยู่ 5 กรัม (สิ่งเจือปนอาจจะเป็นชิ้นส่วนของเมล็ดที่แตกหักเหลือน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของ ขนาดเดิมเมล็ดตระกูลกะหล่ำ และเมล็ดตระกูลถั่วที่ไม่มีเปลือกหุ้ม และสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่เมล็ด) เช่นเดียวกับความงอกของเมล็ด หากหาค่าความงอกได้ 95 % แสดงให้เห็นว่าเมื่อนำเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวไปเพาะจะงอกเป็นต้นอ่อน 95 ต้น จาก 100 เมล็ด ดังนั้นตัวเลขทั้งสองค่ายิ่งสูงยิ่งดี ส่วนวิธีการที่ให้ได้มาซึ่งตัวเลขดังกล่าวค่อนข้างจะซับซ้อน จึงมีนักวิชาการที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ


งานควบคุมเมล็ดพันธุ์ควบคุม


หน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ควบคุมโดยตรง คือ ฝ่ายพันธุ์พืช กองควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โดยทำงาน ประสานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการรวบรวม ขาย นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านเมล็ดพันธุ์เพื่อการค้าต้องได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการเกษตร โอกาสนี้จะนำเสนอเฉพาะด้านการรวบรวม และการขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมเท่านั้น สำหรับส่วนที่เหลือจะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป ตารางแสดงเมล็ดพันธุ์พืชควบคุมและการกำหนดมาตรฐานความงอกและความบริสุทธิ์ ของเมล็ดพันธุ์



การรวบรวมเป็นการรวบรวมเมล็ดพันธุ์คัดเลือก หรือบรรจุในภาชนะบรรจุ สำหรับการขายเป็นการจำหน่าย จ่าย แจก หรือ แลกเปลี่ยนเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ซึ่งเมล็ดพันธุ์ที่จำหน่ายในประเทศของเรามีทั้งเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตภายใน ประเทศ และเมล็ดที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมล็ดพันธุ์ผักหลายชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำปลี กวางตุ้ง ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียวปลี เป็นต้น จะสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศแทบทั้งสิ้นเมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะต้องผ่านการ ทดสอบคุณภาพตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงจะสามารถนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้ หลังจากนั้นผู้รวบรวมจะทำการคัดเลือก ปรับปรุงสภาพและแบ่งบรรจุในภาชนะ ปิดฉลาก ก่อนที่จะนำออกจำหน่าย


ดังนั้น เพื่อเป็นการควบคุมให้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีตกถึงมือเกษตรกร ภาครัฐจึงได้กำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาต รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า จะต้องไม่บรรจุเมล็ดพันธุ์ควบคุม ในภาชนะบรรจุไม่ตรงตามฉลาก จัดให้มีป้ายแสดงไว้ในที่เปิดเผย เห็นได้ง่าย ภายนอกอาคาร (ป้ายทำด้วยวัตถุถาวรขนาด 20x70 เซนติเมตร มีข้อความว่า "สถานที่รวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า" สูงไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร) นอกจากนี้ต้องมีฉลากภาษาไทยที่ภาชนะบรรจุเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่รวมรวมขึ้น โดยในฉลากต้องแสดงชนิด และชื่อพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์ควบคุม และมีคำว่า "เมล็ดพันธุ์ควบคุม" เครื่องหมายการค้าสำหรับเมล็ดพันธุ์ควบคุม ผู้รวบรวมและแหล่งรวบรวม น้ำหนักสุทธิของเมล็ดพันธุ์ควบคุมในระบบเมตริก อัตราความงอกของเมล็ดพันธุ์ควบคุม และระบุวันเดือนปี ที่ทดสอบ เดือนและปีที่รวบรวมหรือนำเข้า อายุความงอกของเมล็ดพันธุ์ควบคุม เดือน และปีที่สิ้นสุดอายุการใช้เพาะปลูกหรือทำพันธุ์ หากเมล็ดพันธุ์ควบคุมมีวัตถุอื่นผสมอยู่ด้วย ต้องแจ้งชื่อ และอัตราส่วนของวัตถุผสมนั้น และถ้ามีสารเคมีอันตรายที่กฎหมายกำหนดไว้ผสมอยู่ด้วยต้องแจ้งชื่อ และอัตราส่วนของสารเคมีอันตรายนั้น รวมถึงต้องแสดงเครื่องหมายหัวกะโหลกกับกระดูกไขว้ และมีคำว่า "อันตราย" ด้วยอักษรสีแดงไว้ด้วย

สำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมก็เช่นกัน ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย และเห็นได้ง่ายภายในอาการที่ระบุไว้ในใบอนุญาตโดยใบอนุญาตขาย จะหมดอายุในวันสิ้นปีปฏิทิน ดังนั้นผู้ที่ประกอบกิจการขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม จะต้องตระหนักในเรื่องนี้เสมอทางที่ดีควรรีบดำเนินการต่อใบอนุญาตขายก่อน สิ้นอายุไม่น้อยกว่า 15 วัน นอกจากนี้ต้องจัดให้มีป้ายแสดงไว้ในที่เปิดเผย เห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคารแสดงว่าเป็นสถานที่ขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม ลักษณะของป้ายต้องทำด้วยวัตถุถาวรขนาดกว้างและยาวไม่น้อยกว่า 20x70 เซนติเมตรและมีข้อความเป็นอักษรภาษาไทยสูงไม่น้อยกว่า3 เซนติเมตร ว่า "สถานที่ขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม" จะมีภาษาอื่นกำกับด้วยก็ได้ แต่ขนาดอักษรของภาษาอื่นต้องสูงน้อยกว่า 3 เซนติเมตร และอาจมีข้อความอื่นๆ เป็นภาษาอะไรก็ได้ แต่ขนาดตัวอักษรต้อง น้อยกว่า 3 เซนติเมตรเช่นกัน ประเด็นที่สำคัญต่อมาคือ ห้ามขายเมล็ดพันธุ์ที่สิ้นอายุการใช้ทำพันธุ์ และต้องรับผิดชอบต่อคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีฉลาก หากย้ายสถานที่ หรือเลิกกิจการต้องแจ้งให้กรมวิชาการเกษตรทราบ รวมถึงต้องดูแลฉลากที่ภาชนะบรรจุเมล็ดพันธุ์ควบคุมให้คงอยู่ครบถ้วน และชัดเจนตามรายละเอียดที่ผู้รวบรวมได้ปิดฉลากไว้


การควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์


ในการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกำหนดชนิดและชื่อพันธุ์ของเมล็ดพันธุ์ให้เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุม ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดเมล็ดพันธุ์ที่เป็นเมล็ดพันธุ์ควบคุมมีทั้งหมด 29 ชนิด โดยแบ่งออกเป็นเมล็ดพันธุ์พืชไร่ 9 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวฟ่าง ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเขียวเมล็ดดำ ถั่วเหลือง ฝ้าย ข้าวโพดหวาน ทานตะวัน เมล็ดพันธุ์พืชผัก 20 ชนิด ได้แก่ คะน้า แตงกวา ถั่วลันเตา ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหัว ผักบุ้งจีน พริก มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บรอคโคลี ผักกาดกวางตุ้ง ผักกาดหอม หอมหัวใหญ่ แตงโม กระเทียมใบ ผักชี ปาล์มน้ำมัน ขณะเดียวกันก็ได้ออกประกาศกระทรวงฯ กำหนดมาตรฐานคุณภาพด้านอัตราความงอกและเมล็ดบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ควบคุม ดังนั้น เมล็ดพันธุ์ควบคุมที่นำเข้า รวบรวมหรือจำหน่ายเพื่อการค้า ต้องมีมาตรฐานคุณภาพไม่ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงสำหรับผู้ประกอบ ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า จะต้องมีใบอนุญาตของแต่ละประเภทกิจกรรม เช่น ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าซึ่งเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า หรือใบอนุญาตรวบรวมเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้า หรือใบอนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ควบคุม และเมล็ดพันธุ์ควบคุมที่จำหน่ายในท้องตลาดต้องมีฉลากเป็นภาษาไทยด้วย เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้จะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐในการช่วยสอดส่องดูแลผู้ประกอบการเหล่า นี้ โดยเจ้าหน้าที่จะทำการสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ให้ ได้มาตรฐานตามที่กำหนด

ดังนั้น เมื่อเกษตรกรต้องการซื้อเมล็ดพันธุ์ควบคุมไปเพาะปลูก สิ่งแรกที่เกษตรกรต้องดูคือ ฉลากของเมล็ดพันธุ์ โดยเฉพาะเดือนปีที่ระบุสิ้นอายุใช้ทำพันธุ์ และวันเดือนปีที่ทำการทดสอบ เพราะจะเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการที่เกษตรกรจะใช้ตัดสินใจในการเลือกซื้อ เมล็ดพันธุ์นั้น ๆ

ที่มา http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=5056.0