วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้าต่างๆ ในพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวและการทำนา

สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเจ้าต่างๆ ในพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวและการทำนา
คน ไทยทุกภาค มีประเพณีพิธีกรรม เพื่อขอให้ต้นข้าวในนาอยู่รอดปลอดภัย ได้ผลผลิตอุดมสมบูรณ์เป็นระยะๆ นับตั้งแต่ก่อนการปลูก จนกระทั่งเก็บเกี่ยวได้เมล็ดข้าว ไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง พิธีกรรมของคนไทยในภาคต่างๆ มีทั้งที่คล้ายคลึงกัน และ แตกต่างกัน แสดงให้เห็นการผสมผสาน ของความเชื่อเรื่องผี และ ขวัญ อันเป็นความเชื่อแบบดั้งเดิม กับความเชื่อที่รับจากศาสนาพุทธ และ ศาสนาพราหมณ์

พระรัตนตรัย.........................................................
คือที่พึ่งสูงสุดของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย พิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้าวและการทำนาต้องระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยก่อน เพื่ออ้างเอาพระคุณมาเป็นที่พึ่ง เป็นพลังอำนาจ ดลบันดาลให้เกิดความสำเร็จตามปรารถนา ทั้งเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก็จะตอบสนองต่อความต้องการของพิธีกรรมนั้นๆ อย่างเต็มที่
แม่ธรณี.........................................................
ตามคติศาสนาพราหมณ์นับถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งดิน และศาสนาพุทธก็ไม่ปฏิเสธเรื่องนี้ ดังจะเห็นได้ว่าก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ พระองค์ได้ต่อสู้กับพระยามารและไพร่พลอย่างหนัก แม่พระธรณีได้เข้าช่วยพระองค์โดยบีบน้ำจากมวยผม ซึ่งเป็นน้ำที่พระพุทธเจ้าเคยกรวดอุทิศไว้แต่ก่อนทำให้พระยามารพ่ายแพ้ พิธีกรรมหลายอย่างจึงต้องบูชาแม่ธรณี

แม่คงคา.........................................................
เป็นเทพเจ้าประจำน้ำในแม่น้ำลำคลองที่มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ พิธีกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น แม้ว่าจะไม่บูชาแม่คงคาโดยตรง แต่ก็ต้องระลึกถึงเพื่อทดแทนบุญคุณ ทุกครั้งที่ทำบุญ ชาวนาจึงมักจะถือเป็นโอกาสแสดงความเคารพและกตัญญูขอขมาลาโทษหรือขออโหสิกรรม ต่อนางครั้งสำคัญทุกปี

แม่โพสพ.........................................................
ถือว่าเป็นเทพประจำข้าว แต่ละถิ่นมีคติที่มาของแม่โพสพแตกต่างกัน บ้างเชื่อว่าเป็นนางเทพธิดาในสวรรค์ ภรรยาพระอินทร์เมื่อหมดบุญในสวรรค์จึงลงมาเกิดเป็นข้าว แต่บางคติถือว่าแม่โพสพเกิดจากอำนาจญาณอันแก่กล้าของพระฤาสีดาไฟที่ตั้งใจ บำเพ็ญให้เกิดขึ้นเป็นอาหารของมนุษย์ ด้วยเห็นว่ามนุษย์ลำบากนักหนา แต่บางคติถือว่าแม่โพสพเป็นวิญญานของลูกตายายคู่แรกของโลกที่เสียชีวิตไป เนื่องจากไม่มีอาหารกิน เมื่อตายแล้วจึงเกิดเป็นข้าว อย่างไรก็ตามชาวนาทุกถิ่นเชื่อเหมือนกันว่าแม่โพสพเป็นเทพแห่งข้าว เป็นเทพผู้หญิง เว้นแต่คติทางภาคใต้บางถิ่นที่ถือว่ามีทั้งพ่อซึ่งเป็นเพศชายและแม่โพสพที่ เป็นเพศหญิง


ผีทุ่ง ผีนา ผีป่า ผีขุนน้ำ.........................................................
เป็นผีอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่นอกศาสนาหรืออาจจะตกอยู่ ในฐานะที่เป็นคนรับใช้ของผีในศาสนาก็ได้ ต้องเซ่นสังเวยทุกปีหรือทุกครั้ง ไม่เช่นนั้นจะเกิดอาเพศต่างๆ และถ้าเซ่นเครื่องสังเวยแบบใดก็ต้องจัดอย่างนั้นทุกปี จะเปลี่ยนไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการเชิญเทพที่สูงกว่า ผีเหล่านี้ก็จะกลายเป็นบริวารเทพเหล่านั้น เวลาเซ่นสังเวยไม่ต้องจัดเฉพาะ เพียงแต่ออกชื่อเชิญชวนมารับหลังเซ่นเทพนั้นๆ แล้วก็ได้ดังคำกล่าวว่า “ครั้นท่านเสวยแล้ว ยุรยาตรคลาดแคล้วไปสู่สถาน ยังแต่รอยแดน ยังแต่รอยชาน หมู่พวกบริวารกินสำราญใจ” (บทไหว้เจ้าที่นาจังหวัดพัทลุง)
ท้าวจาตุมหาราช.........................................................
หรือที่รู้จักกันในนามของเท้าจตุโลกบาล เป็นเทพที่รักษาโลกทั้ง 3 ทิศ พิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวและการทำนาหลายพิธีต้องเซ่นสังเวย มีท้าวกุเวร ทิศอุดร เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์ ท้าวธตรฐ ทิศบูรณ์เป็นใหญ่ในหมู่คนธรรพ์ ท้าววิรุฬหก ทิศทักษิณ เป็นใหญ่ในหมู่เทวดา ท้าววิรูปักษ์ ทิศปัจจิม เป็นใหญ่ในหมู่นาค
นาค.........................................................
เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับข้าวและการทำนา อย่างใกล้ชิดที่สุด ในฐานะเป็นผู้พ่นน้ำให้แก่มนุษย์และในฐานะเป็นผู้ทรงแผ่นดิน ในฐานะเป็นผู้ให้น้ำ แต่ละปีนาคจะพ่นน้ำให้ตกในจักรวาลโดยแบ่งสันปันส่วนให้ตกในมหาสมุทร ตกในป่าหิมพานต์ ตกในมนุษย์โลก ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในปีนั้นๆ ซึ่งรวมถึงจำนวนนาค ที่ทำหน้าที่ให้น้ำในแต่ละปีด้วย ส่วนนาคที่ทำหน้าที่ทรงแผ่นดินให้แก่นาคประจำวันนาคประจำเดือนนั้นมนุษย์ ต้องให้ความเคารพยำเกรงและปฏิบัติให้ถูกต้องไม่เช่นนั้นจะเกิดโทษขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศนาคต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามปกตินาคประจำอยู่ในเมืองบาดาล แต่นาคเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ต้องขึ้นไปให้น้ำและทรงแผ่นดินแต่ละปี อนึ่ง ทิศนาคนอนนั้นสำคัญยิ่ง อย่าประกอบพิธีกรรมที่ท้าทายนาค เช่น แรกไถนาต้องไม่ไถทวนเกรดนาค เป็นต้น ทิศนาคที่นิยมเคร่งครัด คือ ทิศนาคประจำเดือน ได้แก่เดือน 4,5,6 นาคเอาหัวไปปัจจิม หางไปบูรณ์ ท้องไปอุดร หลังไปทักษิณ แรกไถนาตั้งไถไปทิศบูรณ์ เดือน 7,8,9, นาคเอาหัวไปอุดร หางไปทักษิณ แรกไถนาตั้งไปทิศบูรณ์
พระพิรุณ.........................................................
เป็นเทพแห่งฝนตามคติศาสตร์นาพราหมณ์แต่พุทธศาสนาก็ ไม่ขัดในเรื่องนี้ พระพิรุณมักจะกระทำจากเทพอื่นๆ อีกต่อหนึ่ง ซึ่งจะมีผลต่อมนุษย์ เช่น ต้องจุดบ้องไฟบูชาแถนให้แถนเตือนพระพิรุณให้น้ำแก่นาค เพื่อนาคจะได้พ่นสู่โลกมนุษย์อีกต่อหนึ่ง หรือไม่ก็ต้องแห่นางแมว ทำพิธีปั้นเมฆ เพื่อให้เทพที่รับผิดชอบในสิ่งนั้นๆ คิดสงสารและไปเร่งเร้าพระพิรุณอีกต่อหนึ่ง พระพิรุณจึงเป็นเทพสำคัญองค์หนึ่งที่ชาวนาต้องเคารพบูชา

พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์.........................................................
เป็นเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่ผลัดเปลี่ยนกันเป็นใหญ่ที่สุดมาในสมัยต่างๆ และเคยเป็นใหญ่ร่วมกันมา ดังคำกล่าวที่ว่า พระอิศวรผู้สร้าง พระพรหมผู้รักษา พระนารายณ์ผู้ทำลาย พิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับข้าวและการทำนาหรือพิธีกรรมอื่นๆ ต้องบูชาระลึก สังเวย เทพทั้งสามพระองค์นี้อย่างขาดมิได้ เทพทั้งสามองค์นี้มีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธอย่างใกล้ชิดและมีอำนาจใน ความสำเร็จของพิธีกรรมต่างๆอย่างสูง

ผีตาแฮก.........................................................
เป็นผีทุ่งผีนา เข้าใจว่าเป็นผีนอกศาสนาหรือผีบ้านที่มีมาก่อนศาสนา ซึ่งชาวบ้านยังนับถือสืบมา โดยเมื่อสร้างไร่สร้างนาขึ้นแล้วจะเชิญผีตาแฮกมาประจำที่นานั้นๆ ตนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่ต่างๆ ประจำทุ่งนั้นๆ การเซ่นสังเวยผีตาแฮก ถ้าเคยเซ่นด้วยเครื่องใดต้องเซ่นด้วยสิ่งนั้นทุกปีลดไม่ได้ เพิ่มได้




เอี่ยม ทองดี
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมพัฒนาเพื่อชนบท
มหาวิทยาลัยมหิดล


ที่มา http://www.rakbankerd.com/agriculture/page.php?id=1163&s=tblrice