วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พันธุ์ข้าวรับรองใหม่ 5 พันธุ์

ข้าวเจ้าพันธุ์ กข45

ประวัติ

ข้าวเจ้าพันธุ์ กข45 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวสายพันธุ์ PCRBR83012–267-5 (ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวพันธุ์หอมนายพล กับ IR46) กับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีเมื่อ ปี 2532 ปลูกข้าวพันธุ์ผสมชั่วที่ 1 ปี 2533 ปลูกคัดเลือกชั่วอายุที่ 2-5 ปี 2534-2537 ปลูกศึกษาพันธุ์ ปี 2538–2540 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ปี 2541–2543 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตใน นาราษฎร์ที่ อำเภอเมือง และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอเมือง และอำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ปี 2544–2548 ปลูกทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน ปี 2547-2550 ปลูกทดสอบความสามารถการยืดปล้อง ปี 2548–2549 ปลูกทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว ปี 2551-2552 ผลิตเมล็ดพันธุ์คัดและปลูกประเมินผลผลิตและการยอมรับของเกษตรกรภายใต้ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีจำนวน 100 แปลง ที่อำเภอต่างๆ ของจังหวัดปราจีนบุรี ปี 2552/53 คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว มีมติรับรองพันธุ์ ชื่อ กข45 เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูก เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553

ลักษณะประจำพันธุ์

เป็นข้าวเจ้าน้ำลึกไวต่อช่วงแสงออกดอกประมาณวันที่ 25 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน ปลูกในพื้นที่ที่มีระดับน้ำไม่เกิน 100 เซนติเมตร มีความสามารถยืดปล้องได้ดีที่ระดับน้ำ 90 เซนติเมตร ลำต้นสูงประมาณ 170 เซนติเมตร ลำต้นสูงประมาณ 170 เซนติเมตร ทรงกอตั้ง ต้นแข็งปานกลาง ใบสีเขียว ใบธงตั้งตรง รวงยาว 27.7 เซ็นติเมตร เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ยาว 10.2 มิลลิเมตร กว้าง 2.73 มิลลิเมตร และหนา 2.09 มิลลิเมตร เมล็ดข้าวกล้องรูปร่างเรียว ยาว 7.44 มิลลิเมตร กว้าง 2.33 มิลลิเมตร และหนา 1.83 มิลลิเมตร คุณภาพการสีดีมาก เมล็ดข้าวขาวใส มีท้องไข่น้อย สีเป็นข้าว 100% ได้ ปริมาณอมิโลสต่ำ (16.35%) อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ความคงตัวของแป้งสุกอ่อน (80 มม.) อัตราการยืดตัวของข้าวสุก 1.67 เท่า ข้าวเมื่อหุงต้มด้วยอัตราส่วน ข้าวต่อน้ำเป็น 1 ต่อ 1.7 เท่า(โดยน้ำหนัก)นุ่มเหนียว และมีกลิ่นหอม ระยะพักตัวของเมล็ดพันธุ์ประมาณ 9 สัปดาห์

ผลผลิต ประมาณ 520 กิโลกรัมต่อไร่

ลักษณะเด่น

1. เป็นข้าวเจ้าน้ำลึกที่มีผลผลิตสูง

2. สามารถปลูกได้ทั้งในนาน้ำตื้นและน้ำลึกไม่เกิน 100 เซนติเมตร

3. เมล็ดยาวเรียว คุณภาพการสีดีมาก มีท้องไข่น้อย คุณภาพหุงต้มรับประทานดี ข้าวสุกนุ่มเหนียว และมีกลิ่นหอม

พื้นที่แนะนำ เหมาะสำหรับพื้นที่นาน้ำฝนภาคกลาง ภาคตะวันออกที่มีระดับน้ำในนาไม่เกิน 100 เซนติเมตร น้ำในนาควรแห้งช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน

ข้อควรระวัง อ่อนแอมากต่อโรคไหม้ และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ไม่แนะนำให้มีการปลูกในพื้นที่ที่มีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล


ข้าวเจ้าพันธุ์ กข47

ประวัติ

ข้าวเจ้าพันธุ์ กข47 ได้จากการผสม 3 ทางระหว่าง ลูกผสมชั่วที่ 1 ของสุพรรณบุรี 1 กับ IR64 นำไปผสมกับ CNT86074-25-9-1 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทในฤดูนาปี 2539 ปลูกชั่วอายุที่ 1 ในฤดูนาปี 2540 ปลูกคัดเลือกตั้งแต่ชั่วอายุที่ 2 จนได้เมล็ดพันธุ์ชั่วที่ 3 ที่ศูนย์วิจัยข้าวข้าวชัยนาท ปลูกคัดเลือกชั่วอายุที่ 4-5 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ตั้งแต่ฤดูนาปรัง 2542 ถึง ฤดูนาปรัง 2542 และปลูกศึกษาพันธุ์ ฤดูนาปรัง 2543 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก นำเข้าเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ฤดูนาปี 2544 – 2545 จากนั้นนำเข้าเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ศูนย์วิจัยข้าวข้าวชัยนาท และศูนย์วิจัยข้าวลพบุรี ในฤดูนาปี 2546-2551 นำเข้าเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ในนาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร ชัยนาท สิงห์บุรี อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ และกำแพงเพชร ตั้งแต่ฤดูนาปรัง 2548 ถึงฤดูนาปี 2551 ทดสอบผลผลิตและการยอมรับของเกษตรตั้งแต่ฤดูนาปี 2549 ถึงฤดูนาปรัง 2551 ในนาเกษตรกรจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี และสุพรรณบุรี ทดสอบเสถียรภาพผลผลิตในฤดูนาปี 2550 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก แพร่ อุบลราชธานี สกลนคร สุรินทร์ ปทุมธานี สุพรรณบุรี และพัทลุง คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว มีมติรับรองพันธุ์ ชื่อ กข47 เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูก เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553

ลักษณะประจำพันธุ์

เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสงอายุ 104-107 วัน (หว่านน้ำตม) และ 112 วัน(ปักดำ) มีลักษณะกอตั้ง ความสูง 90-100 เซนติเมตร ลำต้นแข็งมาก ใบสีเขียว มุมใบธงกว้างปานกลาง รวงยาว 30.0 เซนติเมตร ค่อนข้างแน่น คอรวงโผล่เล็กน้อย ข้าวเปลือกสีฟาง ยาว 10.4 มิลลิเมตร กว้าง 2.52 มิลลิเมตร หนา 2.08 มิลลิเมตร ข้าวกล้องรูปร่างเรียว ยาว 7.94 มิลลิเมตร กว้าง 2.13 มิลลิเมตร หนา 1.81 มิลลิเมตร ข้าวสารยาว 7.76 มิลลิเมตร กว้าง 2.05 มิลลิเมตร หนา 1.73 มิลลิเมตร มีอมิโลสสูง (26.81%) ข้าวเมื่อหุงสุกมีลักษณะสีขาวนวลไม่เลื่อมมัน ค่อนข้างร่วนและแข็ง

ผลผลิต เฉลี่ย 793 กิโลกรัมต่อไร่

ลักษณะเด่น

1. ผลผลิตสูง มีเสถียรภาพดี

2. ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลดีกว่า กข41 และค่อนข้างต้านโรคไหม้ดีกว่าพิษณุโลก 2

3. คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดีเป็นข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีถึงดีมาก สามารถสีเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ได้

พื้นที่แนะนำ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทาน ภาคเหนือตอนล่าง สำหรับเป็นทางเลือกของเกษตรกร ในการป้องกันการแพร่ระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคไหม้

ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลชีวชนิดที่ 5 และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลจากจังหวัดนครปฐม อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในระดับสูงเกินไปจะทำให้เกิดโรครุนแรง และค่อนข้างอ่อนแอต่อเชื้อสาเหตุโรคไหม้ในภาคกลาง ไม่ทนอากาศเย็นจึงไม่ควรปลูกในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนพฤศจิกายน


ข้าวเจ้าพันธุ์ ช่อลุง 97

ประวัติ

ข้าวเจ้าพันธุ์ ช่อลุง 97 เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุดในจังหวัดปัตตานี และ สงขลา ปี 2542 ศูนย์วิจัยข้าวปัตตานีได้เก็บรวบรวมพันธุ์จากแปลงเกษตรกร อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นแหล่งที่เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์นี้มากที่สุด นำมาปลูกศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์โดยวิธีการคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure line selection) ฤดูนาปี 2542/43 ปลูกคัดเลือกพันธุ์แบบรวงต่อแถว จำนวน 100 รวง คัดเลือกได้รวงที่ 97 ใช้ชื่อสายพันธุ์ PTNC99024-97 ฤดูนาปี 2543/44 ปลูกศึกษาพันธุ์ขั้นต้น ฤดูนาปี 2544/45 ปลูกเปรียบพันธุ์ขั้นสูง ฤดูนาปี 2545/46 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ฤดูนาปี 2546/47 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิต ระหว่างสถานี ในนาราษฎร์ ทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี ทดสอบการตอบสนองต่ออัตราปุ๋ยไนโตรเจน ทดสอบผลผลิตในนาเกษตรกร และการยอมรับของเกษตรกร คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว มีมติรับรองพันธุ์ ชื่อ ช่อลุง 97 เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูก เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553

ลักษณะประจำพันธุ์

เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ออกดอกปลายเดือนมกราคม ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 564 กิโลกรัมต่อไร่ ความสูงประมาณ 197 เซนติเมตร ลักษณะทรงกอตั้ง ใบและกาบใบสีเขียว คอรวงยาว รวงแน่นปานกลาง ยอดเกสรตัวเมียสีขาว ปลายยอดดอกสีขาว รวงยาว 35.2 เซนติเมตรน้ำหนักข้าวเปลือก 10.61 กิโลกรัมต่อถัง ข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด หนัก 22.52 กรัม ข้าวเปลือกสีเหลืองยาว 10.22 มิลลิเมตร กว้าง 2.45 มิลลิเมตร หนา 1.90 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีขาวรูปร่างเรียว ยาว 7.12 มิลลิเมตร กว้าง 2.05 มิลลิเมตร หนา 1.67 มิลลิเมตร ท้องไข่ปานกลาง (1.35) คุณภาพการสีดี ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวร้อยละ 45.7 ปริมาณอมิโลสปานกลาง (23.9%) ลักษณะข้าวสวย ผิวค่อนข้างมัน การเกาะตัวค่อนข้างเหนียว เนื้อสัมผัสนุ่ม มีระยะพักตัวของเมล็ดพันธุ์ 5 สัปดาห์

ผลผลิต เฉลี่ย 564 กิโลกรัมต่อไร่

ลักษณะเด่น

1. มีคอรวงยาวเหมาะสำหรับการเก็บเกี่ยวด้วยแกระ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังนิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน

2. คุณภาพเมล็ดดี คุณภาพการสีดี คุณภาพการหุงต้มข้าวสุกร่วน ตรงกับรสนิยมในการบริโภคข้าวของประชากรในพื้นที่

พื้นที่แนะนำ เหมาะสำหรับปลูกในสภาพนาสวนนาน้ำฝนฤดูนาปี บริเวณที่ราบในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสงขลา

ข้อควรระวัง ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคไหม้ และอ่อนแอมากต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล


ข้าวเจ้าพันธุ์ ไข่มดริ้น 3

ประวัติ

ข้าวเจ้าพันธุ์ ไข่มดริ้น 3 เป็นข้าวพื้นเมืองที่ได้รวบรวมจากจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2538 โดยศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช ได้เก็บตัวอย่างพันธุ์ จาก 4 อำเภอ ฤดูนาปี พ.ศ. 2538/2539 ปลูกคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure line selection) ฤดูนาปี พ.ศ. 2539/2540 ปลูกศึกษาพันธุ์ คัดเลือกได้สายพันธุ์จากแหล่งเก็บอำเภอร่อนพิบูลย์ แถวที่ 3 คือสายพันธุ์ NSRC95001-1-3 ฤดูนาปี พ.ศ. 2540/2541 เปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ที่ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช ฤดูนาปี พ.ศ. 2541/2542 - 2545/2546 เปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี ที่ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง นครศรีธรรมราช ปัตตานี และกระบี่ วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและเคมี ปี พ.ศ. 2543 - 2548 ทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคไหม้ โรคขอบใบแห้งและ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ฤดูนาปี พ.ศ. 2546/2547 - 2548/2549 เปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัตตานี และนราธิวาส ฤดูนาปี พ.ศ. 2548/2549 - 2550/2551 ทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว มีมติรับรองพันธุ์ ชื่อ ไข่มดริ้น 3 เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูก เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553

ลักษณะประจำพันธุ์

เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง วันออกดอกกลางเดือนมกราคม เก็บเกี่ยวกลางเดือนกุมภาพันธ์ ความสูงประมาณ 176 เซนติเมตร ลักษณะทรงกอตั้ง แผ่นใบสีเขียวเข้ม ใบธงอยู่ในแนวนอน รวงยาว 31.2 เซนติเมตร ลักษณะรวงค่อนข้างแน่น ระแง้ถี่ คอรวงยาว เปลือกเมล็ดสีน้ำตาล น้ำหนักข้าวเปลือกต่อถัง 11.2 กิโลกรัม ข้าวเปลือกยาว 9.47 มิลลิเมตร กว้าง 2.54 มิลลิเมตร หนา 1.96 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีขาว รูปร่างเรียว ยาว 6.93 มิลลิเมตร กว้าง 2.07 มิลลิเมตร หนา 1.72 มิลลิเมตร ท้องไข่น้อย (0.52) คุณภาพการสีดีมาก ให้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวร้อยละ 56.1 ปริมาณอมิโลสปานกลาง(21.8 %) ระยะพักตัวเมล็ดพันธุ์ 2 สัปดาห์

ผลผลิต เฉลี่ย 436 กิโลกรัมต่อไร่

ลักษณะเด่น

1. ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เล็บนกปัตตานี ร้อยละ 18

2. คุณภาพเมล็ดดี มีท้องไข่น้อย ข้าวสวยค่อนข้างร่วนและค่อนข้างนุ่ม

พื้นที่แนะนำ เขตปลูกข้าวเพื่อบริโภค ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงที่มีนิเวศการปลูกข้าวคล้ายกัน

ข้อควรระวัง อ่อนแอต่อโรคไหม้


ข้าวเหนียวพันธุ์ กข16

ประวัติ

ข้าวเหนียวพันธุ์ กข16 ได้จากการผสมพันธุ์ฤดูนาปี พ.ศ. 2539 ระหว่าง พันธุ์ กข6 ข้าวคุณภาพดี เป็นพันธุ์แม่ และพันธุ์ หางยี 71 ข้าวต้านทานต่อโรคไหม้ และอายุสั้น เป็นพันธุ์พ่อ ฤดูนาปรังพ.ศ.2540- ฤดูนาปี พ.ศ. 2540 ผสมกลับ (backcross) ไปหาพันธุ์ กข6 จำนวน 2 ครั้ง ฤดูนาปี พ.ศ. 2541-2543 ปลูกและคัดเลือกแบบสืบประวัติ จนได้สายพันธุ์ KKN97057-7-1-1 ฤดูนาปี พ.ศ. 2544-2545ศึกษาพันธุ์ เปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ที่ศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น และเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูนาปี พ.ศ. 2546 เปรียบเทียบผลผลิตระหว่างภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฤดูนาปี พ.ศ. 2547-2548 เปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันนอกเฉียงเหนือ จำนวน 10 แห่ง ประเมินความชอบลักษณะทางการเกษตร และคุณภาพหุงต้มรับประทานโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม ฤดูนาปี พ.ศ. 2548 ศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ นำรวงข้าวที่เก็บรักษาไว้มาปลูกแบบรวงต่อแถว จำนวน 200 รวง คัดเลือกลักษณะที่เกษตรกรต้องการ ได้รวงที่ 46 ให้ชื่อสายพันธุ์ KKN97057-7-1-1-CMI-46 นาปี พ.ศ. 2549-50 ปลูกศึกษาพันธุ์ และเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ฤดูนาปี พ.ศ. 2551 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ภาคเหนือตอนบน จำนวน 5 แห่ง ประเมินความชอบลักษณะทางการเกษตร และคุณภาพการหุงต้มรับประทานโดยเกษตรกรมีส่วนร่วม ฤดูนาปี พ.ศ. 2552 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคไหม้ วิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพและเคมีของเมล็ด ศึกษาการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว มีมติรับรองพันธุ์ ชื่อ กข16 เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูก เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2553

ลักษณะประจำพันธุ์

เป็นข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง ออกดอกประมาณวันที่ 13-22 ตุลาคม ลักษณะกอตั้ง ความสูง 133-149 เซนติเมตร ลำต้นแข็งปานกลาง ใบสีเขียว ใบธงตั้ง รวงยาว 25.9 เซนติเมตร ลักษณะรวง แน่นปานกลาง คอรวงยาว ข้าวเปลือกสีน้ำตาล ยาว 10.1 มิลลิเมตร กว้าง 2.97 มิลลิเมตร หนา 2.05 มิลลิเมตร ข้าวกล้องค่อนข้างป้อม ยาว 7.03 มิลลิเมตร กว้าง 2.38 มิลลิเมตร หนา 1.76 มิลลิเมตร คุณภาพการสีดี สีได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าว 43.9 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ เมื่อนึ่งสุกมีกลิ่นหอม เนื้อสัมผัสค่อนข้างนุ่ม

ผลผลิต เฉลี่ย 633 กิโลกรัมต่อไร่

ลักษณะเด่น

1. ให้ผลผลิตเฉลี่ยสูง

2. ค่อนข้างต้านทานต่อโรคไหม้ (Pyricularia grisea Sacc.) ในภาคเหนือตอนบน

3. เป็นข้าว อายุสั้นกว่าพันธุ์ กข6 ประมาณ 1 สัปดาห์ ช่วยกระจายแรงงานในระยะเก็บเกี่ยว และความสูงน้อยกว่าพันธุ์ กข6 ประมาณ 10 เซนติเมตร ลดปัญหาข้าวหักล้มระยะเก็บเกี่ยว

4. เป็นข้าวเหนียวเมล็ดปานกลาง คุณภาพการสีดี คุณภาพหุงต้มรับประทานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และมีกลิ่นหอม

พื้นที่แนะนำ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาน้ำฝนภาคเหนือตอนบน บริเวณที่ฝนหมดเร็ว และในพื้นที่ที่เกษตรกรต้องการปลูกพืชหลังฤดูทำนา

ข้อควรระวัง ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง แมลงบั่ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และเพลี้ยกระโดดหลังขาว



ที่มา http://www.brrd.in.th/main/component/content/article/274.html