วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

การปรับสภาพดิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักเป็นอย่างดีว่าพื้นที่นับล้านไร่ในภูมิภาคต่างๆของประเทศมีปัญหาทั้งทางเคมีและทางฟิสิกส์อยู่หลายลักษณะ และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ราษฎรทำการเพาะปลูกได้ผลผลิตต่ำ จึงมีฐานะยากจน เช่น พื้นที่ดินพรุ ซึ่งเป็นทั้งดินอินทรีย์และดินเปรี้ยวจัด ในภาคใต้ พื้นที่ดินเปรี้ยวจัดและพื้นที่ดินเค็มในภาคกลาง พื้นที่ดินทรายและพื้นที่ดินตื้นในหลายภูมิภาค จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพิ่มขึ้นอีก ๕ ศูนย์ โดยให้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ดินมีปัญหาให้การพัฒนาพื้นที่ให้เป็นตัวอย่างเป็นภารกิจสำคัญของแต่ละศูนย์ โดยเน้นการพัฒนาด้านการเกษตรสมบูรณ์แบบ ทั้งการแก้ไขปัญหาเดิมของดิน การพัฒนาให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น การจัดระบบเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์อย่างเหมาะสม การพัฒนาแหล่งน้ำ การฟื้นฟูสภาพป่า และการส่งเสริมศิลปาชีพและหัตถกรรมพื้นบ้านเพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริม

การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด


ดินเปรี้ยวจัดของประเทศไทยมีกรดกำมะถันอยู่มากจนเป็นพิษต่อพืช สภาพกรดที่รุนแรงยังก่อให้เกิดปัญหาสืบเนื่องอีกด้วย กล่าวคือ มีการปลดปล่อยไอออนของโลหะที่เป็นพิษต่อพืช และธาตุอาหารบางอย่างอยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์น้อยต่อพืช ปัญหาดินเปรี้ยวจัดจึงสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง แต่ด้วยพระปัญญาอันลึกซึ้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรอบรู้เป็นอย่างดีว่า การขังน้ำย่อมสร้างดุลยภาพทางเคมีขึ้นใหม่ในดินดังกล่าว โดยดินจะปลดปล่อยกรดและไอออนอันเป็นพิษออกมาสู่น้ำมากขึ้น การระบายน้ำในช่วงเวลาถัดไปที่เหมาะสมจึงย่อมจะช่วยลดสภาพอันไม่พึงประสงค์นี้ลงได้ ด้วยกลไกธรรมชาติภายใต้การควบคุมน้ำดังกล่าวสภาพกรดในดินก็ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลง และข้าวที่ปลูกก็ค่อย ๆ ให้ผลผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้ การใส่ปูนในปริมาณและจังหวะที่เหมาะสมก็จะช่วยให้กระบวนการปรับปรุงดินเปรี้ยวบรรลุผลได้รวดเร็วขึ้น
ประเทศไทยมีพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดไม่ต่ำกว่า ๘ ล้านไร่โดยประมาณ ดินเปรี้ยวจัดโดยมากจะพบตามพื้นที่พรุ บริเวณที่ราบลุ่มชายทะเล และบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางซึ่งโดยทั่วไปที่ใช้ทำนา แต่มักให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ หากปลูกโดยไม่มีการปรับปรุงคุณภาพดิน

ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ในพ.ศ.๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริให้พิจารณาปรับปรุงพื้นที่พรุดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า "ด้วยพื้นที่จำนวนมากในจังหวัดนราธิวาสเป็นที่ลุ่มต่ำ มีน้ำขังตลอดปี ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ กสิกรจำนวนมากไม่มีที่ทำกิน แม้ระบายน้ำออกหมดแล้วยังยากที่จะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผล ทั้งนี้เนื่องจากดินมีสารไพไรท์ ทำให้เกิดกรดกำมะถัน เมื่อดินแห้งทำให้ดินเปรี้ยว ควรปรับปรุงดินให้ดีขึ้น ดังนั้นจึงเห็นควรที่จะมีการปรับปรุงพัฒนาโดยให้มีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการศึกษา และพัฒนาพื้นที่พรุร่วมกันแบบผสมผสาน และนำผลสำเร็จของโครงการไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาพื้นที่พรุอื่นในโอกาสต่อไป"
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ตั้งอยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง และบ้านโคกสยาในพื้นที่ ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พื้นที่สวนใหญ่เป็นดินอินทรีย์ หรือดินพรุ ซึ่งอาจแบ่งพื้นที่พรุออกเป็น ๓ เขต ตามสภาพพื้นที่และการใช้ประโยชน์ คือ
๑) เขตสงวน (preservation zone) เป็นเขตที่ป่าพรุยังคงสภาพสมบูรณ์ ต้องดำเนินการสงวนรักษาป่าไม้ไว้อย่างเข้มงวดเพื่อให้สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด
๒) เขตอนุรักษ์ (conservation zone) เป็นเขตที่ป่าพรุเสื่อมโทรมจากการถูกทำลายไปบางส่วน ได้ดำเนินการฟื้นฟูให้กลับเป็นป่าดังเดิม
๓) เขตพัฒนา (development zone) บริเวณนี้ถูกระบายน้ำออกไปบางส่วน และป่าถูกทำลายเพื่อใช้ในกิจกรรมด้านการเกษตร เป็นเขตที่กำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินงานร่วมกันพัฒนาพื้นที่โดยค้นคว้าวิจัยหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขและจัดการดินในพื้นที่พรุ ให้สอดคล้องกับความต้องการของราษฎร

โครงการแกล้งดิน เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ดำเนินการทดลองเร่งดินเปรี้ยวให้เป็นกรดจัด โดยวิธีการที่ทรงเรียกว่า "แกล้งดิน" การเร่งให้ดินเป็นกรดจัดนี้ เริ่มจากการทำให้ดินแห้งสลับเปียก เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของสารประกอบไพไรท์ในชั้นดินเลนกับออกซิเจนในอากาศ ปฏิกิริยาดังกล่าวจะส่งผลให้ดินปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดรุนแรงถึงระดับที่พืชไม่เจริญเติบโตและไม่ให้ผลผลิต การปรับปรุงดินเปรี้ยวจัด มีหลักการสำคัญ ๔ ประการคือ

๑) การควบคุมระดับน้ำใต้ดินเพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน โดยให้น้ำใต้ดินอยู่เหนือชั้นดินที่มีสารประกอบไพไรท์ ซึ่งมักพบในระดับความลึกจากผิวดินประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ เซนติเมตร
๒) การแก้ไขความเป็นกรดจัดโดยใช้น้ำชลประทานล้าง ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๒-๓ ปี และต้องดำเนินการต่อเนื่องกัน หรือการใช้วัสดุปูนขาวเพื่อสะเทินความเป็นกรดโดยใช้ในอัตรา ๒-๔ ตันต่อไร่ และใส่ทุก ๒-๔ ปี จากการศึกษาทดลองพบว่า การใช้น้ำล้างความเป็นกรดและสารพิษ การใส่หินปูนฝุ่นและปรับปรุงดินโดยใช้ทั้งสองวิธีร่วมกัน ข้าวที่ปลูกให้ผลผลิตสูงถึง ๔๐-๕๐ ถังต่อไร่ ซึ่งวิธีการใช้น้ำล้างนั้นเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอ ถึงแม้ว่าในปีแรกผลผลิตจะไม่ดีนักแต่ในปีต่อๆ มาผลผลิตจะสูงขึ้นถึงระดับที่พอใจ สำหรับวิธีการใส่หินปูนฝุ่นลงไปในนาข้าวนั้นการให้หินปูนสะเทินกรด แล้วใช้น้ำล้างสารพิษออกไปจากดินเป็นวิธีที่ให้ผลดีที่สุด

๓) การปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวจัด ซึ่งมักขาดธาตุอาหารพืชที่สำคัญ คือ ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส จำเป็นต้องให้ธาตุอาหารทั้งสองในรูปของปุ๋ยเพิ่มเติมในอัตราที่ค่อนข้างสูงในช่วงแรก แล้วค่อยๆลดลงในภายหลัง
๔) การเลือกชนิดของพืชที่สามารถทนต่อความเปรี้ยวได้ดี เช่น ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ กข.๒๑ กข.๒๓ ขาวดอกมะลิ ๑๐๕ ส่วนพืชไร่ พืชผัก และไม้ผล จะปลูกได้ต่อเมื่อดินเปรี้ยวได้รับการปรับปรุงแล้ว

นอกจากโครงการแกล้งดินแล้ว ในการฟื้นฟูพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดในโครงการพิกุลทองยังมีการวิจัยเพื่อเลือกพันธุ์ไม้สำหรับใช้ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม การทดลองปลูกปาล์มน้ำมันในดินอินทรีย์ และการศึกษาการใช้ประโยชน์จากกากปาล์มน้ำมันเป็นอาหารเลี้ยงไก่พื้นเมืองอีกด้วย

จากผลการดำเนินการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดดังกล่าว การพัฒนาดินเปรี้ยวจึงประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ดังที่มีพระราชกระแสรับสั่งเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินบ้านโคกอิฐ-โคกใน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ ตอนหนึ่งว่า "เราเคยมาโคกอิฐ-โคกใน มาดูเขาชี้ตรงนั้นๆ เขาทำแต่ว่าเขาได้เพียง ๕-๑๐ ถัง แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปถึง ๔๐-๕๐ ถัง ก็ใช้ได้แล้ว ต่อไปดินก็จะไม่เปรี้ยวแล้ว เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้ว โดยที่ขุดอะไรๆทำให้เปรี้ยวแล้วก็ระบาย รู้สึกว่านับวันเขาจะดีขึ้น ..อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมากที่ใช้งานได้ แล้วชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อข้าวเดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้"

การขยายผลในกรณีการแก้ไขดินเปรี้ยวที่ทดลองได้ผลในเขตพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯโดยการใช้น้ำจืดชะล้างกรดออกจากดินนั้น แสดงว่าน้ำจืดสามารถช่วยปรับปรุงฟื้นฟูดินให้มีคุณภาพดีขึ้นจนใช้ปลูกข้าวได้ สมควรขยายผลนำไปแนะนำเกษตรกร หรือทำการปรับปรุงแก้ไขดินเปรี้ยวในท้องที่ซึ่งมีน้ำจืดในพื้นที่ใกล้เคียง หรือในเขตจังหวัดต่าง ๆ ต่อไป โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครนายก ทรงมีรับสั่งว่า "ที่เราทดลองที่นี่ จะไปเป็นประโยชน์สำหรับที่อื่น อย่างที่จังหวัดนครนายก ที่เราต้องการให้นครนายกเขามีน้ำ เดี๋ยวนี้นครนายกแห้งแล้งแล้วก็เปรี้ยว ก็เมื่อเปรี้ยวแล้วเอาปูนมาใส่ก็ยังไม่ดี ที่เราศึกษานี่จะเป็นประโยชน์จะเป็นเหตุผลที่จะต้องทำโครงการ โครงการจัดน้ำมาลงที่นครนายก แล้วก็รวมทั้งทุ่งรังสิตทั้งหมด เพื่อที่จะให้มีการเพาะปลูกต่อเนื่อง จะมีการเพาะปลูกอยู่เรื่อย ดินเปรี้ยวจะหายเปรี้ยว ไม่ใช่เอะอะก็เอาปูนเข้ามาใส่อย่างที่บริษัทเขาเอาปูนมาให้เราเมื่อ ๒ ปี ๓ ปี ใช้เฉพาะปูนไม่มีประโยชน์ ก็ต้องศึกษา อันนี้ก็จะไปช่วยนครนายกได้ แต่นครนายกต้องหาน้ำใส่"

การพัฒนาดินเค็ม

ในด้านการพัฒนาดินเค็มนั้น มีพระราชดำริให้จัดการเป็นระบบที่ประสมประสาน ทั้งพืช ดิน และ การจัดการน้ำอย่างเหมาะสม อาศัยแนวทางที่ทรงวางไว้เรื่องการวินิจฉัยสาเหตุของปัญหา ขั้นตอนของการแก้ไข และการใช้เทคนิควิธีที่เหมาะสม โครงการพัฒนาดินเค็มจึงดำเนินการโดยพิจารณาธรรมชาติและระดับความเค็มของดิน และเน้นการแก้ไขโดยการล้างดินแบบธรรมชาติในเขตดินเค็มต่ำและปานกลาง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร แล้วคัดเลือกพืชเศรษฐกิจที่ทนต่อความเค็มมาปลูก สำหรับการบำรุงดินก็ส่งเสริมการใช้วัสดุอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยหมัก เป็นแหล่งธาตุอาหารพืช เนื่องจากต้นทุนต่ำและเป็นการพัฒนาดินเค็มที่มีประสิทธิภาพ

พระราชดำริเรื่องการปลูกไม้ยืนต้นและไม้โตเร็วในพื้นที่ว่างเปล่า นอกจากจะช่วยอนุรักษ์ดินและ เป็นแหล่งเชื้อเพลิงของราษฎรแล้ว ไม้ยืนต้นยังช่วยลดการกระจายและขยายขอบเขตของดินเค็มได้อย่างดียิ่ง และมีลักษณะของการป้องกันที่ยั่งยืน เนื่องจากไม้ยืนต้นช่วยลดระดับน้ำใต้ดิน มีร่มเงาปกคลุมผิวดิน น้ำจึงระเหยน้อย ทำให้การสะสมเกลือบนผิวดินน้อยลง และเพิ่มพูนอินทรียวัตถุในดินด้วย

การปรับปรุงดินตื้น

ดินตื้นในที่นี้ หมายถึง ดินลูกรัง หรือเศษหิน ซึ่งจะพบมากในระดับความลึกไม่เกิน ๕๐ เซ็นติเมตร จากผิวดินในการแก้ปัญหาดินดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาหาต้นไม้ที่มีความทนต่อสภาพเช่นนั้น มาปลูกตามรอยแตกของหิน เมื่อต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้ดี ก็จะทำให้บริเวณนั้นมีอินทรียวัตถุที่เกิดจากซากใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกัน ในไม่ช้าหินก็จะค่อย ๆ ปรับสภาพกลายเป็นดินต่อไป การปลูกต้นไม้ดังกล่าวจะช่วยป้องกันการกัดเซาะของน้ำตามซอกหินและชลอการไหลของน้ำจากภูเขาได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

สำหรับดินลูกรังได้ทอดพระเนตรสภาพดินลูกรัง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉพาะในเขตจังหวัดสกลนครมีอยู่ถึง ๑.๖ ล้านไร่ จึงควรพิจารณาแก้ไขปัญหาดินลูกรังโดยเร็วโดยพิจารณาดำเนินการนำเครื่องจักร เครื่องมือ มากระทุ้งดินลูกรังแล้วนำดินชั้นล่างมาผสมกับดินลูกรังข้างบน เชื่อว่า ภายใน ๒ ปี สามารถปลูกพืชได้ โดยเฉพาะต้นกระถินสามารถขึ้นได้รวดเร็วมาก ก็น่าจะทดลองดำเนินการดังตัวอย่างที่ เขาชะงุ้ม ซึ่งมีสภาพแห้งแล้ง ดินเป็นลูกรัง ก็ดำเนินการโดยยืมดินจากฝายป่าไม้ซึ่งมีหน้าดินบนเนิน แบ่งพื้นที่เป็นหลุม ๆ เอาต้นมะม่วงหิมพานต์มาปลูกไว้ เมื่อฝนลงชะหน้าดินบนภูเขาลงมาเป็นแนว ใช้เวลาสักระยะหนึ่ง ต้นมะม่วงหิมพานต์ก็สามารถขึ้นได้ และที่สำคัญคือในบริเวณที่ไม่ดีไม่เหมาะที่พืชจะขึ้นได้ แต่เราก็สามารถทำให้ปลูกพืชได้ เมื่อชาวบ้านมาดูเห็นทำได้ก็จะนำไปเป็นตัวอย่างและทดลองทำในพื้นที่ของตนต่อไป
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสถึงโครงการเขาชะงุ้ม เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๗ ว่า "เรื่องต้นไม้ขึ้นเอง มีอีกแห่งหนึ่งที่ท่านทั้งหลายควรจะไปได้เพราะง่าย คือโครงการเขาชะงุ้ม ที่จังหวัดราชบุรี ที่ตรงนั้นใกล้ภูเขาเป็นที่ที่ป่าเสียไป เป็นป่าเสื่อมโทรม ที่เรียกว่าป่าเสื่อมโทรมเพราะมันไม่มีต้นไม้ ไม่มีชิ้นดี เริ่มทำโครงการนั้นประมาณ ๗ ปี เหมือนกัน ไปดูเมื่อสักสองปี หลังจากทิ้งป่านั้นไว้ ๕ ปี ตรงนั้นไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ป่าเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องไปปลูกสักต้นเดียว คือว่าการปลูกป่านี้สำคัญอยู่ที่ปล่อยให้เขาขึ้นเอง"

การปรับปรุงดินทราย

เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรสภาพพื้นที่และการทำมาหากินของเกษตรกรในตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ราษฎรในท้องที่นั้นได้ร่วมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินประมาณ ๑,๒๒๗ ไร่ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงใช้ประโยชน์ตามพระราชอัชฌาสัย แต่ความที่พระองค์ทรงทราบถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของราษฎรในบริเวณนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงทราบว่า ดินทรายมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และง่ายต่อการชะล้างพังทลายหากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ดังนั้น จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนเพิ่มขึ้นอีกศูนย์หนึ่ง หน้าที่สำคัญประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรดินตามแนวพระราชดำริของศูนย์นี้คือ ให้ศึกษาหาวิธีการพัฒนาที่ดิน หรือปรับปรุงบำรุงดิน พัฒนาแหล่งน้ำ และฟื้นฟูสภาพป่า เพื่อให้เกษตรกรในภูมิภาคนี้เอาไปใช้ในไร่นาของตนเอง ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า "การพัฒนาที่ทำกินของราษฎรให้มีความอุดมขึ้น โดยการพัฒนาที่ดิน พัฒนาแหล่งน้ำตลอดจนฟื้นฟูสภาพป่า และใช้หลักวิชาการเกษตรในการวางแผนการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์"

ที่มา http://web.ku.ac.th/king72/2542-01/page02_2.htm