วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปั๊มน้ำกู้ชาติ


น้ำท่วมใหญ่ นอกจากเสียหายในวงกว้างแล้ว ยังเป็นไปตามสภาพภูมิประเทศด้วย แผ่นดินไทยไม่ได้เรียบแบนแต๊ดแต๋ แต่มีความลาดเอียงแม้ในเขตที่ราบลุ่ม มีคันนา ถนน คูคลอง เนินเขา ภูเขา มีอาคารบ้านเรือนขวางทางน้ำอยู่ ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก การที่น้ำปริมาณมากไหลไปไม่สะดวก ทำให้น้ำยกตัว เอ่อขึ้นล้นตลิ่ง ท่วมเทือกสวนไร่นานและบ้านช่องของชาวบ้าน
น้ำท่วมจะผ่านไปในที่สุด แต่บริเวณที่น้ำท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นแอ่ง เป็นกะทะ จะยังมีน้ำขังอยู่ ซึ่งจะต้องระบายออก นอกจากนี้ เมื่อน้ำไหลผ่านจากพื้นที่หนึ่งไปยังปลายน้ำ พื้นที่ตามเขื่อนดิน เขื่อนกระสอบทราย ที่ใช้ป้องกันน้ำท่วม จะมีรั่วซึมได้บ้างเป็นธรรมดา บ้านเรือนร้านค้าที่ทำเขื่อนกั้นน้ำเอาไว้ ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกันครับ
เวลาพูดถึงการสูบน้ำออก เรามักจะนึกถึงเครื่องยนต์ ถ้ามีอยู่แล้ว จ่ายค่าพลังงาน/มีพลังงานให้ซื้อได้ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่มี ลองทำปั๊มกำลังคนดูไหมครับ ใช้ท่อพีวีซีกับวัสดุเหลือใช้ก็พอ

ปั๊มในหนังข้างบน ฝรั่งคนที่ทำบอกว่าปั๊มน้ำได้นาทีละ 50 u.s.gallon หรือ 189 ลิตร หมายความว่าห้องชั้นล่างที่เป็นกำแพงคอนกรีต ที่น้ำท่วมขนาด 4 x 4 เมตรที่น้ำท่วมสูงครึ่งน่อง (คือ 30 ซม.) สูบไป 26 นาที สามารถเอาน้ำออกได้หมดตามทฤษฎีนะครับ
ตรวจผลการคำนวณ พื้นที่หน้าตัดของท่อพีวีซีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง d=4 นิ้ว (0.1 เมตร) กับช่วงชักคือ ระยะระหว่างเยียดแขนสุดกับดึงเข้ามาใกล้ตัวที่สุดบริเวณหน้าอก เป็นระยะ s=0.5 เมตร นาทีหนึ่ง ดึงคันชักเข้าและผลักออกได้ f=44 รอบ/นาที สามารถดึงน้ำออกไปได้ πd2sf/4 = 172 ลิตร/นาที; น้ำในห้องดังกล่าว มีปริมาตร 4800 ลิตร ก็ต้องใช้เวลาสูบ 28 นาทีครับ — ปลายท่ออันหนึ่งอยู่ที่พื้นห้อง อีกปลายหนึ่งพาดหน้าต่าง หรืออิฐบล็อกที่กั้นประตูออกไป หรือว่าถ้าต่อท่อจากปลายน้ำออก ไปทิ้งนอกห้องก็ได้นะครับ
วิธีการนี้ไม่เหมาะกับน้ำท่วมสูงๆ เนื่องจากใช้กำลังมาก แต่จะช่วยให้ชาวบ้านในพื้นที่เล็กที่น้ำท่วมไม่สูงนักให้พอช่วยตัวเองได้ พอหาที่แห้งได้บ้าง เทียบกับวิธีวิด น้ำที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป วิธีนี้จะเอาน้ำออกไปได้เร็วกว่า (ท่อขนาด 4 นิ้ว ชักหนึ่งครั้ง เอาน้ำออกไป 3.9 ลิตร หนัก 3.9 กก. ซึ่งหากใช้วิธีวิดน้ำหนึ่งครั้ง จะเอาน้ำออกได้น้อยกว่ามากครับ)
คลิปอันล่างแสดงหลักการทำปั๊มอันเล็ก ซึ่งไม่ยากหรอกครับ หาแผนพลาสติกขนาดฟิตพอดีกับท่อ มาเจาะรู แล้วเอาแผ่นปิดที่มีลักษณะอ่อนตัวได้ มาปิดรูไว้ (ใช้แผ่นรองตัดในกรณีที่เจาะรูน้ำรูใหญ่ หรือว่าถ้าเป็นรูเล็กๆ จะใช้อย่างในคลิปคือใช้เทปก็ได้ครับ เจาะรูน้ำหลายรูก็ได้) แผ่นปิดนี้ทำงานเหมือนเช็ควาลว์ [เช็ควาล์ว] ที่ทำให้น้ำไหลเข้าได้ทางเดียว — ทำอย่างนี้สองชุดครับ ชุดหนึ่งจมอยู่ในน้ำที่ปลายท่อ อีกชุดหนึ่งติดอยู่ที่ปลายของคันชัก คันชักไปไหน เช็ควาล์วเคลื่อนไปด้วย
ทีนี้เมื่อกดคันชักลงไป แผ่นปิดเคลื่อนลงไปในท่อ 4 นิ้ว น้ำก็จะดันแผ่นปิดจากข้างล่างขึ้นมาอยู่ในท่อ 4 นิ้ว เมื่อดึงคันชักขึ้น น้ำที่ค้างอยู่ในท่อมีแรงกด จะกดแผ่นปิดให้ปิดไว้ ทำให้น้ำไหลย้อนกลับไปยังบริเวณที่ท่วมไม่ได้ จนเมื่อน้ำเข้ามาค้างอยู่ในท่อมากขึ้นจนถึงรูน้ำออก น้ำก็จะไหลออกไปข้างนอก