วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

การปลูกข้าวด้วยต้นกล้าต้นเดียวต่อ 1 กอ (System of Rice Intensification, SRI)


การปลูกข้าวระบบประณีต (System of Rice Intensification, SRI)

วัตถุประสงค์ 
  1. เพื่อการเพิ่มผลผลิตในพื้นที่
  2. เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน
  3. เพื่อคัดเลือก และผลิตเมล็ดพันธุ์ ด้วยการปลูกแบบข้าวกล้องต้นเดียว 
การเตรียมเมล็ดพันธุ์ 
  1. เลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ คัดเลือกเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ คือ อวบ ใส และมีตาข้าว
  2. แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำประมาณ ๑๒-๒๔ ชั่วโมง ในน้ำอุ่น ๓๐-๔๐ องศาเซลเซียสจะดีที่สุด หากต้องการป้องกันโรคหรือแมลงไว้ล่วงหน้า เช่น โรคบั่ว ควร นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำเกลือ หรือ น้ำสะเดา ไว้ ๑ คืน
  3. จากนั้นเอาเมล็ดพันธุ์ผึ่งลมให้แห้ง
หมายเหตุ : เนื้อที่เพาะปลูก ๑ ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ ๑ กิโลกรัม  
การเตรียมแปลงเพาะกล้า 
เลือกแปลงเพาะกล้าใกล้แปลงที่จะปลูกข้าว ทำแปลงเพาะกล้าให้เหมือนแปลงผัก โดยผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักเพื่อให้ดินร่วนซุย เอาฟางคลุมพื้นที่แปลงไว้ จากนั้นรดน้ำให้มีความชุ่มชื้นในช่วงเช้า-เย็น (ไม่ควรรดน้ำในขณะที่แดดร้อนจัด) ความชื้นในแปลงควรเหมาะสม ไม่ควรให้น้ำท่วมแปลงโดยการทำทางระบายน้ำเล็กๆเพื่อให้น้ำไหลออก
หรืออีกวิธีหนึ่งที่จะสะดวกต่อการขนย้ายต้นกล้า คือการเพาะเมล็ดในกระบะ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการขนย้ายแล้วยังช่วยทะนุถนอมต้นกล้าขณะเวลาปักดำ  
การเตรียมแปลงปักดำ
หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต ควรไถกลบตอซัง แล้วบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น พืชตระกูลถั่ว ปลูกพืชหลังนา เช่น โสนอัฟริกัน หรือจะทำปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หว่านในนาก็ได้ ก่อนปักดำควรปรับที่นาให้ได้ระดับเดียวกัน และทำร่องน้ำตามขอบคันนาเพื่อช่วยในการระบายน้ำเข้า-ออก สูบน้ำเข้าแปลงนาให้ดินเป็นโคลนเหนียวข้น ไม่ควรปล่อยให้ดินเละหรือมีน้ำท่วมขัง
การขนย้ายต้นกล้าออกจากแปลงเพาะ
  1. .ถอนกล้าเมื่อมีอายุ ๘-๑๒ วัน (มีใบ ๒ ใบเท่านั้น) อย่างระมัดระวัง ให้ต้นกล้ากระทบกระเทือนน้อยที่สุด
  2. ถอนต้นกล้าเบาๆตรงโคนต้น ใช้เครื่องมือเล็กๆ เช่น เกรียง หรือเสียม ขุดให้ลึกถึงใต้ราก ควรระวังอย่าให้ต้นกล้าหลุดออกจากเมล็ดพันธุ์และให้มีดินเกาะรากไว้บ้าง ๓.ระหว่างการย้ายกล้าต้องทำอย่างเบามือ ไม่ควรทิ้งกล้าไว้กลางแดดและรีบนำกล้าไปปักดำทันที (ภายใน ๑๕-๓๐ นาที)
การปักดำ 
  1. นำต้นกล้ามาปักดำอย่างเบามือ ใช้นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้จับโคนราก แล้วนำไปปักให้รากอยู่ในแนวนอนลึกประมาณ ๑ เซนติเมตร
  2. ปักดำกล้าทีละต้น ให้มีความห่างของระยะต้นไม่น้อยกว่า ๒๕ เซนติเมตรเท่าๆกัน จนเหมือนสี่เหลี่ยมจัตุรัส (ควรปักดำในระยะห่าง ๓๐ x ๓๐ เซนติเมตร สำหรับแปลงนาขนาดเล็ก หรือ ๔๐ x ๔๐ เซนติเมตร สำหรับแปลงนาขนาดใหญ่)

การบำรุงดูแลรักษา
การจัดการน้ำ
  • -แปลงเพาะปลูกควรปรับให้เรียบสม่ำเสมอ และทำร่องน้ำเพื่อช่วยในการระบายน้ำเข้า-ออก
  • แปลงปักดำไม่ควรมีน้ำท่วมขัง เพียงแต่ทำให้ดินเป็นโคลนเท่านั้น
  • ขณะที่ข้าวแตกหน่อ (๑-๒ เดือนหลังปักดำ) ปล่อยน้ำเข้านาให้สูง 2 เซนติเมตรทุกๆเช้า แล้วปล่อยน้ำออกในช่วงบ่าย หรือสามารถปล่อยทิ้งให้นาแห้งประมาณ ๒-๖ วัน -เมื่อข้าวแตกกอ ปล่อยให้แปลงข้าวแห้งลงไปในเนื้อดิน ไม่ต้องกังวลหากหน้าดินจะเป็นรอยแตกบนผิวโคลน
  • ขณะที่ข้าวตั้งท้องจนเริ่มออกรวง ปล่อยให้น้ำท่วมสูงประมาณ ๑-๒ เซนติเมตรเท่านั้น
  • ทันทีที่ต้นข้าวเริ่มลู่ลง เพราะน้ำหนักของเมล็ดข้าว ให้ปล่อยน้ำออกจากนาจนกว่าจะแห้งและถึงเวลาเก็บเกี่ยว
การกำจัดวัชพืช 
ควรมีการกำจัดวัชพืชอย่างน้อย ๓ ครั้ง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ครั้งที่ ๑ เมื่ออายุข้าว ๑๐ วัน ครั้งที่ ๒ เมื่ออายุข้าว ๒๕-๓๐ วัน ครั้งที่ ๓ เมื่ออายุข้าว ๕๐-๖๐ วัน ทั้งนี้การกำจัดวัชพืช สามารถใช้เครื่องมือทุ่นแรง
*ทางที่เหมาะสมและดีที่สุดจึงเป็นการถอนด้วยมือนั่นเอง
นอกจากนี้การจัดน้ำเข้าออกอย่างสม่ำเสมอ หรือเอาฟางคลุมแปลงจะช่วยกำจัดวัชพืชได้ดี
สำหรับการกำจัดศัตรูของข้าว เช่น ปู หอยเชอรรี่
ทำได้โดยการเลี้ยงกบ เลี้ยงเป็ดในนาข้าว แต่เมื่อข้าวออกรวงจะต้องห้ามเป็ดเข้านาโดยเด็ดข้าว หรือทำน้ำหมักชีวภาพฉีดพ่น ๑-๒ ครั้งก็เพียงพอ
สำหรับวิธีการป้องกันนก
ทำได้โดยการขึงเชือกเทปล้อมรอบแปลงนา เมื่อลมพัดจะทำให้เกิดเสียงดัง แล้วนกจะไม่มารบกวน
***เป็นเครื่องมือที่ชาวนาในญี่ปุ่น และมาดากัสการ์ใช้กัน เรียกว่า คราดหมุน ซึ่งในขณะที่ไถทับวัชพืช จะเป็นการพรวนดินไปในตัว ช่วยเพิ่มอากาศในดิน ส่วนซากวัชพืชจะกลายเป็นปุ๋ยหมักสำหรับต้นข้าวอย่างดี แต่เมื่อทดลองไถพรวนใช้กับดินทางภาคอีสาน นั้นไม่เหมาะสม เนื่องจากดินเป็นดินทราย


เหตุใด ปลูกข้าวต้นเดียวจึงได้ผลผลิตดีกว่า
การใช้กล้าอายุสั้นและปักดำต้นเดียว
  • ต้นกล้าที่มีอายุ ๘-๑๒ วัน หรือมีใบเล็กๆสองใบ และยังมีเมล็ดข้าวอยู่ จะช่วยให้ประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตดีและการผลิตหน่อจะมีมาก
  • การใช้กล้าต้นเดียวปักดำ จะช่วยในการแพร่ขยายของราก สามารถดูดซับธาตุอาหารได้ดีกว่าปลูกกล้าหลายต้น
  • การปักดำให้ปลายรากอยู่ในแนวนอน ปลายรากจะชอนไชลงดินได้ง่ายและทำให้ต้นข้าวตั้งตัวได้เร็ว
  • การปักดำในระยะห่างช่วยให้รากแผ่กว้างและได้รับแสงแดดมากขึ้น ง่ายต่อการกำจัดวัชพืช และประหยัดเมล็ดพันธุ์ ทำให้ข้าวแตกกอใหญ่  
การจัดการน้ำ 
  • การปล่อยให้ข้าวเจริญเติบโตในดินที่แห้งสลับเปียกทำให้ข้าวสามารถดึงออกซิเจนจากอากาศได้โดยตรง และรากของต้นข้าวสามารถงอกยาวออกเพื่อหาอาหาร -การปล่อยให้มีน้ำท่วมขังในแปลง ทำให้ซากพืชเน่าเปื่อย และก่อให้เกิดก๊าซมีเทนปลดปล่อยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้น
  • การปล่อยให้ต้นข้าวเจริญเติบโตในน้ำท่วมขัง ทำให้รากต้นข้าวต้องสร้างถุงลมเล็กๆ เพื่อดูดออกซิเจนจากผิวดินทำให้การส่งอาหารไปสู่หน่อและใบถูกรบกวน รากข้าวจะหายใจลำบาก  
ประโยชน์ที่ได้รับ
  1. ประหยัดเมล็ดพันธุ์ในการเพาะปลูก
  2. ประหยัดน้ำได้ครึ่งหนึ่งจากการทำนาแบบปกติ
  3. สามารถใช้ได้กับทุกสายพันธุ์ข้าว แต่หากต้องการผลผลิตสูงควรเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ และสภาพอากาศ
  4. จากประสบการณ์ของเกษตรกร พบว่าหากเป็นนาอินทรีย์ ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย ๖๐ % และในประเทศลาวพบว่าเพิ่มขึ้นถึง ๑๐๐ %
  5. ประหยัดแรงงานในการลงกล้า (ประหยัดต้นทุนในการผลิต)
  6. การกำจัดวัชพืชทำได้ง่าย เพราะมีช่องว่างระหว่างกอข้าว หรือการควบคุมน้ำเข้า-ออก

ผลการทดสอบการปลูกข้าวระบบประณีตกับข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕
          ๑. วิธีการปลูกข้าวแบบ SRI ปลูกแบบปักดำโดยใช้กล้าอายุ ๑๒ วัน ปักดำหลุมละ ๑ ต้น ระยะห่าง ๒๕ x ๒๕ เซนติเมตร
          ๒.วิธีการปลูกข้าววิธีเดิม (Conventional) ปลูกแบบปักดำโดยใช้กล้าอายุ ๒๕ วัน ปักดำหลุมละ ๓ - ๕ ต้น ระยะปักดำ ๒๐ x ๒๐ เซนติเมตร
          ๓.ผลการทดสอบ พบว่า การปลุกข้าวขาวดอกมะลิ ๑๐๕ โดยวิธี SRI ให้ผลผลิตเฉลี่ย ๗๐๒ กิโลกรัมต่อไร่ โดยใช้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกข้าววิธีเดิม ๗๕ กิโลกรัม หรือ ๑๒% เนื่องจากมีจำนวนรวงต่อกอสูงกว่า

วิธีปลูก
พันธุ์
ผลผลิต
ที่ความชื้น ๑๔%
กก./ไร่
จำนวนรวง/กอ
SRI
ขาวดอกมะลิ ๑๐๕
๗๐๒
๑๒.๓
Conventional
ขาวดอกมะลิ ๑๐๕
๖๒๗
๑๐.๐

ผลการทดสอบการปลูกข้าวระบบประณีตที่ศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทราและในแปลงนาเกษตรกรในจังหวัดฉะเชิงเทรา   
เปรียบเทียบวิธีการปลูกข้าวระบบประณีตกับวิธีการปลูกข้าววิธีเดิมที่เกษตรกรปฏิบัติ (Conventional)
วางแผนการทดลองแบบ Split-split plot   จำนวน 3 ซ้ำ โดยเปรียบเทียบปัจจัยดังนี้ 
Main plot: วิธีการจัดการน้ำ 2 วิธีการ
Sub plot:  พันธุ์ข้าว 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์พิษณุโลก 2, ปทุมธานี 1 และขาวดอกมะลิ 105  
Sub –sub plot: อายุกล้าข้าว 2 อายุได้แก่ อายุกล้าข้าว 12 วัน ร่วมกับการปักดำหลุมละ 1 ต้น (วิธี SRI) และอายุกล้าข้าว 25 วัน ร่วมกับการปักดำหลุมละ 3-4 ต้น (วิธีการปลูกข้าววิธีเดิม
ผลการทดลองพบว่า วิธีการจัดการน้ำแบบท่วมขังตลอดฤดูกาลปลูก ให้ผลผลิตข้าว สูงกว่าวิธีการจัดการน้ำแบบไม่ท่วมขังจนถึงระยะกำเนิดช่อดอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 
พันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ให้ผลผลิตสูงสุดเฉลี่ย 952 กก/ไร่ และให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์พิษณุโลก 2 และขาวดอกมะลิ 105  
การใช้อายุกล้าข้าวอ่อน 12 วันและร่วมกับการปักดำหลุมละ 1 ต้นให้ผลผลิตสูงถึง 850 กก/ไร่
ในขณะที่การใช้อายุกล้าข้าวแก่ 25 วันร่วมกับการปักดำหลุมละ 3-4  ต้น ให้ผลผลิตเพียง 764 กก./ไร่ เมื่อเปรียบเทียบการปลูกข้าววิธี SRI และการปลูกข้าววิธีเดิมร่วมกับพันธุ์ข้าว 
พันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 วิธี SRI ให้ผลผลิตเฉลี่ย 702 กก/ไร่
โดยให้ผลผลิตสูงกว่าการปลูกข้าววิธีเดิม 75 กก/ไร่หรือ 12 เปอร์เซ็นต์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

            ปลูกข้าวต้นเดียว ประหยัดเมล็ดพันธุ์ และต้นทุน   พี่พันธ์กล่าวต่อว่าการปลูกข้าวต้นเดียวนั้น เป็นการปลูกข้าวที่มีต้นทุนต่ำ และได้ผลผลิตสูง กล่าวคือ ใช้เมล็ดพันธุ์ น้อย เพียง 3-5 กิโลกรัม ในขณะที่นาดำทั่วไปใช้ประมาณ 7  10 กิโลกรัม และนาหว่านใช้เมล็ดพันธ์ถึง 20 กิโลกรัมต่อไร่ ใช้ปุ๋ยคอกประมาณ 1 ตัน แล้วก่อนหน้านั้นได้ ได้มีการปลูกพริก และข้าวโพดแล้วไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดหลังเก็บผลผลิตหมดแล้ว ส่วนสาร หรือยากำจัดศัตรูพืชต่างๆ รวมทั้งปุ๋ยเคมีไม่ได้ใช้เลย 


ที่มา 
http://sathai.org/knowledge/06_grow_water/onerice_grow.htm
http://srn.brrd.in.th
http://www.gotoknow.org/blogs/posts/41162
http://pre-rsc.ricethailand.go.th/knowledge/20.html