วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

คำแนะนำแก่เกษตรกรในการซื้อปุ๋ยเคมี



ปุ๋ยเคมีเป็นปัจจัยการเพิ่มผลผลิตพืชที่สำคัญชนิดหนึ่ง ปัจจุบันปุ๋ยเคมีมีราคาแพง จึงมีผู้ไม่หวัง
ดีทำปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารต่ำ หรือปลอมปนสิ่งอื่น ที่เรียกกันทั่วๆ ไปว่า “ปุ๋ยปลอม” ออกมาขาย เกษตรกรรู้
ไม่เท่าทันเมื่อซื้อปุ๋ยเคมีที่ไม่ได้มาตรฐานที่ระบุไว้ในฉลาก ทำให้ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตได้ตามเป้าหมาย
เกิดประโยชน์ต่อพืชลดลง ดังนั้นในการเลือกซื้อปุ๋ยเคมีเกษตรกรควรพิจารณาดังนี้

1. คำแนะนำโดยทั่วไป

1.1 เลือกสูตรปุ๋ยเคมีที่เหมาะสมกับชนิดพืชที่ปลูก โดยขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการ
เกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร หรือสถานศึกษาด้านเกษตรกรรมในพื้นที่
นั้นๆ

1.2 เลือกซื้อจากร้านค้าปุ๋ยที่เคยติดต่อน่าเชื่อถือและไว้ใจได้ หรือร้าน Q Shop อย่าซื้อจากพ่อค้าเร่

1.3 ควรซื้อปุ๋ยเคมีแบบการซื้อขายทั่วไป อย่าซื้อโดยวิธีการอื่น เช่น ทำสัญญากู้ การฝากข้าว
ตกเขียว ฯลฯ

1.4 ควรรวมกันซื้อเป็นกลุ่ม ซื้อครั้งละจำนวนมากๆ และขอเชิญเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร
ในพื้นที่ช่วยดูแลและสุ่มเก็บตัวอย่างปุ๋ยเคมีที่รับมอบจากผู้ขาย ส่งให้กรมวิชาการเกษตรทำ
การตรวจวิเคราะห์ (สวพ. 1 – 8 หรือที่สำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร)

1.5 ควรขอใบเสร็จรับเงินหรือสัญญาซื้อขาย เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ถ้าปุ๋ยเคมีที่ซื้อ
มามีคุณภาพไม่ถูกต้อง

1.6 อย่าขายกระสอบหรือถุงบรรจุปุ๋ยเคมีที่ใช้หมดแล้ว เพราะผู้รับซื้ออาจจะนำไปบรรจุปุ๋ยเคมี
ปลอมมาขายได้

1.7 ควรขอเอกสารกำกับปุ๋ย ซึ่งจะแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีที่ซื้อว่ามีประโยชน์อย่างไร
พร้อมวิธีใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องจากผู้ขายด้วย

1.8 ควรตรวจสอบน้ำหนักของปุ๋ยเคมี เนื่องจากบางแห่งมีการเจาะเอาปุ๋ยเคมีออกบางส่วนแล้วขาย
ในราคาถูกลง จึงควรชั่งปุ๋ยเคมีที่ซื้อทุกครั้ง


2. ข้อสังเกตจากภาชนะหรือกระสอบบรรจุปุ๋ยเคมี

2.1 ปุ๋ยเคมีทุกชนิดต้องมีทะเบียน โดยบนกระสอบหรือภาชนะบรรจุปุ๋ยเคมีจะต้องมีหมายเลข
ทะเบียนกำกับไว้ เช่น ทะเบียนเลขที่ 1234/2552 กรมวิชาการเกษตร แสดงว่า ปุ๋ยเคมีนั้นได้รับ
การขึ้นทะเบียนเลขที่ 1234 ในปี 2552 ทะเบียนหนึ่งจะมีอายุใช้ได้ 5 ปี ดังนั้นตามตัวอย่างนี้จะ
หมดอายุในปี พ.ศ.2557
2.2 ปุ๋ยเคมีมาตรฐาน 7 ชนิดที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียน ได้แก่
* ปุ๋ยยูเรีย (46 – 0 – 0)
* ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21 – 0 – 0)
* ปุ๋ยดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟต (0 – 40 – 0)
* ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต (0 – 20 – 0)
* ปุ๋ยทริบเบิลซูเปอร์ฟอสเฟต (0 – 46 – 0)
* ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (0 – 0 – 60)
* ปุ๋ยโพแทสเซียมซัลเฟต (0 – 0 – 50)
2.3 บนกระสอบปุ๋ยเคมีจะต้องมีคำว่า “ปุ๋ยเคมี” (หรือ ปุ๋ยเคมีมาตรฐาน” สำหรับปุ๋ยเคมีมาตรฐาน)
และต้องมีเกรดหรือสูตร เช่น 16 – 20 – 0 , 15 – 15 – 15 เป็นต้น
2.4 ต้องมีชื่อการค้าและเครื่องหมายการค้า เช่น เมโทรฟอส ตราหัววัว – คันไถ, ปุ๋ยไข่มุก ตรา
เรือใบไวกิ้ง, ไนโปรเฟท ตรากระต่าย เป็นต้น
2.5 ต้องแสดงปริมาณธาตุอาหารรับรอง เช่น สูตร 15 – 15 – 15 แสดงว่ามีธาตุอาหารไนโตรเจน
ทั้งหมด 15% มีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ 15% และมีโพแทสเซียมที่ละลายน้ำ ได้ 15%
2.6 ต้องแจ้งชื่อและสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมี เพื่อการค้าหรือสถานที่นำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาใน
ราชอาณาจักร และผู้ผลิตในต่างประเทศด้วย
2.7 ปุ๋ยเคมีบางชนิดอาจจะแสดงชนิดและปริมาณของธาตุอาหารรอง หรือ ธาตุอาหารเสริม เช่น
แมกนีเซียม แคลเซียม กำมะถัน เหล็ก ทองแดง สังกะสี โบรอน ฯลฯ ไว้บนกระสอบด้วยก็ได้
2.8 อย่าซื้อปุ๋ยเคมีที่มีกระสอบบรรจุไม่เรียบร้อย เช่น มีรอยตัดแกะเชือกผูกมัด หรือเย็บปาก
กระสอบใหม่ หรือกระสอบเก่ามากจนเห็นฉลากไม่ชัดเจน
2.9 ต้องซื้อปุ๋ยเคมีที่มีฉลากถูกต้อง อย่าซื้อปุ๋ยที่ระบุฉลากเป็นอย่างอื่น เช่น ใช้ชื่อหรือเขียนเป็น
ภาษาต่างประเทศ โดยไม่มีภาษาไทย หรือมีข้อความที่เขียนว่า ใช้แทนปุ๋ยเคมีสูตรอื่นได้ เป็น
ต้น


3. ข้อสังเกตที่สำคัญเกี่ยวกับฉลากปุ๋ย

3.1 ปุ๋ยเคมี
* ปุ๋ยเคมีต้องมีคำว่า ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีมาตรฐาน หรือปุ๋ยอินทรีย์เคมี แล้วแต่กรณี
* ระบุปริมาณธาตุอาหารรับรอง (ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด – ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์
– โพแทชที่ละลายน้ำ
* ระบุทะเบียนปุ๋ยเคมีเลขที่..../ (พ.ศ.......) (กรมวิชาการเกษตร)
* ระบุชื่อสถานที่ผู้ผลิต สถานที่ผลิต หรือผู้นำเข้าในราชอาณาจักรแล้วแต่กรณี
* ปุ๋ยอินทรีย์เคมี จัดเป็นปุ๋ยเคมี แต่ละธาตุอาหารไม่น้อยกว่า 3% รวมกันไม่ต่ำกว่า 12
ปริมาณอินทรียวัตถุไม่น้อยกว่า 10% ความชื้นไม่เกิน 12%


ที่มา http://previously.doae.go.th/temp.asp?gpg=prompt/2552/090305_02/01