วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

"ข้าวฟ่างหวาน" ทำเอทานอล พืชพลังงานใหม่ไม่กระทบอาหารคน

สภาวิจัยแห่งชาติระดมนัก วิจัยกำหนดกรอบการวิจัยพืชพลังงาน “ที่ไม่ใช่พืชอาหาร” ม.ขอนแก่นชูใช้ข้าวฟ่างหวานผลิตเอทานอล แถมมีข้อดีกว่าอ้อยหลายด้าน ทว่าไม่แนะให้ปลูกทดแทน แค่เสริมการผลิต ด้านกรรมการสภาวิจัยการเกษตร วช.ชี้รัฐขาดนโยบายพลังงานพืชชัดเจน เอกชนจึงไม่กล้าลงทุน เกรงกระทบกำไร เป็นเหตุให้พลังงานจากพืชในประเทศไทยไม่ได้แจ้งเกิดอย่างเต็มภาคภูมิทั้งที่ มีศักยภาพ

รศ.ดร.ประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนพร้อมด้วยผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ระหว่างการประชุมระดมความคิดเห็นกำหนดกรอบการวิจัย “พืชพลังงานที่ ไม่ใช่พืชอาหาร” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่ง ชาติ (วช.) เมื่อวันที่ 3 ก.ค.51 ว่า ได้วิจัยการผลิตเอทานอ ลจากข้าวฟ่างหวานขึ้น เพื่อเสริมการผลิตเอทานอลจากพืชอาหารอื่นๆ อาทิ อ้อย และมันสำปะหลัง โดยเริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 49 ภายใต้ทุนวิจัยของ วช.จำนวน 2.5 ล้านบาท


นักวิจัยเผยว่า ปัจจุบันพืชดังกล่าวยังไม่รับการนำมาใช้เป็นอาหารหรือพลังงานใดๆ จึงมีศักยภาพเป็นพืชพลังงานมาก โดยผลศึกษาในแปลงเกษตรกรกว่า 10 จังหวัด อาทิ สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี พบว่าสามารถ ปลูกได้ทุกภาค ทนแล้ง ให้ผลผลิต 5-12 ตันต่อไร่ตามการให้ปุ๋ยและน้ำ เมื่อคั้นน้ำจากลำต้นไปหมักยีสต์ก็จะทำให้ได้เอทานอลคุณภาพดี 65 -70 ลิตรต่อตัน ใกล้เคียงกับอ้อย

นอก จากนั้น ข้างฟ่างหวานยังมีรอบการเก็บเกี่ยวสั้นกว่าอ้อยมาก เพียงรอบละ 100-110 วัน ขณะที่อ้อยจะมีรอบการเก็บเกี่ยวปีละหนึ่งครั้งในช่วงเดือนธันวาคม – เมษายนของปีถัดไป จึงสามารถปลูกข้าวฟ่างหวานเพื่อผลิตเอทานอลหลังการเก็บเกี่ยวอ้อยได้ อีกทั้งข้าวฟ่างหวานยังมีต้นทุนการผลิตต่อไร่ที่ต่ำกว่าเพียง 656 บาทต่อไร่ ซึ่งต่ำกว่าอ้อยถึงไร่ละกว่า 100 บาท และกากที่คั้นน้ำแล้วยังเป็นเชื้อเพลิงที่ดีให้แก่โรงไฟฟ้าชีวมวล” รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มข. กล่าว

ขณะนี้ ทีม วิจัยกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาสายพันธุ์ มข.40 ซึ่งนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาให้ได้พันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูงกว่า 20 ตันต่อไร่ อย่างไรก็ตามต้องอาศัยการพัฒนาสายพันธุ์ยีสต์ที่มีประสิทธิภาพ เครื่องจักรกลเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เครื่องจักรการผลิตที่ยืดหยุ่นตามวัตถุดิบทั้งอ้อย มันสำปะหลัง และข้าวฟ่างหวานตามฤดูกาลเก็บเกี่ยว

รวมทั้ง การส่งเสริมเกษตรกรหันมาปลูกด้วย คาดว่าภายใน 1 ปี การผลิตเอทานอลจากข้าวฟ่างหวานจะมีความชัดเจนขึ้น และหวังให้กรมส่งเสริมการเกษตรนำผลวิจัยไปทดลองในแปลงเกษตร และถ่ายทอดแก่เกษตรกร โดยกระทรวงพลังงานจะกำหนดราคาขายเอทานอลในระดับที่จูงใจผู้ผลิตเอทานอลเป็น มาตรการเสริมด้วย” รศ.ดร.ประสิทธิ์กล่าว

ส่วน สถานการณ์การพัฒนาพืชพลังงานโดยภาพรวมของประเทศไทย รศ.ดร.กล้าณรงค์ ศรีรอต กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ยืนยันว่า ประเทศ ไทยจะไม่ขาดแคลนพืชอาหารเพราะการเปลี่ยนพืชอาหารเป็นพลังงานอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันผลผลิตการเกษตรเช่น อ้อยและมันสำปะหลังโดยมากมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น การส่งออกมันเส้นและน้ำตาลดิบไปยังประเทศจีนเพื่อผลิตเอทานอล แสดงว่าไม่มีการขาดแคลนใดๆ

ทั้งนี้ หากราคา เชื้อเพลิงฟอลซิลยังสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่นที่ราคาก๊าซแอลพีจีเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง กลไกตลาดจะเป็นตัวบีบบังคับให้รัฐบาลหันมาเอาจริงกับนโยบายพลังงานจากพืชมาก ขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมแล้ว เพื่อแก้คอขวดของปัญหาที่ทำให้พลังงานหมุนเวียนไม่เกิดขึ้นจริงเท่าที่ควร จนพลอยทำให้บริษัทผู้ค้าน้ำมัน ผู้ประกอบการด้านพลังงานหมุนเวียนจากพืช ตลอดจนค่ายรถยนต์ต่างๆ ไม่กล้าดำเนินการเพราะเกรงจะกระทบต่อผลกำไรของบริษัท.

ที่มา http://www.vcharkarn.com/vblog/65950