วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปั๊มน้ำ...เลือกไม่ยากอย่างที่คิด

ระบบน้ำประปาในบ้านเป็นเรื่องที่เราพูดกันอยู่เป็น ประจำ ที่ขาดเสียมิได้ก็คือ “ปั๊มน้ำ” ปัจจุบันปั๊มน้ำที่นิยมนำมาใช้งานภายในบ้านมีหลายชนิด อาทิ ปั๊มน้ำอัตโนมัติ ปั๊มน้ำแรงดันคงที่ ปั๊มหอยโข่ง ฯลฯ แต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติเด่นด้อยแตกต่างกันไป ดังนั้นเราจึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทของงาน เพื่อจะได้ประโยชน์และประสิทธิภาพจากปั๊มน้ำอย่างเต็มที่

*ปั๊มน้ำอัตโนมัติ
“ราคาย่อมเยา”
รูป ร่างหน้าตาเป็นทรงกระบอก (มีถังความดันติดอยู่กับตัวปั๊ม) มีทั้งที่ทำจากเหล็กและสเตนเลส ภายในชุดหัวปั๊มจะมีใบพัดเป็นตัวสร้างความดันเพื่อขับให้น้ำไหลไปตามท่อน้ำ และมีสวิตช์อัตโนมัติเป็นตัวควบคุม เมื่อเราเปิดก๊อกน้ำหรือฝักบัว น้ำก็จะไหลออกจากเส้นท่อ ทำให้ความดันภายในท่อค่อยๆลดลง และเมื่อลดถึงระดับที่ตั้งไว้ชุดสวิตช์ก็จะสั่งให้ปั๊มน้ำทำงาน โดยมอเตอร์จะเดินๆหยุดๆสลับกันไปอย่างนี้ บางรุ่นก็ส่งเสียงดังให้รำคาญใจอยู่บ่อยๆ

ปั๊มน้ำอัตโนมัติมีให้เลือกหลายขนาดตั้งแต่ 100-400 วัตต์ ราคาของปั๊มน้ำชนิดนี้อยู่ระหว่างสี่พันกว่าบาทถึงหลักหมื่นต้นๆ

ควรเลือกปั๊มน้ำที่มีกำลังมอเตอร์ของปั๊มให้เหมาะกับขนาดของบ้านและ พฤติกรรมการใช้น้ำ ถ้าเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียวให้เลือกขนาด 100-150 วัตต์ก็พอ เพราะสามารถใช้น้ำได้พร้อมกัน 2- 3 จุด หรือหากเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีการใช้น้ำพร้อมกัน 3-4 จุด ต้องใช้ปั๊มน้ำขนาด 200 วัตต์ขึ้นไป

*ปั๊มน้ำอัตโนมัติแบบแรงดันคงที่
“เล็ก แต่แรง”
ต่างจากแบบแรกตรงที่มีขนาดกะทัดรัดกว่า ทรงเหลี่ยม ทำงานตามจังหวะการเปิด-ปิดก๊อกน้ำเช่นเดียวกับปั๊มน้ำอัตโนมัติ แต่ให้แรงดันน้ำที่สม่ำเสมอ เหมาะกับบ้านที่มีเครื่องทำน้ำร้อนเพื่อรักษาอุณหภูมิน้ำให้คงที่

ปั๊มชนิดนี้ทำงานโดยให้น้ำผ่านถังหรือห้องเพิ่มแรงดันซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ปั๊มน้ำอัตโนมัติหลายเท่า ภายในถังจะบรรจุก๊าซไนโตรเจนซึ่งไม่เป็นอันตราย หรืออากาศธรรมดาเพื่อช่วยเพิ่มแรงดันให้คงที่ (แรงดันน้ำจึงไม่ตก) และเสียงก็เบากว่า แต่ปั๊มน้ำชนิดนี้ก็มีราคาสูงกว่าแบบแรกประมาณ 500-1,000 บาท เมื่อเทียบกับปั๊มน้ำอัตโนมัติที่แรงดันเท่ากัน

*ปั๊มน้ำอินเวอร์เตอร์ ( Inverter Pump)
“ราคา สูง แต่กินไฟน้อย”
เป็นปั๊มน้ำที่ควบคุมการทำงานด้วยไมโครโปรเซสเซอร์ สามารถป้อนแรงดันน้ำได้อย่างสม่ำเสมอและรวดเร็ว โดยเปลี่ยนความเร็วรอบในการหมุนของมอเตอร์ตามปริมาณการใช้น้ำจริง

ปั๊มชนิดนี้ยังมีระบบป้องกันมอเตอร์ร้อนจัด โดยระบบจะควบคุมกระแสไฟไม่ให้เกินค่าที่กำหนด ที่สำคัญกินไฟน้อย ช่วยประพลังงาน จึงเหมาะสำหรับที่พักอาศัยขนาดกลาง ตึกแถว หรืออาคารขนาดใหญ่ แต่ปั๊มน้ำอินเวอร์เตอร์ก็มีราคาสูงกว่าปั๊มน้ำอัตโนมัติ 3-4 เท่า(ประมาณสองหมื่นบาท)

*ปั๊มหอยโข่ง (Centrifugal Pump)
“ทน แรง แต่กินไฟ”
ปั๊มหอยโข่งที่นำมาใช้ในบ้านนั้นจะทำงานด้วยใบพัดทอง เหลืองหรือสเตนเลส โดยใช้กำลังเหวี่ยงออกจากศูนย์กลางเพื่อดันน้ำไปยังจุดจ่ายน้ำต่างๆ ตัวปั๊มทำด้วยเหล็กหล่อ มีความแข็งแรงและสามารถส่งน้ำได้ดีกว่าปั๊มน้ำอัตโนมัติ(ในขนาดวัตต์เท่า กัน) จึงเหมาะที่จะนำมาใช้กับบ้านหรืออาคารที่มีความสูงตั้งแต่สามชั้นขึ้นไป รวมถึงงานด้านเกษตรกรรม แต่มีข้อด้อยในเรื่องอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้า เพราะปั๊มจะทำงานทุกครั้งที่เราเปิดวาล์วน้ำ เพื่อช่วยรักษาระดับแรงดันภายในเส้นท่อให้คงที่หรือสม่ำเสมอตลอดเวลา ปั๊มน้ำชนิดนี้มีราคาอยู่ระหว่างสามพันกว่าบาทถึงหลักหมื่นขึ้นไป

การติดตั้งปั๊มน้ำเข้ากับถังเก็บน้ำเพื่อจ่ายน้ำไปตามจุดต่างๆของบ้านที่ นิยมใช้กันทั่วไปมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ ระบบ UP FEED เป็นการใช้แรงดันของปั๊มน้ำโดยตรง ซึ่งจะปั๊มน้ำจากถังเก็บน้ำขึ้นสู่จุดต่างๆภายในบ้าน เหมาะกับบ้านพักอาศัยทั่วไป แต่ถ้าจำนวนคนในบ้านมีมากและมีปริมาณการใช้น้ำสูง อาจเลือกใช้วิธีการจ่ายน้ำจากข้างบนแทนก็ได้ ซึ่งเราเรียกการจ่ายน้ำรูปแบบนี้ว่า ระบบ DOWN FEED โดยเราต้องเพิ่มถังเก็บน้ำอีกหนึ่งถังไว้ชั้นดาดฟ้าของบ้าน แล้วต่อระบบลูกลอยเข้ากับสวิตช์อัตโนมัติของปั๊มน้ำ เมื่อน้ำในถังเก็บน้ำด้านบนพร่องไป ปั๊มก็จะสูบน้ำจากถังเก็บน้ำด้านล่างขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ

*ปั๊มจุ่ม (Submersible Pump)
“น้ำพุ น้ำตก”
ปั๊มจุ่มหรือปั๊มไดรโว่ เป็นเครื่องสูบน้ำชนิดที่วางแช่ในน้ำ ประกอบสำเร็จมาจากโรงงาน และใช้ไฟฟ้าเพื่อทำให้มอเตอร์ไปหมุนใบพัด นิยมใช้ในการทำน้ำพุน้ำตก การให้น้ำในสวน รวมถึงการใช้เพื่อดูดน้ำไปทิ้งนอกบ้าน

การเลือกปั๊มชนิดนี้มาใช้ให้พิจารณาจากอัตราการไหล ซึ่งบอกปริมาณน้ำ (Quantity - Q) ต่อหน่วยเวลา และแรงดันหรือแรงส่งน้ำ (Head - H) บอกความสูงเป็นเมตร และแรงของปั๊มน้ำนั้นๆ ซึ่งอาจบอกเป็นวัตต์ (W) กิโลวัตต์ (KW) หรือแรงม้า (HP) โดยดูได้จากป้ายแจ้งข้อมูลที่ตัวปั๊ม

หลักง่ายๆก็คือ ถ้าต้องการปริมาณน้ำมาก ควรเลือกเครื่องสูบน้ำที่บอกปริมาณน้ำ (Q) มาก ๆเข้าไว้ แต่ถ้าต้องการส่งน้ำไปไกล ๆ หรือส่งขึ้นที่สูงก็ต้องเลือกปั๊มที่บอกค่าแรงดัน (H) สูงๆ และให้สังเกตว่า ถ้าค่าของ Q มากค่าของ H จะต่ำ และถ้าค่า Q น้อย ค่าของ H ก็จะสูง สนนราคาของปั๊มชนิดนี้เริ่มต้นที่พันกว่าบาทถึงหลักหมื่นขึ้นไป

ขอขอบคุณ : ปั๊มน้ำมิตซูบิชิอีเล็คทริค กันยงวัฒนา, ปั๊มน้ำมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ออโตเมชั่น (ประเทศไทย), ปั๊มน้ำกรุนด์ฟอส และปั๊มน้ำฟูจิก้า เอื้อเฟื้อภาพ

ที่มา http://www.baanlaesuan.com/shopping_preview.aspx?articleId=2542